xs
xsm
sm
md
lg

“ช่างเก้า” ช่างซ่อมไร้ขา ผู้เคยไม่หยุดก้าว...สู้ชีวิต!! [มีคลิป]

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อย่าไปคิดว่าท้อ สิ่งที่เราทำ…ทำไม่ได้” เปิดใจ “ช่างเก้า” ชายไร้ขาผู้ทระนง ไม่ยอมให้ความพิการมาเป็นอุปสรรคในการหารายได้เลี้ยงชีพ ซ่อมรถมอเตอร์ไซค์เป็นอาชีพ ด้วยแขนสองข้าง กับใจเกินร้อย เป็นเสาหลักหาเลี้ยงครอบครัว!!








พิการขา - แต่ไม่พิการหัวใจ!!




“เราภูมิใจ ที่เราสามารถทำเครื่องให้ติดแล้ววิ่งได้ ในทุกคันที่ซ่อมเสร็จ หลังจากซ่อมรถ ก็คือ ตัดกระถิน ทำกับข้าว ล้างถ้วย ซักเสื้อผ้า ทำได้หมดทุกอย่างครับ”

นพเก้า นาแป้น หรือ “ช่างเก้า” วัย 48 ปี ชาว อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ผู้พิการไร้ขาทั้ง 2 ข้าง ส่วนมือข้างซ้ายมี 4 นิ้ว เหลือเพียงครึ่งตัวมาตั้งแต่กำเนิด

เปิดใจกับผู้สัมภาษณ์ถึงเรื่องราวชีวิตที่ความพิการไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต เพราะเขาสามารถทำงานต่างๆ ได้เหมือนคนปกติทั่วไป ยึดอาชีพช่างซ่อมรถจักรยานยนต์นานนับ 36 ปี หาเลี้ยงครอบครัว


“ปัจจุบันซ่อมมอเตอร์ไซค์ สมัยวัยเด็กก็เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงแพะ เลี้ยงวัว เลี้ยงควายไปเรื่อยเปื่อย อยู่กับพ่อกับแม่ แล้วแม่เขามาฝากไว้ที่อู่ ตอนนั้นก็ทำ (ซ่อมรถ) ปะยาง ล้างเครื่องไปเรื่อย เริ่มต้นด้วยการมาเป็นลูกมือช่างที่ร้านนี้”

ด้วยหัวใจที่แข็งแกร่ง และไม่เคยย่อท้อต่อโชคชะตา เขาใช้ 2 มือที่ยังพอมีกำลัง ประกอบอาชีพช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ได้ทุกประเภท ต่อสู้ชีวิต ทำงานทุกอย่างแลกเงินเพื่อมีรายได้พอดูเลี้ยงตัวเอง และไม่เป็นภาระของใคร

“ผมมีรถสามล้ออยู่คันหนึ่ง มันเสียบ่อย นำมาทำทุกวัน จนเราโมโห ก็เลยขอฝึกกับเขาเลย”

โดยจุดเริ่มต้นของการเป็นช่างซ่อมรถแห่งนี้ เริ่มตอนอายุ 12 ปี มาจากรถที่ใช้ขับขี่เสียบ่อย ทำให้เขามีความคิดอยากเป็นช่างซ่อม จึงได้มาขอทำงานที่อู่ซ่อมรถของธนกร มงคลลักษมี ซึ่งเมื่อผ่านเวลาไป ผ่านการฝึกฝน จนเขาพัฒนาฝีมือในงานด้านนี้


“อย่างเครื่องจักรเราทำ เราต้องถอดออกมาเป็นชิ้นๆ เราต้องประกอบใหม่ เปลี่ยนของใหม่เข้าไป เราประกอบให้เป็นตัวเหมือนเดิม แล้วก็ทำให้มันวิ่งได้ เราภูมิใจตรงนี้ครับ

ผมทำได้ทุกรุ่น ตั้งแต่รุ่นเก่าๆ ตั้งแต่รถจับหมูของพ่อ รถรุ่นเก่าๆ รุ่นทองขาว Yamaha RX ทำได้หมด”

เพราะฝีมือ ที่ทำให้มองข้ามอุปสรรคร่างกายของช่างรายนี้ ยังได้รับความสนใจติดต่อจากอู่ช่างใหญ่ให้ไปทำที่อื่น อีกทั้งยังสร้างความมั่นใจแก่ลูกค้า อย่างหน้าใหม่ๆ ไม่ถ้วนที่ได้ใช้บริการกับเขาแล้ว ต่างกลับมาใช้บริการอีก

“เคยมีลูกค้าเขายังบอกว่าโห...เก่งนะ เขามาซ่อมแล้ว บางครั้งเขาต้องกลับมาซ่อมใหม่อีก เพราะซ่อมดี ไม่ใช่ว่าเราคุยตัวเราดีหรอก ผมไม่ได้มาที่ร้าน 2-3 วัน คือ เขาก็ยังรอผมซ่อม”

ถามเขาว่าไม่มีขา มันเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน หรือการใช้ชีวิตของเขาไหม ชายคนนี้ให้คำตอบอย่างหนักแน่นไว้ว่า ไม่เคยคิดว่าเป็นอุปสรรค

“สำหรับความคิดของผมไม่เป็นอุปสรรค ไม่มีอะไรเลย เพราะว่าใจของเรามันสู้ อย่าไปท้อ ท้อได้แต่อย่าถอย”




สำเนียง นาแป้น คุณแม่ของช่างเก้า ที่วันนี้แม้อายุจะ 91 ปีแล้ว แต่ยังคงจดจำเรื่องราวเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ก็ได้ช่วยสะท้อนอุปนิสัย ถึงความไม่ย่อท้อของผู้เป็นลูก เมื่อครั้งอายุ 10 ขวบจะ “ไม่ขอทานกิน…” และไม่เคยยอมแพ้ต่อความพิการ ผ่านปากของคุณยายสำเนียงไว้

“เราเห็นลูกไม่มีขา หมอตำแยเขาก็บอกว่า อ้าว... ลูกแกไม่มีขา ทางพ่อเขาก็เสียใจนะ พ่อเขาก็เดินออกไปแล้วบอกว่าไม่เอา แต่พออยู่มา แกก็รักของแก รัก ตามใจ พออยากได้ของเล่นอะไร พ่อเขาก็ซื้อให้ทุกอย่าง ซื้อให้เป็นกระสอบๆ เลย


พ่อเขาต้องอุ้มเขาไปตลาด ไปเลือกเอาเอง อุ้มไปไปโพธาราม คนเห็น เขาก็สงสาร เขาก็จะให้สตางค์ เขาก็จะบอกว่าไม่เอา ไม่ได้มาขอทาน…เขาเกิดมาเป็นอย่างนี้ แต่เขาก็ไม่ลำบาก เขาช่วยเหลือตัวเขาเองได้”

แม่สำเนียง ยังกล่าวเสริมว่า ถึงลูกอาจจะไม่สมบูรณ์ แต่ทำงาน และดูแลคนในครอบครัวได้ดีขนาดนี้ ในฐานะที่เป็นแม่ รู้สึกภูมิใจในตัวลูกชายคนนี้

“ตอนเขาทำงาน เขามาหาเราแต่เช้ามืด ตี 5 มาแล้ว ยังไม่ลุกจากที่นอน เขาก็มาแล้ว เราคิดว่าลูกไม่เหมือนคนอื่น แต่คนดีๆ เขาก็บอกว่าคนดียังได้ไม่เหมือนเก้าเลย เราก็ดีใจลูกทำได้

เราก็ไม่ต้องไปรบกวนอะไรเขามากมาย เขาก็ซื้อยา ซื้ออะไรให้ บางทีไม่ได้ก็ของเขา บางทีเขาไม่ได้ให้ก็ขอเขา อยากซื้อยากินบ้างซื้ออะไรบ้าง เขาก็ให้เขาไม่เคยขัด”




สร้างต้นแบบโมเดลแก่ผู้พิการ!!


แม้ต้นทุนชีวิตที่มีไม่เทียบเท่าเหมือนใคร ช่างเก้านั้นกลับเติบโต พร้อมกับการเรียนรู้ทักษะชีวิตบนโลกของความเป็นจริง

“ตอนที่เห็นคนขี่รถไปไหนได้ แต่เราไม่มีรถ ผมจึงคิดค้นว่าเราจะทำยังไงที่รถจักรยานยนต์สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ ผมก็นั่งนอนคิดตั้งแต่อยู่ที่ร้านนี้แล้วนะ ผมนั่งคิดของผมเกี่ยวกับสามล้อคันนั้นเป็นเดือน นั่งคิดว่าจะทำอย่างไรดี เพื่อให้ขี่ได้

บังเอิญไปเห็นรถสมัยก่อน เป็นจักรยานสามล้อ ข้างหลังเป็นสองล้อ ข้างหน้าจะเป็นล้อเดียว เหมือนสามล้อปั่นเด็ก ผมก็นึกไอเดียปิ๊งขึ้นมาได้ ว่าถ้าเราเกิดทำอย่างนี้ เป็นตุ๊กตาวิ่งตรงกลางสองอัน ให้เอาสเตอใส่ ก็ลองเอามาเทียบใส่ดู เจาะนอตลองดู ก็ทำได้”


ไม่เพียงแค่นี้ ด้วยความไม่ยอมแพ้ต่อความพิการของผู้ชายคนนี้ เขาได้นำความรู้ทางด้านช่างที่สะสมมาไปประดิษฐ์ดัดแปลงรถมอเตอร์ไซค์ของตนเองให้สามารถใช้งาน เดินทางไปไหนมาไหนด้วยตนเองโดยสะดวก ปลอดภัย อีกทั้งกลายเป็นรถต้นแบบสำหรับผู้พิการในเวลาต่อมา

ใครจะรู้ล่ะว่ากว่าจะรถจักรยานยนต์ 3 ล้อคันนี้ ต้องผ่านเวลาการออกแบบ และคิดคำนวณโครงสร้างเพื่อรองรับน้ำหนักคนที่ใช้งานนั้น ไม่ใช่สร้างขึ้นเพียงครั้งเดียวกว่าจะสำเร็จ

“ผมคิดว่าต้องทำให้ได้ เพราะว่าเห็นเพื่อนเขามีรถขี่ เราก็ต้องขี่ให้ได้เหมือนเพื่อน ผมเป็นคนอยากได้อะไร ก็ต้องทำให้ได้อย่างนั้น

ตอนแรกคิดออกแบบอาทิตย์นึง เรียนผิดเรียนถูก กว่าจะดีได้ กว่าจะเป็นรูปแบบได้ แปลงผิดแปลงถูก อันไหนรู้ว่าสิ่งนี้ผิด ก็จำไว้เป็นครู อันไหนผิดก็ทำใหม่ ทำให้มาตรฐาน เพราะว่าผมเป็นคนขี่รถเร็ว ถ้าเกิดพลาดไป ก็อาจจะ…เกิดอะไรขึ้น

ผมก็ทำงานอยู่ที่นี่ ผมก็ขอเงินเถ้าแก่ซื้อตุ๊กตา ซื้อเหล็ก แล้วก็มาซื้อวงล้อขึ้นเอง มาให้โรงกลึงขึ้นเตาให้ แล้วก็เอามาแปลงทำเอง”
จากรถสามล้อที่ตั้งใจทำเพียงให้ตัวเองเดินทางไปทำงานอย่างสะดวกสบาย กลับกลายเป็นโมเดลสำหรับผู้พิการ


“รถที่ใช้อยู่เป็นคันแรกเลย สำหรับรถคนพิการ หน่วยงานทรัพย์สินทางปัญญาเขายังมาหาผมเลย บอกว่าสงวนลิขสิทธิ์ไหม ผมบอกไม่สงวน เอาไว้ให้คนพิการเขาทำไว้ขี่ ใครจะเอาไปทำก็ไปทำ ผมบอกให้คนพิการ ใครจะทำก็ให้เขาทำไป ให้มาดูตัวอย่างได้”




รางวัล คือ กำลังใจของชีวิต


จากการสู้ชีวิตพร้อมกับการเรียนรู้ทักษะชีวิต บนโลกของความเป็นจริงของเขาตลอดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ช่างเก้าได้รับพระราชทานพระราชกระแสชมเชยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ต.วีรพันธ์ ภูวจินดา ผู้แทนพระองค์อัญเชิญพระราชกระแสชมเชย อย่างช่างเก้า ที่มีร่างกายพิการครึ่งท่อนต่อสู้ชีวิตเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างน่ายกย่อง เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 62 สร้างความปลื้มปีติแก่เขา และครอบครัวเป็นอย่างมาก

“ปลื้มมากเลยครับ แม่และพี่น้อง เป็นปลื้มหมด ไม่เคยได้อย่างนี้มาก่อน คือ ผมรู้สึกว่าท้อได้แต่อย่าถอย จะต้องสู้ ลองทำดู ถ้าเราไม่ลองทำดู ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำได้รึไม่ได้ มันต้องลองทุกอย่าง

คนเราทุกคนมีพรสวรรค์ทุกคน เพียงแต่จะทำหรือไม่ทำเท่านั้นเอง สิ่งตอบแทนก็จะมาเอง เราคิดดีทำดี สิ่งที่ดีๆ จะเข้ามาในชีวิตเรา”


ถึงแม้ว่าปัจจุบัน ธนกร มงคลลักษมี เจ้าของอู่ซ่อมรถที่นพเก้าได้ฝากเป็นลูกมือ ได้เสียชีวิต แต่เจตนารมณ์ของเขายังคงยืนหยัด ทำงานที่นี่ เพราะอู่แห่งนี้เปรียบเป็นสถานที่ให้เขามีวิชาความรู้ สามารถพัฒนาศักยภาพของตนให้ทำงาน ได้อย่างมีศักดิ์ศรี และสร้างรายได้จุนเจือครอบครัวของเขาได้

“บางครั้งก็คิด (การออกไปเปิดอู่) แต่บางครั้งก็สงสารเขา ผมไม่อยากจะไป เพราะว่าเราทำเป็นจากตรงนี้ เราผูกพันกับอู่ที่นี่ ให้เขาไม่ทำก่อนดีกว่า ไม่ก็ตายกันไปข้างนึง แล้วค่อยว่ากัน”

แน่นอนว่าหากย้อนไปเมื่อครั้งช่างเก้าคลอดมาใหม่ๆ คงไม่มีใครคาดคิดว่า จากเด็กที่พิการไม่มีขา จะสามารถเติบโตและทำงาน รับผิดชอบตัวเองรวมถึงการเป็นหัวหน้าครอบครัวอย่างทุกวันนี้


สุดท้าย ทั้งหมดที่ทำให้เก้าไม่เคยท้อและยอมแพ้ คือ คำดูถูกที่เขาได้ยินมาตั้งแต่เด็ก คือ คนพิการอยากเขาไม่มีทางทำอาชีพอื่นได้ นอกจาก “ขอทาน” และวันนี้เก้า พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่มีอะไรเกินความพยายาม เขาสามารถทำได้ทุกอย่างถ้าตั้งใจ ฝึกฝน ซึ่งช่างเก้ายอมรับอย่างภูมิใจ ว่ายังคงยืนหยัดทำงานแบบนี้ต่อไป

“ความพยายาม อดทน อย่างคนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้ เราก็ต้องคิดอย่างนี้ อย่าไปคิดว่าท้อ สิ่งที่เราทำ ทำไม่ได้ เราต้องลองทำดู ถ้าทำไม่ได้สิ่งนั้นจะเป็นครูของเรา

ผมภูมิใจครับ รู้สึกว่าพอแล้ว ไม่อยากได้อะไรแล้วชีวิตนี้ สิ่งที่อยากได้ครบหมดแล้ว อยากได้อย่างเดียว ก็คือเงินเลี้ยงครอบครัว

เป้าหมายอนาคต เรามองไว้มันไม่แน่นอน จะอยู่ถึงวันพรุ่งนี้รึเปล่าผมก็ไม่รู้ แต่จะทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน ชีวิตคนเราไม่แน่ไม่นอน รู้วันเกิดแต่ไม่รู้วันตาย เราจะตายวันไหนก็ยังไม่รู้ แต่ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจอยู่ ก็ต้องทำให้ดี มีหน้าที่อะไร เราก็ต้องรับผิดชอบไป ทำให้ดีกว่าเมื่อวาน”




สัมภาษณ์ : รายการ“ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง
:MGR Live

เรื่อง
: ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **





กำลังโหลดความคิดเห็น