xs
xsm
sm
md
lg

ทางรอดวิกฤต “แบนสปอนเซอร์สื่อ” แบรนด์ต้องเป็นกลาง เอาใจ “ผู้บริโภค Gen Z”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แบรนด์ไม่ได้สนับสนุน กำลังพิจารณาอยู่ เหล่าสปอนเซอร์ ออกมาแถลงการณ์ให้ผู้บริโภครับรู้สถานะเพียบ!! หลังการเมืองเดือด พุด #แบนสปอนเซอร์เนชั่น ส่งให้เจ้าของแบรนด์แห่หนีเอาตัวรอด ออกมาร่อนคำชี้แจงเต็มโซเชียล กูรูสื่อวิเคราะห์ กรณีล่าสุด เจ้าของแบรนด์หรือสปอนเซอร์ ต้องมีจุดยืน เพราะ “ทัศนคติทางการเมือง มันมีผลต่อการตลาด และแบรนด์”




สื่อยุ่งการเมือง เตรียมไม่มีพื้นที่ยืน?


กลายเป็นประเด็นร้อนระอุที่ได้รับความสนใจในวงการสื่อ เมื่อแบรนด์โฆษณาต่างๆ แห่ถอนโฆษณาสื่อ ทั้งประกาศกันตรงๆ และชี้แจงผ่านสื่อโซเชียลของตน หลังโซเชียลแห่ติด #แบนสปอนเซอร์เนชั่น ไต่อันดับในโลกทวิตเตอร์ เนื่องจากไม่พอใจการนำเสนอข่าวที่อาจจะบิดเบือนของช่องเนชั่นทีวี

อีกทั้งมีผู้สื่อข่าวหญิงรายหนึ่งไม่ยอมแจ้งสังกัดของหน่วยงานที่แท้จริง ขณะสัมภาษณ์ผู้ร่วมชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอก ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้เกิดส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้สนับสนุนสถานีข่าวแห่งนี้

เฉพาะอย่างยิ่ง Foodpanda ถูกตั้งคำถามถึงการสนับสนุนกรณีดังกล่าว และส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจใช้บริการของประชาชนที่ไม่เห็นด้วย

ภายหลังเกิดกระแสกดดัน ทาง Foodpanda ได้ออกมาชี้แจงผ่านแฟนเพจระบุว่าได้พิจารณา ทบทวนการปรับแผนการตลาด โดยตัดสินใจระงับโฆษณากับสำนักข่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมยืนยันว่า จะให้ความสำคัญต่อความคิดเห็น และการปรับปรุงการให้บริการของลูกค้าเสมอ


ทันทีที่มีกระแสในโซเชียลว่า Pizza company จะมาเป็นสปอนเซอร์แทน Foodpanda ส่งให้ทางโซเชียลออกมารณรงค์แบน Pizza company ต่อ ล่าสุด ทาง Miner Food เจ้าของแบรนด์ ได้ออกมาแถลง ขอทบทวนการใช้สื่อโฆษณาในสื่อโทรทัศน์แห่งนี้อีกครั้ง

ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีเครื่องดื่มยันฮี วิตามิน วอเตอร์ ได้ออกมาชี้แจง ตัดสินใจระงับการโฆษณาทางสำนักข่าวทันที พร้อมปรับปรุงแผนการโฆษณา และการตลาดของบริษัทให้มีความเหมาะสม

ขณะที่ด้าน บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด ได้ประกาศชี้แจงว่า ปัจจุบัน บริษัทฯ ไม่ได้สนับสนุนโฆษณาเครือเนชั่นแต่อย่างใด ภาพที่ออกมาผ่านสื่อต่างๆ นั้น ไม่ตรงกับความเป็นจริง ทั้งนี้ อยู่ระหว่างรอการชี้แจงอย่างเป็นทางการจากสื่อเนชั่น


เช่นเดียวกับทาง Bonchon Chicken Thailand ได้ออกมาชี้แจง หลังถูกเข้าใจผิดวาเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนว่าไม่เคยมีนโยบายในการซื้อสื่อโทรทัศน์


ดูเหมือนจะมีสปอนเซอร์ออกมาขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม โดยเลือกที่ออกมาแถลงชี้แจงถอดโฆษณาจำนวนมาก และดูเหมือนว่าเรื่องราวเหล่านี้ยังไม่มีจุดจบ ทั้งนี้ ทีมข่าว MGR Live ได้ติดต่อไปยัง ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย กูรูด้านการตลาด ให้ช่วยสะท้อนดรามา และมุมมองการเรียกร้องให้แบนสปอนเซอร์ที่ยังคงสนับสนุนสื่อดังกล่าว

โดยสะท้อนถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ในตอนนี้พฤติกรรมของผู้บริโภค กำหนดด้วยทัศนคติทางการเมือง ในกลุ่ม Gen Z ดังนั้น แบรนด์หรือสปอนเซอร์จะต้องวางตัวเป็นกลาง

[ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย]
“แสดงให้เห็นว่าการเมืองกับการตลาด การเมืองกับ Branding การเมืองกับธุรกิจ หรือทัศนคติทางการเมือง มันมีผลต่อการตลาด และแบรนด์

คนที่แบนมาจากประเด็นทางการเมือง แต่กลุ่มที่แบนส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม Gen Z ซึ่งอายุประมาณ 8-24 ปี คือ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่ดูทีวี แต่ว่าเป็นกลุ่มที่ซื้อของ

กลุ่มที่ดูทีวีส่วนใหญ่ไม่มีกำลังซื้อ คนที่ดูทีวีเป็นหลัก เป็นกลุ่มคนที่มีอายุมากๆ แต่กลุ่มที่ไม่ได้ดูทีวี เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ แต่ไม่ได้ดู หรือบางทีเป็นคนที่ซื้อให้พ่อแม่ด้วยซ้ำที่จะซื้อ ฉะนั้นเวลาโดนบอยคอต ถึงจะไม่ได้ดูทีวีเป็นหลัก จึงมีพลังค่อนข้างมาก ในสภาวะที่การขัดแย้งทางการเมืองมันค่อนข้างจะรุนแรง

แบรนด์ต้องวางตัวเป็นกลาง อย่าไป Take sides คือ แบรนด์ทำธุรกิจ ตามหลักคนทำธุรกิจต้องไม่ยุ่งกับการเมือง ฉะนั้นนอกจากแบรนด์แล้ว ผู้บริหารแบรนด์ หรือเจ้าของแบรนด์เองต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองด้วย


ไม่ใช่ว่าผู้บริหารแบรนด์ไปคอมเมนต์ทางการเมือง หรือเจ้าของแบรนด์ไปคอมเมนต์ทางการเมือง แต่ผู้ซื้อสื่อเราไม่ได้เกี่ยวกับทางการเมือง แบบนี้จะไม่ได้ พูดง่ายๆ คือ มันจะต้องไปทั้งองค์กร

จะต้องกำหนดจุดยืนของแบรนด์ให้ชัดเจน ว่าจุดยืนของแบรนด์จะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนสิ่งใด ยกตัวอย่างเช่น บางแบรนด์ในต่างประเทศ จะไม่ใช่สัตว์ทดลอง บางแบรนด์จะสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ บางแบรนด์จะไม่สนับสนุนความรุนแรงทางการเมือง คือ มันจะต้องประกาศออกไป เมื่อประกาศคุณจะต้องทำตาม…”






ยุค Gen Z สื่อเลือกข้างการเมือง เสี่ยงโดนคว่ำบาตร!!


“คนที่เขามีความคิดตรงกันข้ามกับสื่อช่องที่สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสุดฤทธิ์ เขาก็สามารถจะมีสิทธิมองได้ว่าอันนี้สนับสนุนกลุ่มคนที่เราไม่ชอบ กลุ่มคนที่ความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน หรือกลุ่มคนที่ใช้อำนาจมาคุกคามเรา

ดังนั้น ถ้าคุณสนับสนุนสื่อช่องนี้ เราก็ไม่สนับสนุนคุณ คือ เป็น Soft power มันไม่ใช่การคุกคาม เพราะการคุกคามมันต้องใช้อำนาจที่เหนือกว่า แล้วก็ไปย่ำยี หรือไปบีบบังคบโดยอีกฝ่ายไม่มีทางสู้ แต่อย่างนี้เรียกว่าเป็นการ Sanctions (บทลงโทษ สิ่งที่สนับสนุนการกระทำ) เหมือนการคว่ำบาตร… คือ เราไม่ทำมาค้าขายกับคุณ”

เมื่อถามว่าจะทำให้ภาพลักษณ์สปอนเซอร์ดูแย่ไปด้วยหรือไม่ หากยังไปเป็นสปอนเซอร์ให้แก่สื่อที่เอียงเอนไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อยังมองอีกว่า การที่แบรนด์ได้เป็นสปอนเซอร์ให้แก่สื่อ ไม่ใช่การแสดงจุดยืนทางการเมือง ซึ่งสิ่งนี้แบรนด์จะต้องเป็นคนตัดสินใจว่าจะเกิดผลดีต่อแบรนด์หรือไม่

แต่เมื่อใดที่แบรนด์ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง ก็จะต้องยอมรับถึงผลกระทบที่ตามมา ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจว่าจะเลือกใช้สินค้าเหล่านี้


“แบรนด์หรือเจ้าของแบรนด์ ก็จะต้องชั่งน้ำหนักดูว่า จริงๆ แล้วใครเป็นลูกค้าหลักเรา หรือกลุ่มที่แบนเราเป็นลูกค้าหลักเรารึเปล่า เป็นคนที่มีกำลังซื้อรึเปล่า 1.เป็นลูกค้าเราไหม 2.มนอนาคตจะเป็นลูกค้าเราไหม 3.ถึงแม้เขาไม่ใช่คนใช้ แต่เขาเป็นคนซื้อ เช่น สินค้าตัวนี้พ่อแม่เขาใช้ แต่เขาเป็นคนซื้อให้

เพราะฉะนั้น กลุ่มนี้เรียกว่าเป็นผู้มีอิทธิพล เราก็ต้องถามว่าถ้าเป็นแบรนด์ เขาแบนสินค้าเรา เพราะเราไปสนับสนุนช่องนี้แล้ว คุณคิดว่าคุณจะได้รับผลกระทบไหม ถ้าคุณคิดว่าเราไม่กลัว คุณก็สนับสนุนต่อไป ซึ่งก็จะมีบางแห่งยืนหยัดต่อ บางแห่งก็รู้ว่าไม่คุ้ม หรือว่าค่อนข้างจะกลัวว่า ถ้าเกิดสถานการณ์มันลุกลามไป

โดยแบรนด์ที่คนรุ่นใหม่เป็นลูกค้าหลักจะมีปฏิกิริยาถอนตัวเร็ว แต่ว่าแบรนด์ที่เขาถือว่าเขาแข็งแกร่ง แล้วคนที่ใช้ ไม่ใช่เป็นคนรุ่นใหม่ หรือยังไงจะต้องใช้ เขาก็จะไม่ถอน”


ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ก็มองว่า ไม่จำเป็นต้องทำตามข้อเรียกร้องของโซเชียล หากไม่ส่งผลกรทบต่อลูกค้าหลัก

“ไม่จำเป็นต้องถอนสปอนเซอร์ เพราะเขาไม่ได้คุกคาม เขาแค่ Sanctions ในทางนั้นเรียกว่า คว่ำบาตร คือ ถ้าคิดว่าแข็งแกร่งพอ และถ้าคว่ำบาตรเรา แต่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเรา เราก็ยืนหยัดสนับสนุนต่อ

แต่ถ้าเป็นกลุ่มเป้าหมาย เป็นคนรุ่นใหม่ คือ Market share ของคนรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มที่คว่ำบาตรเราอยู่ เป็นสัดส่วนใหญ่ คุณต้องชั่งน้ำหนักดูว่า ถ้าเกิดรณรงค์คว่ำบาตรอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะกระทบคุณไหม ถ้ากระทบคุณ คุณก็ต้องคิดดูเอาแล้วกัน ว่าสนับสนุนต่อรึเปล่า ซึ่งก็มีหลายแบรนด์ที่ถอนไปเหมือนกัน”

นอกจากนี้ เขายังฝากเตือนอีกว่า ซึ่งกลุ่ม Gen Z (1997-2012) กำลังมีบทบาททั้งทางการบริโภค และในทางการตลาดมองว่า เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงมาก ณ ปัจจุบัน กลุ่มนี้มีบทบาททางการเมือง รวมทั้งมีพลังจะเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นการที่แบรนด์ต่างๆ จะปฏิบัติกับกลุ่มเด็กวัยรุ่นเหมือนสมัยที่ผ่านมาไม่ได้

“ตอนนี้การเมืองจะแรงขึ้น แล้วคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ Gen Z จะเป็นคู่ขัดแย้งหลัก เป็นหัวหอกหลักเลยในการเดินกระบวนการชุมนุม
แบรนด์จะต้องศึกษา จะต้องจูนให้เข้ากับ Gen Z เพราะว่า Gen Z มันมีความแตกต่างจาก Gen X , Gen Y , Baby Boomer

คือ กลุ่ม Gen Z จะเป็นกลุ่มที่แทน Gen Y ด้านการบริโภค เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ แบรนด์จะต้องปฏิบัติต่อกลุ่ม Gen Z ให้ดี ต้องศึกษาวิธีคิด ศึกษาวิธีมองหรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา ว่าเขามีวิธีคิดยังไง แล้วพูดง่ายๆ น้ำเชี่ยว อย่าแกว่งเรือ เพราะว่ากลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่กำหนดการตลาด การซื้อ ไปอีกประมาณอย่างน้อย 20-30 ปี”




ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **





กำลังโหลดความคิดเห็น