xs
xsm
sm
md
lg

เปิดชีวิต “แม่ชีมือกลอง” ใช้ธรรมะเยียวยาบาดแผลชีวิต-วิถีคนกลางคืน [มีคลิป]

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อดนตรีไม่สามารถเยียวยาจิตใจ มือกลองสาวจึงหันหน้าเข้าสู่ทางธรรม ทุกข์นานจนรู้สึกรับไม่ไหวปัญหารุมเร้า เชื่อว่าโซเชียลทำให้คนป่วย เป็นนักดนตรีก็เล่นแต่เพลงเศร้า เพราะใจมันเศร้าอยากหยุดความรู้สึกนี้ จึงตัดสินใจมาบวชเพราะอยากพ้นทุกข์ใช้ธรรมะนำทาง เปลี่ยนชีวิตให้เป็นคนใหม่ จากที่เคยโทษแต่ตัวเองว่าแย่ หันมามองโลกในแง่บวก มีความสุขมากขึ้น และได้รู้จักคำว่าโอกาส





เมื่อดนตรีไม่ช่วยบำบัด ก็ต้องพึ่งทางธรรม


แต่ละคนมีความทุกข์ไม่เท่ากัน แต่ก็เจ็บเหมือนกัน ก็เป็นเพราะบวชถึงได้เห็นธรรมมากกว่าเดิม ได้เข้าใจมากกว่า รู้จักคำว่าโอกาส
  มีโอกาสดีๆ ในทุกๆ วัน 

ยืนยันว่าพ้นทุกข์แน่นอน ยังไงก็พ้นทุกข์แน่นอน การได้เอากิเลสออก อยู่กับตัวเอง แล้วทีนี้จะได้พบความสุขที่แท้จริงว่าเป็นยังไง

ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม แววตาสดใสที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข หญิงสาววัย 23 ปี ดรีม-อภิชญา เกียรติกู้กิจ อาชีพนักดนตรี
กับตำแน่งมือกลองที่น้อยคนนักมักจะเห็นมือกลองเป็นผู้หญิง เมื่อดนตรีไม่สามารถเป็นความสุขได้อีกต่อไป เป็นนักดนตรีก็เล่นแต่เพลงเศร้าเพราะใจมันเศร้าอยากหยุดความรู้สึกนี้จึงตัดสินใจมาบวชเพราะอยากพ้นทุกข์  จึงหันหน้าเข้าสู่ทางธรรม




“เพลงเศร้าหลายๆ คนก็คงชอบใช่ไหมคะ แล้วพอนักดนตรีมันรู้สึกเศร้า มันก็อยากเล่นแต่เพลงเศร้า ก็เล่นๆ ไป แล้วคือมันปลูกฝังจิตตัวเองโดยที่ไม่รู้ตัว เนื้อหามันก็เศร้า เวลาร้องเพลงเศร้าจะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รู้สึกใช่ไหมคะ มันต้องรู้สึกไปด้วย มันถึงจะออกมาเป็นเพลงที่เพราะ มันก็เลยแบบว่า ได้เล่นบ่อยๆ เข้า มันก็รู้สึกว่าเริ่มเครียด

ดรีมคิดว่ามันเป็นการปลูกฝังจิต เหมือนแบบมันไม่ใช่พลังงานบวก เราเสพแต่สิ่งเศร้าๆ ลบๆ หน่อยมันก็ทำให้เราอาจจะรู้สึกเศร้า หรือซึม หรือแบบไม่ค่อยแฮปปี้เท่าไหร่”


เธออยู่กับวงการดนตรีมาตั้งแต่สมัยเรียน ม.4 จนตอนนี้จบปริญญาตรี ซึ่งนับว่าเป็นระยะนานหลายปี เมื่อก่อนมีความสุขมากในการเล่นดนตรี แต่พอมาปีนี้รู้สึกว่าตัวเองชอบเล่นแต่เพลงเศร้าๆ บวกกับการที่ไม่มีสมาธิในการเล่น บางครั้งก็ลืมเพลงที่ต้องเล่น

“ปีที่แล้วคือมีความสุขดี แต่ปีนี้ไม่ค่อยมี มันค่อนข้างที่จะเครียด เหมือนสิ่งต่างๆ ทำไมเจอแต่แบบนี้ๆเดี๋ยวพี่เราอีก

พี่คนที่รู้เขาก็มีความเครียดอะไรของเขา แล้วเขาก็จากเราไป ก็เลยรู้สึกว่าความเครียด ความทุกข์มีกับทุกคน มีรอบตัวจริงๆ

ด้วยความที่ดรีมเป็นคนขี้ลืม เป็นคนที่ขี้ลืมอะไรง่ายมากๆ บางทีแบบว่ามันจะเครียด ทำไมเพลงท่อนนี้เราลืม เราไม่มีสมาธิ
ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เราไม่อยากจะลืม ไม่อยากจะอะไรอย่างนี้ค่ะ

ทุกคนมีความทุกข์ในรูปแบบของตัวเอง แล้วบางทีรู้สึกว่าชีวิตประจำวันในทุกๆ วันที่เราใช้ มันวุ่นวายอยู่แล้ว เดี๋ยวเจอปัญหาโควิดมา เดี๋ยวเจอปัญหาต่างๆ กระทบกระทั่งกันในบ้านบ้าง หรือกับเพื่อนบ้าง กับงานบ้าง ทุกอย่างมันมีกระทบกระทั่งเราอยู่แล้วรอบตัว”








เธอเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นก่อนที่จะตัดสินใจมาบวชชีที่เสถียรธรรมสถานเริ่มจากเพื่อนให้หนังสือธรรมมะมาอ่าน และไปเห็นคลิปของเอ็มมี่ แม็กซิม ตอนที่แม่ชีศันสนีย์ปลงผมให้ พอดูแล้วรู้สึกสงบ

“จุดเริ่มต้นที่บวช คือช่วงก่อนหน้านี้อ่านหนังสือธรรมะ เพราะว่าเพื่อนให้หนังสือธรรมะมา แล้วพอเราอ่านเรารู้สึกสงบ ชอบประโยคที่บอกว่า หยุดคือสำเร็จ ก็เลยแบบว่าเหมือนเห็นทางธรรม

พอดีว่าเพื่อนเขาก็ศึกษาธรรมเหมือนกัน แล้วทีนี้เพื่อนเขาก็แนะนำสิ่งดีๆ มา เราก็รู้สึกว่าสิ่งที่เพื่อนแนะนำมาก็ดี และเราก็เปิดใจด้วยค่ะ เปิดใจรับธรรมด้วย ก็เลยเป็น topic คุยกันกับเพื่อนรักว่าแบบธรรมมะดีเหมือนกันนะ ทั้งช่วยเหลือเราได้ ให้เราพ้นทุกข์ได้ เจอทางที่ดีได้




แล้วก็รู้สึกว่าธรรมมะช่วยเราได้ เป็นประโยคที่ดีมากๆ ก็อยู่ธรรมะมาเรื่อยๆ ศึกษามาประมาณหนึ่ง แล้วก็ค่อยไปเปิดเจอคลิปยูทูป
บังเอิญไปเปิดเจอคลิปแม่ชีศันสนีย์ค่ะ แบบว่าสัมภาษณ์คุยกับเอ็มมี่ แม็กซิม แล้วก็รู้สึกว่าเห็นผ้าขาวของท่านแล้วรู้สึกสงบมากๆ รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดีก็เลยตัดสินใจภายในคืนเดียวไปบวชเลย

พี่ที่สนิทคิดสั้นก็เป็นสาเหตุหนึ่งเหมือนกัน หมายถึงว่ามีหลายๆ สาเหตุที่เข้ามา แต่ไม่ใช่ประเด็นนี้ประเด็นเดียว แต่ว่าหลายๆ เรื่องที่เข้ามา เพราะเราจะเจอ แต่ละคนจะเจอปัญหาที่เข้ามาตลอด มันเหมือนมันสะสมให้เราเกิดความเครียด”


ทุกข์นาน เครียดสะสม จนรับไม่ไหว บวกกับเพิ่งเรียนจบใหม่ พอมาเจอกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย ยิ่งทำให้เครียดเข้าไปอีก

“พอโควิดเข้ามา ดรีมเรียนท่องเที่ยว พอจบออกมาก็เหมือนเคว้งเลยค่ะ ก็คิดว่าเพื่อนๆ คนอื่นก็น่าจะเป็นเหมือนดรีมนะคะ แล้วก็อาจจะไม่กระทบแค่อาชีพเรา คิดว่ากระทบทั้งโลกเลย

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโควิด คือเราเป็นนักศึกษา เราเรียนจบมาปุ๊บ เรียนท่องเที่ยวด้วย ออกมาเคว้งเลย นักศึกษาจบใหม่ก็ค่อนข้างที่จะเครียดเรื่องงานแบบว่าจะทำงานอะไรดี ยิ่งจบท่องเที่ยวมาปุ๊บ ไวรัสหรืออะไรอย่างนี้เกิดมาจากจีนด้วย ทำยังไงดี โดนเต็มๆ เลย

ก็จะเป็นทั้งเรื่องงานเป็นหลัก เดี๋ยวเรื่องพ่อแม่อีก พ่อแม่โดนหมากัด เราเห็นพ่อแม่เราบาดเจ็บ เห็นเลือดออกเราก็เครียดไปด้วย เราไม่อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับพ่อแม่เรา เป็นห่วงมากๆ เราเพิ่งเคยเห็นครั้งแรกแบบพ่อแม่เลือดออก รู้สึกว่ากังวลมากๆ แล้วเราก็ต้องคอยดูแลเขา”


ปัญหารุมเร้า บวชเพื่อพ้นทุกข์

เพราะคำว่าอยากพ้นทุกข์ จึงทำให้เธอตัดสินใจไปบวช เชื่อว่าไปอยู่กับคนที่มีพลังงานด้านบวกอาจจะทำให้จิตใจที่ฟุ้งซ่านสงบลงได้

“คือเราก็อยากพ้นทุกข์ค่ะ ตอนนั้นแค่คิดว่าแค่ต้องการความสงบจริงๆ บางคนเขาอาจจะบอกว่าทำที่บ้านก็ได้ ทำไมต้องบวช ทำไมต้องไปถึงตรงโน้นเลย ดรีมคิดว่ามันเป็นเรื่องของสภาพแวดล้อม ถ้าเรายังอยู่ในบ้าน เราทำก็จริง แต่สภาพแวดล้อมไม่ค่อยเอื้ออำนวยเท่าไหร่ 

แต่ถ้าดรีมไปบวช ไปวัด เราได้ฟังความทุกข์ของคนอื่นด้วยนะ แล้วเราก็จะมาดูจิตตัวเอง จะอยู่กับจิต ดูจิตตัวเองตลอด เราก็จะได้เห็น ได้เข้าใจ แล้วเราอยู่กับคนพลังงานบวก บอกแต่สิ่งดีๆ

ถ้าเราทำเองที่บ้าน บางทีเราอาจจะอยู่กับตัวเอง บางทีอาจจะฟุ้งซ่านก็ได้ค่ะ ไปอยู่กับคนอื่นที่เขาความคิดดีๆ เราจะดึงไปด้วยกัน”


แม้หลายคนจะบอกว่ามีทุกอย่างที่พร้อม ทั้งฐานะ ครอบครัวที่ดีและอบอุ่น ทำไมถึงยังทุกข์ แต่เธอกลับมองว่าไม่ว่าจะรวยหรือจน หรือเป็นใครก็แล้วแต่ ย่อมมีความทุกข์กันทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะทุกข์มากทุกข์น้อย

“ดรีมคิดว่าต่อให้รวยแค่ไหนก็ตามก็มีความทุกข์ ได้เท่าไหร่ก็ไม่พอ ก็คือเหมือนที่ไปบวชค่ะ เอากิเลสออก เอาความอยากออก แล้วอยู่กับตัวเองจริงๆ เพราะเราได้อยู่กับตัวเองจริงๆ เมื่อเอาความอยากออก มันจบเลย

กลับมาอยู่กับตัวเอง ดูจิตตัวเองค่ะ คนเราชอบแบบว่าเผลอหลุดไปข้างนอก คือเราไม่รู้ตัวจริงๆ นะคะ เราลองมองจิตตัวเองดู อันนี้ดรีมว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ

บางทีเราอ่านหนังสือ เราสวดมนต์อยู่แต่จิตไปไหนแล้ว คือไวมาก เราควรที่จะเอากลับมาอยู่กับตัวเองหน่อย การที่จิตเราฟุ้งซ่าน ไปนู่น ไปนี่ ไปนั่น เราไม่ดูจิตตัวเองเลยว่าจะกลับมาอยู่กับตัวเองยังไง สมมติว่ามีความรัก คิดถึงเขาแล้ว ไปหาเขาตลอดเลย ยังไม่ทันกลับมาดูตัวเองเลย อะไรอย่างนี้ค่ะ ประมาณนี้”






แน่นอนว่าการบวชเป็นแม่ชี กับการเป็นมือกลองย่อมแตกต่างกัน แต่สำคัญอยู่ที่ว่าหลังจากบวชออกมาก็สามารถนำหลักธรรมนั้นมาปรับใช้ในชีวิตการเป็นนักดนตรีต่อไปให้มีความสุข

“การบวชก็คือการละทิ้งทุกอย่าง การบวชคือการเอาออก สิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราเป็นนักดนตรีก็ถูกเอาออกไป แล้วคือกลับมาอยู่กับตัวเอง  ตอนที่เราเป็นแม่ชีเราก็ต้องรู้ว่าเราเป็นแม่ชีนะ แต่เมื่อเราออกมาแล้ว เราก็ต้องรู้ว่าตอนนี้เราเป็นฆราวาสนะ  พอเป็นฆราวาสเราก็นำหลักของธรรมมา adapter มาใช้ตลอด”


แม้จะใช้ระยะเวลาในการบวชไม่นาน แต่ก็สามารถเข้าถึงธรรมะได้เป็นอย่างดี รู้สึกจิตใจสงบมากขึ้น หลังจากออกมาแล้ว ยืนยันว่าธรรมะทำให้พ้นทุกข์ได้จริง

“บวช 1 เดือนค่ะ คือตอนแรกคิดไว้ว่า 9 วันก่อน ดรีมก็เลยคิดว่าไหนๆ เราจะบวช 9 วัน ก็เลยเปลี่ยนไป 1 เดือนไปเลย ก่อนหน้านี้ดรีมเคยถือศีล 8 มาก่อนนะคะ ตอนนั้นป๊าแม่บังคับให้ไป 5 วัน ของโครงการยุวพุทธ ตอนนั้นน่าจะประมาณ ม.ต้น แล้วก็รู้สึกว่า 5 วันนี้แอบอยากเหมือนกัน นั่นคือครั้งแรก

แต่ครั้งนี้เราก็ถือว่าลองดู ลองก้าวข้ามผ่านไป 1 เดือนให้ได้ คิดว่าน่าจะเป็นทางที่สงบจริงๆ  เพราะเราได้หยุด เราได้ตัดทุกย่าง

แต่พอครบ 1 เดือนแล้วอยากอยู่ต่ออีก ก็เลยอยู่ต่อไปอีกประมาณ 8 วันค่ะเพราะว่าเดือนต่อมาดรีมเห็นว่าวันสำคัญทางศาสนาเยอะมาก วันอาสาฬหบูชา มีวันเข้าพรรษา ก็เลยรู้สึกว่าถ้าเราอยู่ต่ออีกนิด เราจะไม่พลาดโอกาสดีๆ อยู่ต่อไปถึงวันที่ 8 ก.ค ก็เลยออกมา

แล้วจากที่สัมผัสมา อันนี้เป็นความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งที่แบบว่าธรรมช่วยเราได้ มีความสุขมากๆ เลย คนละเรื่องเลยกับตอนแรกที่เครียดมากๆ คนละเรื่องจริงๆ”




ส่วนวันที่ตัดสินใจไปบวช วันนั้นเธอเล่าว่าคืนนั้นไม่ได้นอน รู้สึกตื่นเต้นไปหมด รอจนถึงเช้าเพื่อที่จะบอกพ่อกับแม่ให้ได้รับทราบ พ่อแม่ก็สนับสนุนเต็มที่ ยิ่งดีใจมากกว่าที่เลือกที่จะไม่หนีปัญหา หันหน้าสู่ทางธรรม 

บวกกับทางครอบครัวที่สอนไปในทางธรรมควบคู่ไปด้วย ให้ได้เรียนรู้ ได้ซึมซับมาตลอด คอยบอก คอยสอน คอยให้ไอเดียต่างๆ ในสิ่งที่ดีเสมอมา

“อันนี้ก็เกี่ยวเลยนะคะ เพราะว่าคือตั้งแต่เด็กมา เขาจะพาเข้าวัด พาไปทำบุญอย่างนี้ตลอด เราก็ซึมซับมาเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าทุกครั้งที่เข้าวัดจะรู้สึกสงบ ทุกครั้งที่ไปก็จะรู้สึกสบายใจ ก็เหมือนว่าได้ซึมซับตรงนี้มาเรื่อยๆ อยู่แล้ว พ่อแม่ปูทางมาให้

พอถึงจุดหนึ่งที่แบบว่า มันทุกข์จนถึงจุดสิ้นสุด แบบว่ามันรับไม่ได้เพิ่มแล้วค่ะ แค่รู้สึกว่าอยากลองตัดจริงๆ แบบไม่ต้องสวยก็ได้ แค่อยากเหมือนอยากดีดนิ้วแล้วฉันหายไป แค่ผมหายไปเลย ลองตัดทุกอย่างดู”


โซเชียลทำให้ป่วย

ปลงผม ละทางโลก ตัดขาดจากโซเชียล เพราะคิดว่าโซเชียลทำให้ป่วย เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นโดยที่ไม่รู้ตัว การได้รับข่าวสารที่มากมาย โดยไม่ได้รับการกลั่นกรองอาจก่อให้เกิดภาวะของโรคซึมเศร้า เครียด วิตกกังวล สมาธิสั้น

“เคยศึกษาเรื่องโรคซึมเศร้าค่ะ แล้วเขาบอกว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าไม่ควรที่จะเล่นโซเชียลอะไรอย่างนี้ค่ะ ตามความเข้าใจคือคิดว่าโซเชียลอาจจะทำให้เราเอามาเปรียบเทียบตัวเองโดยที่ไม่รู้ตัว ได้รับข่าวสารต่างๆ ทำให้เครียด หรือพอเราอ่านแล้วเรารู้สึกว่าไม่สบายใจ

มันคือข่าวสารต่างๆ ที่เต็มไปหมดเลยในโลกโซเชียล ฟังคนโน้นคนนี้ แสดงความคิดเห็นของตัวเอง ดีบ้างไม่ดีบ้าง บางทีเราได้รับโดยที่เราไม่ได้มากลั่นกรอง เราไม่รู้ตัวนะคะ เราไม่รู้ตัวเลย

ก็เลยมาคิดว่า ถ้าเราตัดสิ่งฟุ้งซ่านนี้ออกไป มันควรที่จะมีเวลาเบรกอยู่กับตัวเองจริงๆ กลับมาอยู่กับตัวเองจริงๆ ลองตัดสิ่งนี้ดู ตัดออกไป น่าจะดีขึ้นเยอะ

ทางเสถียรธรรมสถานเขาไม่ห้ามอะไร แต่ว่าดรีมไม่เล่นดีกว่า เหมือนเรารู้ตัวเองว่าเราแค่ไม่อยากฟุ้งซ่าน เราแค่ต้องการสงบจริงๆ”


เมื่อถามว่าเป็นโรคซึมเศร้าด้วยหรือเปล่าที่ทำให้ศึกษาข้อมูลเหล่านี้ เธอตอบกลับมาว่าไม่ได้เป็น เพียงแค่ศึกษาเพราะอยากเข้าใจคนรอบข้าง หรือคนอื่นๆ มากยิ่งขึ้น หรือหากตัวเองอยู่ในภาวะเสี่ยงเหล่านั้น ก็จะสามารถแก้ไขได้ทันที

“ไม่ได้เป็นค่ะ แต่ว่าศึกษาเพราะคนรอบตัวเป็นเยอะ แล้วถ้าเรามีภาวะเสี่ยงจะได้กลับมาได้ อะไรอย่างนี้ค่ะ ก็อยากเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นด้วย”

จากที่คิดว่าตัวเองเป็นทุกข์หนัก แต่เมื่อเข้าไปเจอเพื่อนๆ ที่บวชในเสถียรธรรมสถาน ปัญหาตัวเองกลายเป็นเพียงเล็กน้อยไปเลย เห็นว่าคนที่ทุกข์มากกว่าก็มี

“ความทุกข์เราอาจจะดูซอฟต์ไปเลย แต่ก็เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้นะคะ แต่ละคนมีความทุกข์คือไม่เท่ากัน แต่ก็เจ็บเหมือนกัน
บางคนเขาก็เจอหนักกว่าเรา ก็เข้าใจเขา เราเห็นทุกข์ของเขา แล้วเราก็จะให้กำลังใจเพื่อนของเราว่ามันจะผ่านไปด้วยกันได้”


กลายเป็นว่าเมื่อตัวเองสลัดความทุกข์พ้นไปแล้ว สามารถเป็นที่ปรึกษาความทุกข์ให้แก่เพื่อน แนะนำแนวทางในการใช้ชีวิตให้มีความสุขมากขึ้น พร้อมทั้งมีเพื่อนอีกหลายคนอยากไปบวชด้วยเช่นกัน

“บางทีเพื่อนที่ทุกข์ เขาก็จะมาคุยกับเรา ปรึกษากับเรา เราก็ดีใจ ยินดีมากๆ ถ้าเราได้ช่วยคนที่เขาทุกข์ให้หายทุกข์ เป็นอะไรที่มีความสุขมากๆ เลย

พออกมาปุ๊บเพื่อนๆ บางทีก็ทักมาปรึกษาว่าแบบอยากบวชจังเลย ดรีมก็จะให้คำแนะนำเขาว่าไปเลย อยากไปไปเลย ก็สนับสนุนเพื่อน”


นอกจากใช้ธรรมะบำบัดจิตใจแล้วนั้น เธอยังให้ธรรมชาติช่วยเยียวยาจิตใจควบคู่กันไปด้วย ได้ออกไปทำอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อน

ช่วยเราได้เยอะมากๆ ค่ะ แบบว่าเปลี่ยนวิถีชีวิตไปเลย ตอนที่ดรีมไปอยู่หุบเขาที่แก่งกระจาน หุบเขาโพธิสัตว์ ก็คือไป 2 ที่เลยค่ะ
เสถียรธรรมสถาน 1 ก็อยู่ น่าจะเกือบเดือนนะคะ แล้วก็ทีนี้เขาจะย้ายไปอยู่ที่หุบเขาค่ะ ทีนี้ก็ได้ไปอยู่กับธรรมชาติ แต่ทั้ง 2 ที่ก็ธรรมชาตินะคะ แต่คนละแบบ อีกที่หนึ่งเสถียรสองก็จะเป็นเหมือนภูเขาล้อมรอบเลยค่ะ 

คือเราได้อยู่กับธรรมชาติ ตื่นลืมตาขึ้นมาทำกิจของแม่ชี แล้วได้อยู่กับธรรมชาติแบบภูเขาเยียวยาเรา ธรรมชาติเยียวยาเรา ปกติมนุษย์จะเจอแต่ตึกเต็มไปหมด บ้านช่องรถติด แต่ว่าเหมือนเราไปอยู่ในที่ที่ธรรมชาติจริงๆ แล้วก็ทำอาหารกินเอง ปลูกเอง กินเอง
รู้สึกว่าธรรมชาติเยียวยาเราได้ ธรรมะก็เหมือนกัน ยิ่งอยู่กับ2 สิ่งนี้ควบคู่ไป ดีมากๆ เลย”

และไม่เพียงเท่านี้ ทางเสถียรธรรมสถานยังอนุญาตให้นำเครื่องดนตรีมาเผยแพร่ธรรมะผ่านบทเพลงในสิ่งที่ตัวเองรักแบ่งปันความสุขสู่ผู้อื่นเติมเต็มความฝันให้เด็กๆ ปาเปอกะยอ ชนเผ่ากะเหรี่ยง ที่ฝันอยากเป็นนักดนตรีอีกด้วย


ใช้ธรรมนำทาง เปลี่ยนชีวิตให้เป็นคนใหม่

ใช้หลักธรรมนำทางในการดำเนินชีวิต และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข นอกจากนี้ เธอยังยอมรับอีกว่าคำสอนต่างๆ ที่ได้รับมาหลังไปบวชยังสอนให้รู้จักคำว่าโอกาสมากขึ้นอีกด้วย

“ก่อนหน้านี้ก็จะอาจจะไม่ คือรู้เรื่องว่าไปทำวัตร ไปไหว้พระ สบายใจ แต่ว่าคือพอบวชแล้วเหมือนมันไปได้ลึกว่านั้น เราเข้าใจได้ลึกกว่านั้น อันนั้นอาจจะผิวเผิน ก็เป็นเพราะบวชค่ะ ถึงได้เห็นธรรมมากกว่าเดิม ได้เข้าใจมากกว่าเดิมขึ้นเยอะเลยค่ะรู้จักคำว่าโอกาส มีโอกาสดีๆ ในทุกๆ วันเลย”

เธอเล่าว่าจากเมื่อก่อนที่เอาแต่โทษตัวเองว่าแย่มาตลอด หลังจากไปบวชมาเพียง 1 เดือน ทำให้สามารถมองโลกในแง่บวกมากขึ้น และหากมีโอกาสอาจจะไปบวชอีกรอบแน่นอน

“มองโลกในแง่บวกมากขึ้นเยอะเลยค่ะ คิดว่าถ้ามีโอกาสก็จะไปบวชอีก เราไม่รู้ว่าโอกาสเมื่อไหร่ ก็ถ้ามีโอกาสอีกคิดว่าได้ไปอีก”


พาตัวเองพ้นทุกข์มาได้ ก็อยากจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างให้แก่อีกหลายๆ คนที่กำลังทุกข์ หรือหาทางออกกับปัญหาที่เผชิญอยู่ตอนนี้
เชื่อว่าทุกคนมีความทุกข์ แต่ทุกข์คนละแบบ และเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างย่อมมีทางออกเสมอ ถ้าทำทุกทางแล้วยังไม่หายทุกข์ อยากฝากให้หันหน้าเข้าสู่ทางธรรมดูสักครั้ง

“คนทุกข์ในแบบที่ดรีมคิดนะคะ ดรีมคิดว่ามี 2 แบบ คนทุกข์ที่แบบว่าสมมติเขาบอกเขาเครียดกับแฟนเขา คุณบอกคนทุกข์ๆ แต่ว่าคุณก็ยังอยู่ตรงนั้น แล้วคุณก็ยังรับได้เรื่อยๆ แต่เขาก็ทุกข์นะคะ แต่เขาไม่รู้ว่าจะทำยังไง จะไปต่อหรือไม่ไปต่อดี แต่เขาก็รักของเขา อันนี้ยกตัวอย่างนะ แต่เขาก็ยังรับได้

รับทุกข์ได้ตลอด ทั้งๆ ที่บอกว่าทุกข์ ทั้งๆ ที่บอกว่าไม่ไหวแล้ว กับอีกแบบหนึ่งก็คือทุกข์จนล้นแล้ว แบบฉันรับความทุกข์อะไรเพิ่มไม่ได้แล้ว เหมือนดรีมที่ดรีมไปบวช เพราะรู้สึกว่ามันล้นแล้ว มันรับไม่ได้แล้ว

สองแบบก็มีความทุกข์เหมือนกัน ถ้าคนที่รับไม่ไหวแล้ว บางทีเขาจะเกิดความคิดขึ้นแบบว่า ฉันแค่อยากหายไป มันแบบพอมันทุกข์ไม่ไหว ฉันหายไปได้ไหม แค่อยากหายไป เหมือนดีดนิ้วแล้วฉันหายไป”


หลายคนหนีปัญหาด้วยการจบชีวิตตัวเอง เพราะเชื่อว่าเป็นอีกทางเพื่อพ้นทุกข์ เธอแนะนำว่านั่นไม่ใช่ทางออกที่จะทำให้พ้นทุกข์อย่างแท้จริง อยากให้ทุกคนค่อยๆ แก้ปัญหา และไม่อยากให้คิดว่าเป็นปัญหา ให้คิดว่าเป็นเพียงสถานการณ์หนึ่งที่เราทุกคนต้องเจอ
และต้องผ่านมันไปให้ได้

“ดรีมคิดว่าคนที่มีความคิดแบบนี้ จริงๆ จะบอกว่ามันมีทางออกนะคะ คืออย่างดรีมก็จะไปบวช ละทิ้งทุกอย่าง อยากเอาออกทุกอย่าง บางคนอาจจะคิดสั้น อยากฆ่าตัวตาย อันนี้ดรีมไม่แนะนำ ลองเอาใจเข้ามาหาทางธรรมดูก่อน ลองดูก่อน ทางพุทธเขาไม่ได้บอกให้เชื่อ แต่เขาบอกให้พิสูจน์ เรายังไม่ลองเลย ไปลองดูก่อน

แล้วก็ดรีมคิดว่าคนที่เขามีปัญหามารุมเร้า มีความเครียดเข้ามามากมาย ไม่อยากให้คิดว่ามันเป็นปัญหา ไม่อยากให้คิดว่ามันเป็นคำว่าปัญหา เพราะมันจะดูใหญ่มากเข้ามา

แต่อยากให้คิดว่ามันเป็นสถานการณ์หนึ่งดีกว่าที่จะต้องเจอ เป็นสถานการณ์หนึ่งที่เราอาจจะไม่ชอบมัน แต่มันจะต้องเจอ คือเอาตัวเองออกมามองปัญหานั้นว่าเราจะทำยังไงกับสิ่งๆ นี้ กับสถานการณ์นี้ที่เราไม่ชอบ

ค่อยๆ แก้มันไปดีกว่าค่ะ อย่าเพิ่งไปด่วนสรุปว่าอยากตาย หรือคิดอะไรไม่ดี มีทางออกเสมอ ค่อยๆ คิดแก้ปัญหา อย่างที่บอกว่า อาจจะโทษตัวเองบ่อยๆ อย่าโทษตัวเองเลย คิดว่าเปลี่ยนเป็นแบบใช้ปัญญาดูสิ ใช้ปัญญาดูก่อน ค่อยๆ คุยกับตัวเอง ทุกอย่างเริ่มจากให้นิ่งก่อน ค่อยๆ ให้เวลาตัวเองหน่อย”




เธอยืนยันว่าธรรมะสามารถทำให้พ้นทุกข์ได้จริงๆ การได้เอากิเลสออก ได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น แล้วเมื่อนั้นก็จะได้พบความสุขที่แท้จริงว่าเป็นยังไง

“พอเข้าไปรู้สึกว่า เหมือนเป็นอีกคนหนึ่ง คือเราค่อยข้างที่จะสงบในนั้น เพราะว่าเราอยู่กับกลุ่มคนใหญ่ๆ ที่เขาให้พลังงานบวกกับเรา ทุกคนให้ความคิดดีๆ เสมอ ทุกคนที่เข้ามาด้วยกัน มีเพื่อนคนไหนวันนี้นอยนะ วันนี้รู้สึกว่าคนนี้มีปัญหาอะไร เครียดอะไร ทุกคนจะมานั่งคุยกันว่าวันนี้เป็นอะไร นอยอะไร ก็มาช่วยกันเคลียร์ใจกัน ใครดรอปลงไปก็ดึงทุกคนขึ้นมา คือดีมากๆ เลย

พอออกมาปุ๊บ เราออกมาจากคนที่มีพลังงานบวกมากๆ  อยู่กับคนที่มีความคิดดีมากๆ เราก็ได้หนึ่งเลยพลังงานบวก พลังงานดีๆ จิตบริสุทธิ์ของทุกคนที่ดรีมไปสัมผัส ไปเจอมา  เรารู้สึกว่าเราเปลี่ยนตรงที่จากดรีมในเวอร์ชันก่อน อาจจะมีคิดลบ คิดอะไรไม่ดีเยอะ แต่เรามากลายเป็นว่าเราคิดบวกมากขึ้น”


เปลี่ยนตัวเองจากเวอร์ชันก่อนบวช กลายเป็นเวอร์ชันใหม่ มองทุกอย่างเป็นกลางมากขึ้น ไม่ด่วนสรุป สร้างโอกาสให้ตัวเองในทุกๆ วัน และก่อนจะทำอะไรต้องนั่งสมาธิให้จิตใจสงบก่อนลงมือทำ เพราะเชื่อว่าหากมีจิตใจที่นิ่งสงบ ทำอะไรก็จะประสบความสำเร็จและมีความสุข

“มองทุกคนอย่างเป็นกลางมากขึ้น ไม่ด่วนสรุปใครไปก่อน คิดดี จากดรีมในเวอร์ชันก่อน ก็จะเป็นดรีมแบบลืมตาขึ้นมา ตื่นนอนเบื่อจังเลย อีกแล้วเหรอ หรูบเดิมๆ ชีวิตเดิมๆ น่าเบื่อจัง แต่อันนี้เราเปลี่ยนแบบว่า ลืมตามาจิตแรกปุ๊บ กลายเป็นคิดว่าโอกาสมีในทุกๆ วัน

มันเหมือนแค่นิดเดียว แต่มันพลิกเปลี่ยนชีวิตเราไปเลยค่ะ ก็รู้สึกว่ามีโอกาสดีๆ ในทุกๆ วัน เหมือนเราไม่เครียดแล้ว แต่ก่อนจะเครียดมาก คิดเยอะ ตอนนี้ก็เหมือนไม่เครียดเท่าเมื่อก่อนแล้ว รู้สึกสบายๆ ขึ้นเยอะ

แล้วก็ชอบตรงหนึ่งมากที่จะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน ก็คือแบบว่า ทุกๆ อย่างที่เราจะเริ่มต้น เหมือนแบบจะแต่งเพลง มีกระดาษใบหนึ่งวางอยู่ มีปากกา สมมติดรีมอยากจะแต่งเพลง ดรีมก็จะมองกระดาษนั้น แล้วก็จะเริ่มจากนั่งสมาธิก่อน แล้วค่อยเริ่มเขียน หรือสิ่งต่างๆ อะไรก็ได้ที่เรากำลังจะครีเอตมันขึ้นมา ต้องใช้ความคิด เดี๋ยวต้องให้เวลาหน่อย นั่งสมาธิ




ทำไมต้องนั่งสมาธิ การหายใจเข้า หายใจออกนี่คือการได้กลับมาอยู่กับตัวเอง จิตเราไม่ฟุ้งซ่าน อันนี้คือเรียนกับแม่ชีมาด้วยนะคะในคลาสเขาก็จะบอกว่า จะเริ่มต้นงาน จะครีเอตอะไรขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ถ้าเราเริ่มต้นด้วยจิตที่นิ่ง ก็จะทำให้งานนั้นเราครีเอตออกมาดีมากๆ
เพราะงานที่ดี ก็คืองานที่เราเริ่มจากจิตที่นิ่งที่สุดก่อน มันจะครีเอตออกมาได้สร้างสรรค์ แล้วก็เป็นงานที่ดีแน่นอนค่ะ

แต่ถ้าเราเริ่มต้นงานสักงานหนึ่งด้วยความเครียด ด้วยจิตที่ฟุ้งซ่านมากๆ ฉันต้องทำงานนี้ให้เสร็จ แล้วรู้สึกว่าเครียดกดดัน แล้วก็ทำงานไป งานก็อาจจะสำเร็จเหมือนกัน แต่ตัวเราระหว่าที่ทำงานมันก็ไม่ได้แฮปปี้

เราควรที่จะรู้สึก มีความสุข enjoy กับงาน เราควรที่จะแฮปปี้ตั้งแต่ขั้นตอนที่จะเริ่มต้นทำงาน จนไปถึงบรรลุงานสำเร็จ เราก็ควรที่จะมีความสุขระหว่างนั้น มีความสุขกับการทำงาน แค่นี้ก็เปลี่ยนตัวเองมากไปแล้ว”






View this post on Instagram

A post shared by LIVE Style (@livestyle.official) on





ดนตรีเป็นทุกอย่างในชีวิต









“ดรีมโตมากับดนตรี เราอยู่กับดนตรีอยู่แล้ว ดนตรีทำให้ดรีมได้ไปพบเจอเพื่อนๆ เจอทุกอย่างในชีวิต แล้วก็ดนตรีทำให้เราแบบว่าได้เจอส่งต่างๆ  คือมากับดนตรีมาตลอดอยู่แล้วค่ะ บางทีก็มีงานโฆษณาติดต่อเข้ามา ก็เป็นงานตีกลอง ดรีมก็จะรับงานโฆษณาตีกลองด้วย อะไรที่มันเป็นเรา อะไรที่เราถนัด

ส่วนใหญ่ก็จะเป็น คืองานโฆษณาที่เป็นสไตล์ตัวเรา เป็นเราแบนี้ เป็นสิ่งที่เราถนัด เราไม่ใช่ลุคหวานๆ อะไรอย่างนี้ ก็จะเป็นงานตีกลอง งานที่เป็นตัวเอง ก็จะแบบว่ามีติต่องานโฆษณามา เคยถ่ายประมาณ9-10 ตัวอะไรประมาณนี้ค่ะ ก็จะเป็นโฆษณาแบบยีนส์ลีวาย โฆษณาโยโมสต์ออนแอร์เวียดนาม โฆษณาแป้งทานาคา จะเป็นโฆษณาตีกลองหมดเลยที่บอกมา  ก็เคยไปถ่ายโฆษณาตีกลองที่เวียดนามด้วย ไปเวียดนามใต้ โฮจิมินห์

มีถ่ายหนังด้วยเป็นหนังภาพยนตร์ดนตรี ชื่อเรื่องว่ามึง มัน กู แต่ว่ายังไม่ได้ฉายนะคะ เดี๋ยวต้องรอ ถ่ายไปแล้ว แสดงเป็นตัวหลักเหมือนกัน ตอนนี้ก็รอลุ้นให้หนังฉายอยู่

มีเพลงเป็นของตัวเอง ชื่อเพลงว่าสิ่งสุดท้ายที่ได้ให้ ชื่อยูทูบว่า“MissDreamer Channel” ร้องเอง แต่งเอง ทำทำนองเอง

ดรีมเล่นกลองมาตั้งแต่สมัยเรียนม. ปลายแล้วค่ะ โรงเรียนเซนโยเชฟบางนา โรงเรียนหญิงล้วนตอนนั้นแค่จะตีคลายเครียดเฉยๆ แต่กลายเป็นว่าเราสนุก เราenjoy มากๆ ก็เลยมายาวเลยค่ะ


เล่นกลางคืนตั้งแต่ประมาณปี3 ปี4 ก็เรียนไปด้วย เล่นกลางคืนไปด้วย ก็จะมีเล่นไอคอนสยาม ช่างชุ่ย หรือแบบเขาจ้างที่ไหนก็ไป โรมแรมที่ไหน งานแต่งที่ไหนก็ไปหมด รับอีเว้นท์ สละโลด งานแต่งงาน ก็ไปหมด แต่ก่อนเล่นMetal แล้วก็มา Rock Pop ทั่วไป แล้วก็มาเพลงตลาดแล้วค่ะ

แต่ก่อนซ้อมหนักค่ะ คือมันก็ไม่ได้ซ้อมแบบเคร่งเครียด คือเหมือนเราเรียนรู้แล้วเรามีความสุข คือยิ่งรู้ยิ่งสนุก เราก็เลยแบบว่าซึมซับกับกลองมาเรื่อยๆ  คือไม่ได้บังคับว่าฉันจะต้องเก่ง แต่แค่เราเล่นแล้วมันมีความสุข ก็เลยเล่นมาเรื่อยๆ เป็นระยะยาวสะสมมามากกว่าค่ะ

ก่อนหน้านี้ก็จะรับสอนกลองด้วย เป็นครูสอน แต่สอนแบบขั้นพื้นฐานนะคะ สอนเด็กๆ สอนคนในหมู่บ้าน จะเป็นระบบปากต่อปาก

รับสอนมาตั้งแต่มัธยมแล้วตั้งแต่ ม.4 ม.5 สอนตั้งแต่ตรงนั้นมาเรื่อยๆ  ก็สอน ก็ได้ทบทวนตัวเองด้วย มีช่วงหนึ่งก็มาเป็นสิบคนอยู่ค่ะ ผลตอบรับก็ดี น้องก็ได้มีงานอดิเรกด้วย เล่นดนตรี ได้ผ่อนคลาย ได้สนุก ได้ปลดปล่อยตีกลอง”

สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: พัชรินทร์ ชัยสิงห์
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพเคลื่อนไหว: ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ภาพ: ธัชกร กิจไชยภณ
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก “MissDreamer DevilDrum” และอินสตาแกรม @missdreamerdev

** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **





กำลังโหลดความคิดเห็น