xs
xsm
sm
md
lg

สู้คดี-สู้ชีวิต เหยื่อสิบแปดล้อ กับเงินเยียวยาที่ต้องรอถึง 15 ปี!! [มีคลิป]

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เราต้องรอไปอีกเท่าไหร่” เปิดใจ “น้องบีมและคุณแม่” เหยื่อรถพ่วงสิบแปดล้อชน ตนเองพิการเดินไม่ได้ ส่วนพ่อจากไปอย่างไม่มีวันกลับ สู้คดีมา 15 ปีจนชนะ แต่คู่กรณีกลับนิ่งเฉย ไม่ยอมจ่ายเงินเยียวยา 5 ล้านบาทตามคำสั่งศาล “ถ้าถามความยุติธรรมกับบริษัทรถ เขาไม่มีให้แม่กับน้องบีมเลย”
คนชนะคดี ที่ต้องขอความเมตตาจากจำเลย…

เมื่อกล่าวถึงคำว่า “อุบัติเหตุ” ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ย่อมไม่มีใครอยากให้เกิด เช่นเดียวกับครอบครัวของ พรทิพย์ จันทรัตน์ ที่ประสบเหตุถูกรถพ่วงสิบแปดล้อพุ่งชน ขณะเดินทางด้วยรถกระบะ เมื่อต้นปี 2548 เหตุการณ์นั้นพรากสามีของเธอไปอย่างไม่มีวันกลับ ขณะที่ลูกสาว “น้องบีม - ภัทรดา แก้วผ่อง” ต้องกลายเป็นคนพิการตลอดชีวิต

ในเวลาต่อมา ศาลสั่งให้คู่กรณีเยียวยาครอบครัวนี้ 5 ล้านบาท แต่เธอกลับไม่ได้รับเงินจำนวนนั้น เพราะถูกทนายความโกงเงินไป แม้ภายหลังทนายคนดังกล่าวจะได้รับโทษคุกไปแล้ว แต่พรทิพย์และลูกสาวยังต้องต่อสู้ด้านคดีความต่อ



หลังรอความเป็นธรรมมานานถึง 15 ปี ล่าสุดมีข่าวดี เมื่อศาลฎีกาพิพากษา ในวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ให้แม่และน้องบีมชนะคดี ซึ่งต้องได้รับเงินเยียวยา 5 ล้านจากจำเลย ทว่า… จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีสัญญาณใดๆ จากบริษัท น.นน อินเตอร์เฟรท ประเทศไทย จำกัด คู่กรณี ว่าจะยอมจ่ายเงินเยียวยาให้น้องบีมกับแม่หรือไม่

คุณแม่พรทิพย์ กล่าวถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้จะได้รับความยุติธรรมจากศาลก็จริง แต่ครอบครัวของเธอ ไม่เคยได้ความเมตตาจากคู่กรณีแต่แต่น้อย

“วันแรกที่ทางสภาทนายความโทร.มาบอกแม่ว่า คุณแม่ชนะคดีศาลฎีกาแล้ว ตอนนั้นมีความรู้สึกดีใจมากๆ การชนะฎีกา มันจะต้องได้ตังค์แล้ว แต่ศาลท่านบอกว่า ชนะแต่ยังไม่ได้ตังค์ มันทำให้ความรู้สึกหดหู่กลับมาอีกครั้ง มันหมายความว่าอะไร ทางสภาท่านบอกว่า บริษัทรถยังทำเฉย ไม่ติดต่อมา แต่วันที่ไปศาล บริษัทรถก็ไปฟัง เขาก็รู้คำตอบหมดแล้วว่า ศาลตัดสินให้แม่ชนะฎีกา จนถึงวันนี้ เขาไม่ติดต่อมาเลย เงียบไปเลยค่ะ



ตอนที่แม่ขึ้นศาลใหม่ๆ แม่เคยพูดกับนักข่าวว่า แม่หาความยุติธรรมไม่ได้เลย ความยุติธรรมของแม่ ศาลท่านมีให้แม่ แต่ถ้าถามความยุติธรรมกับบริษัทรถ เขาไม่มีให้แม่กับน้องบีมเลย แม่ขอถามหน่อยเถอะ ถ้าเด็กคนนี้เป็นลูกหลานของบริษัทรถ เขาจะรู้สึกเหมือนแม่มั้ย น้องโดนตั้งแต่อายุแค่ 1 ขวบ 8 เดือน ไม่ได้เป็นเด็กพิการมาตั้งแต่กำเนิด มาโดนรถของบริษัทคุณชน น้องต้องนั่งรถเข็นตลอดชีวิต

จนปัจจุบันนี้น้องบีมอายุ 17 ปีแล้ว ขอความเมตตาให้คุณกลับมาสงสารเด็กอีกสักครั้ง เราคอยเสียงโทรศัพท์จากบริษัทรถทุกวัน อยากให้เขาติดต่อกลับมาหาแม่กับน้อง ถึงคุณจะไม่ให้เราตามจำนวนที่ศาลสั่งว่า 5 ล้าน ด้วยเศรษฐกิจแม่ก็เข้าใจ แต่คุณโทร.กลับมาหาสักนิดนึง อย่าให้แม่กับน้องต้องหมดหวัง หมดกำลังใจ



แม่ยังเคยนึกกับน้องบีม ไปมั้ยลูก เราไปหาเขาเอง ทางสภากับทางนักข่าวเขาก็บอกว่า คุณแม่อย่าไปโดยลำพังนะ ถ้าจะไปก็ให้ปรึกษา เขาจะได้ไปเป็นเพื่อน บางครั้งการรอคอยให้เขามาหา มันมีความรู้สึกคือ เราเหนื่อย เมื่อไหร่เขาจะมา แทนที่เขาผิดเต็มประตู แต่มันกลายเป็นว่า เราคอยๆๆ คอยมาทุกวันเป็นปีแล้ว จนแม่คุยกับน้องบีมทีเล่นทีจริง ไปมั้ยลูก ไปหาเขาเอง ไปยกมือไหว้เขาเอง ขอความเมตตาเขา ดูสิเขาจะว่ายังไงบ้าง”

ขณะที่น้องบีมก็กล่าวเสริมว่า รู้สึกโล่งใจที่ชนะคดี แต่เมื่อเหตุการณ์เป็นแบบนี้ก็ไม่รู้ว่าจะต้องรอไปถึงเมื่อใด

“หนูรู้สึกโล่งใจค่ะ ที่ศาลตัดสินให้เราชนะคดี ทนายของเราอธิบายให้ฟังว่า ต่อไปนี้ขั้นตอนจะเป็นแบบนี้นะ แต่สิ่งหนึ่งที่หนูรู้สึกติดนิดหน่อย เราต้องรอไปอีกเท่าไหร่ อีกนานมั้ย ต้องรอไปอีกกี่เดือน กี่ปี รอกระบวนการต่างๆ นานมั้ย”
ลูกสาวพิการ สามีตาย ซ้ำยังถูกทนายโกง!

คุณแม่พรทิพย์ เล่าย้อนถึงอุบัติเหตุเศร้าในอดีต ที่ทำให้สามีของเธอต้องเสียชีวิต ส่วนลูกสาวกลายเป็นผู้พิการเดินไม่ได้ ส่วนเธอเองบาดเจ็บหนัก ขาหัก ไม่สามารถขยับตัวได้ ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนานถึง 1 เดือนครึ่ง และไม่มีโอกาสได้ไปร่วมงานศพสามีด้วยซ้ำ แม้อุบัติเหตุในอดีตจะผ่านมาสิบกว่าปี แต่ก็ยังจำเหตุการณ์ในวันนั้นไม่เคยลืม

“10 ก.พ.2548 จำขึ้นใจไม่เคยลืมเลย มันเป็นเหตุการณ์ที่รถของแม่ได้ประสานงากับรถพ่วงสิบแปดล้อ วันนั้นพ่อเขาจะพาไปเยี่ยมคุณทวดของเขา ไปกัน4 คน ก็เยี่ยมทวดเรียบร้อย น้องหลับ น้องกับแม่อยู่แค็บกลาง คุณพ่อนั่งอยู่ด้านซ้ายกับคนขับ น้องอายุขวบแปดเดือนค่ะ พอแม่เห็นว่ารถจะชนแน่นอน แม่เอาน้องขึ้นมากอด”



อุบัติเหตุในครั้งนั้นทำให้เธอทำใจไม่ได้ จนเลือกที่จะเก็บตัวเองอยู่ในห้องกับลูกสาว ขนาดที่ว่าไม่ไปไหนเลย 3 ปี ที่บ้านแม่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก่อนจะตัดสินใจพาลูกมาเช่าบ้านอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี เพื่อให้น้องบีมได้เรียนหนังสือต่อ

“แม่ก็มาเช่าบ้านอยู่แถววัดชลประทาน ก็พาน้องเรียนที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ แล้วก็มีคุณครูของน้องบีม เขาทำการบูร ครูบอกว่า ‘แม่เอาการบูรไปขายนะ จะได้มีรายได้กัน แม่ขายได้เท่าไหร่ก็เอาไปเลย ครูไม่เอา ครูช่วยแม่กับน้องบีมแล้วกัน’ หลังจากนั้นมา ชีวิตแม่ก็เริ่มต้นที่วัดชลประทาน มาจนถึงทุกวันนี้

และที่วัดชลประทานนี้เอง ที่พรทิพย์ ได้พบกับทนายความคนหนึ่ง ซึ่งจุดประกายให้เธอมีความหวังว่า จะได้รับเงินเยียวยาจากบริษัทรถพ่วงคู่กรณี



“แม่ไปขายของกับน้องที่วัด เขาก็มีมาซื้อของ ก็ถามว่าน้องเป็นอะไรถึงได้มานั่งรถเข็น แม่ก็เล่าให้เขาฟัง เขาก็เลยบอกว่า ผมเป็นทนาย ลองรวบรวมเอกสารมาให้ผมดู เผื่อผมจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง แม่ก็รวบรวมเอกสารทุกอย่างที่แม่เคยไปศาลมาให้เขาดู

พอเขาดูเอกสารแล้วเขาบอกว่า คดีคุณแม่น่าจะได้ตังค์แล้วนะ ทำไมมันไม่ได้สักที มันเกิดอะไรขึ้น คุณแม่แต่งตั้งให้ผมเป็นทนาย แล้วผมจะช่วยดูแลคดีของคุณแม่เอง ถ้าแม่จำไม่ผิดประมาณปี 57 เขาบอกว่า คุณแม่มีใบศาลเรียกมานะ หมายศาลเรียกมา เดี๋ยวผมจะลงไปเอง คุณแม่ไม่ต้องลงไป เขาก็เอากระดาษมาให้ บอกคุณแม่เซ็นตรงนี้ให้ผมด้วยนะ เพราะถ้าคุณแม่ไม่ลงไป เกิดผมไปที่ศาลแล้วต้องใช้ทำอะไร มันต้องมีลายเซ็นคุณแม่”



สุดท้าย มิจฉาชีพในคราบทนายความพร้อมภรรยาก็ปลอมแปลงเอกสารว่าพรทิพย์ ผู้เสียหายมอบอำนาจให้ไปรับเงินเยียวยาแทน จำนวน 5 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ทนายความที่โกงเงินไป ได้ถูกดำเนินคดีเป็นที่เรียบร้อย

ด้าน น้องบีม ก็กล่าวว่ารู้สึกโกรธ ที่เธอและแม่ต้องถูกเอาเปรียบ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“หลังจากที่เรารู้ว่าเป็นทนายของเราเองที่โกงเงิน ก็รู้สึก ทำไมมันต้องมาเกิดกับเราด้วย เพราะว่ารถชนก็ทีนึงแล้ว แล้วทีนี้ยังทนายมาโกงเงินเราอีก ก็รู้สึกโกรธทนาย เพราะว่าเราไว้ใจเขามาก เพราะเขาเป็นทางเดียวที่จะช่วยเราได้”
ขายกาแฟ-บราวนี่ เลี้ยงชีวิต

อุบัติเหตุเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ไม่เพียงพรากชีวิตของคุณพ่อที่เป็นเสาหลักของครอบครัว แต่ยังทำลายอนาคตด้านการศึกษาของเธอให้สั้นลงอีกด้วย น้องบีมต้องตัดสินใจหยุดการเรียนไว้ เพื่อมาทำขนมขาย ช่วยแม่หารายได้อีกทาง

“ทุกวันนี้หนูจะตื่นประมาณหกโมง ทานข้าวให้เรียบร้อย แล้วเริ่มการทำบราวนี่ค่ะ หนูเปิดดูในยูทูปหลายๆ ช่องรวมกัน แล้วพัฒนาก็ดัดแปลงเป็นสูตรของเราเอง ขายทางเพจ “โกโก้ บราวนี่ by บีม ภัทรดา”

ถ้าไปพบคุณหมอ นานๆ ทีจะไปค่ะ เพราะว่าการที่เราไปแต่ละครั้ง ค่าใช้จ่ายมันจะสูง บางทีแค่ตรวจร่างกายก็หลักพันแล้วค่ะ เราก็เลยเน้นฝึกออกกำลังกาย ฝึกเดินวอล์กเกอร์ โดยที่ขาเราไม่รู้สึก คุณหมอก็ยังงงเลยค่ะ เพราะว่าเคสหนูเป็นเคสที่เดินไม่ได้ แต่คุณแม่สามารถฝึกให้หนูรู้จักเหวี่ยงขา ฝึกกล้ามเนื้อ”

<

ชีวิตแต่ละวัน ผ่านไปด้วยความยากลำบาก ทั้งต้องหารายได้ที่ต้องช่วยแม่ ทั้งสุขภาพของตนเองที่มีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ซ้ำค่าใช้จ่ายยังสูง แต่ก็ยังมีความโชคดี ที่ได้น้ำใจจากหลายส่วนในสังคมหยิบยื่นโอกาสให้ทั้งคู่ได้สู้ต่อ

มีบริษัทเขาเห็นน้องบีมออกข่าว โทรศัพท์มาว่าอยากช่วยเหลือ เขาจะมาเปิดร้านกาแฟให้ จะมาตั้งให้น้องเลย แล้วจะลงทุนรอบแรกให้ เขาให้แม่ไปเรียนกับน้อง ก็อยากจะฝากบอกบริษัทไทยนิปปอนฯ นะคะ ขอขอบพระคุณมากเลย แล้วก็ขอขอบคุณท่านอธิบดีของกรมชลฯ ให้แม่มาขายกาแฟโดยที่ไม่คิดค่าเช่า เดือนนึงเสียแค่ค่าน้ำค่าไฟ แล้วแม่ขอขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่มาช่วยเหลือแม่กับน้อง เพราะทุกวันนี้ลูกค้าขาประจำก็มีเยอะอยู่ค่ะ

แล้วแม่ก็อาศัยตอนเย็น ท่านเจ้าอาวาสวัดชลประทานจะให้เข้าไปขายของ แม่กับน้องจะไปช่วงงานศพ ไปขายบุหงา พวกดอกไม้แห้ง จะรอให้เขาเสร็จในงานศพ แล้วถึงจะขายกัน”



พรทิพย์ยอมรับว่า เรื่องราวร้ายๆ ที่ถาโถมเข้ามา ทำให้เธอมีความรู้สึกทั้งเหนื่อยและท้อ จนถึงขนาดที่เคยคิดสั้น ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ แต่ก็ได้ลูกสาวคอยดึงสติกลับม

“จุดเปลี่ยนก็คือ ขนาดลูกเราสู้ทุกอย่าง กลับมาจากร้านกาแฟ เขาก็จัดของเตรียมขายที่วัด เขาไม่บ่นเลย มีแต่ ไปแม่ ขายของกัน ที่อยากบอกที่สุดคือ แม่ขอโทษที่ต้องทำให้หนูเป็นแบบนี้ อยากให้เขาเหมือนเด็กทั่วไป วันนั้นถ้าไม่พาเขาไปเขาคงไม่เป็นแบบนี้ อยากบอกว่าทุกวันนี้เราต้องสู้ไปด้วยกันนะลูก ถึงเราจะไม่มีเหมือนคนอื่น เราต้องลำบากแต่ละวัน ก็ไม่ต้องกลัว อยากให้เขายิ้ม อยากให้เขาหัวเราะ”

เช่นเดียวกับน้องบีม ที่กล่าวว่า ความสุขในแต่ละวันคือการได้ใช้ทุกวันอยู่กับแม่ พร้อมทั้งอัปเดตชีวิตล่าสุด ที่มีผู้ใหญ่ใจดีให้ความช่วยเหลือด้านที่พัก และช่วยแบ่งเบาภาระให้แก่เธอและแม่



ความสุขที่ทุกวันนี้หนูอยู่ได้เพราะคุณแม่ค่ะ หนูอยากบอกคุณแม่ว่า ถ้าเหมือนกับสิ่งอะไรที่คุณแม่ทำ แล้วหนูสามารถทำแทนได้ หนูก็อยากจะทำให้ดีที่สุด อยากดูแลคุณแม่ให้ดีที่สุดเลยค่ะ ชีวิตตอนนี้หนูกับคุณแม่ก็เหมือนเดิมที่เคยออกข่าวไปก่อนหน้านี้ แต่ที่เพิ่มเติมมาคือหนูกำลังเรียน กศน.ม.ปลายค่ะ

ตอนนี้ร้านกาแฟก็ยังเปิดเป็นปกติ จันทร์-ศุกร์ ทำบราวนี่ขายหนูก็ยังทำอยู่เป็นประจำค่ะ บราวนี่เพิ่งกลับมาขาย ตั้งแต่มีโควิด-19 ค่ะ ก็ทำให้หยุดการขายไปสักพักใหญ่เลย เพราะว่าตอนนั้นทางร้านกาแฟคนแทบจะไม่มี ทำให้ไม่มีต้นทุนในการซื้อของ ก็เลยต้องหยุดไปพักใหญ่ แต่พอสถานการณ์ดีขึ้นก็เริ่มกลับมาเปิดรับออเดอร์ตามปกติแล้วค่ะ



ที่ก่อนหน้านั้นก็มีผู้ใหญ่ใจดีพาไปรักษาตัว หลังๆ ก็เข้าใจนะคะว่าผู้ใหญ่หลายท่านที่เข้ามาช่วยก็อาจจะมีภาระ แต่พอมาวันนี้หนูก็อยากจะรักษาตัวตามโรงพยาบาลต่อไป เพราะสุขภาพหนูมันก็เริ่มมีปัญหาขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ เคยมีคุณหมอบอกว่าถ้าฉีดยาเกี่ยวกับกระตุ้นเส้น กระตุ้นระบบร่างกาย เข็มนึงก็ตกประมาณ 5,000 บาท

ส่วนค่าห้องก็มีคุณป้าคนนึงไม่ประสงค์ออกนาม ท่านจะช่วย หนูก็ขอบคุณคุณป้าที่ช่วยค่าห้องหนู แล้วก็แพมเพอร์สตอนนี้ มีคุณน้าคนนึงจะช่วยเป็นประจำ ขอบคุณคุณน้า แล้วก็ขอบคุณลูกค้าทุกๆ ท่าน ที่ช่วยซื้อขนมบราวนี่ทางเพจของหนู แล้วก็ขอบคุณทุกๆ คนที่ให้การช่วยเหลือหนู ตั้งแต่หนูออกข่าวจนถึงทุกวันนี้ค่ะ ขอบคุณค่ะ”

แม้ในความยากลำบาก ก็ยังพอมีแสงสว่างจากผู้ใจบุญ ที่คอยช่วยเหลือคนทั้งคู่ ส่วนในด้านคดี ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อน้องบีมและแม่ชนะคดี หลังจากรอมานานถึง 15 ปีแล้ว ทางบริษัทรถคู่กรณี คงจะมีมนุษยธรรมและรับผิดชอบต่อการกระทำของคนขับรถพ่วงในสังกัดบริษัทตน ด้วยการจ่ายเงินเยียวยา 2 แม่ลูกตามคำสั่งศาลต่อไป



หากต้องการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของทั้งคู่ สามารถโอนเงินไปได้ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ ชื่อบัญชี น.ส.ภัทรดา แก้วผ่อง เลขที่บัญชี 626-1-29169-4


หรือหากต้องการอุดหนุนขนมบราวนี่ สามารถติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก "โกโก้ บราวนี่ By บีม ภัทรดา"


สัมภาษณ์ : รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง : MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น