xs
xsm
sm
md
lg

ความพยายามไม่เคยทำร้ายใคร!! “หมอบุ๋ม” ขอพิสูจน์ ผ่านตำแหน่ง “นางฟ้า ศบค.” [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มีดีเหนือความสวย!! เปิดมิติมุมที่คนไม่ค่อยรู้ ทั้งประสบการณ์ช่วงเป็นหมอ หรือภูมิหลังครอบครัวที่ไม่เคยสอนเธอให้ยึดติดกับชีวิต รวมถึงมุมมองสวยๆ ที่สมกับตำแหน่งอดีตนางงาม สู่ไมค์แถลงโควิด-19 แต่กว่าจะมีวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เธอต้องถูกมองว่า เป็นเพราะความสวยพามาไกล จนทำให้เข้าตาลุง และนี่คือบทสัมภาษณ์ที่จะทำให้รู้จักผู้หญิงคนนี้ ไม่ได้มีแค่ความสวยไปวันๆ





จาก “นางงาม” สู่ “ผู้ช่วยโฆษก”


“ดีใจที่การสื่อสารของเรา พี่น้องประชาชนสนใจ แล้วรับฟัง เพราะจริงๆ ทุกเรื่องที่เราสื่อสารออกไป มันเป็นเรื่องที่น่ารู้ และเป็นข้อมูลที่อยากให้ประชาชนรับทราบ”


นาทีนี้คงแทบไม่มีใครไม่รู้จัก เจ้าของฉายา “นางฟ้า ศบค.” ดีกรีนางสาวไทย 2551 คนนี้ หลังมีการเปิดตัวผ่านหน้าจอแถลงของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโรนา 2019 (ศบค.) ในฐานะ “ผู้ช่วยโฆษก ศบค.” แน่นอนว่า นาทีที่ผู้หญิงคนนี้ปรากฏตัว คงทำหลายคนสงสัยว่าเธอเป็นใครกันแน่ แล้วอะไรที่ทำให้เธอก้าวเข้ามาทำงานเส้นทางตรงนี้

สวยครบเครื่อง ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มในชุดเดรสสีชมพูดีไซน์สวย ผู้อยู่เบื้องหน้าทีมข่าว MGR Live คือ พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล หรือ “หมอบุ๋ม” วัย 32 ปี นั่นเอง


“เส้นทางการมาเป็นผู้ช่วยโฆษก คือ ก่อนหน้านี้ ทำงานตรวจคนไข้อยู่ที่คลินิก ซึ่งเป็นคลินิกส่วนตัว หลังมีสถานการณ์โควิด-19 เรารู้สึกว่าเราอยากจะช่วยอะไรที่มันจะเป็นประโยชน์ที่เกี่ยวกับสถานการณ์ของโควิด-19 ในฐานะหมอคนหนึ่ง

แล้วได้มีโอกาสเข้ามาพบกับท่านรัฐมนตรีสาธารณสุข ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล เพราะมีรุ่นพี่ที่รู้จักเข้ามาพบว่าเราจะสามารถช่วยอะไรในกระทรวงสาธารณสุขได้บ้าง ท่านก็ถามอยากทำอะไร เราก็ยังไม่แน่ใจว่าความสามารถจะช่วยอะไรได้ ท่านก็บอกว่าโอเคงั้นก็มาเป็นตำแหน่งที่ปรึกษาแล้วกัน เพราะว่าเป็นหมอด้วย

เธอเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้น พร้อมเบื้องหลังการทำงาน โดยก่อนมาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย “นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันอังคารและพฤหัสฯ

เริ่มต้นขึ้นหลังจากได้เข้ามาทำงานในตำแหน่ง “ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข” จนกระทั่งบังเอิญได้พบท่านนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และได้รับการแนะนำผ่านรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ได้ให้ความสนใจ จึงชักชวนให้คุณหมอมาทำงาน เพื่อแบ่งเบาหน้าที่ของโฆษก ศบค.


“เราก็มาอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีก่อนค่ะ ก็มาดูเรื่องของนโยบาย การบริหารเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ต่างๆ แล้วมีวันหนึ่งได้มีโอกาสเข้าพบกับท่านนายกรัฐมนตรี ท่านก็บอกว่าตอนนี้พอดีเลยมาเป็นผู้ช่วยโฆษกแล้วกัน หาผู้ช่วยอาจารย์ทวีศิลป์อยู่ เพราะอาจารย์ทำงานหนักมากเลย ก็เลยรับหน้าที่มาค่ะ”

ถามเธอว่ามาทำงานตรงนี้ได้รับความกดดันบ้างไหม เพราะหากสำหรับคนที่ไม่ถนัด และในฐานะน้องใหม่คงเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่พอสมควร “ไม่กดดันมากนะคะ” เธอเอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงที่จริงใจ ทว่า เบื้องหลังแถลงการณ์ครั้งแรกนั้นเต็มไปด้วยความตื่นเต้นมากกว่า

“แค่รู้สึกว่าเราทำให้ดี คือ เวลาที่เราพูดในฐานะโฆษก เราสื่อสารอะไร เราก็อยากให้คนเข้าใจ ฟังง่าย แล้วก็อยากฟัง อันนี้คือเป้าหมายส่วนตัวของเรา คือ ข้อมูลมันมีอยู่แล้ว มันขึ้นอยู่ว่าใครเป็นคนพูด

ถ้าเราพูดแล้วมีคนฟัง สิ่งที่เราพูดออกไปมันเป็นประโยชน์กับเขาแค่นั้นพอแล้ว เราแค่ปรับวิธีการพูด อย่างเช่น ช่วงแรกก็จะพูดเร็ว ด้วยความที่เราเป็นคนพูดเร็ว พอมาแถลงข่าว ก็มีคนแนะนำว่าให้พูดช้าลงนะ ลองใช้คำเชื่อมประโยคแบบอื่น


บางทีคุณครูภาษาไทยส่ง message มาใน Facebook ส่วนตัวว่า นอกเหนือจากคำว่าสำหรับ คุณหมอสามารถใช้คำว่าส่วนได้นะคะ

เขาก็จะแนะนำ ซึ่งจริงๆ แล้วเรามองว่าเขาสนใจในทุกๆ คำพูด และพยายามจะช่วยเราปรับ หรือว่าในทีมงานทั้งหมด เขาก็จะคอยบอกว่าตรงนี้นะ ลองอธิบายรูปแบบนี้ก็จะฟังง่ายขึ้น เราก็พยายามปรับไปเรื่อยๆ มันก็ไม่ถึงขนาดกดดัน

วันแรกที่แถลงข่าวเลยจะตื่นเต้นมาก เพราะว่าเราไม่ได้ทำงานข่าวมาก่อนหน้านี้ คือ เคยอ่านข่าวในพระราชสำนัก แต่นั่นคือ ประมาณ 10 กว่าปีแล้ว แล้วก็ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับการอ่านข่าวเลย พอต้องมาพูดต่อหน้ากล้อง และคนฟังเยอะๆ มันก็ตื่นเต้นนิดนึงค่ะ แต่ก็พยายามควบคุม


หาข้อมูลอ่าน อ่านข้อมูลเยอะมาก และมีการประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 เยอะ เพื่อให้เราเข้าใจมันได้จริงๆ พอเราเข้าใจได้ ก็จะสื่อสารออกมาได้ นอกเหนือจากนี้คำศัพท์ที่ใช้ มันค่อนข้างจะเป็นคำศัพท์เฉพาะ ก็จำคำศัพท์พวกนี้ให้เป็นภาษาไทยได้ง่ายขึ้น”

ด้วยรูปร่าง และเครื่องหน้าที่สวย คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า การออกมาทำหน้าที่แถลงสถานการณ์โควิด-19 สร้างความสนใจให้ประชาชนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เมื่อถามเจ้าของฉายานางฟ้า ศบค. ว่า การเป็นโฆษกจะต้องหน้าตาดีไหม เธอเปรยรอยยิ้มออกมา พร้อมทัศนะว่า สำหรับเธอแล้วสำคัญที่การสื่อสาร ให้ประชาชนได้ข้อมูลที่สื่อออกมามากกว่า


“มันไม่จำเป็นต้องหน้าตาดีค่ะ แต่ว่าถ้าสมมติว่าน่ามอง ก็คงดี หมายถึงว่า ความคิดของคนทั่วๆ ไปนะคะ สมมติว่า เรามอง เราก็คิดว่ามันก็เพลินๆ ตา คิดว่ามันคงจะดี แต่ว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ การสื่อสารให้ผู้คนที่ฟังได้รับข้อมูลที่เราอยากจะสื่อออกไปจริงๆ อันนั้นคิดว่ามันน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

คือ ภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ก็คือว่าสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศมันค่อนข้างจะคลี่คลายลงไปในระดับหนึ่ง และจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศก็เป็น 0 ราย

ตั้งแต่ที่เข้ามาก็ได้รับมอบหมายว่า อยากให้สถานการณ์มันดูคลี่คลาย ผ่อนคลาย ไม่เครียด ซึ่งอาจจะเหมาะกับเราที่เป็นผู้หญิง ในการมาแถลงข่าว และก็พยายามสื่อสารให้มันดูแบบไม่เครียดมาก”




“ทายจำนวนตัวเลข” เพราะมีเจตนาที่ดี


แม้จะได้รับ Feedback ไปในทิศทางที่ดี แต่บางเรื่องก็ได้สร้างบทเรียนให้เธอได้จดจำไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะ “การทายจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19” ซึ่งสร้างความแคลงใจต่อสังคมถึงความเหมาะสมต่อการทำหน้าที่ รวมทั้งมองว่าเอาความเป็นความตายของคนมาเล่น


ปกติแล้วก่อนแถลงข่าว เราจะมีการประชุมในทีมโฆษกทั้งหมด ซึ่งจะมีหลายส่วนมากเลยที่ประชุมด้วยกัน

ทุกวันจะมีสถานการณ์ประจำวันในประเทศ รวมถึงสถานการณ์อยู่กับโซเชียลมีเดีย ที่จะมีการประชุมรายงานกัน ในวันนั้นเขาได้พูดถึงว่า มันมีการทาย (ตัวเลข)

เนื่องจากเริ่มมีการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ในโซเชียลก็มีการทายแล้วว่าลองดูสิจะมีกี่ราย เลขท้ายจำนวนผู้ป่วยสะสมจะเป็นเท่าไหร่ แล้วเอาไปซื้อลอตเตอรี่กัน ก็เป็นสถานการณ์ที่เขายกมาในห้องประชุม เลยมีการบอกกันว่าโอเคงั้นเราลองพูดถึงเรื่องนี้ดู อาจจะทำให้สถานการณ์มันดูคลี่คลาย ดูเบา

โดยที่ตอนนั้นเราสื่อสารออกไปเรามีความคิดแค่นั้น แต่พอภาพมันออกไป แล้วมันมี 2 ฝั่ง ฝั่งที่เขาบอกว่าโอเค ก็ดูแบบหายเครียดดี ก็มี หรือบางคนก็บอกว่า เหมือนเราไปเล่นกับความเป็นความตายของคนเลย ซึ่งในฐานะที่เราเป็นหมอ เราไม่เคยคิดว่าการเจ็บป่วย หรือความตายมันเป็นเรื่องล้อเล่นอยู่แล้ว ความตั้งใจของเรา คือ เราตั้งใจดี




แต่ว่าพอมันเป็นมุมมอง 2 ทาง ก็ถอยกลับมา และประชุมกันว่า ถ้าสมมติมันเป็นแบบนั้น เราก็แค่ไม่ทำอีก แต่ว่าปรึกษาอาจารย์ผู้ใหญ่ เพราะว่าตอนนั้นก็รู้สึกไม่ดีเหมือนกัน ที่ทำให้คนรู้สึกไม่ดี

อาจารย์ก็บอกว่าถ้าความตั้งใจดีของเรา เราไม่ได้คิดอย่างที่ใครๆ คิด เราก็ไม่ต้องคิดมาก ก็แค่ทำหน้าที่ของเราต่อไป แต่ว่าอะไรที่มันกระทบกระเทือนจิตใจ และมันทำให้เกิดกระแส เราก็แค่ถอย แล้วไม่ทำอีก …แต่ในความตั้งใจที่อยากจะบอกเลย ก็คือ เราไม่เคยคิดว่ามันเป็นเรื่องล้อเล่นอยู่แล้ว”

เมื่อให้ย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ ณ ตอนนั้น หมอบุ๋ม ยืนยันให้ฟังว่า มีเพียงเจตนาที่ดีที่จะสื่อสารออกไป ไม่ได้มองเรื่องความตายเป็นเรื่องล้อเล่น ซึ่งทำให้ผู้หญิงอย่างหมอบุ๋ม ต้องถอยออกมามองถึงความเหมาะสมของการกระทำที่ทำลงไปในครั้งนั้น


“จริงๆ คิดว่ามันเป็นเหมือนกับผลของการกระทำ ซึ่งมันมีทั้งคนชอบและคนที่ไม่ชอบอยู่แล้ว เรารู้สึกเราได้เรียนรู้ว่าเวลาที่ออกไปทางสื่อ มันมีผู้คนหลากหลายที่มีความคิดแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นก็พยายามที่จะสื่อสารให้มันอยู่ตรงกลาง แต่ก็ไม่อยากให้มีความเครียดมากจนเกินไป …คือ ถ้ามันกระทบกระเทือนจิตใจพี่น้องประชาชนที่เครียดอยู่ เราก็ถอยและไม่ได้ทำอีก”


อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น การได้มีโอกาสพบท่านนายกรัฐมนตรี บวกกับความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะเข้ามาทำงานในกระทรวงสาธารณสุข เป็นทุนเดิม ส่งให้หมอบุ๋มได้มีโอกาสเข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยโฆษก แน่นอนว่า คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกโยงไปในทาง “การเมือง” หรือมองเป็น “เด็กเส้น”



มันไม่ได้เกี่ยวกับเส้นสายหรืออะไรเลยค่ะ คือ มาอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาในฐานะที่เราเป็นหมอ แล้วเราอยากจะมาช่วยของที่ปรึกษาท่านรัฐมนตรี วันนั้นก็บังเอิญไปเจอท่านนายกฯ แล้วท่านนายกฯ ก็อาจจะมองเห็นอะไรสักอย่างในตัวเรา ซึ่งไม่เคยเรียนถามท่านเป็นการส่วนตัว

ท่านก็ให้มาช่วย ในฐานะที่เราเป็นหมอคนหนึ่ง ที่เราพอจะสื่อสารได้ จากประสบการณ์ในเรื่องของการเป็นผู้ประกาศข่าว และเคยเป็นนางสาวไทย เราก็คิดว่าเราได้มาทำตรงนี้ ในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาแค่นั้นเอง”


ทุ่มเททำตามความฝัน จนคว้า “มงกุฎนางสาวไทย”


“การเป็นนางสาวไทยก็ช่วยหลายอย่าง คือ พอมาเป็นนางสาวไทย มันจะมีโอกาสได้พบเจอกับผู้คนเยอะขึ้น ได้รู้จักคนเยอะ ได้ทำงานในหลายๆ ส่วน ก็ทำให้เรามีความสามารถที่หลากหลายมากขึ้น

นอกเหนือจากการเป็นหมอ ก็เป็นอย่างหนึ่งที่ทำให้เราได้ไปทำงานตำแหน่งผู้ประกาศข่าวในราชสำนัก แล้วก็ทำให้ตอนนี้เรามีความสามารถที่จะพอสื่อสารหน้ากล้องได้”



ย้อนกลับไปในวัย 20 ปี อีกหนึ่งเส้นทางที่เต็มไปด้วยฝันของผู้หญิงคนนี้ คือ การเข้าสู่เวทีประกวดนางสาวไทย จนคว้าตำแหน่ง “นางสาวไทย คนที่ 44” ในปี 51 มาในที่สุด ซึ่งการประกวดครั้งนั้น ส่งให้เธอมีศักยภาพรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการได้รับโอกาสให้ทำหน้าที่ผู้ประกาศข่าวในข่าวพระราชสำนัก รวมทั้งการทำงานด้านสังคม


ตอนเด็กๆ ความใฝ่ฝันอยากจะเป็นนางสาวไทย แล้วก็อยากจะเป็นหมอ หลังจากที่เข้าหมอได้ คือ มันก็ผ่านไปในความฝันที่จุดหนึ่ง เราก็เลยมาทางเส้นทางของที่เราฝันอีกตัวหนึ่ง คือ เป็นนางสาวไทย ก่อนประกวดนางสาวไทย ก็ไปลองเวทีเล็กลงมาก่อน คือ MissteenThailand

แล้วพออายุ 20 ปี ตอนนั้นเรียนอยู่หมอปี 3 ก็เลยมาประกวดนางสาวไทย ก็ได้ตำแหน่งนางสาวไทย ประจำปี 2551

ตอนนั้นมีความสุขค่ะ ดีใจ ภูมิใจที่ทำตามความฝันได้ รวมถึงความดีใจของคุณพ่อคุณแม่ ญาติๆ พี่น้อง เราก็รู้สึกว่าเราได้ทำสิ่งที่เขาภาคภูมิใจ”

สายตาและท่าทีที่ตรงไปตรงมาของเธอ บอกเล่าถึงความหลงใหลในการเข้าไปสู่เวทีที่ใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กๆ ถามเธอว่าเป็นเพราะมั่นใจในความสวยของตนเองใช่ไหม

เพราะด้วยรูปร่าง หน้าตาครบเครื่องอย่างนี้ ไม่แปลกที่จะได้รับตำแหน่งนางสาวไทย ในเวทีทรงคุณค่าแห่งนี้ เธอได้ให้คำตอบปนรอยยิ้มว่า ไม่ได้มั่นใจในความสวย แต่มองเป็นความเหมาะสมที่ลงตัว

“ไม่ได้มั่นใจในความสวย ว่าเราแบบสวยมาก แต่คิดว่าหน้าตาก็พอไปได้ แต่ว่าทุกๆ อย่าง หลังจากที่ตำแหน่งมาแล้ว เวลาที่ไปแนะนำน้องๆ ที่ประกวดนางสาวไทย


เราก็จะบอกว่ามงกุฎเขาจะเลือกเราเอง ความเหมาะสม คือ สิ่งที่จะทำให้เราได้ตำแหน่ง บางทีเราไม่ต้องสวยที่สุด เก่งที่สุด ฉลาดที่สุด มันไม่ใช่อย่างนั้น มันคือความเหมาะสมที่ลงตัวที่ทำให้เราได้ตำแหน่งในปีนั้นๆ

ความสวยแต่ละคนไม่เหมือนกัน ในฐานะที่เป็นหมอผิวหนังเลย คือ เวลาที่คนไข้เดินเข้ามา สิ่งที่เราถามคนไข้เสมอ คือ รู้สึกกังวลเรื่องอะไร อยากจะเป็นอย่างไร

เพราะว่าเวลาที่เรามองไป เรามองไม่เหมือนคนไข้ เพราะฉะนั้น ความสวยของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนสวย แต่เวลาพูดแล้วไม่สวย หรือบางคนไม่สวย แต่เวลาสื่อสารพูดออกมาแล้วสวย มันหลายๆ อย่างประกอบกันค่ะ”




ทว่า บทบาทการเป็นนางสาวไทย และการทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยโฆษก เธอเล่าให้ฟังว่า มีความแตกต่าง เพราะงานที่รับมอบหมายจากการเป็นนางสาวไทย ส่วนใหญ่เป็นงานสังคม

“นางงามส่วนใหญ่เราจะทำงาน เป็นงานเพื่อสังคม ไปเป็นทูตวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โปรโมตการท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ หรือวัฒนธรรมของไทย

แต่ในตำแหน่งโฆษกโดยเฉพาะของ ศบค. คือ เราทำหน้าที่แถลงข่าวข้อมูลสำคัญ ซึ่งเป็นความรู้ และสถานการณ์ที่จำเป็นที่ประชาชนจะต้องรับทราบ ซึ่งก็แตกต่างกัน”




“ความพยายาม-อดทน” จะทำให้ประสบความสำเร็จ!!


สิ่งหนึ่งที่เธอเชื่อเสมอว่าการที่เธอเป็นเธอในทุกวันนี้ เป็นเพราะเป็นคนวางแผนการใช้ชีวิต และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำมาตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้ความฝันที่อยากเป็นแพทย์ และก้าวสู่วงการนางงามนั้นกลายเป็นความจริง

โดยหมอบุ๋มเล่าสมัยเรียนให้ฟังว่า ตอนนั้นมีอาจารย์แนะแนว เขามาพูดแต่ละอาชีพเป็นอย่างไร ซึ่งการตั้งคำถามของอาจารย์เป็นตัวจุดชนวนทำให้เธอได้คิด และเดินตามความฝัน


“ปกติแล้วเป็นคนที่มีเป้าหมายในชีวิตมาตลอด เป้าหมายในการที่จะเป็นหมอ เป้าหมายที่จะเป็นนางสาวไทย แล้วตอนนี้ทั้ง 2 อย่างมันผ่านไปได้ด้วยดี


จนมาถึงตำแหน่งนี้ ที่เรามาเป็นหมอ แล้วก็มาได้ทำงานในฐานะที่เราเปิดคลินิกส่วนตัว อันนี้เป็นอีกหนึ่งความฝัน ที่เราอยากมีคลินิกเป็นของตัวเอง ได้ดูแลรักษาคนไข้ เราแค่ maintain (คงที่) สิ่งที่เราทำให้ดี พอได้รับตำแหน่งในกระทรวง หรือแม้ผู้ช่วยโฆษกก็ตาม เราจะทำมันอย่างดีที่สุด เท่าที่เราสามารถทำได้

คือ หนึ่งในสิ่งที่เป็นตัวเองเลย เวลาที่คนถามเราบอกว่าเป็นคนที่มีความพยายาม และมีความอึด อดทนมากๆ ที่จะทำให้เราทำทุกอย่างออกมาให้ได้ดีที่สุด”

เห็นคุณหมอที่นั่งอยู่ข้างหน้าผู้สัมภาษณ์ ไม่แปลกใจว่าจะดูสวยจากภายนอก แล้วยังมีผิวพรรณที่สดใสอมชมพู และเป็นที่จับตามอง เพราะคุณหมอให้ความสนใจ และเรียนจบโดยตรงทางด้านผิวหนัง


“เรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจบออกมาก็ไปใช้ทุนที่ศูนย์ลำปาง แล้วก็หลังใช้ทุนเสร็จก็กลับมากรุงเทพฯ ก็มาทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แผนก Vatallife ก็คือ Anti-Aging (เวชศาสตร์ชะลอวัย)

ในระหว่างนั้นก็เรียน Anti-Aging ก่อน หลังจากเรียนจบก็มาเรียนต่อเฉพาะทางผิวหนัง ที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วก็จบเป็นหมอผิวหนัง หลังจากจบมาก็เลยมาเปิดคลินิกผิวหนังของตัวเอง ชื่อ Panprapa Clinic

จริงๆ ชอบเรื่องความงามอยู่แล้ว คือ ผิวหนังมันมีทั้งโรคผิวหนัง แล้วก็ผิวหนังความงาม ซึ่งเราสนใจทั้ง 2 อย่าง เริ่มพื้นฐานมาจากความงามก่อน สนใจความสวยความงามอย่างนี้ เลยชอบเรียนทางด้านนี้ ทำแล้วก็มีความสุข”



ต้องยอมรับอาชีพแพทย์ต้องเจอภาวะเครียด ต้องรับความคาดหวังของทั้งคนไข้ และญาติ บวกกับความคาดหวังของตัวเองด้วย ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ได้จากคำตอบ คือ ทัศนคติบวกๆ และความมั่นใจของคุณหมอ ที่มักจะเผยให้เห็นเสมอๆ






“มันมีหลายเหตุการณ์มากเลยค่ะ แต่โดยรวมแล้วทั้งหมดก็คือ เวลาที่เรารักษาคนไข้แล้ว คนไข้ซื้อขนมมาฝาก ทุกๆ ครั้ง มันไม่ใช่เรื่องของเราอยากได้ขนมนะคะ

แต่ว่าบางทีคนไข้ก็นึกถึง อย่างเมื่อวานอย่างนี้ ก็มีคนไข้มาเจอที่คลินิก แล้วคนไข้มารักษาผิวหน้านี่แหละค่ะคนไข้เย็บหน้ากากผ้า เย็บมือมาให้เรา 2 ชิ้น บอกว่าตั้งใจเย็บมาให้คุณหมอ เป็นสีที่หมอชอบ บางทีแค่นี้เราก็รู้สึกว่าเป็นความสุขของเราที่คนไข้นึกถึง เวลาที่เขาจะมาหา

ส่วนใหญ่แล้วเราจะทำได้ในทุกๆ เรื่อง เรามักจะทำดีที่สุดเลยเท่าที่เราทำได้ ในทุกๆ เหตุการณ์และสถานการณ์

เพราะฉะนั้นมันก็จะไม่ใช่ความรู้สึกว่ามันเฟล แต่แค่ว่าเราอาจจะมีความรู้สึกผิดหวังบ้าง ไม่อยากให้เป็นอย่างนี้บ้าง หรือเวลารักษาแล้วผู้ป่วยเสียชีวิต



อย่างเวลาที่เราไปใช้ทุนต่างจังหวัด ก็จะมีหลายเคสมากๆ เลยที่เรารักษาเต็มที่แล้ว แต่ผู้ป่วยเสียชีวิต ทุกครั้งเราก็มาทบทวนค่ะ และมีการประชุมทีมหมออยู่แล้ว เวลาที่มีผู้ป่วยเสียชีวิตว่าเราได้มีการทำอะไรผิดพลาดไป น้อยไป มากไปรึเปล่า ซึ่งทุกๆ ครั้งที่เรามีการทบทวน เราก็ได้ทำอย่างดีที่สุดแล้ว มันก็เลยไม่ได้รู้สึกแบบเสียใจขนาดนั้น”






ฝ่าคำครหา เพราะกำลังใจจาก “ครอบครัว”


“เขาไม่ได้ยึดติดกับอะไรเลย แค่ให้รู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ และสิ่งที่เราทำมันคือสิ่งที่ดี ถ้าเรามั่นใจแล้วคือสิ่งที่ดี และไม่ได้ทำร้ายใคร แค่นั้นก็พอแล้ว”

นี่คือคำสอนจากครอบครัว ที่สะท้อนให้เห็นผ่านสายตาของเธอ จากตรงนี้ทำให้เธอภาคภูมิใจในความอบอุ่น และไม่ยึดติดของครอบครัวที่เลี้ยงเธอและน้องชายให้เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้

คือ โชคดีมากค่ะ ที่บ้านโดยเฉพาะคุณพ่อ คุณแม่ที่เลี้ยง เขาจะไม่บังคับอะไรเลย คือ ตั้งแต่เล็กจนโต เราจะได้ว่าเราไม่เคยถูกบังคับให้เรียน ให้อ่านหนังสือ หรือให้เป็นอะไร


เขาให้เราเลือกเองทั้งหมด และเขาจะคอย support ในทุกๆ อย่างที่เราเลือก และถ้ามีอะไร เขาก็จะให้ไปปรึกษา คือ ถ้าสมมติว่าเรารู้สึกว่าเราไม่แน่ใจ หรือว่าอยากจะถามอะไร เขาก็จะเป็นที่ปรึกษาที่ดี

โดยเฉพาะคุณแม่เราสนิทกันเหมือนเพื่อน คุณแม่จะไปด้วยทุกที่ ยิ่งตอนเป็นนางสาวไทย ก็คือ แบบเป็นผู้จัดการส่วนตัวเลย อยู่ติดกัน เพราะฉะนั้นทำให้เราเหมือนกับมีเพื่อน คอยให้คำปรึกษา …และมีน้องชายคนหนึ่ง ห่างกัน 3 ปี ตอนนี้น้องชายก็เป็นเพื่อน ก็เป็นเพื่อนสนิทที่สุดตอนนี้”

อย่างไรก็ดี ถามเธอว่าดูเป็นเด็กเรียบร้อย เคยมีวีรกรรมซ่าๆ บ้างไหม ซึ่งเธอยิ้มตอบเอาไว้ว่า ไม่มี เพราะในความทรงจำ เป็นเด็กที่อยู่ในกรอบ และมักจะสนุกกับสิ่งที่ได้ทำเสมอ




“เป็นอย่างนี้เลยค่ะ เป็นอย่างที่เห็น …เราก็ enjoy กับงานที่เราทำกับทุกๆ อย่างที่เราทำ และทำมันให้ดี แล้วเวลาที่เราเหนื่อย หรือว่าเรารู้สึกว่าวันนี้เยอะจัง เราก็กลับบ้าน พอเรากลับบ้านเราก็เจอสามี เจอคุณแม่ เจอน้องหมา มันก็เป็นตัวชาร์จพลังให้เรากลับมาเริ่มทำงานใหม่แค่นั้นเอง

ด้วยความที่มันทำงานเยอะมากเลย ก็ไม่ได้มองไกลมาก คือ ก่อนหน้านี้เราแค่อยากทำคลินิกให้ดีแค่นั้น แล้วตอนนี้ได้มาทำงานในกระทรวง เราก็รู้สึกว่าเราก็อยากจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่มันดีกับสาธารณสุขของไทย ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของอนาคต”


หมอบุ๋ม = หัวใจไม่ว่าง ชาวเน็ตแซวใจสลาย



“ตลกดีค่ะ เราก็ไม่ได้คิดมากอะไร ก็แต่งงาน 3 ปีแล้ว และชีวิตครอบครัวเป็นชีวิตครอบครัวปกติ ที่มีความสุข ก็แต่งงานแล้วก็ติดตามได้ (หัวเราะ)

ที่สำคัญที่สุด คือ ให้กำลังใจกัน คือ เรา support เขาในทุกๆ เรื่องที่เขาทำ ส่วนทางสามีเขาจะ support เรา เป็นกำลังใจให้ และเป็นเพื่อนคู่คิดที่ดี เป็นแบบนั้นซะมากกว่า



สามีค่อนข้างให้กำลังใจมาก คือ ก่อนหน้านี้เขาก็ไม่อยากให้เราทำงานหนัก เพราะว่าเขาเห็นเราเรียนมาค่อนข้างหนัก ก็เลยให้ทำคลินิกอย่างเดียว

แต่พอบอกว่าเราอยากจะเข้ามาช่วยงานที่กระทรวง เขาบอกว่าโอเค ถ้ามันเป็นสิ่งที่เราอยากทำ และมันได้ทำ ตอบแทนแผ่นดิน ตอบแทนประเทศไทย เขาก็สนับสนุนเต็มที่ ก็จะแบบให้กำลังใจเวลาเรากลับบ้าน ก็หาเวลาทานเข้าด้วยกันอย่างนี้ค่ะ”




ดูเหมือนว่าเส้นทางชีวิตของเธอที่ผ่านมาจะประสบความสำเร็จ ทั้งเรื่องงาน และความรัก ภาพสะท้อนเหล่านี้ จึงทำให้หมอบุ๋มยืนบนเส้นทางนี้ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งถ้าถามว่าสิ่งที่ครอบครัวยังเป็นกังวล นั่นคือ การเข้ามาทำงานร่วมกับทางรัฐบาล

“เขาก็กังวลค่ะ มีพูดมาเหมือนกันว่าเดี๋ยวถึงวันหนึ่ง บางทีมันอาจจะมีคนพยายามโยงเรากับคนนู้นที คนนี้ที แต่ว่าให้เราอย่าคิดมาก เพราะจริงๆ แล้ว สุดท้ายเราไปเปลี่ยนความคิดใครไม่ได้ ก็แค่ทำงานของตัวเองก็พอ

ทางครอบครัว บอกว่า พอมาทำตรงนี้ มันอาจจะมีเรื่องของคนชอบ คนไม่ชอบ เป็นเกี่ยวกับการเมืองเข้ามา แต่ว่าเขาก็บอกว่าอย่าไปคิดมาก เพราะว่าทุกๆ อย่างมันมีทั้ง 2 ทาง แค่เราทำสิ่งที่เราทำให้ดี ความตั้งใจเรา คือ เราตั้งใจดี ที่เราอยากจะมาช่วย


เราไม่ได้ขึ้นตรงกับพรรคการเมืองอะไรก็ตาม สิ่งที่เราทำคือ เราทำในฐานะที่เราเป็นหมอ และเราอยากช่วยให้ประเทศมันดีขึ้นแค่นั้นก็พอแล้ว”

และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า หลังจากเธอได้รับตำแหน่ง และเข้าไปทำงาน ท่ามกลางกระแสที่ตามมาอย่างที่ครอบครัวของเธอได้กังวลเอาไว้ ทั้งแง่ดี และแง่ลบ แต่หมอบุ๋มเลือกที่จะไม่คิดมาก ไม่สนใจในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง


การ์ดอย่าตก!! “เว้นระยะห่าง-สวมหน้ากากอนามัย” ป้องกัน


ตอนนี้มีคนถามเยอะมากค่ะ ว่าแต่ละวันทำอะไรบ้าง ก็คือ ตอนนี้ถ้าเป็นจันทร์-ศุกร์ ในตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เราก็เข้ากระทรวงแล้วก็ติดตามท่านรัฐมนตรี มีการประชุมต่างๆ มีการตรวจเยี่ยมงาน

และนอกเหนือจากนั้น อังคาร พฤหัสฯ ก็มีแถลงข่าว ซึ่งมีการประชุมตั้งแต่ 7 โมงครึ่ง ก่อนการแถลง 11 โมงครึ่ง ช่วงบ่ายถึงเย็นของทุกๆ วัน ก็จะกลับไปเข้าคลินิกก็ออกตรวจคนไข้ค่ะเสาร์อาทิตย์ ก็ออกตรวจคนไข้เต็มวัน”


เห็นชัดเลยว่าไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต รวมไปถึงกิจกรรมที่เคยทำต้องเปลี่ยนไป แต่เธอก็ต้องแบ่งเวลา และมักใช้เวลาว่างดูแลร่างกายตัวเองอยู่ตลอด โดยเคล็ดลับของหมอบุ๋ม คือ การพักผ่อนให้เพียงพอ และการดื่มน้ำเยอะๆ

“เราก็ไม่ได้ดูแลมากขนาดนั้นค่ะ จริงๆ เป็นคนไม่ได้คุมการกิน แต่ว่ากินต่อมื้อค่อนข้างกินน้อย เพราะก่อนหน้านี้จะมีโรคกระเพาะ เป็นโรคประจำตัวแบบกินอาหารไม่ตรงเวลา

หลังๆ พอเราปรับการกิน มันก็ดีขึ้น ก็กินแต่ละมื้อน้อยๆ แต่เราก็กินบ่อย และมีออกกำลังกาย คือ ตอนนี้ทำได้แค่เต้นแอโรบิกผ่านยูทูปที่บ้าน เพราะมันไม่มีเวลาไปฟิตเนส




ปกติตอนนี้พยายามดื่มน้ำเยอะขึ้น เพราะว่าเรารู้สึกว่าในแต่ละวัน เราต้องพูดเยอะ สื่อสารเยอะ ทำงานเยอะ ก็จะมีการดื่มน้ำเยอะ และเวลากลับบ้านก็รีบอาบน้ำนอน

สิ่งสำคัญ คือ เราพยายามนอนให้เยอะ เพราะตอนนี้เวลานอนมันน้อย และที่ขาดไม่ได้เลย คือ ทาครีมบำรุงดูแลผิวหน้า เพราะว่าเราต้องพบเจอผู้คน ต้องออกกล้อง และเราเป็นคนรักษาผิวอยู่แล้ว ให้ง่วงให้เหนื่อยขนาดไหน ก็ต้องล้างหน้าให้สะอาด ทาครีมบำรุง”


นอกเหนือไปจากเคล็ดลับความสวยที่เห็นชัดอยู่ตรงข้างหน้าผู้สัมภาษณ์แล้ว สิ่งหนึ่งในฐานะผู้เชี่ยวชาญ และเป็นผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโรนา 2019 เธอยังสะท้อนถึงการดูแลตัวเองในสถานการณ์ไวรัสร้ายโควิด-19 ที่อาจจะกลับมาระบาดได้ทุกเมื่อ


“ถ้าในความคิดเห็นส่วนตัว คือ โควิด-19 มันไม่ได้หายไปไหนหรอก ตัวเชื้อโรคมันยังอยู่ทั่วไปอยู่แล้ว แต่ว่าการที่มันจะอยู่ในตัวคน ที่เราไม่เจอกันมาอย่างต่อเนื่อง คือ ถ้าตามหลักการทางระบาดวิทยา เขาก็บอกว่า ถ้าไม่เจอเชื้อติดต่อกัน 28 วัน โอกาสที่จะมีการแพร่เชื้อในระลอกใหม่ มันก็จะน้อยลง

ความเสี่ยงก็จะค่อนข้างต่ำ แต่เราจะเห็นได้จากหลายๆ ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะล่าสุด ก็ปักกิ่ง ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อเลย 56 วัน แล้วก็มีการกลับมาระบาดใหม่ เพราะฉะนั้นบางเรื่องมันเป็นสิ่งที่เรายัง control ไม่ได้ เรายังไม่รู้เลยว่า มันจะติดมาได้กับอะไรบ้าง เพราะมันเป็นเรื่องใหม่มากๆ ของโลก


สิ่งที่เราต้องระวังก็คือ ตอนนี้เรารู้แล้วว่าเรากำลังเจอกับอะไร เราไม่รู้ว่ามันจะกลับมาเมื่อไหร่ แต่เรารู้ว่า ถ้าเราสวมหน้ากาก ล้างมือ ไม่ติดต่อกันเยอะ ถึงจะมีเชื้อเราก็จะไม่ติด

คือ มันเสี่ยงอยู่แล้ว เพราะว่ามันเหมือนเราซีลเอาไว้ แต่รอบๆ เรามันติดหนักมากทั่วโลก ถ้าถามว่าคิดว่าประเทศไทยเราจัดการได้ดีรึเปล่า จริงๆ มันก็เห็นได้จากหลายๆ ประเทศทั่วโลกนะคะ ที่เขาชมประเทศไทย ว่าการจัดการของเราเกี่ยวกับโควิด-19 ดีมาก




มีอย่างประเทศหนึ่งในทางยุโรป เขาบอกว่าเขาไม่ปิดอะไรเลย แล้วการไม่ Shutdown ไม่มีมาตรการ Lockdown อะไรแล้ว จะทำให้เศรษฐกิจมันดี จริงๆ ตอนนี้เศรษฐกิจก็แย่มาก หลังมีผู้ติดเชื้อหนัก มีผู้เสียชีวิตเยอะ เศรษฐกิจมันก็ดำเนินไปไม่ได้อยู่ดี ในความเห็นส่วนตัวนะคะ


ถ้าในตอนนี้ในประเทศไทยของเรา คือ จำนวนผู้ติดเชื้อเป็น 0 ราย ต่อเนื่องกันมา 20 กว่าวัน แล้วเรากำลังผ่อนคลายมาตรการ จนกำลังมาเปิดได้อย่างปกติ คิดว่าสิ่งที่เราทำจนถึงวันนี้เราเดินมาค่อนข้างถูกทาง”

และเมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย ต้องยอมรับเลยว่า ในฐานะที่เป็นน้องใหม่ ที่อยู่ในสนามตรงนี้แล้วนั้น เธอมีความสามารถที่ได้พิสูจน์ด้วยผลงาน และรอเวลาที่ทำให้ทุกคนเห็น ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ภายนอก ซึ่งสิ่งที่ทำให้เธอยังคงแข็งแกร่ง เพราะการมองโลกในแง่ดี และความตั้งใจทำงานอย่างแท้จริง

โดยหมอบุ๋มได้ทิ้งท้าย และย้ำถึงมาตรการดูแลตัวเอง ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องเป็นเวลา 28 วันแล้วก็ตามเพราะหากเราไม่ช่วยกัน อาจเกิดการติดเชื้อในรูปแบบที่รุนแรงกว่าเดิม


“ถ้าสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้ของไทย คือ อยู่ในทิศทางที่ค่อนข้างดีนะคะ อันดับของประเทศไทยในโลกก็ปรับลงมาเรื่อยๆ อย่างตอนนี้อยู่อันดับ 90 กว่า จากที่แรกๆ อยู่อันดับ 60-70 ตอนที่หมอมาแถลงข่าวใหม่ๆ ซึ่งนั่นก็ประมาณเดือนหนึ่ง ซึ่งสถานการณ์อยู่ทางที่ดีขึ้น มาตรการการผ่อนคลายมาถึงระยะที่ 4 ซึ่งเป็นกลุ่มค่อนข้างเสี่ยง หมายถึงว่า มันมีการรวมตัวของผู้คนมากขึ้น

สถานที่เป็นสถานที่ปิดมากขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดเลย คือ การดูแลตัวเอง การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ พกแอลกอฮอล์เจล แอลกอฮอล์สเปรย์ไปด้วย รักษาระยะห่าง ถ้าที่ไหนเราเห็นว่าคนมันแน่นเกินไป ก็เว้นไปก่อน อย่าเพิ่งไป ให้คนอื่นเขาเที่ยวไปก่อนก็ได้”








สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพเคลื่อนไหว: กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ: กัมพล เสนสอน
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก “Panprapa yongtrakul”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น