xs
xsm
sm
md
lg

“ผมอยากให้ทุกคนสู้เหมือนกับผม” พ่อค้าพิการใจแกร่ง ขายกิ๊ฟช็อปต่อชีวิต สู้โควิด-19 [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใจ “กอล์ฟ ทรงกฤต” ชายอัมพาตใจสู้ ผู้ไม่ยอมให้ความพิการมาเป็นอุปสรรคในการหารายได้เลี้ยงชีพ ขายกิ๊ฟช็อปตามตลาดนัดพร้อมกับรถสามล้อคู่ใจ ย้ำไม่อยากเป็นภาระสังคม แม้เจอโควิดซ้ำเติมทำรายได้หาย มาม่า 1 ซองต้องแบ่งกิน 2 มื้อ ขอเป็นกระบอกเสียง “คนพิการเขาอยากมีอาชีพ อยากมีอนาคต”
เดินไม่ได้แต่ไม่หยุดก้าว!!

“ตอนเด็กๆ เหมือนคนเป็นอัมพาต ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ คนแถวนั้นก็รังแกผม เป็นอัมพาตครึ่งตัว ทำอะไรไม่ได้ครับ ผมเปลี่ยนหลายอาชีพแล้วครับ ทีแรกขนมที่ยายทำ ขายแถวบ้านยาย คนก็มาช่วยซื้อ มาอยู่ที่นี่คนรังเกียจก็ไม่ซื้อ ผมก็ไปเก็บของเก่า มีรถซาเล้ง พอผมเอาไปขายพวกรับซื้อก็โกง แล้วก็มาขายหนังสือนิยาย การ์ตูน พอขาดทุนก็ไปเก็บของเก่า ก็ขาดทุนอีก ก็มาขายสับปะรดภูแล ขายตามหมู่บ้าน เขาเห็นเราเป็นคนพิการ เขาก็ไม่อยากซื้อของเรา”

“กอล์ฟ - ทรงกฤต พนาเรือง” หนุ่มพิการอัมพาตครึ่งตัว เวลาจะเคลื่อนย้ายร่างกาย ต้องใช้วิธีกึ่งคลานกึ่งลากตัวเองไป เขาเปิดใจกับผู้สัมภาษณ์ ถึงเรื่องราวชีวิต ที่ความพิการไม่เพียงแต่จะส่งผลถึงการเคลื่อนไหวให้เป็นไปอย่างยากลำบากแล้ว แต่ยังบั่นทอนกำลังใจในการดำเนินชีวิตของผู้พิการเช่นกัน



ย้อนกลับไปในอดีต นอกจากความพิการแล้ว ชีวิตเขานั้นแสนอาภัพ โดยพ่อแม่แยกทางกัน ต้องใช้ชีวิตอยู่กับตายาย ที่อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ก่อนจะย้ายมาอยู่กับป้าย่านบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี

ด้วยหัวใจที่แข็งแกร่ง และความอดทนมุ่งมั่น ไม่เคยย่อท้อต่อโชคชะตา เขาใช้ 2 มือที่ยังพอมีกำลัง ประกอบอาชีพพ่อค้าเร่ขายสินค้ากิ๊ฟช็อปตามตลาดนัด ต่อสู้ชีวิต ทำงานทุกอย่างแลกเงินเพื่อมีรายได้พอดูเลี้ยงตัวเอง และไม่เป็นภาระของใคร




แต่ในความโชคร้าย ก็ยังมีความโชคดีซ่อนอยู่บ้าง เพราะหลังจากที่เรื่องราวความสู้ชีวิตของเขาถูกส่งต่อกันไปบนโลกออนไลน์ ก็มีธารน้ำใจหลั่งไหลมาสู่ชายพิการคนนี้ เขาได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใจบุญที่ช่วยปลดหนี้สินให้ อีกทั้งยังมีคนมอบรถสามล้อที่มีส่วนบรรทุกอยู่ด้านหลัง ทำให้สามารถบรรทุกของไปขายได้สะดวกยิ่งขึ้น

“มีคนรู้จักมากขึ้น เขามาปลดหนี้ให้ แล้วก็ให้บ้านอยู่ครับ มีคนใจบุญเขาซื้อรถ เป็นรถสามล้อจีน เอาของขายในรถได้ ไม่ต้องปูผ้าเวลาขาย มันก็สบาย”
โควิดทำพิษ ต้องแคะกระปุกประทังชีวิต

จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้ผู้คนเกิดความวิตกกังวลไปทั่วโลก ในหลายประเทศมีการล็อกดาวน์หรือปิดเมือง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค รวมไปถึงประเทศไทย ที่จำเป็นต้องมีมาตรการออกมาควบคุม ทั้ง พรก.ฉุกเฉิน และมาตรการทางด้านสาธารณสุข ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นวงกว้าง

จากมาตรการดังกล่าวนี้เอง แน่นอนว่าทุกคนต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และกระทบต่อการประกอบอาชีพ รวมถึงพ่อค้าหนุ่มรายนี้ ที่ต้องปรับตัวมาไลฟ์ขายของทางโลกโซเชียลฯ ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบากเป็นอย่างมากสำหรับกอล์ฟ เพราะตัวเขาเองไม่เชี่ยวชาญการสื่อสารช่องทางนี้ อีกทั้งแทบอ่านหนังสือไม่ออกและเขียนไม่ได้…



“ช่วงโควิดไม่ได้ขายของเลยครับ ออกบ้านไปไหนไม่ได้เพราะว่ารถวีลแชร์ก็พัง เก็บของเก่าก็ลำบาก สำเพ็งก็ปิด เหลือของอยู่นิดหน่อย กะว่าจะตุนไว้ขายสงกรานต์ก็ไม่ได้ไป ผมพยามเก็บของเก่า เก็บไม่ได้ เก็บไม่ทันเขา จนป้าบอกไม่ต้องเก็บหรอกลูก เก็บลำบาก

ลองโพสต์ขายของ ลองไลฟ์สดดู ก็ไม่มีคนเข้ามาดูเท่าไหร่ ลองทุกวันจนข้างบ้านเขาหัวเราะ ไม่มีใครเข้ามาดู พออ่านออก ผสมคำบางคำที่เราจำได้ คนเข้ามาดู 3-4 คนก็ดีใจแล้วครับ วันนั้นผมพยายามโพสต์ ผมก็ไม่รู้จะโพสต์ยังไง โพสต์ไม่เป็น ผมก็ไลฟ์ไม่เป็น

วันนั้นมีลูกค้าคนนึง ผมดีใจมากเลย เขาก็ให้ผมหัดส่งพัสดุให้ลูกค้า ให้เขาส่งที่อยู่มา เราก็ลอกตาม แล้วก็ไปส่งให้พัสดุใกล้บ้าน ลูกค้าสั่งผมร้อยนึง ผมดีใจมาก ดีใจที่สุดเลย น้ำตาไหลเลย ตื่นเต้นมาก”



ส่วนการใช้ชีวิตในช่วงที่ไม่สามารถออกไปขายของได้ของกอล์ฟนั้น เต็มไปด้วยความยากลำบาก นอกจากจะแทบไม่มีรายได้แล้ว เขายังต้องงัดกระปุกนับเหรียญที่หยอดไว้มาต่อชีวิต หนักสุดถึงขั้นต้องแบ่งกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซองให้กินได้ 2 มื้อ!

“ลำบากมากเลย การอยู่การกิน แต่ละวันอยู่บ้าน มาม่าต้มแบ่งไว้กินกับข้าวเปล่าได้ 2 ครั้ง ปวดขาก็ปวด ทรมานมาก นอนสู้กับความเจ็บปวด เกร็งแทบตาย เหมือนตายทั้งเป็นครับ ปวดทรมาน”


เอาเงินที่ผมหยอดกระปุกไว้ งัดออกมากินมาใช้ครับ (ค่าใช้จ่าย) เพิ่มครับ รายได้น้อย เศษเงินของพวกพี่ๆ 10 บาท 20 บาท มันต่อชีวิตคนพิการอย่างผมได้ ต่อลมหายใจให้ผมได้ เศษเงินที่พวกพี่ให้มาเกิน ผมก็หยอดกระปุกไว้ ได้เอาที่หยอดไว้มาใช้วันที่โควิดนี่แหละครับ แคะออกมาใช้”



ทางด้านของ ราตรี พนาเรือง ผู้เป็นป้าของกอล์ฟ ก็กล่าวเสริมว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤติว่า หลานชายนั้นมีความเครียดเป็นอย่างมากที่ออกไปขายของดังเดิมไม่ได้ จนต้องมีการพูดให้กำลังใจเป็นระยะ

“เมื่อได้รถมาก็สะดวกขึ้นในการเดินทาง พอมีโรคโควิดเข้ามาก็ลำบากหน่อย ไม่ได้ออกไปขายของ ก็เลยแนะนำให้เขาขายของออนไลน์ พูดเป็นมั่งไม่เป็นมั่งหัดไปเดี๋ยวก็เป็นเอง บอกเขาอย่าไปเครียด ทำใจสบายๆ เดี๋ยวมันก็ผ่านไปเอง บอกเขาอย่างนี้

ตัวเขาประหยัด โควิดแรกๆ เหมือนสติแตกเลยเขา เครียด เมื่อไหร่โควิดจะหมด อย่างนู้นอย่างนี้ จนต้องนั่งปลอบใจกันว่าใจเย็นๆ ต้องมองดูคนอื่นที่เขาแย่กว่าเรา ตอนนี้เราพอจะดีขึ้นแล้ว ตอนหลังเขาเลยมีหัวเราะ มีรอยยิ้มขึ้นมาบ้าง เขาเลยดีขึ้น ไม่เครียดแล้ว”
“คนพิการเขาอยากมีอาชีพ อยากมีอนาคต”


ในตอนนี้ แม้มาตรการต่างๆ ที่เข้มงวดในตอนแรกจะค่อยๆ คลายล็อกตามลำดับ ตลาดเปิดท้ายขายของก็สามารถกลับมาเปิดได้อีกครั้ง แต่ถึงอย่างนั้นคนค้าขายยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ยอดขายของพ่อค้าผู้นี้ลดลงเหลือไม่ถึงครึ่ง

ประกอบกับช่วงก่อนหน้านี้ที่มีการเคอร์ฟิว กำหนดระยะเวลาการออกจากบ้าน ทำให้การเดินทางไปซื้อสินค้าที่ตลาดสำเพ็งลำบากยิ่งขึ้น เพราะเขาต้องอาศัยรถโดยสารสาธารณะ และในยามที่ต้องเคลื่อนย้ายร่างกาย เขาต้องลากตัวเองไปกับพื้น และใช้ปากคาบถุงของที่ซื้อ เป็นที่เวทนาแก่ผู้พบเห็น จนอดไม่ได้ที่จะเข้าช่วยเหลือและให้เงิน



“ตอนที่เป็นโรคโควิด เหมือนได้ย้อนอดีต เมื่อก่อนยังไม่มีรถสามล้อ เราก็ขึ้นรถเมล์ กลับไปเริ่มต้นเหมือนจุดเดิม มันก็ลำบากเหมือนเดิม คิดแค่นั้นพอ ก็ปีนขึ้นรถเมล์ไปซื้อของตอนกลางวัน ตอนนั้นไปช่วงกลางคืนตี 1 ตี 2 เพราะว่าเอารถไปเองได้ ถ้าไปตอนกลางวันต้องไปรถเมล์ เพราะหาที่จอดรถสามล้อยาก ถ้าวันไหนป้าว่างก็จะเหมารถไปครับ จ้างคนแถวบ้านไปทีละ 200 ถ้าเกิดป้าไม่ว่าง เราต้องนั่งรถเมล์ไปเอง

“(เวลามีคนยื่นเงินให้) ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่จริงๆ ผมไม่อยากจะรับเลย คนพิการจริงๆ เขาไม่ขอทานหรอก เขาอยากมีอาชีพ เขาอยากมีอนาคต เคยรอรถเมล์แล้วมีคนเอาเงินมาวางให้ก็มี แต่ผมไม่รับ ถ้าผมไม่รับบางคนเขาก็อายอีก ไม่ใช่ขอทาน

ตอนนี้เหมือนเริ่มต้นใหม่ ก็แย่ ก็เงียบ ได้วันละ 200-300 ครับ จากเมื่อก่อนได้ 900 - 1,500 ก็ขอให้ดีขึ้น ตอนนี้โรคภัยก็มีเยอะ ปวดขาปวดแขนก็ยังปวดอยู่ ปวดหนักๆ ต้องทน กว่าจะปีนขึ้นจัดร้านได้เป็นชั่วโมง”



สุดท้าย เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามว่า มีอะไรเป็นแรงบันดาลใจ ในยามที่เกิดเรื่องราวมากมายเป็นพายุโหมกระหน่ำชีวิตเช่นนี้ เขาให้คำตอบว่า มีในหลวงรัชกาลที่ 9 ตลอดจนจิตอาสา และผู้พิการที่สู้ชีวิตทุกคน คอยเป็นแบบอย่างให้เขาลุกขึ้นสู้ต่อ

“ผมก็ขอยืนยันคำเดิมว่า พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 หรือพ่อหลวงทุกพระองค์ พ่อหลวงสอนให้มีความอดทน ความพยายาม ทุกคนเป็นคนดี พ่อหลวงลุยป่าผ่าดงไปทุกที่ และทุกคนที่เป็นจิตอาสาหรือคนพิการที่เขาสู้ เขาเป็นครูสอน เป็นแบบอย่าง เป็นผู้ให้กำลังใจผม



ผมอยากบอกกับทุกคน ผมไม่ได้เก่งอะไรนักหนา ผมว่าทุกคนเกิดมาต้องสู้ แต่สู้แบบไหน บางคนพิการน้อยพิการมาก แต่อย่าฆ่าตัวตายเลยครับ เกิดมาแล้วใช้ชีวิตให้คุ้ม

ก็ขอให้กำลังใจทุกคนที่เป็นคนพิการที่สู้ชีวิตเหมือนกับผม เราต้องสู้ เราต้องเลี้ยงดูตัวเองให้รอด เราต้องปรับตัวเข้ากับสังคมให้ได้ ผมอยากให้ทุกคนสู้เหมือนกับผม เราต้องสู้ สู้เพื่อเลี้ยงดูตัวเอง ไม่อยากเป็นภาระสังคม”

นี่คือชีวิตของ “กอล์ฟ - ทรงกฤต พนาเรือง” กับการต่อสู้ชีวิต ที่ต้องฝ่าฟันวิกฤติอีกครั้ง สะท้อนให้เห็นหัวใจที่เข้มแข็ง ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค แม้ว่าจะโหดร้ายเพียงใดก็ตาม ทำให้เขาสามารถนำพาชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน







สัมภาษณ์ : รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง : MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “ทรวกฤต พนาเรือง”


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น