xs
xsm
sm
md
lg

“หมู่แมลง” หายไปอย่างรวดเร็วจนน่าตระหนกอาจหมายถึง “หายนะ” ของเราด้วย!!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




เหล่าผีเสื้อบินเข้ามาเรื่อยๆตอนแรกหลายพันตัว ตามมาด้วยเรือนหมื่นเรือนแสน ปีกด้านล่างของพวกมันสีน้ำตาล ส่วนปีกด้านบนเป็นสีส้มสดใส ตอนที่บินกรูเข้ามาภาพที่เห็นช่างน่าอัศจรรย์ ชวนตื่นตะลึง และทำให้สับสนอยู่ไม่น้อย
ฉันพบ “ก้อนเมฆ” ผีเสื้อนี้หรือฝูงผีเสื้อกระดองเต่าแคลิฟอร์เนียในวันหนึ่งของฤดูร้อนที่ท้องฟ้าสดใสบนเทือกเขาเซียร์ราเนวาดาฉันกับ “แมตต์ ฟอริสเตอร์” นักชีววิทยาไปเดินเขาแคเซิลพีกซึ่งเป็นภูเขาทรงมน ผีเสื้อในแคเซิลพีกเป็นหนึ่งในประชากรแมลงที่มีการเฝ้าสังเกตอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก
ในฤดูร้อนจะมีการนับจำนวนประชากรผีเสื้อที่นี่ทุกสองสัปดาห์มานานเกือบ 45 ปีแล้วข้อมูลส่วนใหญ่รวบรวมโดยอาจารย์ของฟอริสเตอร์ ที่บันทึกข้อมูลลงบนกระดาษแข็งขนาดสามคูณห้านิ้ว




[แมลงกลางคืนบินมาเกาะบนผืนผ้านับไม่ถ้วนที่สถานีภาคสนามกลางป่าแอมะซอน ประเทศเอกวาดอร์]



หลังจากฟอริสเตอร์และทีมงานประมวลผลการสำรวจด้วยคอมพิวเตอร์และวิเคราะห์ข้อมูล ก็พบว่าตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมาผีเสื้อในแคเซิลพีกมีจำนวนลดลง เรากำลังคุยกันว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ตอนที่เราใกล้ถึงยอดเขาซึ่งสูง 2,775 เมตร และถูกกลุ่มเมฆหมอกสีส้มที่ว่าแผ่เข้าปกคลุม
“ความคิดที่ว่าเหล่าแมลงกำลังตกที่นั่งลำบากดูเหมือนทำให้ใครๆตกใจครับ ซึ่งผมเข้าใจดี”
ฟอริสเตอร์พูดพลางชี้ไปยังผีเสื้อที่พากันบินกรูเข้ามาไม่ขาดสาย “ก็พวกแมลงทำแบบนี้ มันถึงดูแปลกๆ ไงครับ”
ว่ากันว่าเราใช้ชีวิตอยู่ในสมัยแอนโทรโปซีน (Anthropocene) หรือสมัยที่ถูกนิยามจากผลกระทบที่มนุษย์มีต่อโลก กระนั้น เมื่อประเมินด้วยตัวชี้วัดต่างๆ แล้ว แมลงก็ยังถือเป็นสัตว์ที่ครองโลกอยู่ดี




[ถุง “สวนสัตว์” บรรจุใบไม้ที่สถานีวิจัยลาเซลวาในคอสตาริกา เป็นที่อาศัยของหนอนนับร้อยตัวซึ่งนักวิจัยพยายามศึกษาชนิดพันธุ์เหล่านี้ก่อนที่พวกมันจะหมดสิ้นไป]



ประเมินกันว่ามีแมลง 10 ล้านล้านล้านตัว ในแง่ของความหลากหลายแมลงก็มีจำนวนชนิดที่น่าทึ่งไม่แพ้กัน ในบรรดาชนิดพันธุ์สัตว์ทั้งมวล เป็นแมลงคิดเป็นสัดส่วนสูง ถึงราวร้อยละ 80 พวกมันหล่อเลี้ยงโลกอย่างที่เรารู้จักหากไร้ซึ่งแมลงในการผสมเกสร พืชมีดอกส่วนใหญ่จะพากันตายหมดสิ้น
นักชีววิทยา “เอ็ดเวิร์ด โอ. วิลสัน” เคยให้ข้อสังเกตอันลือลั่นว่า ถ้าจู่ๆ มนุษย์เกิดหายไป โลกจะ “ฟื้นฟูตัวเองกลับไปสู่สภาวะสมดุลอย่างที่เคยเป็นเมื่อ 10,000 ปีก่อน” แต่ “ถ้าแมลงเกิดหายไป สิ่งแวดล้อมจะล่มสลายสู่ความโกลาหล”
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าตกใจและหวาดหวั่นเมื่อนักวิทยาศาสตร์พบว่า จำนวนแมลงกำลังลดลงในพื้นที่ส่วนใหญ่ที่พวกเขาศึกษาในช่วงเวลาไม่นานมานี้เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ธรรมชาติ เป็นไปได้มากว่า สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นในสนามหลังบ้านของคุณด้วย

ทุกฤดูใบไม้ร่วง นักวิจัยนับพันคนจะมาร่วมงานประชุมประจำปีของสมาคมกีฏวิทยาแห่งอเมริกา ฤดูใบไม้ร่วงปีก่อน หัวข้อที่มีผู้สนใจเข้าฟังมากที่สุดคือ “การลดลงของแมลงในสมัยแอนโทรโปซีน”
ผู้บรรยายคนแล้วคนเล่าขึ้นไปนำเสนอหลักฐานอันน่าเศร้า ซอร์ก พูดถึงงานวิจัยของกลุ่มเครเฟลด์ ฟอริสเตอร์บรรยายเรื่องผีเสื้อลดจำนวนลงในเทือกเขาเซียร์รา โทเก โทแมสฮอเย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก บันทึกเหตุการณ์การลดจำนวนลงของแมลงวันที่ตอมดอกไม้ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรีนแลนด์ และเมย์ แบเรนบาม นักกีฏวิทยา นำเสนอเรื่อง “วิกฤตินักผสมเกสรทั่วโลก”




[มาร์ติน ซอร์ก หัวหน้าภัณฑารักษ์ของสมาคมกีฏวิทยาเครเฟลด์]



เดวิด แวกเนอร์ นักกีฏวิทยา เป็นผู้จัดการบรรยายช่วงนี้ เมื่อถึงคราวขึ้นพูดเขาชี้ไปที่ “ปริศนา” ข้อหนึ่ง โดยตั้งข้อสังเกตว่า ผู้บรรยายต่างเห็นพ้องกันว่า แมลงกำลังประสบปัญหา
แต่พอพูดถึงสาเหตุ กลับไม่มีฉันทามติ บ้างโทษการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บ้างโทษการทำไร่นา หรือการรุกล้ำถิ่นอาศัยของแมลง “เป็นเรื่องน่าแปลกที่เรามีนักวิทยาศาสตร์มากมายวินิจฉัยปัญหานี้ แต่กลับไม่มั่นใจนักว่า อะไรคือสาเหตุหรือตัวการสร้างแรงกดดัน” เขาว่า
สองสามสัปดาห์หลังการประชุม ฉันพบแวกเนอร์ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกันในนิวยอร์ก พิพิธภัณฑ์นี้มีคลังตัวอย่างแมลงขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
แวกเนอร์สุ่มเปิดตู้เก็บผึ้งสกุลBombusหรือผึ้งหึ่ง ในลิ้นชักหนึ่งเป็นผึ้งหึ่งปาตาโกเนีย(Bombus dahlbomii) แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประชากรของพวกมันลดลงอย่างฮวบฮาบ
ฉันถามแวกเนอร์ว่าเขาคิดว่าปัจจัยอะไรผลักดันให้จำนวนแมลงลดลง เขาบอกว่าในระดับหนึ่งคำตอบค่อนข้างชัดเจน “เราคาดกันอยู่แล้วว่า ทุกอย่างจะลดลงเพราะมีคนเจ็ดพันล้านคนบนโลก” ในกระบวนการผลิตและจัดหาอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการขนส่งผู้คนเปลี่ยนแปลงโลกในระดับพื้นฐานหลายประการ
ไม่ว่าจะเป็นการโค่นป่า ไถปราบทุ่งหญ้า ปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือปล่อยสารก่อมลพิษสู่อากาศ ทุกอย่างเหล่านี้ล้วนเป็นตัวการสร้างแรงกดดันแก่แมลงและสัตว์อื่นๆ ประชากรสัตว์เกือบทุกกลุ่มกำลังลดลง
“เรารู้ว่าเรากำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤติความหลากหลายทางชีวภาพครับ” แวกเนอร์บอก




[“แตนเบียน” ในระยะดักแด้ซึ่งเป็นระยะระหว่างตัวอ่อนกับตัวเต็มวัย เกาะกลุ่มอยู่บนหนอนที่กำลังตายซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตพวกมัน]


เรื่องน่าสับสนคืออัตราการสูญเสียแมลงที่การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้รายงานไว้ ผลการศึกษาเช่นงานจากเครเฟลด์ชี้ว่า แมลงกำลังลดจำนวนลงเร็วกว่าสัตว์กลุ่มอื่นมาก
เพราะเหตุใดน่ะหรือ ความเป็นไปได้หนึ่งคือยากำจัดศัตรูพืชซึ่งแม้พุ่งเป้าไปยังชนิดพันธุ์ที่เป็น “ศัตรู” ก็จริง แต่สารเคมีย่อมไม่แยกแยะระหว่างแมลงที่สร้างความเสียหายแก่พืชผลกับแมลงที่ผสมเกสร แต่ในบางที่ที่มีรายงานการลดลงอย่างฮวบฮาบ เช่น เทือกเขาไวต์ในนิวแฮมป์เชียร์กลับมีการใช้ยากำจัดศัตรูพืชน้อยมาก นี่ล่ะที่เป็นปริศนา
“ปัญหาในตอนนี้คือการหาคำตอบว่าแมลงตกอยู่ในอันตรายมากกว่าชนิดพันธุ์อื่นขนาดไหน”แวกเนอร์บอก “นี่เป็นเรื่องเร่งด่วนครับ”
“นี่เป็นครั้งแรก” เขาเสริม “ที่ผมคิดว่าผู้คนรู้สึกกังวลอย่างจริงจังกับการให้บริการระบบนิเวศหรือนิเวศบริการ(ecosystem service) และทุกอย่างที่แมลงทำเพื่อค้ำจุนโลก”
แมลงทำหน้าที่มากมาย หลายอย่างเป็นการปิดทองหลังพระ ราวสามในสี่ของพืชมีดอกทั้งหมดพึ่งพาแมลงนักผสมเกสร ไม้ผลส่วนใหญ่ ตั้งแต่แอ๊ปเปิ้ลไปจนถึงแตงโม ล้วนต้องใช้แมลงนักผสมเกสร




[“แมลงปอเข็มปีกดำ” อาศัยอยู่ตามลำธารในป่าทางตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ]



แมลงยังเป็นผู้กระจายเมล็ดพืชที่สำคัญมากเมล็ดพืชหลายชนิดมีรยางค์เล็กๆ เรียกว่า อีไลโอโซม(elaiosome) อัดแน่นด้วยไขมันและสารอาหารอื่นๆ มดแบกเมล็ดไป กินเพียงอีไลโอโซม แล้วทิ้งที่เหลือไว้ให้งอกเป็นต้นอ่อน
แมลงยังเป็นอาหารของปลาน้ำจืดและสัตว์บกเกือบทุกชนิด
แม้แต่นกที่เมื่อโตเต็มวัยกินทั้งพืชและสัตว์ ก็มักพึ่งพาแมลงตอนเป็นนกวัยอ่อน การศึกษานกในอเมริกาเหนือเมื่อไม่นานมานี้พบว่า จำนวนนกลดลงอย่างมากเช่นกัน คือเกือบหนึ่งในสามตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมานกชนิดที่กินแมลงเป็นอาหารส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
แมลงยังเป็นผู้ย่อยสลายสำคัญที่เกื้อหนุนให้วงล้อแห่งชีวิตหมุนต่อไป ด้วงมูลสัตว์ช่วยนำสารอาหารกลับคืนสู่ดินโดยการกินขี้สัตว์ ปลวกทำหน้าที่เดียวกันด้วยการกินไม้ หากปราศจากแมลง สารอินทรีย์ที่ตายแล้วรวมถึงร่างกายมนุษย์จะเริ่มทับถมกัน

บทความ: นิตยสาร “National Geographic”ฉบับภาษาไทย(พ.ค.63)
เรื่อง: เอลิซาเบท โคลเบิร์ต
ภาพ: เดวิด ลิตต์ชวาเกอ





** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **


กำลังโหลดความคิดเห็น