จากเด็กติดเกม สู่นักแคสเกมระดับประเทศ! นาทีนี้คงไม่มีสายเกมคนไหนไม่รู้จักชาแนล “zbing z.” เพราะในระยะเวลาเพียง 5 ปี มียอดติดตามสูงถึง 10 ล้านคน ถือเป็นยอดฟอลฯ ที่สูงที่สุดในประเทศ!! แม้ฉากหน้าเต็มไปด้วยความสำเร็จกับรายได้ 6 หลักต่อเดือน แต่กว่าจะมีวันนี้ผ่านมรสุมครอบครัวและสังคมแอนตี้หนักมาก!
เปิดชาแนลยูทูบ ด้วยเงินลงทุน 199 บาท!
“ต้องบอกเลยว่าแป้งลงทุนกับไมโครโฟน ตัวละ 199 อย่างเดียว เพราะตอนนั้นไม่มีอุปกรณ์ด้วย แต่คอมพิวเตอร์มีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นคอมพ์เน่าๆ ในบ้านนี่แหละ เราก็หาโหลดเกมที่เป็นเกมแจกฟรีมาลองแคสดูลงยูทูบ”
“แป้ง - นัยรัตน์ ธนไวทย์โกเศส” นักแคสเกมสาววัย 29 ปี เล่าย้อนถึงต้นทุนในการสร้างชาแนลของตัวเอง ซึ่งเริ่มต้นด้วยเงินเพียงหลักร้อยเท่านั้น ใครจะคิดว่าจากวันนั้นที่มีคนติดตามแค่หลักสิบ วันนี้เธอจะกลายเป็นผู้มีอิทธิพลในวงการเกมแคสเตอร์อย่างปฏิเสธไม่ได้
แล้วอะไรที่ทำให้เธอตัดสินใจก้าวเข้าสู่เส้นทางยูทูบเบอร์!? คงไม่ใช่เหตุผลแค่เพียงชอบเล่นเกมแน่ๆ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เล่นเกมแล้วจะมาเอาดีด้านการแคสเกมผ่านช่องยูทูบ ทว่า สิ่งที่เซอร์ไพร์สเราเข้าไปอีกคือการที่ได้รู้ว่าแรงบันดาลใจจากการสร้างชาแนลของเธอ เกิดขึ้นจากการเล่นเกมไม่ผ่านด่าน!!
“มีจุดเริ่มต้นหลายอย่างมากเลยค่ะ เราเป็นคนเล่นเกม ระหว่างที่จบมหา’ลัยก็ยังเล่นเกมอยู่ แต่ตอนนั้นเป็นเครื่องเกม เราก็จะติดเกมลุยจิแมนชั่น (Luigi's Mansion) ก็หาทางผ่านไปไม่ได้เลยเปิดยูทูบดูว่ามีอะไรหรือเปล่า มีคนสอนไหม จนเจอยูทูบแล้วเจอฝรั่งเขาทำเป็นวอล์ค ทู เยอะมาก เกี่ยวกับการเล่นเกมว่าจะผ่านด่านนี้ยังไง
เราก็คิดว่าทำไมถึงมีคนทำแบบนี้ จากนั้นก็ดูมาเรื่อยๆ จนเจอคนที่เป็นอันดับ 1 ของยูทูบด้านเกมเจ้าของช่อง “พิวดี้พาย” มียอดติดตามเยอะมากด้วยก็มีคนตีแผ่ว่า เขาทำรายได้ปีหนึ่งได้ 400-500 ล้าน! เรารู้สึกว่าทำไมแค่เล่นเกมก็มีเงิน เป็นสิ่งที่ตามหามาทั้งชีวิตเลยแบบนี้ก็เลยลองหาดูว่าในไทยมีคนทำไหม
ซึ่งเป็นโชคดีที่ว่าในไทยมีคนเคยทำก่อนหน้าแล้ว เขาก็ยังทำกันอยู่ คนดังๆ หลายคนเลยค่ะ ตอนนั้นก็จะมี Heart Rocker, ลุงพี, Xcrosz ซึ่งคนพวกนั้นเหมือนปูทางมาให้เราอยู่แล้ว และก็มีคนสอนในยูทูบด้วยว่าอยากเป็นต้องทำยังไง เราก็เลยลองศึกษาดู”
ขณะที่ชื่อแชแนลของเธอ ใช้ชื่อว่า “zbing z.” ซึ่งไม่มีชื่อของเธออยู่ในนั้นเลย ตรงนี้ก็ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่า ชื่อที่ว่ามีความหมายใดซ่อนอยู่หรือไม่ ส่วนคลิปฯ แรกที่ประเดิมในช่องยูทูบ คือ เกมผี ซึ่งก็มียอดการรับชมเพียงไม่กี่ร้อยคนเท่านั้นเอง
“ชื่อแชแนลคิดไม่นานเลยค่ะ เพราะใช้ชื่ออีเมล์ตั้งแต่ตอนประถม เป็นชื่อนี้ที่อยู่กับเรามาตลอด แป้งก็คิดว่าก็อยากให้เป็นชื่อนี้ เพราะเราจะตั้งชื่อนี้ในเกมตลอด กลายเป็นว่าเป็นชื่อ zbing z.
จริงๆ ก็ไม่มีความหมายอะไร เป็นคำว่าสะบัดสะบิ้งก็ตัดคำว่าสะบัดออกก็จะเหลือคำว่าสะบิ้ง แต่อยากให้มันดูอินเตอร์ก็เลยเป็น zbing z.”
เกมแรกที่ปล่อยเป็นเกมผีค่ะ เกมนี้ตอนที่ทำตอนแรกไม่ลงทุนกับอะไรเลย เราลงทุนกับแค่ไมโครโฟนตัวละ 199 อย่างเดียว เกมแรกยอดวิวน้อยมาก ประมาณ 200-300 วิวค่ะ แป้งมองคนอื่นที่เขาเคยทำมาก่อน มียอดวิวหลักหมื่น หลักแสน เรารู้สึกว่าได้น้อยจัง
แต่ก็ยังภูมิใจอยู่ที่เราพอทำได้ ถามว่าท้อไหม ไม่ท้อนะคะ มองว่าจุดนี้เป็นความฝันของเราตั้งแต่เด็กว่าอยากเล่นเกม
อยากใช้ชีวิตอย่างนี้ก็เลยลองทำดูเรื่อยๆ จนกระทั่งยอดติดตาม 1,000 คน ก็เริ่มมีทาง “ออนไลน์ สเตชั่น” ติดต่อเข้ามาอยากให้เราเป็นน้องในสังกัดทำคลิปฯ มาลงในช่องออนไลน์ สเตชั่นได้ไหมก็เลยสมัครทำกับเขา”
จากเงินลงทุนแรกเริ่ม 199 บาท เธอก็เริ่มพัฒนาขยับมาลงทุนกับสิ่งที่จำเป็นที่สุด นั่นคือ การซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ แม้รายได้ที่ได้รับจากยูทูบเดือนแรกจะได้รับค่าตอบแทนไม่ถึง 500 บาทก็ตาม
“เริ่มขอที่บ้านก่อน จะบอกว่าเงินเดือนจากยูทูบเดือนแรกได้มาแค่ 300 บาท เลยรู้สึกว่าเราคงต้องลงทุนอะไรบ้างแล้ว แต่ก็ไม่ได้ลงทุนอะไรมากในช่วงแรกๆ นะคะ
แป้งมี 1 แสนผู้ติดตามก่อนก็ค่อยเปลี่ยนไมโครโฟน และเริ่มขอพ่อแม่ซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ ตอนนั้นใช้เวลาประมาณ 1 ปีถึงจะได้ยอดติดตาม 1 แสนคน
ตอนนั้นขอยืมนะคะ 4 หมื่นบาทค่ะ เรารู้สึกว่าคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการทำงาน เรื่องของไมโครโฟนก็ไม่ได้ซื้อตัวที่แพงมากค่ะ ประมาณหลักพัน ส่วนรายได้ 300 บาท แต่ก็มีรายได้จากช่องทางอื่นด้วย ช่วงนั้นจะมีทางออนไลน์ สเตชั่นที่จะให้เป็นเงินเดือน แต่ก็ไม่ได้เยอะมาก
ตกเฉลี่ยต่อเดือนก็จะได้ประมาณ 3,000-4,000 บาท ยังพอได้ พอไปคุยกับแม่ได้ว่ามีเงินนะ ในช่วงแรกๆ เราก็ให้คุณแม่หมดเลย เหมือนซื้อใจให้เขารู้ว่าเราทำแล้วได้จริงๆ นะ ไม่ใช่แค่ไปเล่นเกมอย่างเดียว แต่แม่ก็จะยังไม่เข้าใจว่าทำไมแค่เล่นเกมถึงได้ตังค์
ตัวเราเองก็ยังไม่ได้คอนเฟิร์มเท่าไหร่ว่าเราจะได้ตังค์จริงไหม แต่เราสู้ เราก็อยากให้เขารู้ว่าถ้างานนี้มันได้จริงๆ แป้งตั้งใจนะก็เลยบอกแม่ว่างั้นขอเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วกัน ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็จะไม่ทำแล้ว แม่อยากให้เป็นอะไรแป้งก็จะเป็นตามที่แม่บอก
แต่สุดท้ายเราก็ทำได้ รายได้ตอนนี้อยู่ที่ 6 หลักค่ะ เงินที่เข้ามาก็มาจากยอดวิวและแอดจากโฆษณายูทูบค่ะ อย่างเดือนแรกได้ 300 บาทก็จะเริ่มคงตัวนะคะ ขยับมา 500 บาท 1,000 บาท
แต่พอเริ่ม 2 แสนยอดติดตามแล้ว ตอนนั้นเปิดเกมซีรีส์ใหม่เกี่ยวกับไดโนเสาร์ และการเอาชีวิตรอด ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ยอดวิวและยอดติดตามขึ้นเยอะมากทำให้รายได้เพิ่มเป็นหลักหมื่น”
ครอบครัวแอนตี้ ลิมิตวันละ 1 ชม.
“เล่นได้แค่วันละชั่วโมงค่ะ พ่อแม่จะรู้สึกว่าเกมมันอันตรายต่อเรา จะกลัวว่าถ้าเล่นเกมมากๆ แล้วการเรียนจะไม่ดี ทั้งที่จริงๆ แล้วการเรียนเราก็ไม่ได้แย่ แต่ที่บ้านจะฟิกเรื่องเวลามากๆ เขาจะเซนซิทิฟเรื่องของการเล่นเกมของแป้งมากๆ เลย”
ย้อนไปในช่วงวัยเด็ก เธอเล่าให้ฟังว่าเริ่มเล่นเกมตั้งแต่อายุ 4 ขวบ โดยเริ่มจากเกมแฟมิคอม (Famicom) ก่อน จากนั้นก็เป็นเกมเพลย์สเตชั่น เกมออนไลน์ และเกมออฟไลน์ตามลำดับ แม้ดูเหมือนว่าเธอจะเล่นเกมได้อย่างหลากหลาย แต่กฎของที่บ้านที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ จะเล่นเกมได้แค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น!
“อย่างที่บอกพอเลิกเล่นเกม บางทีอารมณ์รุนแรงในช่วงนั้น ช่วงเด็กๆ เราก็จะยังคิดไม่ได้ คุณแม่ก็จะเริ่มถือไม้แขวนเสื้อ จนถึงขั้นดึงปลั๊กคอมพ์ก็มี โหดร้ายมาก (หัวเราะ) ตอนนั้นเป็นช่วงที่เล่นเกมออนไลน์กำลังมาแรง แป้งก็ขอแม่เล่นตอน 1 ทุ่ม - 2 ทุ่มนะ
เพราะว่าอยากเล่นเกมในช่วงนั้นจริงๆ ก็ไม่ได้เล่นทั้งวันเลย จนมาเล่นช่วงดึกๆ แล้วผู้ใหญ่ก็จะคิดว่าเล่นช่วงดึก อีกวันก็ต้องไปเรียน เขาก็กระตุ้นให้เราเลิกเล่นเร็วๆ เราก็ขออีกแป๊ปหนึ่งๆ แต่แม่ก็จะคิดว่าคำว่าแป๊ปหนึ่งคือครึ่งชั่วโมง หรือหนึ่งชั่วโมงใช่ไหม พอเขารู้สึกโมโหจริงๆ ก็ดึงปลั๊กเลย
ส่วนมากคุณแม่จะห่วงว่าในอนาคต ถ้าเราติดเกมแบบนี้ เราจะไปทำอะไร เราจะไปเรียนอะไร คณะอะไร เขาจะเป็นห่วงเรื่องของการเรียน และอนาคตมากกว่า เขาถึงไม่ค่อยให้เราเล่นเกมมาก แป้งมองว่าข่าวก็มีส่วนนะ บางทีสมัยก่อนข่าวเล่นเกมก็บูม แรงเหมือนกันว่า เด็กเล่นเกมอย่างแร็คนาล็อกทำให้เด็กก้าวร้าว”
ไม่เพียงแต่ทำให้แม่ของเธอโมโหจนถึงขั้นดึงปลั๊กไฟออก แต่เธอยังติดเกมหนักจนขนาดที่ว่าต้องรีบกลับจากโรงเรียนมาเล่นเกม เพราะติดเพื่อนในเกมมากกว่าในชีวิตจริง
“ตอนนั้นหัวดื้อมากค่ะ ทะเลาะกับคุณแม่บ่อย เหมือนเราติดเพื่อนในเกมด้วย พอเริ่มมีเพื่อนในเกม มันก็สานต่อความที่แป้งชอบเกมเข้าไปอีก เพราะจริงๆ แล้วตัวตนของแป้งคือ เป็นคนค่อนข้างขี้อาย เพื่อนที่โรงเรียนก็มี แต่ค่อนข้างน้อยเลยรู้สึกว่าเกมมันเปิดโลกของเรา ทำให้เราได้รู้จักคนออนไลน์ด้วย
ด้วยความที่แป้งเป็นคนที่ไม่กล้าไปคุยกับคนอื่นก่อน ตอนประถมอาจจะกล้าๆ ห้าวๆ หน่อย แต่พอย้ายโรงเรียน เราต้องหาเพื่อนใหม่ เพื่อนที่ไม่รู้จักมาก่อน บางทีมันรู้สึกเขิน แต่การที่เราอยู่หน้าคอมพ์แล้วเราพยายามถามชื่อคนนั้น คนนี้ พยายามคุย เหมือนเป็นแค่ตัวอักษร
เราเลยสามารถพิมพ์ได้โดยที่ไม่เคอะเขินเลย มันเป็นโลกออนไลน์ค่ะ เราคุยอะไรก็ได้ พูดอะไรก็ได้ ถามว่าเกมทำให้แป้งมีโลกส่วนตัวสูงไหม ก็มีส่วนนะคะ ช่วงประมาณ ม.ต้น เป็นช่วงที่ติดเกมหนักมากๆ ช่วงนั้นจะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในเกมมากกว่าเพื่อนในชีวิตจริง
แป้งไปโรงเรียนแล้วก็รีบกลับบ้านมาเล่นเกม เพราะเราสนิทกับเพื่อนในเกมมากกว่า ก็จะกลายเป็นปัญหาในชีวิตจริงว่าเพื่อนในกลุ่มจะไม่เข้าใจว่าทำไมรีบกลับบ้าน ทำไมไม่ค่อยคุยกับเพื่อน
แต่พอจุดๆ หนึ่ง แป้งจะรู้สึกว่าโลกความจริงกับโลกในเกมต่างกันนะ ถ้าเราอยู่แต่ในเกม เราก็จะมีเพื่อนอยู่แค่นั้น แต่ในชีวิตจริง ไหนจะต้องทำการบ้าน ทำงานกลุ่มด้วย เราก็ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับตรงนั้น
จนขึ้น ม.ปลาย ก็เพลาเรื่องการเล่นเกมไป ช่วงนั้นจะติดเพื่อนซะส่วนใหญ่ คุณแม่ก็จะไม่บ่นเรื่องเกมแล้ว จะมาบ่นเรื่องติดเพื่อนแทน (หัวเราะ)”
แม้ที่ผ่านการเล่นเกมของแป้งจะเต็มไปด้วยการไม่ยอมรับจากครอบครัว แต่วันนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าความสำเร็จตลอด 5 ปีที่ตั้งใจทำมาบนเส้นทางยูทูบเบอร์ เธอสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้เป็นอย่างดี ซึ่งการที่พ่อและแม่เปิดใจยอมรับ คือสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่ารายได้มหาศาลที่ได้รับเสียอีก
“พ่อแม่ภูมิใจมากๆ ค่ะ เคยนั่งคุยกันนะคะว่าแม่รู้สึกยังไง เขาก็ภูมิใจนะ เขายังคิดอยู่เลยว่าถ้าวันนั้นเขาห้ามไม่ให้เราทำ วันนี้เราจะเป็นยังไง เขาก็ยังมีมาถามเรานะว่าเครียดไหม เล่นเกมไหม จากแต่ก่อนที่เครียดไหมไปอ่านหนังสือสิ (หัวเราะ)
เขาก็จะถามวันนี้เป็นยังไงบ้าง เล่นเกมเหนื่อยไหม เขาเป็นห่วงเราตลอด ตอนนี้แป้งเป็นหัวหน้าครอบครัวด้วยค่ะ เลี้ยงที่บ้าน เลี้ยงน้องด้วย เป็นเสาหลักของบ้านแล้ว แป้งก็ภูมิใจในตัวเองนะคะ มันไม่ใช่แค่ตัวเราสบาย แต่ทำให้ที่บ้านสบายด้วย
เมื่อปีที่แล้วแป้งก็ซื้อรถให้คุณพ่อ คุณพ่อชอบรถเบนซ์มาก แต่ก่อนที่บ้านมีปัญหาเลยต้องขายรถนี้ไป ซึ่งมันทิ้งระยะเวลาพอสมควร ใจเราคิดอยู่ตลอดเลยว่าถ้ามีเงิน อยากซื้อให้พ่อ แต่ด้วยความที่เป็นเด็ก ไม่มีเงินขนาดนั้น เราทำไม่ได้ จนวันนี้เรามี เขาก็ภูมิใจในตัวเรามากก็ทำให้แป้งมีแรงผลักดันในการทำงานมากๆ ค่ะ”
พากย์เสียง งดคำหยาบ นี่แหละจุดขาย!
คงต้องยอมรับว่าการเล่นเกมกับคำสบถเป็นของคู่กัน โดยเฉพาะกับเหล่านักแคสเกมที่ต้องสร้างความสนุกสนาน และเพิ่มอรรถรสให้ผู้ชมอย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เองก็สร้างข้อสงสัยเหมือนกันว่าหากไร้คำสบถใดๆ จะยังทำให้คลิปวิดีโอมีความน่าสนใจอยู่หรือเปล่า ขณะที่แป้งเองกลับมองว่าถือเป็นทางเลือกให้ผู้รับชมแล้วกัน
“แรกๆ ต้องบอกว่ามีอยู่แล้ว เพราะเราก็ยังเป็นตัวของตัวเองอยู่ เหมือนเด็กมหา’ลัย ที่เฟี้ยวๆ หน่อย แต่พอเริ่มมีไปออกงานเกม แล้วเราได้ไปเจอกับน้องๆ ที่ติดตามเรา บางทีเด็กมัธยมเขาบอกพี่หนูติดตามนะ บางทีมีคุณพ่อคุณแม่พาน้องๆ มาแล้วบอกว่า ดูคุณแป้งอยู่นะ
แป้งเลยรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว เหมือนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมก็เลยเริ่มเปลี่ยน ทำให้ช่องมันคลีนโดยที่ไม่มีคำหยาบเลย แป้งก็รู้สึกว่าการที่เราเล่นเกม มันไม่จำเป็นต้องมีคำหยาบก็สามารถตลกได้ ฮาได้ ถามว่าพอเป็นช่องที่ไม่พูดคำหยาบ ความนิยมน้อยลงไหม มองว่าแล้วแต่คนมากกว่านะคะ
บางคนอาจชอบแนวนั้น บางคนชอบแนวนี้ก็ได้ มันเป็นความหลากหลาย เหมือนเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภคได้เลือกมากกว่า อย่างตัวแป้งเองที่เราทำไม่มีคำหยาบเลย ยอดวิวเราก็ไม่ได้ลดลง มันโอเคอยู่แล้ว เราก็คงไม่เปลี่ยน”
ส่วนคาเร็คเตอร์ที่บ่งบอกความเป็น zbing z. เธอเล่าให้ฟังว่าจุดเด่นของช่องคือ การพากย์เสียงตามตัวละครในเกม ซึ่งเธอทำมาตั้งแต่คลิปฯ แรกๆ ที่ปล่อยออกมาแล้ว แต่ที่น่าสนใจคือการพากย์เสียงแบบสดๆ นี่แหละ!
“น่าจะเป็นการพากย์ค่ะ จะมีการพากย์คาเร็คเตอร์ตัวละคร จำลองสถานการณ์ว่าในเกมนี้เราจะทำอะไร เราจะเป็นใคร ช่วงแรกๆ แป้งจะเริ่มพากย์นิดหน่อยก่อน แต่หลังๆ จะพากย์เยอะขึ้น เริ่มมีการใส่ชื่อตัวละคร เริ่มทำสตอรี่ก่อนหน้าที่จะเข้าเกม
เราพากย์สดเลยค่ะ ช่วงแรกๆ ยาก เหมือนหัวไม่ค่อยไป แต่ตอนนี้ทำมาประมาณ 5 ปีแล้วก็รู้สึกว่ามันอะไรก็ได้แล้ว เป็นการฝึกฝนทีละนิดๆ จนเราชำนาญ ส่วนไอเดียการพากย์เสียงถามว่าไปได้มายังไง จริงๆ แป้งเป็นคนที่พากย์เสียงมาตั้งแต่แรกแล้ว
ตัวแป้งแต่ก่อนเวลาเล่นเกมก็ชอบคุยกับตัวเอง ชอบพากย์นั่นนี่ เวลาเล่นเดอะซิมก็จะเล่นเป็นตัวละครตัวนี้ จนกลายเป็นความเคยชิน เราดูการ์ตูนบ่อยด้วยก็ลองเลียนแบบเสียงตาม จริงๆ มีคนติดต่อให้พากย์เสียงด้วยนะคะ
แต่แป้งก็รู้สึกว่าไม่ได้เก่งพอสำหรับการเป็นนักพากย์อาชีพ เรารู้สึกว่าคนที่พากย์จริงๆ เขาเก่งมากกับการต้องดูจอ ต้องอ่านสคริปต์ ต้องพากย์ตามคาเร็คเตอร์ในหนังที่บอกไว้
ส่วนสิ่งที่ทำให้คนมากดติดตาม แป้งมองว่าเป็นเพราะเราทำหลากหลายด้วยค่ะ เราไม่ได้ทำแค่เกมอย่างเดียว ยิ่งเราแสดงตัวตนของเรามากเท่าไหร่ คนที่ติดตามเราเขาจะรู้สึกว่าสนิทกับเรามากขึ้น แป้งมีการทำ Vlog ด้วย ไปท่องเที่ยว มีการรีวิวของแปลกๆ ที่คิดว่าคนในประเทศไทยจะไม่เคยกิน ไม่เคยเห็นแน่นอน
อย่างเวลาไปต่างประเทศก็จะพยายามหาของ หาขนมแปลกๆ มารีวิวดู ตอนนี้ก็มีการรับน้องแมวมาเลี้ยง และมีการทำคลิปน้องแมวด้วย แป้งมองว่ากลุ่มตลาดที่เข้ามากดติดตาม เขาไม่ได้มาดูเกมอย่างเดียว บางคนมาดูแมวก็กดติดตาม ดูท่องเที่ยวก็มากดติดตาม ตรงนี้ทำให้คนที่มาติดตามเราหลากหลายมากขึ้น”
ดูเหมือนว่าแชแนลของเธอตลอด 5 ปีจะได้รับความนิยมแบบไม่มีที่สิ้นสุด เห็นได้จากยอดติดตามที่หยุดไม่อยู่ ซึ่งพุ่งแตะที่ 10.6 ล้านคนแล้ว ท่ามกลางเหล่านักแคสเกมหน้าใหม่ หน้าเก่าที่โลดแล่นในเส้นทางยูทูบเบอร์ เธอกลับไม่ได้มองว่านั่นคือคู่แข่ง ทว่า คือผู้ที่ช่วยทำให้วงการเกมเติบโตไปด้วยกันมากกว่า
“ไม่นะ แป้งว่าวงการเกม คือวงการที่เป็นเพื่อนกัน ตั้งแต่ที่แป้งเข้ามาในวงการนี้ ทุกคนสวัสดีกัน ทุกคนรู้จักกันหมดเลยคิดว่าไม่ใช่คู่แข่ง ยิ่งเขาทำให้เกมมีคนดู หรือมีคนติดตามมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งทำให้วงการเกมโตขึ้น
มันไม่ใช่ว่าคนนี้ยอดวิวเยอะกว่า เราจะต้องเกลียดเขา ไม่ใช่ เราช่วยกันผลักดันวงการมากกว่า เพราะยิ่งวงการเกมโตขึ้นก็ยิ่งทำให้ผู้ใหญ่ยอมรับก็จะทำให้หลายๆ อย่างดีขึ้น”
ขณะที่ล่าสุด แป้งเองก็ได้รับรางวัล “Best Social Media Influencer” ในสาขา Gaming ในงาน Thailand Zocial Awards 2020 ด้วยเช่นกัน ถือเป็นรางวัลที่การันตีความสำเร็จของเธอ ในฐานะที่ได้รับการยอมรับจากคนในวงการโซเชียลมีเดียสายเกมอย่างน่าภาคภูมิใจ
เด็กติดเกม ไม่ใช่อาชญากร!!
“แป้งว่าตอนนี้สังคมเปิดกว้างมากขึ้นนะ จากแต่ก่อนย้อนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เด็กติดเกมก็คือเด็กติดเกมอยู่วันยังค่ำ แต่ทุกวันนี้พอยูทูบเริ่มดังขึ้น ในด้านสายเกมเริ่มมีวงการสตรีมเมอร์ มีอีสปอร์ต การเล่นเกมไม่ใช่เล่นเพื่อความสนุกอย่างเดียว แต่สามารถสร้างอาชีพได้แล้ว”
ในฐานะที่คลุกคลีในแวดวงเกมมาตั้งแต่ยังเด็ก เธอได้สะท้อนภาพลักษณ์ของเด็กเล่นเกมในอดีตและปัจจุบันว่า สังคมมีการเปิดรับมากขึ้น ภาพจำของผู้ใหญ่ต่อเด็กที่เล่นเกมเริ่มเปลี่ยนไป ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับวงการเกมในอนาคต
“ถ้าเทียบกับในอดีตกับปัจจุบัน เรื่องของสปอนเซอร์ก็มีส่วน แต่ก่อนจะไม่ค่อยมีสปอนเซอร์กล้าเข้ามาจ้างสักเท่าไหร่ เพราะเราก็คือเด็กติดเกม แต่หลังๆ มาวงการเกมเริ่มใหญ่ขึ้น เริ่มโตขึ้น เริ่มมีคนยอมรับมากขึ้น มีการส่งคนไปต่างประเทศ ไปเล่นอีสปอร์ตได้ชื่อเสียงกลับมา
กลายเป็นว่าหลายๆ อย่างมันเปลี่ยนไป เรื่องของสปอนเซอร์ด้วย เรื่องของผู้ใหญ่ด้วยที่ตัดสินใจให้ยูทูบเบอร์สายเกมมีบทบาทมากขึ้น ถามว่ามันสำเร็จถึงขั้นไหน ที่เห็นชัดเจนคือการเป็นยูทูบเบอร์สายเกมก็สามารถทำเป็นอาชีพได้จริงๆ แล้ว สตรีมเมอร์ก็เป็นอาชีพได้
หรืออย่างนักกีฬาอีสปอร์ตก็เป็นได้จริงๆ เหมือนกัน แป้งว่ามันไปได้เรื่อยๆ แต่ส่วนตัวยังคิดว่าตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของวงการเกมมากกว่า เพราะอย่างที่บอกว่าผู้ใหญ่เพิ่งยอมรับ และยูทูบเบอร์หลายๆ คนเริ่มสร้างบริษัท เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราก้าวไปสู่โลกที่ทันสมัยกว่านี้
อย่างตัวแป้งเองก็พยายามคลีนในช่องของตัวเองด้วย เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของหลายๆ คน ทั้งผู้ใหญ่ คุณพ่อ คุณแม่ หรือคนที่มองเกมในแง่ไม่ดี แต่มันหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว เราก็ต้องยอมรับว่าเกมมันมีความรุนแรงบางส่วน
แต่เราก็จะมีการแนะนำ หรือคำเตือนว่ามันเป็นแค่เกมนะ ควรใช้วิจารณญาณในการรับชมด้วย พยายามสื่อในสิ่งที่พอจะเปลี่ยนความคิดของใครบางคนได้ในฐานะของคนในวงการเกม”
อย่างที่เห็นในพื้นที่สื่อกระแสหลัก หลายครั้งมีการพูดถึงข่าวอาชญากรรมที่เกิดขึ้นอย่างโหดร้ายว่า ผู้ที่ก่อเหตุจะมีความเชื่อมโยงกับการเล่นเกมเป็นนิสัย ซึ่งอาจมีส่วนในการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในสังคมหรือเปล่า เรื่องนี้เกมเมอร์สาวมองว่า “เกม” ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย และเธอยังเชื่อเสมอว่าเกมไม่สามารถทำร้ายใครได้!
“มันอยู่ที่คนมากกว่าค่ะว่าจะสามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้หรือเปล่า อย่างแต่ก่อนแป้งเป็นคนที่ใจร้อนเหมือนกัน อยากได้เดี๋ยวนี้ อยากทำตอนนี้ แต่พอเราโตขึ้นจะเริ่มคิดแล้วว่า มันก็ยังมีช่วงเวลาที่เรารอก่อนก็ได้ หรือเราควรใจเย็นลงหน่อยก็ได้
อย่างผู้ปกครองบางคนจะคิดว่าเกมทำให้เด็กใจร้อนอย่างเดียว แต่แป้งมองว่าอยู่ที่การควบคุมอารมณ์ของตัวเอง จริงๆ เกมมันไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น แป้งยังมีความเชื่ออยู่ว่าเกมไม่สามารถไปทำร้ายใครได้มากขนาดนั้น เพราะตัวเราเอง เราเรียนรู้จากการที่แต่ก่อนก็ติดเกมเหมือนกัน
การเล่นเกมไม่ได้ทำให้เราเสียผู้ เสียคนได้ขนาดนั้น มันไม่ได้ทำให้เราตัดสินใจทำอะไรที่มันรุนแรงได้ แต่อาจจะเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม รอบๆ ตัว ความกดดันในหลายๆ อย่างมากกว่า ถามว่าเกมที่ยิงกัน ฆ่ากัน มีส่วนกระตุ้นอารมณ์ไหม แป้งว่าไม่เลย
ทุกวันนี้เล่นเกมที่มีฉากแบบนั้น มันคือเกม เรามองว่ามันคือโลกของเกม ไม่ใช่หน้าคนจริงๆ มันคือเกมแค่นั้น อาจจะต้องแยกแยะด้วยนะคะ สุดท้ายแล้ว ถึงแม้ว่าเราจะกล้าเล่นเกมแนวนั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าในชีวิตจริง เราจะกล้าไปทำแบบนั้นจริงๆ”
ในทางกลับกัน แป้งก็เปิดใจว่าการเล่นเกมก็มีส่วนช่วยทำให้เธอมองโลกในมุมที่เติบโตขึ้น แถมยังได้ฝึกทักษะด้านภาษา และไหวพริบการตัดสินใจก็สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วยเหมือนกัน
“อย่างตัวแป้งเองการเล่นเกมก็ช่วยพัฒนาตัวแป้งได้เยอะเหมือนกัน ที่เห็นชัดๆ เลยนะคะ เกมทำให้ความขี้อายของเราหายไปหมดเลย จากแต่ก่อนเราไม่กล้าคุยกับใคร พูดตะกุกตะกัก จนรู้สึกว่าเกมทำให้บุคลิกภาพเราดีขึ้น เรากล้าพูด กล้าตัดสินใจมากขึ้น
เกมทำให้เราสามารถเปิดใจกับใครได้มากขึ้น จากก่อนหน้านั้นคุณแม่จะอคติกับเราว่าเล่นแต่เกม พอสุดท้ายเราทำงานด้านเกม เราพยายามพิสูจน์ตัวเองจนเขายอมรับเราได้ และเรื่องของเกม บางคนได้ภาษาจากเกมด้วย อย่างคำศัพท์ บางคำเราจะต้องจำ เพราะว่ามันใช้ในเกมตลอด เราจะเห็นคำนี้ตลอด”
สุดท้าย แป้งได้พูดถึงมุมมองของคนที่ตัดสินว่าผู้ที่เล่นเกมเป็นคนไม่ดีด้วยว่า อยากให้เปิดใจมอง และอย่าเหมารวมทั้งหมด พร้อมกับฝากถึงน้องๆ ที่เล่นเกมว่าอยากให้แบ่งเวลา และรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองให้ดีไปพร้อมกันด้วย ตรงนี้จะทำให้ผู้ใหญ่ยอมรับมากขึ้น
“เกมจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเลย ตัวแป้งเองก็สร้างอนาคตมากับเกม เป็นคนเล่นเกม แต่เราก็ต้องควบคุมตัวเองไม่ให้หัวร้อนจนเกินไป ไม่ต้องแสดงอาการติดเกมมากเกินไป
จนทำให้คนรอบข้างของเรารู้สึกไม่ดีต่อเกมค่ะ มองว่าเกมไม่ใช่สิ่งไม่ดี อยู่ที่ว่าตัวเราจะหยิบยกมันมายังไง จะทำให้มันออกมาในรูปแบบไหน ทำให้คนยอมรับได้มากแค่ไหน
คิดว่าสำหรับใครที่มีปัญหาเรื่องเกมอยู่ คุณพ่อแม่ไม่ยอมรับ อยากให้ลองเปิดใจกับตัวเองดูก่อนว่าจริงๆ แล้วเป็นที่ตัวเราเองหรือเปล่า เราหัวร้อนกับมันหรือเปล่า ก้าวร้าวใส่คนอื่น ไม่รู้จักเวลาหรือเปล่า ถ้าเรามองตัวเองแล้วเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็ลองแก้ตรงนี้ดู แล้วอาจจะทำให้คนรอบข้างของเรายอมรับเรื่องเกมมากขึ้น”
เรื่อง พิมพรรณ มีชัยศรี
ภาพ วชิร สายจำปา
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **