ประชาชนโวย รัฐบาลจะประกาศแจกเงิน ช่วยเหลือวิกฤตโควิด-19 หัวละ 2 พันบาท!! แต่สุดท้ายกลับแบมือขอรับบริจาค แม้ล่าสุด “ลุงตู่” จะออกมาเบรกมาตรการแจกสู้ “โควิด-19” ไปเรียบร้อย แต่เรื่องการทำตัวเป็น “ป๋า” ชอบแจก ยังคงเป็นประเด็นถูกวิจารณ์หนัก แม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญยังมองเห็นช่องโหว่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธี “ประชานิยม”
ขยัน “แจกเงิน” จนโดนประณาม
เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกโซเชียล หลังจากที่ทางรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้บอกถึงมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจในช่วงไวรัสโควิด-19 โดยการแจกเงินประชาชน จะให้เงินช่วยเหลือในระยะเวลา 2 เดือน ถือเป็นการช่วยเหลือชั่วคราว คนละ 2,000 บาท
นอกจากนั้น ยังเกิดกระแสการติดแฮชแท็ก #รัฐบาลขอทาน ขึ้นมาในทวิตเตอร์ เนื่องจากทางรัฐได้บอกจะแจกเงินประชาชน แต่ผ่านมาเพียงวันเดียว ทางทวิตเตอร์ของกรมประชาสัมพันธ์ ก็ได้ทวีตข้อความ ขอให้ประชาชนร่วมแก้ปัญหาโควิด-19 โดยการเปิดบัญชีกองทุนสนับสนุนการดำเนินการ แก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
แม้ทางรัฐบาลจะออกมาบอกว่า ไม่ได้มีเจตนาขอรับเงินบริจาค จากประชาชนทั่วไป แต่เป็นการสละเงินเดือนของรัฐมนตรี เพื่อนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา เหมือนกับหลายประเทศได้ทำ โดยทำในรูปแบบกองทุน จึงได้เปิดบัญชีขึ้นมา แต่มีภาคเอกชนบางส่วนสอบถามช่องทางร่วมสนับสนุน ซึ่งรัฐบาลยินดีให้ร่วมสมทบทุนผ่านช่องทางดังกล่าว รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจ
ถึงแม้รัฐจะออกมาแถลงถึงเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว แต่ประชาชนหลายคนก็ได้แสดงความคิดเห็นผ่าน แฮชแท็กในทวิตเตอร์ ที่ไปในทางเดียวกันว่า เมื่อรัฐบาลตั้งใจจะแจกเงินแล้ว ทำไมยังต้องขอรับบริจาคจากประชาชนอีก ทำไมไม่นำเงินที่แจกไปใช้ในกองทุนที่ว่าแทน และเงินที่เคยบริจาคในตอนน้ำท่วมครั้งก่อน รัฐก็ควรออกมาชี้แจงรายละเอียดว่านำเงินไปแจกจริงอย่างไรบ้าง
อีกทางหนึ่งก็บอกว่า แทนที่จะนำเงินไปใช้ในส่วนที่จำเป็นกลับนำเงินมาแจก และการแจกเงินสามารถช่วยเศรษฐกิจได้จริงๆ หรือเปล่า เพราะที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้ทำนโยบายการแจกเงินหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด
ลองมองย้อนกลับมาดูนโยบายประชานิยมด้วยการ “แจกเงิน” ของทางรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงที่ผ่านมานั้น มีนโยบายที่ประกอบไปด้วย
1. การแจกเงินผ่านมาตรการบรรเทาค่าครองชีพ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” โดยแบ่งเป็น การแจกเงินให้ผู้มีบัตรสวัสดิการ คนละ 500 บาท/เดือน แจกเงินเพิ่มให้ผู้สูงอายุ คนละ 500 บาท/เดือน แจกเงินค่าเลี้ยงดูบุตรแรกเกิด คนละ 300 บาท/เดือน เป็นจำนวนทั้งหมด 2 เดือน
2. โครงการประกันรายได้พืช 5 ชนิด คือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มและข้าวโพด โดยให้เกษตรผู้มีรายได้จากราคาพืชผลที่ตกต่ำ จะได้รับเงินจากส่วนต่างของราคาตลาดและราคาประกัน ซึ่งรัฐบาลเป็นคนจ่ายให้ โดยส่งเงินเข้าบัญชีเกษตรที่ขึ้นทะเบียนกับ ธ.ก.ส.โดยตรง
3. การแจกเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ ไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือ ครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท จะจ่ายเงินผ่านบัญชี ธ.ก.ส.
4 .การแจกเงินผ่านโครงการ “กิน ช้อป ใช้” คนละ 1,000 บาท โดยการลงทะเบียนผ่านเว็บ “ชิมช้อปใช้” เพื่อซื้อสินค้าและท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้ดำเนินการมาถึงเฟสที่ 3 แล้ว ใช้วงเงินไป 21,000 ล้านบาท และเฟส 4 ที่กำลังจะมาเจอปัญหาทุจริตจึงได้เลื่อนออกไป
5.การแจกเงินเยียวยาโควิด แต่ท้ายที่สุดแล้ว ทางนายกฯ ก็ออกมาประกาศว่า จะไม่มีการเสนอจ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสดังกล่าว จำนวน 1,000 บาทต่อคน เป็นระยะเวลา 2 เดือนตามที่กระทรวงการคลังเคยเสนอนโยบายมา
แต่จะช่วยในส่วนของการ “คืนเงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้า” ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทครัวเรือนและกิจการขนาดเล็ก สูงสุด 6,000 บาท แต่ละครัวเรือนจะได้ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้
เงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้า คือ ครั้งแรกที่ได้ยื่นขอใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้าฯจะเรียกเก็บค่าประกัน ซึ่งจะได้คืนต่อเมื่อทำการยกเลิกใช้ไฟฟ้า ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลจะคืนสิ้นเดือนมีนาคม
ประชาชนสามารถดำเนินการขอคืนเงินกับหน่วยงานที่ยื่นเรื่องขอใช้ไฟฟ้า ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าขอใช้ไฟฟ้าจากภาคส่วนไหน ในส่วนของเงิน 2,000 บาทนั้น จะได้หรือไม่ได้ต้องรอดูภายหลัง
แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ต้องคุมเข้มไวรัส
จากนโยบายการแจกเงินของรัฐบาลที่ผ่านมากว่า 6 ปี เรียกได้ว่า ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจไทยมากนัก ซ้ำยังทำให้ประเทศไทยเองมีจำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ได้ช่วยวิเคราะห์ถึงกรณีการแจกเงินรัฐบาล ว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะนี้ มันจำเป็นต้องช่วยคนจนในช่วงวิกฤตไวรัส แต่ภาครัฐเองก็ยังจัดการปัญหาได้ไม่ดีเท่าที่ควร
“กระแสในโลกออนไลน์ในตอนนี้จะค่อนข้างไม่เห็นด้วย แต่ปัจจุบันมันมีวิกฤตอยู่ ตัววิกฤตตรงนี้มันจะต้องจำแนกออกเป็น 2 ส่วน คือ มาตรการที่จะลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหา ไม่ให้เราติดเชื้อ กับมาตรการประคองเศรษฐกิจ ต้องเข้าใจว่าไวรัสตัวนี้มาจากต่างประเทศ เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญคือ ทำยังไงให้ประเทศเราปลอดเชื้อ ให้เราลดความเสี่ยง
โจทย์สำคัญอย่างเช่น ทำยังไงไม่ให้ผีน้อยหนีการกักตัว ทำยังไงกับนักท่องเที่ยวที่เปิดรับเข้ามาเนี้ยไม่มาแพร่เชื้อในไทย เราจะกระจายหน้ากากอย่างไร ซึ่งมันก็มีดราม่าเรื่องนี้อยู่ จะเห็นว่าคนไม่พอใจในสิ่งนี้มาก ซึ่งผมก็เห็นด้วยว่าสิ่งที่ภาครัฐทำ มันยังไม่เพียงพอ ไม่ทำให้เกิดความมั่นใจว่าควบคุมได้จริงๆ”
เศรษฐกิจไทยแย่ลง การกระตุ้นเศรษฐกิจในตอนนี้สำคัญมาก นักวิชาการคนดังกล่าวมองว่า ที่ภาครัฐทำอยู่นั้นตามทฤษฏีเองมันถูกต้อง เพราะคนที่โดนผลกระทบจริงๆ มีเยอะ
“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้นั้นคือการเข้ามาของไวรัส มันทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวที่ลดลง การค้า การลงทุน ในส่วนที่เคยมีมันชะลอตัวหมด เพราะฉะนั้นเราจะเห็นภาพว่าสินค้าเกษตรไม่สามารถที่จะส่งไปที่จีนได้ หรือแม้กระทั่งไปเดินตามห้างร้านต่างๆ คนก็น้อยลง
ถ้าถามว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมันควรไหม ตามหลักทฤษฎี ผมก็ต้องตอบว่าสมควร เพราะว่าคนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ มันมี และเขาก็ไม่สามารถที่จะรอให้ไวรัสหายไปเองได้ บางคนรายได้เขาไม่ได้เตรียมพร้อมแบบที่ควรจะเป็น
ตามทฤษฎีบอกว่าทุกคนควรมีเงินอย่างน้อย 6 เดือนที่จะต้องเก็บไว้ แต่คนไทยไม่ได้มีแบบนั้น ผมมองว่ามาตราการที่ออกมาช่วยการชะลอตัว เหมือนฉีดน้ำยาหล่อลื่นไป ถ้าตรงจุดผมคิดว่า เป็นการใช้เงินที่ค่อนข้างถูกต้องในทางทฤษฎี
ถ้าเกิดใครที่มีเงินหมุนไม่เพียงพอ ภาครัฐก็ต้องหาทางช่วย ก็เห็นว่ารัฐได้ประสานงานไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย ทำไงให้ลดหนี้ต่างๆ ผ่อนหนี้ได้ ในส่วนของการอัดฉีดไปตรงตัวของกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ภาครัฐก็พยายามทำอยู่ แต่ว่าท้ายสุดแล้วสิ่งที่รัฐยังขาด ส่วนแรกก็ต้องห้ามและต้องหันมาพิจารณามากขึ้นทำยังไงให้ประเทศลดความเสี่ยง ทำยังไงให้ประเทศผ่านวกฤตไปได้รวดเร็ว”
สิ่งที่รัฐบาลควรทำในตอนนี้ คือการทำยังไงให้ไทยคุมไวรัสตัวนี้ได้ นักวิชาการคนดังกล่าวมองว่าการทำงานของรัฐบาล ในการแก้ปัญหาไวรัสยังทำได้ไม่ดี ในส่วนของการแจกเงินมันจำเป็นต่อคนที่ไม่ได้มีรายได้มากพอ ต่อเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเร็วๆ นี้
[ดร.นณริฏ พิศลยบุตร]
“ถ้ารัฐจบปัญหาเหล่านี้ได้เศรษฐกิจไทยก็จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว วิกฤตเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ ถ้าชะลอตัวลงน่าจะอยู่ที่ 6-9 เดือนนี้ อันนี้คือกรณีที่ดีที่สุด แต่ปัจจุบันความเสี่ยงมันมากขึ้น มันมาพร้อมกับความไม่แน่นอนด้วย
ตัวไวรัสตอนปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ในจีนมีตัวเลขที่ลดลง เริ่มมียาต้านไวรัส มันเหมือนจะเป็นข่าวดี
แต่ตอนนี้ในยุโรปตัวเลขคนติดเชื้อกลับพุ่งสูงขึ้น เพราะฉะนั้นที่เราบอกว่า 6-9 เดือน เศรษฐกิจจะดีขึ้นมันเริ่มไม่แน่นอนแล้ว มันยังสะท้อนว่าเศรษฐกิจในต่างประเทศเองก็เริ่มเปราะบางด้วย
สิ่งรัฐเองควรทำมากที่สุดและให้ความสำคัญ อย่างแรกรัฐต้องคุมไวรัสให้ได้ ตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แม้ตัวเลขเราจะลดลงก็จริง แต่สังเกตได้จากตอนนี้ สหรัฐฯ ยุโรป จีน ปัญหามันสูง ถ้าประเทศยังต้องพึ่งนักท่องเที่ยว รัฐยังเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามา มันก็ยังเป็นความเสี่ยงเสมอ
รัฐจะทำยังไงให้สามารถคุมได้ ดูแลได้ ไปถึงการกระจายหน้ากากอนามัย เพราะหมอเป็นด้านแรกในการคุม นี่คือปัจจัยแรกที่ต้องทำให้ดีกว่านี้ ผมมองว่าตรงนี้รัฐยังทำได้ไม่ดี
ส่วนที่สองคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจยังไงก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำผมคิดว่าคนที่อยู่ฐานรากหญ้าจะได้รับผลกระทบสูงมาก และยิ่งปัญหามันลากยาวขึ้นไปถ้าเราไม่ช่วยเขา มันจะเกิดวิกฤตรากหญ้า ซึ่งจะต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ธุรกิจล้ม
แต่มันจะกลายเป็นคนรากหญ้าล้ม ก็จะเกิดความรุนแรงไปทั่ว ยังไงก็ต้องหยุดวิกฤตนี้ให้เร็ว และการแจกเงินมันก็คงตามสมควร”
สกู๊ป: ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **