ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน! เปิดเส้นทางชีวิต “พ่อค้าของเก่า” จบมหา'ลัยดัง มีดีกรีเป็นถึง “นายแบบ” แถมเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประกวดเวทีใหญ่ เจ้าตัวเปิดใจ สนใจธุรกิจขยะ-ชอบเก็บขวดพลาสติกตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ จนมาลงทุนเปิดโกดังเป็นเจ้าของเองซะเลย ปัจจุบันเปิดมานาน 9 ปี ภูมิใจที่เห็นค่าจากสิ่งที่สังคมไม่สนใจ!
เห็น “โอกาส” จาก “กองขยะ”
“นี่มันคือสิ่งของที่คนไม่ใช้แล้วทั้งนั้น ดูไม่มีค่าเลย สิ่งที่ทุกคนเรียกว่า “ขยะ” ทำไมมันมีค่ามากขนาดนี้ เหมือนเราเห็นโอกาส เพราะมันเป็นสิ่งที่หลายๆ คนเลือกที่จะไม่สนใจมัน”
“อาร์ม - ณัฏฐกิตติ์ คชชา” นิยามความหมายของคำว่า “ขยะ” ที่ไร้คุณค่าว่าคือสิ่งที่สามารถสร้างมูลค่าได้อย่างไม่น่าเชื่อ เขาย้อนความถึงความสนใจแรกเริ่มให้ฟังว่าเกิดขึ้นจากการดูรายการทีวีช่องหนึ่ง ซึ่งมีการเจาะเส้นทางธุรกิจรับซื้อของเก่า และทำให้ความฝันของเขามีประกายเล็กๆ เกิดขึ้นในใจ
“ผมดูรายการทีวีรายการหนึ่ง กำลังสัมภาษณ์ เสี่ยคนนึง ได้เล่าถึงธุรกิจรับซื้อของเก่า ภาพที่ได้เห็นและจำได้ คือ กองเศษวัสดุเหลือใช้กองมหึมา ถูกอัดเป็นก้อนๆ สี่เหลี่ยมจัดเรียงไว้ “ของทั้งหมดนี้ลูกค้าจ่ายเงินไว้หมดแล้ว ของยังไม่พอส่งให้เลย!” คำกล่าวที่เสี่ยคนนั้นพูดไว้
เหมือนมีอะไรมาจุดประกายความคิดว่า นี่มันคือสิ่งของที่คนไม่ใช้แล้วทั้งนั้น ดูไม่มีค่าเลย สิ่งที่ทุกคนเรียกว่าขยะ ทำไมมันมีค่ามากขนาดนี้ เหมือนเราเห็นโอกาส
เพราะมันเป็นสิ่งที่หลายๆ คนเลือกที่จะไม่สนใจมัน หลังจากวันนั้นเราเก็บความฝันเล็กๆ ไว้ แล้วเราก็ได้แต่ทำหน้าที่เรียนในรั้วมหาวิทยาลัยให้จบ
ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย เริ่มเก็บขวดพลาสติก ขวดนมเปรี้ยว กระดาษ แล้วเอาไปขายธนาคารขยะของมหาวิทยาลัยบ้าง เก็บกลับบ้านให้แม่ไปขายรถของเก่าที่เค้ามาซื้อตามบ้านบ้าง
จำได้เลยว่า เก็บใส่ถุงไว้ในห้องนอน ถุงใหญ่ๆ หลายถุงมาก แต่กลับขายได้ 20-30 บาท นึกในใจว่าต้องขยันเก็บขนาดไหนถึงจะได้เงินเยอะๆ”
แม้จะเต็มไปด้วยความสงสัย แต่ความรู้สึกท้อจนอยากถอดใจก็ไม่เคยเกิดขึ้น เขายังมุ่งมั่นที่จะเก็บขยะต่อไป เพียงหวังว่าวันหนึ่ง เงินจำนวนเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้มาจะรวมกันได้เป็นเงินที่มากขึ้นได้เท่านั้น
“ตอนนั้นสงสัยว่าที่เห็นในรายการตอนเด็กๆ เก็บขยะยังไงให้ทำเงิน ทำทองขนาดนั้น ตอนนั้นเรายังไม่รู้ก็ขายไปเรื่อยๆ คิดว่าคงได้เงินเยอะขึ้น ไม่ท้อด้วย ผมก็เก็บไปเรื่อยๆ พอเข้าปี 3-4 เราก็เริ่มศึกษาอย่างจริงจัง เข้าเว็บไซต์ของ “วงษ์พาณิชย์”
ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทยตอนนี้เลย ผมก็เข้าไปศึกษาว่าขยะแบบนี้รับซื้อยังไง แบบนี้แยกยังไง ราคาเท่าไหร่ เช่น ขวดน้ำ เศษเหล็ก กระดาษ ทองแดง ตอนนั้นผมไม่รู้เลยว่าราคาเท่าไหร่ เราไม่เคยเห็นของจริงๆ ทองแดงเป็นยังไง เศษเหล็ก สแตนเลสเป็นยังไง
ช่วงที่เรียนอยู่ปี 4 ผมกลับมาอยู่บ้านที่ชลบุรี บอกพ่อว่าอยากทำ สนใจอาชีพพวกนี้ พ่อก็นิ่งๆ จนมีเหตุการณ์ที่ทำให้ได้มาทำจริงๆ คือโรงงานแถวบ้านให้พ่อผมติดต่อหาคนมาซื้อเหล็ก ซึ่งคนที่พ่อผมคุยว่าจะมาซื้อ เขาไม่มาวันนั้น พ่อเลยถามว่าผมจะเอาไหม ผมก็รีบตอบเลยเอาสิครับ(หัวเราะ)
จังหวะนั้นอยากได้เงินมากก็เอารถกระบะเก่าๆ ของคุณปู่ ไปซื้อตาชั่ง มา 1 ตัว พร้อมกับปริ้นท์ใบราคารับซื้อ มาจากเว็บไซต์ของ วงพาณิชย์ เอาไปอ้างอิง ผมก็เอาใบราคาที่ปริ้นมายื่นให้ผู้รับเหมาดู และชี้ไปที่ราคาสังกะสี ซึ่งตอนนั้นราคากิโลละ 4.9 บาท ทางผู้รับเหมาก็ต่อรองมาขอกิโลละ 5 บาท
เรารีบตอบรับปากตกลง จากนั้นก็ขนเที่ยวแรกเสร็จ ให้พ่อขับไปหาที่ขาย ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่รู้เลยว่า จะไปขายที่ไหน พ่อก็พาขับไปเรื่อยๆ ไปถามร้านรับซื้อของเก่าร้านแล้วร้านเล่า ราคาส่วนใหญ่อยู่ที่ไม่เกินโลละ 12 บาท จนมาถึงร้านหนึ่ง ค่อนข้างใหญ่ทีเดียว
เขาก็ดูว่าเหล็กที่เราขนมานั้นค่อนข้างนำไปใช้งานต่อได้ สรุปราคาที่ได้คือ 16 บาท ผมขนมาขาย 900 กว่ากิโล ได้กำไรประมาณ 10,000 บาท เราอุทานในใจว่ามันได้เงินเยอะขนาดนี้จริงๆ เหรอ ผมรีบกลับไปขนมาขายอีก 2 รอบ
วันนั้นวันเดียว เราได้กำไร 30,000 กว่าบาท ไม่เคยได้เงินเยอะขนาดนั้นเลย นี่เป็นสิ่งหนึ่งในวันนั้นที่ทำให้ผมอยากลุยต่อ”
งานหลัก “รับซื้อของเก่า” งานเสริม “นายแบบ”
แม้ภาพที่ลูกค้าจดจำในเวลานี้ คือ “พ่อค้ารับซื้อของเก่า” แต่ต้องบอกเลยว่าก่อนผันตัวมาสู่เส้นทางสายนี้ เขามีดีกรีเป็นถึง “นายแบบ” มาก่อน! แถมยังได้ถ่ายโฆษณารองเท้าให้กับแบรนด์ดังอีกด้วย
“งานนายแบบเหรอ ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ด้วยครับ ถ้ามีงานก็รับครับ ผมเข้าวงการนายแบบได้ก็เริ่มจากการไปประกวด เวที “Domon Man” เพราะมีหลายคนบอกให้ลองไปประกวดดู ตอนนั้นจะมีแค่เวทีประกวดนายแบบแค่เวทีเดียว เขาก็จะมีการคัดเลือกแต่ละภาค
ผมมาประกวดที่ภาคกลาง ผมก็ลองไปดู คนที่เชียร์ให้มาก็บอกเราสูง หุ่นดี ตอนนั้นผมเล่นกีฬาด้วย ก็เลยคิดว่าน่าจะลองดู ที่บ้านก็สนับสนุน เป็นเวทีแรกเลยครับ ตื่นเต้นมากครับ ตอนนั้นก็ต้องทำการบ้านพอสมควร ผมก็เปิดดูการเดินจากในเน็ตบ้าง แต่ตอนนั้นเราก็ใช้ฟีลลิ่งล้วนๆ เลยครับ (หัวเราะ)
พยายามแสดงความเป็นตัวเองให้มากที่สุด จริงๆ ผมคิดว่าเขาน่าจะชอบสิ่งที่แตกต่าง หรือว่ามีคาเร็คเตอร์เป็นของตัวเองมากกว่า จากทั่วประเทศคัดเหลือ 60 คน แล้วก็ตัดมารอบ 40 คน รอบ 20 คน และรอบ 10 คน ผมก็มีชื่อเข้ามาด้วยรอบ 10 คน ไม่คิดว่าจะได้เหมือนกัน
หลังจากที่ประกวดจบก็มีโมเดลลิงส่งงานมาให้บ้าง มีงานเดินแบบ ในปีต่อมาก็ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปประกวดนายแบบเอเชีย “Mr.Asia Thailand” ที่ประเทศฮ่องกงครับ สนุกดีนะครับ ผลงานโฆษณาก็มีถ่ายแบบให้แบรนด์รองเท้าไนกี้ครับ ส่วนงานเดินแบบมีที่ “Elle Fashion Week” ครับ”
เพราะความสนใจธุรกิจรับซื้อของเก่าที่มีมาตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้ชีวิตเดินทางสู่ถนนสายนี้อย่างไม่ลังเล แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความชอบในงานถ่ายแบบก็ยังไม่หายไปไหน แม้วันนี้จะทุ่มสุดตัวจนทำให้ธุรกิจรับซื้อของเก่าประสบความสำเร็จ แต่ช่วงแรกของการสร้างตัวก็มีความเหนื่อยล้าเข้ามาทดสอบอยู่เหมือนกัน
“ตอนนั้นจะมีมีแค่ความเหนื่อย แต่ก็ทนเอา มันใช้แรงเยอะครับ ต้องยกเอง ขนเอง มีคุณพ่อมาช่วยนิดหน่อย ส่วนใหญ่เราจะขนเอง ทำเองหมดเลย ผมเริ่มเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง ประมาณ 2 แสนบาท ตัดสินใจว่าเราจะเปิดเป็นหน้าร้านรับซื้อทุกอย่าง ใครมาขายอะไรก็ซื้อหมด
ถ้าได้ของจากชาวบ้านด้วยก็จะเยอะมาก แค่ตัดสินใจว่าจะเปิดแล้วนะ เอาเงินตรงนั้นลงทุนทำโครงสร้าง ทำร้านขึ้นมา ที่ก็ใช้ที่หน้าบ้าน หลังจากเปิดในช่วงแรกๆ ก็ยังไม่มีคนมาขายหรอกครับ ยังไม่มีคนรู้จัก แรกๆ จะไม่มีลูกค้ามาก เราก็จะอาศัยขับรถไปตามบ้าน ไปบอกว่าเรารับซื้อนะ
พอมาทำร้านรับซื้อของเก่า สิ่งที่รู้คือเราจะไปกดราคาต่ำๆ ไม่ได้ เพราะร้านรับซื้อของเก่าก็เยอะ สมมุตในระแวกเดียวกัน รัศมีเดียวกันมีร้านแบบเราด้วย เราต้องทำราคาให้พอๆ กับเขา ต้องพยายามให้ลูกค้ามาขายเราด้วย แต่ไม่ได้สูงเกินไปจนเราทำแล้วไม่เหลืออะไร ก็จะเข้าสู่กระบวนการของการรีไซเคิลจริงๆ แล้ว
ส่วนของที่นิยมมาขายอันดับหนึ่ง คือกล่องกระดาษ อันดับสอง คือขวดพลาสติก อันดับสาม คือเศษเหล็ก ผมจะบอกว่าของแต่ละชนิด ขึ้นอยู่กับว่าเราไปเปิดตรงไหนด้วย ถ้าเปิดในย่านชุมชนก็จะมีขวดพลาสติก กระดาษเยอะ แต่ถ้าเราไปเปิดแถวที่ที่เริ่มมีการก่อสร้าง เศษเหล็กจะมาเป็นอันดับหนึ่ง”
ทุกอาชีพมีขึ้น มีลง
แน่นอนว่าแม้ธุรกิจที่ทำมากว่า 9 ปี จะประสบความสำเร็จถึงขั้นขยายเป็น 2 สาขา แต่ก็ต้องยอมรับว่าเส้นทางสายนี้มีทั้งช่วงขาขึ้น และขาลงเหมือนกัน นั่นเป็นเพราะราคาที่ลดลงของขยะบางประเภท กระทั่งไม่ได้กำไรเลยก็มี ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ
“ทุกครั้งที่ราคาลงเราก็ลำบากใจไม่มากก็น้อยที่ต้องแจ้งลูกค้า และเรียนลูกค้าตรงๆ แบบจริงใจว่า เหตุใดราคาถึงลง บางครั้งเราซื้อมายังไม่ทันได้ขาย ราคาก็ลงซะแล้ว
บางเที่ยวได้แค่ค่าน้ำมันคืนก็ยังดี ก็จะบอกตัวเองเสมอว่า “จงอดทนเสมอ ในยามวิกฤต กำไรมากน้อยไม่สำคัญ รักษาลูกค้าไว้ให้อยู่ด้วยกัน ในวิกฤติมักจะมีโอกาสเสมอ”
ผมเป็นกำลังใจให้กับผู้ประกอบการของเก่า และลูกค้าทุกท่านอย่าได้ท้อกับของราคาถูก ซื้อมา ขายไปให้ไว อย่ากักตุน จัดระเบียบร้าน คัดแยกของที่มีอยู่ให้หมด เพื่อเตรียมพร้อมกับวันฟ้าเปิด แล้วเราจะแข็งแรงกว่าเดิม”
นอกจากบทบาทการเป็นพ่อค้ารับซื้อของเก่าแล้ว เขายังทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้ความรู้ในการคัดแยกขยะในชุมชนอีกด้วย แถมยังมีส่วนในการจัดกิจกรรมรับซื้อขยะรีไซเคิล เพื่อนำเงินมอบให้แก่วัดในจังหวัดชลบุรี
“ร้านอาร์มค้าของเก่า ได้รับเชิญจากทางเทศบาลตำบลเสม็ด จังหวัดชลบุรี ให้เข้ามาเป็นวิทยากรในการคัดแยกขยะจากชุมชน และรับซื้อขยะที่ทำการคัดแยกแล้ว
ทางเทศบาลตำบลเสม็ด จัดกิจกรรม “ผ้าป่ากองบุญ รีไซเคิล” โดยจะนำเงินทั้งหมดที่คนในชุมชนคัดแยกขยะรีไซเคิลมาขายนั้น ถวายให้กับ วัดเมืองใหม่ จังหวัดชลบุรีครับ
ซึ่งเทศบาลก็เห็นการเพิ่มขึ้นของขยะในชุมชน และต้องการปลูกจิตสำนึกในการคัดแยกขยะรีไซเคิลในครัวเรือน ซึ่งได้รับการตอบรับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคนในชุมชน จากกิจกรรมครั้งนี้ขยะรีไซเคิลจากครัวเรือนนำมาร่วมกันขายได้เป็นจำนวน 1,531 บาท และร้านอาร์มสมทบร่วมเป็น 1,600 บาท
ทางเทศบาลตำบลเสม็ด เขาก็นำเงินทั้งหมดถวายให้กับวัดเมืองใหม่ จังหวัดชลบุรี และ กิจกรรม “ผ้าป่า กองบุญ รีไซเคิล” จะจัดทำขึ้นทุกๆ เดือน ผมว่าเริ่มจากตัวเรา คัดแยกขยะที่ขายได้ก่อนทิ้ง สังคมจะน่าอยู่ขึ้นครับ”
ทิ้งท้าย อาร์ม ได้สะท้อนภาพรวมของขยะในสังคมไทยให้ฟังด้วยว่า ตั้งแต่ทำธุรกิจนี้มา 9 ปี จำนวนขยะมีมากขึ้นทุกวัน ตรงนี้ทำให้ได้เรียนรู้ว่าคนในสังคมสามารถคัดแยกขยะได้ และยังเห็นว่าขยะที่แสนไร้ค่าคือสิ่งที่เพิ่มมูลค่าได้เช่นกัน
“ของเก่าที่เป็นวัสดุที่รีไซเคิล หมายถึง พวกเศษกระดาษ เศษพลาสติก เศษเหล็ก โลหะต่างๆ ที่เหลือจากการใช้ เหลือจากการผลิต เราก็จะรับซื้อและคัดแยก คัดแยกเสร็จก็ส่งต่อให้โรงงานรีไซเคิลอีกทีหนึ่ง จากนั้นก็แปรรูปออกมาใช้เป็นเครื่องอุปโภค บริโภคทั่วไปครับ
จริงๆ แล้วที่เรียกกันว่า ขยะ ทุกวันนี้มันไม่ได้ลดน้อยลงไป มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น คือไปเปิดสาขาตรงไหนก็ยังมีที่รองรับ ประชาชน ชาวบ้านก็จะเอามาขายกัน เพราะคนกิน คนใช้ก็ยังมีอยู่
ถามว่าทำไมชาวบ้านไม่ขายไปยังโรงงานรีไซเคิลเลย บางทีปลายทางอาจจะไม่รู้ หรือไม่ใช่ส่วนที่จะต้องมาทำหน้าที่ตรงนี้ โรงงานก็ต้องหาผู้ประกอบการ พ่อค้าของเก่าเข้ามารับซื้ออีกที
ผมก็จะทำหน้าที่คัดแยกขยะแต่ละประเภท แต่ละชนิดเข้าโรงงาน ตอนนี้ทำมาเข้าปีที่ 9 แล้ว ขยะเยอะขึ้นทุกวันก็มองอีกภาพรวมหนึ่งว่าคนอาจจะรู้จักการคัดแยก และเห็นมูลค่าของขยะเหล่านี้”
สัมภาษณ์ : รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง : MGR Live
เรื่อง : พิมพรรณ มีชัยศรี
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **