xs
xsm
sm
md
lg

“ไม้เรียวสร้างเด็กได้!!” ครูยังหนุนให้ลงโทษแบบโบราณ ค้านมุมมองนักสิทธิ-กฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
มีคำถามว่า การทำโทษเด็กยุคใหม่ ยังคงใช้ไม้เรียวทำโทษอยู่หรือไม่ ไม้เรียวหมดความศักดิ์สิทธิ์แล้วจริงเหรอ? แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแต่ไม้เรียวกับครูก็ยังเป็นของคู่กันที่สังคมมีความเห็นแบ่งเป็นสองฝ่าย!

ครูเจตนาดี ไม่ได้ตีด้วยอารมณ์

“ครูมีเหตุผลทุกครั้งที่ตีเด็ก เด็กก็มีเหตุผลมาอ้างทุกครั้งที่ถูกตี ถ้าเด็กถูก เด็กทำดี ครูจะตีทำไม เอาจริงถ้าไม่ใช้ไม้เรียวเด็กส่วนใหญ่เรียนไม่จบ จะว่าอะไรไป ครูก็ตกเป็นจำเลยอยู่ดี ลองมาเป็นครูสิจะได้เข้าใจ ที่โตมาเป็นคนดีได้ทุกวันนี้ก็เพราะถูกตีตอนเป็นเด็กนี่แหละ ไม้เรียวดัดนิสัย”

“มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับความปลอดภัยในการใช้ชีวิต การตี นอกจากจะเป็นการสอนให้เด็กใช้ความรุนแรงแล้ว ยังเป็นการละเมิดสิทธิ์ต่อชีวิต หากยังคิดว่าการที่จะเป็นครูจะไปตีใครต่อใครที่เป็นนักเรียนได้
นักเรียนเองก็มีสิทธิ์ที่จะตอบโต้กลับ ความอาวุโสหรือความเป็นครู ไม่ใช่เหตุผลในการสร้างความชอบธรรมในการทำร้ายผู้อื่นได้”

ข้อถกเถียงในการใช้ ไม้เรียว กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังคลิปความรุนแรงจากกรณี ครูพลศึกษา โรงเรียนเชียงรากน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ใช้ไม้เรียวฟาดตีเด็กนักเรียน พร้อมกับตะโกนด่าเด็กว่า สารเลว เพราะไม่ได้ทำเวรความสะอาด จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องความหมาะสมเป็นจำนวนมาก

แม้ครูพละคนดังกล่าวจะถูกสั่งย้ายไปช่วยราชการแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งทีเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

คนที่เห็นด้วยก็มองว่า ไม้เรียวสามารถสร้าง ให้คนเป็นคนดีได้ และเด็กบางคนแค่พูดตักเตือนอาจจะไม่ได้ผล จนต้องลงโทษด้วยการตี เพื่อที่จะได้สำนึก อย่างในกรณีนี้ ก็มีศิษย์เก่าของครูพละคนดังกล่าวออกมาพูดว่า การลงโทษด้วยไม้เรียวยังจำเป็นอยู่ และไม่มีครูคนไหน ตีลูกศิษย์จนถึงตาย แต่ตีเพื่อสั่งสอน


 
ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วย มองว่ากรณีในการทำโทษของครู เป็นการใช้ความรุนแรง และอาจจะเข้าข่ายทำร้ายร่างกาย รวมถึงสภาพจิตใจของเด็กที่โดนตี โดยผู้ปกครองของเด็กในกรณีดังกล่าว ได้บอกว่า ไม่อยากให้ครูใช้ความรุนแรงในการตัดสิน อย่าให้ครูไปทำกับลูกใครอีก ตนให้ลูกไปโรงเรียนเพื่อได้รับการสั่งสอนที่ดี แต่มาเจอแบบนี้ก็รับไม่ได้

เมื่อลองสืบค้นเกี่ยวกับกฎหมายเรื่องบทลงโทษเด็ก ทางทีมข่าว MGR Live พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายในการลงโทษเด็ก ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2548 กำหนดให้การลงโทษเด็กทำได้แค่ 4 สถาน เท่านั้น คือ
 
1. ว่ากล่าวตักเตือน 2. ทำทัณฑ์บน 3. ตัดคะแนนความประพฤติ และ 4. ทำกิจกรรมเพื่อปรับพฤติกรรม เห็นได้ชัดว่าในกฎหมายไม่ได้กำหนดให้มีการลงโทษ ด้วยการทำร้ายร่างกายเด็ก
แต่หลายคนยังมองว่าการลงโทษเด็กกับไม้เรียวยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้ผล หากต้องมองที่เจตนาด้วย ว่าไม่ได้ตีเพื่อความสะใจของตัวเอง หรือการตีที่เกินกว่าเหตุ

เป็นเพราะสังคมคนรุ่นเก่าเชื่อว่า การสร้างคนให้เป็นคนดี ขึ้นอยู่กับไม้เรียว แต่ปัจจุบันการใช้ ไม้เรียว ในการตีเด็กกำลังเป็นข้อถกเถียงอย่างกว้างขวาง และเกิดคำถามว่าการลงโทษด้วยการตี ยังจำเป็นต่อนักเรียนไทยอยู่ไหม

จากประเด็นดังกล่าว ทีมข่าวจึงได้สัมภาษณ์ “กนกวรรรณ เริ่มแต่ง” ครูจากโรงเรียนกระบุรีวิทยา จังหวัดระนอง ตัวแทนผู้ที่เคยถูกสอนมาด้วย วิธีการใช้ไม้เรียว ในการลงโทษ ซึ่งเธอมองว่า การตีเด็กเป็นเหมือนการบอก ว่าสิ่งที่เขาทำมันคือความผิด


 
“อาจจะต้องมีการตีนะ แต่มันต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า ไม้เรียวน่าจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะลงโทษ ครูควรจะมีมาตรการอื่นก่อน และการตีนักเรียนต้องแล้วเต่โอกาส ไม่ใช่ว่าเราต้องตีตลอดเวลา แต่ต้องดูตามความเหมาะสม เหมือนกับเราทำข้อตกลงกับเด็กก่อนว่า ถ้าเด็กทำผิดเกินที่เรากำหนด เราก็อาจจะมีการตีเด็กบ้าง

แต่ถ้าเป็นความผิดครั้งแรก อาจจะแค่เตือนด้วยการพูดคุยพอ การที่เราตีเด็กแต่ล่ะครั้งมันสอนนะ ไม่ได้ตีเพราะเราโกรธหรืออะไร เด็กบางคน บางครั้งเราแค่พูด แค่ด่า เด็กมันจะคิดว่าไม่เป็นไร
พอทำแบบนี้ครูเขาก็ไม่ตีหรอก แค่ดุแค่ด่า แต่ถ้าเราตีมันจะทำให้เด็กเชื่อมากกว่า ว่าสิ่งที่เขาทำมันผิด เขาจะได้คิดว่าไม่ทำแบบนี้ดีกว่า เพราะเดี๋ยวโดนตี เด็กจะกลัว มันจะมีผลกับนักเรียน

พอเราตีเด็กไป เด็กก็จะได้รู้ว่าสิ่งที่เขาทำมันผิดมากเกินไป มันไม่ดี จนตัวเขาเองต้องโดนทำโทษ ถ้าเราตีด้วยเหตุผล เด็กเขาก็ต้องยอมรับได้”

ถามว่า การที่เด็กโดนตีแล้วมองว่ามันคือเรื่องน่าอับอาย และหลายคนก็ไม่ยอมให้ครูตี เพราะถือว่าเป็นสิทธิ์ของตนเอง ครูคนดังกล่าวมองว่า มันขึ้นอยู่กับเจตนาและเหตุผลของครูมากกว่า

“ธรรมชาติของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน นักเรียนบางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องน่าอาย ในขณะที่บางคนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าตลก เพราะฉะนั้นถ้าหากจะดุด่าหรือตีนักเรียน ควรที่จะดูที่ตัวตนของนักเรียนคนนั้นด้วย และการตีก็ควรทำด้วยความมีเหตุผลเช่นกัน
 
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การตีของครู ไม่ใช่ตีเพื่อความสะใจหรืออยากเห็นนักเรียนเจ็บตัว แต่ตีด้วยเจตนาดี ตีด้วยความรุ้สึกที่หวังดีต่อนักเรียน ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมองว่าครูกระทำเกินกว่าเหตุรึเปล่า จึงทำให้นักเรียนมีความคิดว่าครูรุกล้ำสิทธิ์ของเขา”


 
นักสิทธิฯ ย้ำ! การตีเด็ก คือความรุนแรง!!

แม้ครูจะบอกว่าการลงโทษเด็กด้วยการตีนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้าย หากครูเองกระทำมันด้วยความหวังดี แต่ก็ยังมีคนที่ออกมาคัดค้านเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางทีมข่าวจึงได้ไปสัมภาษณ์ เจน- สุภาพิชญ์ ไชยดิษฐ์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ที่มองเรื่องนี้ว่า การตีไม่ได้สอนให้เด็กเป็นคนดี แต่มันส่งผลที่ก่อให้เกิดความรุนแรงตามมา

“จริงๆ แล้ว วิธีการสอนเด็กมันมีวิธีการเยอะแยะมากนะ อย่างเช่นตอนนี้ที่หลายๆ โรงรียนเริ่มนำไปใช้นั้นคือ เรื่องของการปรับพฤติกรรมเชิงบวก เป็นการใช้กับเด็กตั้งแต่เล็กๆ จนโต
อย่างเช่นเรามีการตั้งเงื่อนไขกับเขา เวลากระทำผิดสมมุติอย่างเด็กเล็กๆ จะเป็นสมุดสะสมแต้มความดี ถ้าทำความดีก็จะได้ดาวเพิ่ม ถ้าทำผิดดาวก็จะลด แล้วดาวก็สามารถนำไปแลกเป็นขนมอะไรแบบนี้ค่ะ

มันคือการปรับพฤติกรรมเชิงบวกเมื่อเขากระทำความผิดก็บอกเขาว่าสิ่งที่เขาทำเป็นยังไงแล้วก็กำหนดโทษให้เขา ไม่ใช่วิธีการตีเด็ก”

หากถามถึงประโยคที่บอกว่า “ไม้เรียวสร้างคนให้เป็นคนดีได้” ประธานสภาเด็กคนดังกล่าว มองประโยคนี้ว่า เหมือนเป็นการสร้างความรุนแรงให้เด็กจดจำมากกว่า

“เรื่องนี้เป็นความเห็นย้อนแย้งเลย เรื่องของการตี บางคนมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นการสร้างคนด้วยไม้เรียว แต่ในความจริงแล้วมันไม่ควรจะมีการตีเด็กเกิดขึ้น

ด้วยโครงสร้างทางสังคม พอมันมีการตีเด็กเกิดขึ้นหรือว่ามีการใช้อำนาจกับเด็ก จะถูกมองว่าเป็นเรื่องของโครงสร้างเชิงอำนาจ ที่ครูเป็นใหญ่ ครูมีอำนาจควบคุม มีอำนาจในการสั่งการ หรือลงโทษความผิดได้
ทั้งที่ความจริงแล้วมันไม่มีใครมีสิทธิ์ในการตีทั้งนั้น เพราะว่าตัวเด็กเองเขาก็มีสิทธิ์ในเนื้อตัวในร่างกายของเขา มันไม่ได้รับการยินยอม ก็ไม่มีสิทธิ์มาทำอะไรตัวเขาได้

จริงๆ แล้วในหลายประเทศก็มีการออกกฎหมายในเรื่องของการห้ามตีเด็ก ประเทศไทยเองก็มีหน่วยงานหลาย ๆ หน่วย ที่พยายามขับเคลื่อนในเรื่องของการไม่ตีเด็ก เพราะว่าตัวกฎหมายมันก็ยังไม่ได้ควบคุมมากพอในเรื่องของการปกป้องคุ้มครองเด็กจากเรื่องนี้

ลองมองว่าเด็กคนนึง ที่อยู่ในครอบครัวแล้วถูกตี เขามองเห็นภาพความรุนแรงมาจนเคยชิน ตัวเขาเองก็มีแนวโน้มที่จะซึมซับความรุนแรงนั้นโดยที่ไม่รู้ตัว สิ่งเหล่านั้นคือความรุนแรง และเขาก็คือหนึ่งในผู้ที่มีโอกาสที่จะส่งต่อความรุนแรงนั้นไปสู่คนอื่น ไปสู่สังคม

เราอาจจะมองว่าเรื่องของการตีมันเป็นการสั่งสอนเล็กๆ น้อยๆ แต่ว่าเวลาเราทำผิดเราโดนพ่อแม่ตี เราเจ็บนะแต่ก็ไม่ได้จำ เพราะว่าครั้งต่อไปเราจะรู้สึกว่า ต่อให้เราทำผิด เราก็แค่โดนตีเจ็บแปปเดียวเดี๋ยวก็หาย
มันไม่ได้เกิดการชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริง ๆ ว่าสาเหตุที่มามันคืออะไร จุดเริ่มต้นเล็กๆ นี่แหละจะเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงอื่นๆ อย่างยกพวกตีกัน หรือแม้แต่สามีทำร้ายภรรยาในครอบครัว”

แม้มีหลายคนมองว่า เพราะเด็กสมัยนี้ตีไม่ได้แล้ว สมัยก่อนโดนมากกว่านี้ แค่โดนตีเด็กก็ทำให้เป็นเรื่องใหญ่ ประธานสภาเด็กคนเดิม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า มันคือความเข้าใจผิด ไม่ว่าเด็กสมัยไหนก็ตีไม่ได้

“ความจริงไม่อยากให้มองว่าเด็กปัจจุบันตีไม่ได้แล้ว แต่เด็กเมื่อก่อนก็ตีไม่ได้ ไม่งั้นความรุนแรงคงหมดจากสังคมไปแล้ว ถ้าการตีไม่ได้เป็นการส่งต่อความรุนแรง

เชื่อว่าหลายๆ คนยังมีการเข้าใจผิด ว่าการโตมากับไม้เรียวแล้วได้ดี แต่ได้กลับไปมองไหมว่า มีเด็กกี่คนที่หลุดวงโคจร จากการถูกใช้วิธีเหล่านี้กับพฤติกรรมของเขา

การตี นอกจากจะเป็นการใช้ความรุนแรงแล้ว อีกนัยนึงคือเหมือนเป็นการประจานเขาด้วย เวลาโดนเรียกไปตีหน้าเสาธงมันก็รู้สึกว่าตัวเขาเองก็โดนประจานไปด้วย
ถามว่าเขามีพฤติกรรมที่ดีขึ้นไป เคยเห็นเด็กเกเรที่โดนตีแล้วนิสัยดีขึ้นไหม ไม่เลย ส่วนใหญ่จะโดนปรับพฤติกรรมด้วยการให้โอกาส หรือว่า โดนปรับพฤติกรรมด้วยเข้าใจหรือรูปแบบอื่นมากกว่า

อยากให้เปลี่ยนความคิดเรื่องการตีเด็กนักเรียน แล้วมาใช้การปรับพฤติรรมเชิงบวกจะดีกว่า มันเห็นผลในระยะยาวและส่งผลที่ดีมากกว่านี้เน่นอน”


สกู๊ป: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: อรุณรัตน์ หัตถะการ
ขอบคุณภาพ: “เฟซบุ๊ก จุฑามาส ฝอยทอง”




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น