เด็กๆ รู้สึกตื่นเต้นกับลวดลายของแสงเลเซอร์ ซึ่งทุกครั้งที่เด็กเลื่อนมือไปกดปุ่มนั้นปุ่มนี้ ลวดลายและสีของแสงเลเซอร์จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ขณะที่เด็กบางคนก็สนุกกับการยิงปืนซึ่งทุกนัดที่ยิงจะเห็นเป็นลำแสงสีต่างๆ พุ่งออกมาและบริเวณกระบอกปืนยังมีตัวเลขจะบอกให้รู้ว่าปืนกระบอกนี้มีกระสุนเหลืออีกกี่นัด
นี่คือบรรยากาศที่เด็ก ครู ตลอดจนผู้สนใจ มักจะแวะเวียนมาซักถามและลองเล่นสิ่งประดิษฐ์ต่างจากของเหลือใช้ของ พ.อ.สิทธิโชค มุกเตียร์ ทุกครั้งที่ไปออกบูธตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงเป็นวิทยากรรับเชิญจะนำสิ่งประดิษฐ์ไปโชว์และให้ลองเล่น
ซึ่งประดิษฐ์เหล่านี้ทำจากขวดพลาสติก ฮาร์ตดิสก์คอมพิวเตอร์เก่าๆ ของเล่นเด็ก และอื่นๆ มาประดิษฐ์เป็นของเล่น เป็นสื่อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ วิชาคำนวณ แบบง่ายๆ แต่กระตุ้นความสนใจของเด็กได้ไม่น้อยทีเดียว
พ.อ.สิทธิโชค มุกเตียร์ เล่าให้ฟังว่า เกิดจากประสบการณ์ผมเคยเป็นครูสอนนักเรียนทหาร ช่วงแรกสอนในตำราสังเกตเห็นว่าเขาไม่ค่อยสนใจ ก็มานั่งคิดว่าทำอย่างไรถึงจะจูงใจลูกศิษย์ให้สนใจเรียน ตอนนั้นนึกถึงคนรุ่นปู่ย่าตายายและรุ่นพ่อแม่ มักจะทำของเล่นจากสิ่งที่อยู่ในท้องถิ่นให้ลูกหลาน ก็ลองเปลี่ยนวิธีการถ่ายทอดความรู้ผ่านสิ่งใกล้ตัว ผ่านสิ่งประดิษฐ์ง่ายๆ เพื่อกระตุ้นให้เขาให้มาสนใจเรียนเพิ่มขึ้น ก็ได้ผล รู้สึกเขาสนใจมากขึ้น มีการพูดคุยตอบโต้ในชั้นเรียน สะท้อนถึงความสนใจของเด็ก คิดว่าน่าจะมาถูกทางแล้ว จากวันนั้น เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกเบื่อวิชาวิทย์ จะพยายามสอนผ่านสิ่งประดิษฐ์หรือเรื่องใกล้ตัวจากเรื่องง่ายๆ ไปหาเรื่องยากขึ้น นอกจากนี้ ยังให้เขาลองประดิษฐ์ด้วยสองมือ พบว่าวิธีการเรียนการสอนลักษณะนี้ยิ่งทำให้เขาจำได้แม่นยำขึ้น
“เรามักจะได้ยินเสมอว่าเด็กไทยไม่ชอบวิทยาศาสตร์ วิชาคำนวณ อาจเป็นเพราะว่าในห้องเรียนขาดสื่อเรียนรู้ที่สนุกและใกล้ตัว ครูอาจต้องปรับสไตล์การสอนนอกตำรา จากท่องจำ ลองมาสอนผ่านสิ่งประดิษฐ์กันดูบ้าง เชื่อว่าจะกระตุ้นให้เด็กสนใจอยากเรียนวิทย์มากขึ้น”
พ.อ.สิทธิโชค กล่าวด้วยว่า สิ่งประดิษฐ์ไฮเทคที่ผมและเพื่อนค่อยๆ คิดค้นเหล่านี้ สามารถบอกได้ว่าใครๆ ก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นครูวิทยาศาสตร์ ครูพละก็ประดิษฐ์ได้ ในขณะนี้ตนได้รับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษของมหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้มาถ่ายทอดความรู้ไอเดียประดิษฐ์แก่ครูจำนวน 200 แห่งทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ตนเดินทางถ่ายทอดความรู้แก่ครูแล้วประมาณ 100 คนเหลืออีกครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะทยอยอบรมจนกว่าจะครบ โดยการอบรมครูให้สร้างสิ่งประดิษฐ์มีข้อจำกัดเรื่องเวลา อย่างไรก็ตาม ในการอบรมครูจะได้สิ่งประดิษฐ์ 1 ชิ้นสามารถนำความรู้ไปต่อยอดชิ้น 2 ชิ้น 3 และ 4 ได้ จบหลังการอบรมเราได้เปิดกลุ่มไลน์เพื่อใช้เป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่องด้วย รวมถึงทบทวนความรู้ผ่านเว็บ www.muktier.com เชื่อว่าครูจะพัฒนาและคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่เหมาะกับเนื้อหามากขึ้น
อย่างฮาร์ตดิสก์คอมพิวเตอร์ที่ถูกปลดประจำการ ขดลวด มาประดิษฐ์แขนกลสำหรับเคาะระนาด ตีกลอง โดยตั้งโปรแกรมการเคาะ ตี จนเกิดเสียงเพลงได้ นอกจากนี้ ยังคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ สำหรับเด็กๆ อย่างเกมจับคู่ รู้จักปลาชนิดต่าง ซึ่งเป็นการเรียนรู้ชื่อปลา และมีภาพประกอบว่าปลาชนิดนี้หน้าตาเป็นอย่างไร ครูสามารถอธิบายรายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติมได้ ซึ่งเกมนี้ปรับเปลี่ยนให้เป็นการเรียนรู้อย่างอื่นๆได้มากมาย เช่น คำศัพท์ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย เป็นต้น
“อยากให้ครูแต่ละโรงเรียนมองว่า วัสดุเหลือใช้ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่าเราจะหยิบจับสิ่งไหนมาเป็นประโยชน์ให้แก่นักเรียน บางครั้งไม่จำเป็นต้องควักเงินซื้อสื่อการสอนสำเร็จรูปราคาแพง และ เชื่อว่าเด็กเห็นสื่อการสอนที่ทำจากของเหลือใช้ เด็กๆ อาจจะสนุกกับวิชาวิทยาศาสตร์ คำนวณ ตรงนี้ยังเป็นการจุดประกายให้เด็กเป็นนักประดิษฐ์ได้อีกด้วย เพราะเด็กทำแล้วรู้สึกสนุก ทำให้เด็กรู้สึกชอบเรียนวิทย์ก็ได้ อีกอย่างเด็กยุคนี้เขาเก่งไอที หากสนใจมากๆ เด็กอาจจะค้นข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง แล้วมาต่อยอดสิ่งประดิษฐ์สุดไฮเทคก็ได้” พ.อ.สิทธิโชค กล่าวทิ้งท้าย