จิตแพทย์ ชี้คนมีการศึกษาดี หน้าที่การงานดี แต่ทำสิ่งที่ผิดโดยไม่รู้สึกผิด เข้าข่ายพฤติกรรมต่อต้านสังคม เกิดจากการเลี้ยงดู 3 แบบในวัยเด็ก แนะสังเกตพฤติกรรม ทรมานสัตว์ กลั่นแกล้งคนอื่น ห่วงโตเป็นผู้ใหญ่มีสถานะสังคมสูง ยิ่งก่อผลวงกว้าง วอนโซเชียลอย่าจงเกลียดจงชังคนทำผิด หรือลามไปถึงครอบครัว เหตุแสดงความรุนแรงกลับไม่ช่วยอะไร
วันนี้ (22 ม.ค.) นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีการจับกุมคนร้ายฆ่าปล้นทอง จ.ลพบุรี ว่า การจับผู้กระทำความผิดได้ อาจทำให้สังคมรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรม แต่สิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น คือ การแสดงความจงเกลียดจงชังผู้กระทำผิด และลามไปถึงครอบครัวของเขา ซึ่งก็ไม่เป็นธรรมกับครอบครัวเขาเช่นกัน ซึ่งการแสดงความจงเกลียดจงชังไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แค่ทำให้รู้สึกสะใจเท่านั้น ดังนั้น อยากให้กระแสสังคมออนไลน์หันกลับมามองให้เห็นและเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร และทำอย่างไรจะทำให้สังคมมีเรื่องเหล่านี้น้อยลงมากกว่าไปแสดงความรุนแรง ซึ่งไม่ได้ช่วยอะไร
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า คนเรามักเข้าใจว่า ทำไมคนที่มีการศึกษา มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี ถึงทำในสิ่งไม่ดี ซึ่งต้องเข้าใจว่า การที่คนมีพฤติกรรมไม่ดี มีการทำความรุนแรงโดยไม่รู้สึกผิด มีการวางแผนมาก่อนนั้น ในทางจิตวิทยาเราเรียกว่า พฤติกรรมต่อต้านสังคม สามารถกระทำความรุนแรงไปโดยไม่รู้สึกผิด ซึ่งเกิดได้กับคนทุกชนชั้น ไม่ว่ายากดีมีจน ซึ่งเป็นผลมาจากการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ที่ถูกเลี้ยงดูมา 3 แบบคือ มีการใช้ความรุนแรง การที่เด็กถูกทอดทิ้ง หรือ การที่เด็กถูกเลี้ยงดูมาอย่างตามใจมากเกินไป จนกระทั่งไม่สามารถสอนสิ่งที่ถูกให้กับเด็กได้ ทำให้เด็กเติบโตมาเป็นเด็กที่ไม่มีความรู้สึกของความถูกผิด และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ทำพฤติกรรมต่อต้านสังคมได้ง่าย ส่วนการเลี้ยงดูแบบไหนจะทำให้มีพฤติกรรมต่อต้านสังคมมากกว่าคงตอบยาก แต่ที่ชัดเลยคือจะเริ่มแสดงออกตั้งแต่เด็ก เช่น ทรมานสัตว์ กลั่นแกล้งคนอื่น ลักขโมย เป็นหัวหน้าแก๊ง เป็นต้น
"วิธีการต่อต้านสังคมของคน ถ้าเป็นผู้ใหญ่ ยิ่งมีการศึกษา มีสถานะทางสังคมสูง เช่น นักการเมือง นักธุรกิจรายใหญ่ ผลกระทบทางสัคมจะยิ่งมาก เพราะจะมีการคิดและวางแผนมากขึ้น ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการเป็นมนุษย์ คือ มีความรู้สึกผิด ดังนั้น ถ้าความรู้สึกผิดนั้นบกพร่องไป ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก จะส่งผลมาก ดังนั้น เราต้องเลี้ยงดูลูกหลานของเราให้ดี และถ้าเห็นเด็กคนอื่นในชุมชนถูกทอดทิ้ง ถูกใช้ความรุนแรงหรือถูกตามใจมาก ก็มี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ทำให้สามารถแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลได้ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมต้องมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ซึ่งไม่ได้คุ้มครองเฉพาะเด็กเท่านั้น แต่ถ้าเราคุ้มครองเด็กในวันนี้ได้ ก็จะป้องกันไม่ให้โตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหา และก่อปัญหากับสังคมได้” นพ.ยงยุทธ กล่าว