“ไม่มีอะไรที่มากกว่าความเจ็บป่วยหนึ่งอย่างเท่านั้นเอง” “จ๋า ณัฐฐาวีรนุช” แชร์ประสบการณ์ชีวิตจากโรคซึมเศร้า ย้ำสิ่งที่ควรทำต่อผู้ป่วย “รับฟังเข้าใจ-ไม่ตัดสิน” ผันตัวที่ปรึกษาและกระบอกเสียง หวังให้สังคมเข้าใจโรคนี้มากขึ้น ด้านจิตแพทย์ย้ำ “ป่วยทางจิต มีทางออก แค่มาคุยกัน”
“โรคซึมเศร้า ไม่ใช่เรื่องน่าอาย”
“ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ามันคือโรค ไม่ใช่แค่อาการเครียดหรือรู้สึกว่าดาวน์ เหมือนกับเวลาเราเป็นโรคกระเพาะ นั่งเฉยๆ คงไม่หาย ก็ต้องรักษาเช่นกัน จากนั้นเราก็จะไปหาว่าวิธีรักษาล่ะทำยังไง อาการน้อยๆ อาจจะมีการพูดคุย ถ้าสบายใจแล้วก็ดูแลตัวเองได้ดีขึ้น แต่ถ้าเป็นในระดับอาการที่เยอะกว่านั้นก็จะต้องรักษาต่อไป แต่อย่างน้อยให้รู้ก่อนว่าเป็นแล้วหาทางแก้มัน”
“จ๋า-ณัฐฐาวีรนุช ทองมี” นักแสดงสาวมากความสามารถ เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ในงาน “Let’s Talk @ Paolo Phaholyothin Open House” เปิดศูนย์จิตเวชยุคใหม่ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Talk Therapy” ณ โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธินโดยเธอก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยผ่านประสบการณ์ตรง จากเหตุการณ์สูญเสียน้องสาวสุดที่รักไปด้วยโรคซึมเศร้า
“ตัวจ๋าเองวันที่ได้เจอ ที่เรายังไม่รู้อะไรเลยก็คิด อย่าไปคิดมาก ทำใจสบายๆ เดี๋ยวก็มีทางแก้ อันนั้นเป็นการแก้ปัญหาจากคนที่ไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าต้องแก้จากอะไร ช่วงแรกไม่ได้พูดถึงเพราะเสียใจ แต่คราวนี้พอมันผ่านไปแล้วเราก็อยากจะเอาประสบการณ์นี้มาช่วยแชร์ให้กับคนอื่น เราก็มีเพื่อนเป็นจิตแพทย์ ก็ไปปรึกษา ให้รู้ว่าถ้ามีคนรอบตัวที่เป็น เราควรจะรับมือยังไง
จ๋ากล้าพูดได้ว่าเจอมาทั้งวงจร ตั้งแต่ยังไม่รู้เรื่อง อยู่กับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า รับมือ เกิดผลกระทบ กลายเป็นว่าหลังเกิดเหตุการณ์กับชีวิตจ๋าขึ้น ก็มีเพื่อนๆ เขามาบอกว่าฉันเป็นโรคซึมเศร้า คนรอบตัวผ่านประสบการณ์ซึมเศร้ามาเต็มไปหมด โดยที่เราไม่เคยรู้มาก่อน
หลังจากนั้นผ่านมันมาได้และเจอกับคนรอบๆ ตัว จนตอนนี้จ๋ามองว่ามันเป็นเรื่องปกติค่ะ ถ้าวันนี้จ๋าสามารถบอกให้ทุกคนรู้จักโรคซึมเศร้าในฐานะโรค เหมือนเวลาเราเป็นหวัด เป็นมะเร็ง เราก็ต้องไปหาหมอ ไม่ต้องเขิน มันเป็นเรื่องของสารเคมีในสมองด้วย แล้วมันไม่ใช่เรื่องคิดไปเอง ซึ่งมันต้องได้รับการรักษา”
นักแสดงสาวเล่าต่อไปว่า ที่ผ่านมามีคนเข้ามาขอคำปรึกษาเรื่องโรคซึมเศร้ามากมาย ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และยิ่งเป็นบุคคลสาธารณะ เธอจึงใช้โอกาสนี้ในการเป็นกระบอกเสียงเพื่อให้คนในสังคมเข้าใจโรคนี้มากยิ่งขึ้น
“อย่างตอนแรกที่เกิดเหตุการณ์สูญเสีย จ๋าไม่ค่อยอยากจะพูดถึง เหมือนทำให้เรารู้สึกไม่ดี รู้สึกเสียใจ แต่พอกลับไปนึกถึงสิ่งที่เราผ่านมา หรือแม้แต่น้องเราเองก็น่าจะอยากให้เราให้ความรู้คนว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ควรจะรับมือยังไงได้ เวลาจ๋าได้พูดและให้คำปรึกษา ก็จะมีคนบอกว่าขอบคุณมากๆ เลย เขารู้สึกดีขึ้น แม้จะนิดนึงแต่เราก็รู้สึกว่ามันมีประโยชน์ ก็ให้คำปรึกษาเท่าที่ทำได้ เพราะเราไม่ได้ถึงขั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญ
มีครั้งนึงที่จ๋าเคยเขียนบทความลงในเฟซบุ๊กตัวเอง แล้วมีคนแชร์เป็นพันเป็นหมื่นครั้งเพราะมันโดนใจ เขาเป็นแต่ไม่รู้จะพูดยังไง ไม่มีใครเข้าใจเขาว่ามันคือโรคนะ มันไม่ใช่แค่ความรู้สึกเครียด มันไม่ใช่เรื่องไร้สาระ หลังจากนั้นจ๋าก็กลายเป็นคนที่เวลาคนเจอหน้ามักจะเข้ามาคุยเรื่องโรคซึมเศร้า วันก่อนก็มีคนมาจับมือแล้วบอกว่า “พี่คะ หนูเป็นซึมเศร้าค่ะพี่” มีคนเข้ามาปรึกษา ทั้งเดินเข้ามาถาม ทั้งอินบ็อกซ์ ดาราก็มี
สมัยก่อนเราอาจจะไม่มีความรู้เรื่องนี้ เวลาเห็นคนเครียด เศร้า ท้อแท้ อาจจะไม่รู้ว่าเขาก็เป็น แต่ตอนนี้รู้แล้ว มันก็ทำให้มันมีโอกาสที่จะรักษาได้มากขึ้น แล้วจ๋ามองว่า ภาวะต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นในชีวิต มันเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้าได้เพิ่มมากขึ้น เมื่อเรารู้แล้วก็ต้องที่จะเตรียมตัวรับมือกับมัน แต่โชคดีที่วิวัฒนาการทางการแพทย์มันดีขึ้น ทำให้เราสามารถต่อสู้กับมันได้ดีขึ้น”
ทั้งนี้ ดาราสาวได้ฝากไปยังสังคม ถึงเรื่องของการทำความเข้าใจในโรคนี้ สิ่งสำคัญคือการรับฟังอย่างใจเย็น ไม่ตัดสิน และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะพูดคำว่า “สู้ๆ” กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
“จ๋าก็ขอฝากในเรื่องของการรับมือกับคนที่มีภาวะซึมเศร้าหรือภาวะเครียด หลายๆ คนอาจจะไม่รู้ว่าต้องทำตัวยังไง ฟังเขาอย่างใจเย็น เปิดใจ เข้าใจว่าเขาเครียด นั่นแปลว่าสิ่งที่เขาพูดบางทีเราอาจจะหงุดหงิดว่าทำไมคิดแบบนั้น แต่ว่าเราต้องเข้าใจว่าเขาไม่ได้อยากเป็น เพราะฉะนั้นเขาต้องการคนที่รับฟังเขาแล้วไม่ได้ไปตัดสินว่าอันนี้ไร้สาระ ไม่ควรคิดแบบนี้เลย
การฟังอย่างเข้าใจและไม่ตัดสิน มันเป็นการทำให้เขารู้สึกสบายใจขึ้น เป็นกำลังใจให้เขา และไม่ควรจะไปพูดว่า “สู้ๆ นะ” หลายคนถามว่าทำไมพูดไม่ได้ อันนี้เพื่อนบอกมา มันทำให้เขารู้สึกว่า เขาถูกปล่อยให้อยู่คนเดียว ให้สู้เพื่อนตัวเอง ให้สู้อีกแล้วเหรอ เขาเหนื่อยจะตายอยู่แล้วจะให้สู้อีกเหรอ แบบนี้ค่ะ
หรือแม้กระทั่งการที่เด็กๆ เครียดจากคุณพ่อคุณแม่คาดหวัง หรือการแข่งขันใดๆ ก็ตาม ให้มองในวันที่เราเป็นลูก เราไม่ชอบหรอกที่จะมาได้ยินว่าทำไมถึงไม่พยายาม ตัวเองยังไม่ชอบก็อย่าไปทำกับลูกของเรา จริงๆ แล้วมันคือความหวังดี แต่ถ้าหยุดคิดสักนิดนึงว่า มันอาจจะเป็นมีดที่ทิ่มแทงจิตใจเขาให้เกิดเรื่องไม่ดีในอนาคตก็ได้ การรับมืออย่างแรกคือเข้าใจ ไม่ตัดสิน แล้วก็เอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วสุดท้ายถ้าเอาไม่อยู่จริงๆ ส่งมาให้ผู้เชี่ยวชาญดูแลค่ะ
อยากให้คนทั่วไปมองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่เราเกิดความเจ็บป่วยทางจิตใจ แล้วก็ไม่มองว่าเป็นเรื่องน่าอาย การที่เราจะพูดว่าเป็นซึมเศร้าหรือมีปัญหาทางจิต มันก็เหมือนกันกับที่เรามีปัญหาทางกาย เพราะฉะนั้นสังคมทั่วไปอย่าไปตัดสินว่าเป็นสิ่งที่ไม่อยากจะพูดถึง อันนี้คือบ้า อันนี้คืออะไรที่น่าอาย ซึ่งมันไม่ใช่ ไม่มีอะไรที่มันมากกว่าความเจ็บป่วยหนึ่งอย่างเท่านั้นเอง”
Let’s Talk มีปัญหาทางใจ ให้มาคุยกัน
“ถ้าพูดถึงการไปพบจิตแพทย์ มันจะมีความรู้สึกที่ว่าเป็นอะไรมากรึเปล่า อยากทุกท่านมองถอยกลับมา อาการจิตเวชหรือป่วยทางจิต มีทางออก เราพูดถึงสุขภาพจิต เป็นปัญหาของทุกคนในสังคม เวลาเราไม่สบายไปหาหมอตรวจสุขภาพ แต่เวลาเราไม่สบายใจ เราไปหาใคร ก็ต้องมีคนที่ทำงานเรื่องของสุขภาพจิตขึ้นมา เวลาจะไปพบจิตแพทย์อาจจะรู้สึกแปลกๆ เราก็เลยพยายามทำศูนย์ตรงนี้ให้มีความเป็นเพื่อนมากขึ้น”
ท่ามกลางสังคมยุคใหม่ที่มีการแข่งขันสูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาหรือการทำงาน จนเกิดเป็นความเครียดสะสม อันเป็นสาเหตุหลักของอาการป่วยทางด้านจิตใจ จึงทำให้ โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน ตระหนักถึงปัญหานี้ และนำมาสู่การเปิด ศูนย์จิตเวช Let’s Talk อาคาร 4 ชั้น 5 โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน เพื่อเป็นที่ปรึกษาเพื่อหาทางออก โดยได้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร หัวหน้าศูนย์ Let’s Talk เป็นผู้กล่าวถึงที่มาและรายละเอียดของศูนย์แห่งนี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร หัวหน้าศูนย์ Let’s Talk
“ที่เราพบช่วงหลัง คนมีความเครียด มีปัญหา ไม่รู้จะไปคุยกับใคร หรือแม้แต่การจะไปพบจิตแพทย์ คุณหมอดูคนไข้มาเยอะบางทีก็ไม่มีเวลาคุย มาที่นี่ได้ นอกจากจิตแพทย์ที่พร้อมจะพูดคุยด้วยแล้ว มีบริการเป็นการบำบัด มีหลายรูปแบบ ทั้งการรักษาแบบ CBT (Cognitive Behavior Therapy) เป็นจิตบำบัดแขนงหนึ่งที่เน้นในเรื่องการปรับความคิดและปรับพฤติกรรม ที่ถือว่ามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อยู่มากที่สุดในปัจจุบัน ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัดที่จะนำเข้ามาในศูนย์ Let’s Talk ด้วย
หรือว่าบำบัดแบบอื่น เรามีนักศิลปะบำบัด ภาพที่ติดอยู่ในศูนย์ คือผลงานของวินเซนต์ แวนโก๊ะ ถ้าใครอ่านประวัติศาสตร์จะรู้ว่าเขาเป็น ไบโพลาร์ ดิสออร์เดอร์ (Bipolar disorder) เราอยากจะสื่อถึงแม้จะมีปัญหาสุขภาพจิต แต่ยังสร้างสรรค์อะไรดีๆ ให้กับสังคมได้ ให้เป็นมรดกโลกได้
หรือว่ากิจกรรมบำบัด ก็จะมีกิจกรรมหลายๆ อย่าง จะร้องเพลง จะเต้น จะประดิษฐ์ของ จะทำอาหาร มันสามารถฟื้นฟูสุขภาพจิตได้ ทำให้เรารู้สึกว่าจัดการกับตัวเองได้ มีความสุขกับชีวิตต่อไปได้ ด้านหลังมีศูนย์มีการจัดสวน ช่วยให้ผ่อนคลาย ทีมสถาปนิก ทีมมัณฑนากรเราก็พยายามทำให้บรรยากาศมันสบายๆ เหมือนอยู่บ้าน แพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักบำบัด จะค่อยๆ สกัดปัญหาออกมา เราตั้งชื่อศูนย์ว่า Let’s Talk อยากจะให้มาพูดคุยกัน”
นอกจากนี้ หัวหน้าศูนย์ Let’s Talk ยังได้กล่าวถึงสัญญาณของอาการป่วยทางใจ สำหรับการสังเกตตนเองและคนรอบข้าง เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันปัญหาได้ตั้งแต่ต้น
“อาการสำคัญเลย ไม่มีความสุข ความสุขลดลง บางคนอาจจะหงุดหงิดก็ได้ ถ้าเกิดเจอในผู้สูงอายุยิ่งต้องระวัง ถ้าพูดถึงเศร้าขนาดไหน เศร้าจนเรื่องที่เคยรู้สึกดี ไม่สามารถรู้สึกดีได้อีกแล้ว แต่พอเรามีปัญหาสุขภาพจิตขึ้นมา ความอยากทำอะไรต่างๆ มันก็จะน้อยลง วงจรชีวิตจะเปลี่ยนไป สังเกตได้ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร บางคนตรงกันข้าม กินเยอะเกินไป
เรื่องสำคัญต้องเข้าใจตัวเองก่อน โฟกัสว่าตัวเราจริงๆ เป็นยังไง พื้นฐานเป็นยังไง การวินิจฉัยเราไม่อยากจะให้อยู่เฉพาะในมือของผู้เชี่ยวชาญอย่างเดียว เราอยากให้เพื่อนๆ ของเราดูแลตัวเองได้ด้วย ถ้ามันเกิดสัญญาณแปลกไปจากเดิม เกิดการตั้งคำถาม ถ้าจัดการตัวเองไม่ได้ให้มาคุยกัน
โดยเฉพาะวัยทำงาน ภาวะ Burnout เกิดจากสาเหตุหลัก ภาระมันมาเรื่อยๆ ทั้งงาน ทั้งชีวิตส่วนตัว ถ้ามีลูกต้องดูแลลูก ปัญหาหลายๆ อย่างรวมกัน จะเกิดความรู้สึกอ่อนล้า ไม่อยากทำอะไร หมดเรื่องแรง หมดไฟในการทำงาน ไม่มีเป้าหมายชีวิต เป็นปัญหาสุขภาพจิตอย่างหนึ่ง อาจจะไม่ถึงขั้นเป็นโรค ถ้าจัดการไม่ดีเข้าข่ายซึมเศร้าได้ง่าย อาจจะมีความเสี่ยง ต้องตั้งหลักตั้งสติ หาคนคุยด้วย จัดลำดับความสำคัญ
เรื่องของสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญ ไม่อยากให้มองแค่เฉพาะคนป่วย ทุกคนก็มีสุขภาพกาย สุขภาพจิต เราดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ ในเชิงป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพจิตให้มีความเข้มแข็งทางอารมณ์ แล้วก็สร้างสรรค์ผลงานอะไรขึ้นมาได้ เป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป”
นายแพทย์สยาม พิเชฐสินธุ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
เช่นเดียวกับทางด้านของ นายแพทย์สยาม พิเชฐสินธุ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน ที่กล่าวเสริมว่า “เวลาคนเราไม่สบายใจหรือว่ามีความเครียด มันก็จะมีผลกระทบกับชีวิตตัวเอง ครอบครัว การทำงาน ส่วนรวม ถ้าเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะดูแลให้เขาเหล่านั้นกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมได้โดยที่ไม่ต้องไปทำอะไรที่ไม่ได้ ก็คิดว่าจะช่วยดูแลได้
นอกจากเราจะตั้งรับแล้ว ผ่านมาเราก็มีโครงการไปออกให้ความรู้ทางด้านสุขภาพจิต ตามมหาวิทยาลัย ตามโรงเรียนมัธยม หรือตามบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งเป็นการป้องกัน ถ้าเราช่วยกันทำเดี๋ยวสังคมก็ดีเอง”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **