“การได้รับรู้เรื่องราวของคนปลูกมันดีต่อกายและดีต่อใจ” บุกหลังบ้าน “ฌานา” สาขา 2 ร้านอาหารสุขภาพที่นำ “คนต้นน้ำ” อย่างผู้ปลูก มาพบกัน “คนปลายน้ำ” คือผู้บริโภค ให้ซึมซับคุณค่าความใส่ใจในทุกคำที่เคี้ยว พร้อมเปิดเบื้องหลังการร่วมงานของฌานาและเพื่อนเกษตรกร ที่ไม่ใช่แค่ธุรกิจอาหาร แต่คือการสร้างอาชีพให้ชาวบ้าน
เชื่อม “คนต้นน้ำ” สู่ “คนปลายน้ำ”
หากจะพูดถึงอาหารสุขภาพ เชื่อว่าคนร้อยทั้งร้อยต้องคิดถึงรสชาติที่จืดชืด จำเจ และไม่อร่อยถูกปากนัก แต่ “ฌานา” จะทำให้ทุกคนเปลี่ยนความคิด เพราะร้านอาหารเพื่อสุขภาพแห่งนี้ได้เฟ้นหาวัตถุดิบชั้นดี ส่งตรงจากฟาร์มสู่ชามมาปรุงเป็นเมนูสุขภาพที่นอกจากจะอร่อยแล้ว ยังได้คุณค่าทางอาหารอย่างเต็มเปี่ยม
จากการต้อนรับเป็นอย่างดีของลูกค้าสาขาแรกที่สยามเซ็นเตอร์ ทำให้ปัจจุบัน ฌานา ได้ขยับขยายมาเป็นบ้านหลังที่ 2 ที่เซ็นทรัลเวิลด์ และแน่นอนว่าพิเศษกว่าเดิม เพราะเพิ่มเติมเรื่องราวของ “คนต้นน้ำ” หรือ “เพื่อนเกษตรกร” ทั้งเก่าและใหม่ มาให้ “คนปลายน้ำ” อย่าง “ลูกค้า” ได้รับรู้เรื่องราวความสุข ความใส่ใจ ผ่าน “คนกลางน้ำ” ที่นำมาถ่ายทอดซึ่งก็คือ “ฌานา”
"เป้ - ชาตยา สุพรรณพงศ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เจ้าของบ้านฌานา ได้กล่าวถึงความเป็นมาของบ้านหลังที่ 2 นี้ว่า “ตอนนี้เรามีกลุ่มเพื่อนเกษตรกร 12 กลุ่ม เราใช้วิธีค้นหาจากอินเทอร์เน็ตก่อนเลยว่า คนต้นน้ำเขาเป็นใคร มีใครบ้าง พอเราเจอ 1 กลุ่ม พวกเขาก็จะแนะนำให้รู้จักกับกลุ่มอื่นๆ เพราะทำงานกันเป็นเครือข่าย เราจะใช้วิธีค้นหาจากอินเทอร์เน็ต เข้าไปดูในเฟซบุ๊กได้ว่าพวกเขาทำอะไร มีแนวคิดอย่างไร จากนั้นเข้าไปพูดคุยถึงที่ฟาร์มเพื่อจะได้เห็นสิ่งที่พวกเขาทำได้มากขึ้น
หลักเกณฑ์พิจารณา เราเน้นถึงความตั้งใจในการปลูกเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพและหลากหลาย ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ว่าจะต้องได้ประกาศนียบัตรรับรองต่างๆ บางที่ปลูกวิถีอินทรีย์ บางที่ปลูกวิถีพระราชา บางคนปลูกนวอินทรีย์ บางคนปลูกออร์แกนิกจริงๆ ซึ่งทั้งหมดเราให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพต่อผู้บริโภค การได้รับรู้เรื่องราวของคนปลูกมันดีต่อกายและดีต่อใจด้วย เราได้ช่วยสนับสนุนพวกเขา และสิ่งที่มันไปต่ออีกขั้นหนึ่ง นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว มันคือเรื่องของทรัพยากร การที่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ใช้สารเคมี มันก็จะไม่ไปตกค้างอยู่ในดิน หรือน้ำ โดยเฉพาะดินที่มีความจำเป็นต่อการเพาะปลูกในอนาคต
ส่วนประเด็นอาหารสุขภาพราคาแพง ทำให้คนเข้าจับต้องและเข้าถึงยาก เราเข้าใจว่ามันเป็นดีมานด์ ซัพพลาย พอราคาสูง คนก็เข้าถึงยาก สิ่งที่เราพยายามทำคือ ทำให้เข้าถึงคนในวงกว้างและเข้าถึงง่ายขึ้น ถ้าเราร่วมกันคนละไม้คนละมือสนับสนุนกลุ่มคนที่คิดดี ทำดีเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค พอมันมีดีมานด์ ความต้องการเยอะขึ้น เราเชื่อว่าซัพพลายมันจะค่อยๆ ถูกลงๆ อาหารสุขภาพก็จะเข้าถึงง่าย กินง่าย
วันนี้เราอาจจะประหยัดค่าผัก ผลไม้ แต่ต้องมองไปถึงโรคของเราในอนาคตด้วยว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมันจะเป็นเท่าไร และที่สำคัญ ค่าใช้จ่ายในการกู้คืนดิน กู้คืนแหล่งน้ำธรรมชาติ มันจะประเมินค่าไม่ได้ ทุกวันนี้เราก็ต้องการทรัพยากรที่ดี ต้องการอากาศที่บริสุทธิ์ ต้องการน้ำที่ดี สิ่งที่ทำได้คือ ไม่จำเป็นต้องลงไปปลูก หรือลงไปไปเป็นเกษตรกรออร์แกนิค เราอยู่กรุงเทพฯ หรืออยู่ที่ไหนๆ เราก็สนับสนุนพวกเขาได้ ไม่ต้องทุกวันก็ได้ แค่1 วันเราก็ช่วยเขาได้”
สำหรับสาขาที่ 2 นี้ นอกจากการเพิ่มเติมเรื่องราวของคนต้นน้ำแล้ว การตกแต่งของร้านยังได้จำลองบรรยากาศของโรงนา ที่ ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ อบอุ่นเป็นกันเอง เหมือนได้นั่งล้อมวงรับประทานอาหารในสไตล์ชนบท ทั้งยังห้อมล้อมไปด้วยภาพรอยยิ้มและโควทคำพูด (Quote) จากเพื่อนเกษตรกรที่ถูกนำมาประดับที่ผนังของร้าน ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับชีวิต ได้รับรู้ถึงความใส่ใจจากเพื่อนเกษตรกรที่ส่งมอบวัตถุดิบคุณภาพให้ผู้บริโภคในเมือง
ขณะที่เมนูอาหาร ก็มีตั้งแต่ชาบูยันของหวาน ล้วนแล้วแต่เป็นวัตถุดิบออร์แกนิคส่งตรงจากฟาร์มตามฤดูกาล ภายใต้แนวคิด “Full Flavor Healthy Meal” เริ่มกันที่ “Farm Pot” เมนูชาบูที่สามารถเลือกน้ำซุปเองได้ โดนมี 3 ซุปได้แก่ ซุปผักรื่นรมย์ ,ซุปแซ่บสมุนไพรฌานา และ ซุปไก่สมุนไพรฌานา
รวมถึงเมนูประเภท “FARM GRILL” อาทิ ปลาน้ำดอกไม้อินทรีย์ย่างใบตองน้ำจิ้มสามรส และกุ้งแม่น้ำอินทรีย์ย่างเตาถ่าน,“SALAD & APPETIZERS” อาทิ ส้มตำไข่เค็มข้าวโพดทับทิมสยามออร์แกนิค และส้มตำผลไม้ตามฤดูกาล, อาหารจานเดี่ยว “THAI COMFORT" อาทิ ข้าวหอมมะลิอินทรีย์คลุกปลาทูแม่กลอง และข้าวหอมมะลิอินทรีย์กะเพราเนื้อออสเตรเลีย
“Healthy Dessert Garden” มุมสำหรับสั่งเครื่องดื่มและของหวานกลับบ้านได้ โดยสาขาใหม่นี้ มีเมนูที่สั่งได้มากกว่าเดิม อาทิ มะม่วงหาวมะนาวโห่ลอยแก้ว, มะเฟืองลอยแก้ว, สละลอยแก้ว, เฉาก๊วยน้ำตาลทรายแดง, น้ำเต้าหู้ออร์แกนิคเกล็ดหิมะทรงเครื่อง, น้ำเต้าหู้ออร์แกนิคเกล็ดหิมะน้ำผึ้ง ฯลฯ รวมทั้งจะเป็นมุมขายของ Merchandise ต่างๆ ของร้านอีกด้วย
และในสาขาใหม่นี้ ก็ได้เพื่อนเกษตรกรกลุ่มใหม่เข้ามาเสริมทัพความให้วัตถุดิบมีความหลายหลายมากขึ้น ทั้ง “ไร่รื่นรมย์”, “สามพรานโมเดล”, “ฟาร์มบ้านย่า” , เครือข่าย “ศาลานา”, ,“สวรรค์บนดิน” และ “ม่วนใจ๋ l กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติเชียงดาว” ส่วนกลุ่มเพื่อนเดิมยังเหนียวแน่นไม่ไปไหน คือ “เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล”, “สหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ” , “กรีนพอร์ค” ,“บ้านรักษ์ดิน” , “ไร่บุญฉลวย” , “จอนนอนไร่” และ “Aromatic Farm”
วิถีเกษตรกร ใครว่าสโลวไลฟ์
และในโอกาสการเปิดบ้านหลังที่ 2 นี้ ทีมข่าว MGR Live ได้พูดคุยกับ “วิลาสินี กิตะพาณิชย์” หรือ “เชอร์รี่” จากไร่รื่นรมย์ จ.เชียงราย หนึ่งในมิตรใหม่ของฌานา ที่มาบอกเล่าจุดเริ่มต้นของการร่วมงานกันครั้งนี้ว่า “วัตถุที่ส่งให้ฌานาจะมีทั้งหมด 4 ตัวค่ะ เป็นส่วนผสมของซุปรื่นรมย์ มีบีทรูท ฟักทองพันธุ์คางคก สมุนไพรทาร์รากอนเป็นสมุนไพรฝรั่งเศสที่สรรพคุณดี แล้วก็ผงอิตาเลียนเคล
ฌานาติดต่อไร่รื่นรมย์ไป พอเราฟังคอนเซ็ปท์ทุกอย่างแล้วรู้สึกว่าชอบ เขาไม่ใช่แค่พูดแต่เขาทำจริง เวลาไปที่ไร่ ทีมงานแต่ละคนทุ่มเทมาก เราก็เลยรู้สึกว่าดีใจที่มีร้านอาหารเห็นคุณค่าของผู้ปลูก ทำให้คนกินกับคนปลูกได้มาเจอกันใกล้ขึ้น การที่มีผู้ประกอบการอย่างฌานาเยอะๆ มันจะทำให้ทุกคนอยู่ได้ คอนเซปท์ของร้านเองไม่ใช่ซื้อแค่ไร่เดียวแต่รวบรวมเกษตรกรที่ปลูกอินทรีย์ไว้ด้วยกัน แม้กระทั่งของทะเล เนื้อสัตว์อื่นๆ เราก็เลยรู้สึกว่าทุกอย่างมันอาจจะเป็นเทรนด์ด้วย คนป่วยมากขึ้น แล้วก็หาผักอินทรีย์มากขึ้น”
นอกจากนี้ ตัวแทนจากไร่รื่นรมย์ ยังได้เล่าย้อนถึงเส้นทางเกษตรอินทรีย์ของตนเอง ที่กว่าจะประสบผลสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ต้องลองผิดลองถูกไม่น้อย ซึ่งทุกวันนี้ทางไร่ได้เปิดพื้นที่กว่า 500 ไร่ ให้เกษตรกรได้เข้ามาเพาะปลูกสร้างอาชีพ รวมถึงมีคอร์สสอนทำการเกษตรให้แก่ผู้ที่สนใจได้ลองมาเรียนรู้และค้นหาว่าแท้จริงแล้วตนเองเหมาะกับการเป็นเกษตรกรหรือไม่
“เชอร์รี่จบการตลาด คุณเปิ้ล(ศิริวิมล กิตะพาณิชย์)น้องสาว จบมีเดียคอมพ์ฯที่เมลเบิร์น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเกษตรเลย แต่เขามีแพสชั่นในด้านอยากช่วยเหลือชุมชน เลยทำให้เปิ้ลต้องเอาตัวเองเข้ามาเรียนรู้กับการเกษตรในแปลงทดลอง 1 ปี พอได้องค์ความรู้ตรงนั้นก็มาบุกเบิกในพื้นที่ขอบคุณพ่อที่ซื้อไว้ 30 ปีแล้ว
Co Farming Space เป็นโปรเจ็คที่เราอยากทำมานานแล้ว โครงการนี้เราวางแผนที่จะทำอย่างจริงจังในปีหน้า เบื้องต้นจะให้เขามาปลูกในพื้นที่เราแล้วรับซื้อ แต่โปรเจ็คนี้จะมีการบริหารจัดการที่มีรายละเอียดกว่านี้ ตอนนี้เหมือนเราจ้างเขาปลูกให้เรา เป็นคนงานในไร่
เราให้องค์ความรู้เขา แล้วเราต้องหาตลาดให้ด้วย เมื่อเรามีออเดอร์ที่ชัดเจนแล้วเราก็ให้เขาปลูกในพื้นที่ของเราเลย มีคนรับซื้อแน่นอนในราคาที่ยุติธรรม บางคนไม่มีพื้นที่แต่อยากจะปลูกอินทรีย์ หรือบางคนมีพื้นที่แต่ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยน เราอยากจะให้คนกลุ่มนี้มาปลูกในพื้นที่ของเรา แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน
ส่วนคอร์สสามวันสองคืนที่เราเปิด ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาประทับใจมาก มีคนรุ่นใหม่เยอะค่ะ เราอยากจะให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันก่อน ไม่อยากให้ตัดสินด้วยอารมณ์ ต้องดูปัจจัยของตัวเองก่อน ออกจากงานได้แต่ต้องเตรียมพร้อม การเกษตรมันไม่สโลว์ไลฟ์อย่างที่คิด มันฮาร์ดไลฟ์มากนะ ต้องมีการบริหารจัดการก่อน ต้องเก็บเงิน ต้องลงทุน กว่าจะได้กำไรกลับมามันนาน บางครั้งเราขอให้นักเรียนเอาโฉนดที่ดินมา แล้วมาวางแผนกันเลย เป็นการสอน Landscapes Design บวกกับการทำเกษตร และการค้นหาตัวเอง”
กินนอกฤดูกาล = ทำลายสิ่งแวดล้อม
ไม่เพียงแค่ไร่รื่นรมย์เท่านั้น ยังมี "แหม่ม - ศรัณยา กิตติคุณไพศาล" จาก “ม่วนใจ๋ l กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติเชียงดาว จ.เชียงใหม่ เพื่อนเกษตรกรใหม่อีกแห่ง ที่ส่งมอบชากุหลาบ ชาอัญชัน และชาเก๊กฮวย จากดอกไม้ออร์แกนิคให้แก่ฌานา ก็ได้ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวของระหว่างตนเองกับร้านอาหารเพื่อสุขภาพแห่งนี้ด้วยเช่นกัน
“ทางฌานาเขาหาอะไรเกี่ยวกับอินทรีย์ ไปเจอกลุ่มสวนบัวชมพูซึ่งเป็นสมาชิกม่วนใจ๋ เขาตามหากลุ่มเกษตรกรที่ไม่ใช่แค่ปลูกพืช อย่างชุมชมแหม่มก็เพิ่งค้นพบว่าเขาสามารถปักผ้าได้ ก็มารวมกลุ่มกัน มีท่องเที่ยว ทำแปลงเกษตร ทั้งชนเผ่าและคนพื้นเมืองมาร่วมกัน
แหม่มพาทีมงานฌานาลุยเชียงดาว เรากล้าพาเขาไปดูความจริง เกษตรกรมันไม่ได้สวยตลอดเวลา เขาได้ไปสัมผัสเชียงดาวแล้วติดใจก็เลยค้าขายกันมาจนถึงทุกวันนี้
เชียงดาวเป็นเมืองต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากร 83 หมู่บ้าน 7 ตำบลคือทั้งหมดของ อ.เชียงดาว เป้าหมายของเราคืออยากพัฒนาให้เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ ยิ่งตอนนี้ฌานาขยายสาขา ร้านเขาขายดีมาก เพราะฉะนั้นปริมาณความต้องการการสั่งซื้อก็จะเพิ่มขึ้น ฌานาก็เป็นส่วนที่สนับสนุนให้ชาวบ้านเขาแตกตัวขึ้น เขาก็เห็นอยู่แล้วว่าตลาดเราไปตรงไหน เราทำให้คนที่สนใจไม่กี่รายมีรายได้จริง เราไม่ต้องไปยัดเยียด
ตอนนี้รายได้มันกำลังเริ่ม แต่ที่เปลี่ยนคือชาวบ้านทำงานเป็นทีม เขาสนุกกับการรวมกลุ่ม คนข้างนอกเห็นความสำคัญ เข้าไปเที่ยว เป็นตัวอย่างให้ชุมชนอื่น มีหน่วยงานภาครัฐไปดูงานเยอะเหมือนกัน เมื่อภายนอกให้ความสำคัญ เขารู้สึกภูมิใจ อย่างแรกที่เราเห็นชัดคือความสุข หลังจากนี้จะเป็นตัวเงินแล้ว”
สุดท้าย เกษตรกรจากกลุ่มม่วนใจ๋ ได้ฝากไปยังผู้บริโภคในปัจจุบันว่า “ทุกการกินของเรามันมีผลกระทบหมด ของกินอะไรก็ตามที่มันนอกฤดู เช่น ปลูกพืชที่ต้องใช้น้ำเยอะแต่อยากกินช่วงฤดูแล้ง ก็ต้องดึงน้ำจากที่อื่นมาเพื่อปลูก หรือใช้สารเคมี นั่นเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ ทำลายคนที่เพาะปลูกด้วย มันอาจจะไม่ได้ผลผลิตเลย มีแต่เสียกับเสีย เราอยากให้ผู้บริโภคมีความรับผิดชอบในการกิน ไม่ได้กินเพื่อตัวเรา แต่กินเพื่อสิ่งแวดล้อม
แค่คนสนใจอาหารปลอดสารมันไม่พอ คำว่าอินทรีย์มันแคบ แต่เราอยากให้มันเป็นเกษตรที่ยั่งยืน ไม่ใช่แค่ซื้อ-ขาย ไม่มีสารเคมีก็จบ แต่เราอยากจะสื่อสารให้ผู้บริโภคกว่าที่เราจะได้ผักมา ต้องใช้หยาดเหงื่อแรงงานจำนวนมาก การกินทิ้งกินขว้างไม่ควรจะมี
ฌานาเขาหยิบเรื่องราวเบื้องหลังเหล่านี้มานำเสนอให้ลูกค้าได้ดีมาก ลูกค้าที่เข้ามากินเขาจะรู้ถึงคุณค่า ที่นี่นำเสนอเรื่องตามฤดูกาล แต่ข้อความเหล่านี้ต้องผ่านตัวกลางก็คือร้านเหล่านี้ ลูกค้าที่เข้ามาก็จะรู้ว่าเบื้องหลังคืออะไร แต่ที่มากไปกว่านั้นถ้าลูกค้าเขาสามารถไปตามรอยวัตถุได้ เพราะเกษตรกรที่ฌานาคัดเลือกมาคือมีตัวตนจริงหมด ทำจริงหมด แล้วเราก็ไม่ได้แค่ขายวัตถุดิบ เราเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ด้วย มันวิน-วินทุกฝ่าย ทั้งผู้บริโภค ทั้งตัวร้าน และผู้ปลูก มันจะยั่งยืน”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **