xs
xsm
sm
md
lg

เดนนรกผิดมนุษย์ “ฆ่าหั่นศพ แยกร่าง 14 ชิ้น” นี่หรือ “โทษประหารชีวิต” ไม่จำเป็น!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ระอุ! กับดรามาร้อน “ประเทศไทยสมควรจะให้มีโทษประหารหรือไม่” ลุกโชนใหม่อีกครั้ง หลังเกิดคดีสยองเหี้ยมโหดทุบหัวแฟนสาวก่อนฆ่าหั่นศพแยกร่าง 14 ชิ้น แถมยังไม่สำนึก โลกโซเชียลฯ ประณาม "ไอ้วุธ" มือฆ่าหั่นศพ ไล่ให้ถูกประหารชีวิต ตั้งคำถามเดนมนุษย์แบบนี้ควรให้อภัย ให้ออกมานอกคุกอีกหรือ แม่น้องแก้มเหยื่อ “ไอ้เกม” ฆาตกรฆ่าข่มขืนโยนหน้าต่างรถไฟหนุน “ชีวิตแลกชีวิต” ด้านนักสิทธิมนุษยชนชี้! ไม่ได้เข้าข้างฆาตกร ประหารชีวิตสะใจสังคมชั่วคราว แต่แก้ปัญหาไม่ถูกจุด!

เชียร์ชีวิตแลกชีวิต!

ดรามาอีกรอบ! สังคมหยิบประเด็น "โทษประหาร" ซัดนักสิทธิมนุษยชนอีกครั้ง หลังกรณีกรมราชทัณฑ์ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 เกี่ยวกับการประหารชีวิตนักโทษชาย ธีรศักดิ์ หลงจิ ก่อเหตุฆาตกรรมชิงทรัพย์ในพื้นที่ จ.ตรัง เมื่อปี พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นการประหารชีวิตในรอบ 9 ปีของไทย ทำให้สังคมเกิดการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการตัดสินโทษประหารชีวิตในประเทศไทยว่าสมควรจะให้มีโทษดังกล่าวต่อไปหรือไม่

อีกทั้งองค์กรแอมเนสตี้ ยังได้ออกมาร้องเรียนค้านโทษประหาร สวมหน้ากากประท้วง "ประหารนักโทษ" หน้าคุกบางขวาง ชี้การประหารชีวิตเป็นการกระทำที่น่าละอายอย่างยิ่ง ทำให้เกิดกระแสสังคมต่อต้านนักสิทธิมนุษยชน

ล่าสุด เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าสลดอีกแล้ว พฤติการณ์ของฆาตกรสุดเหี้ยมโหดใช้ค้อนทุบหัวจนหมดสติร่วมชั่วโมง ก่อนผู้ตายรู้สึกตัวใช้ค้อนทุบซ้ำจนเสียชีวิต ใจเย็นไปทำงานค่อยกลับมาชำแหละศพแยกร่าง 14 ชิ้น ก่อนนำไปทิ้ง

ด้านครอบครัวยังทำใจไม่ได้ ยันจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เรียกร้องให้รับโทษประหารชีวิต ยิ่งตอกย้ำเข้าไปอีกว่า สังคมไทยควรปล่อยให้พวกเดนมนุษย์เหล่านี้รอดพ้นโทษประหารอีกหรือ!?

จากกรณีฆ่าหั่นศพแยกชิ้นส่วนสาวผมแดง 14 ชิ้น ใส่กระสอบปุ๋ย โยนทิ้งอยู่ในป่าซอยสามวา เขตคลองสามวา กทม. โดยผู้ก่อเหตุคือ ธนกฤษ ประกอบ หรือ วุธ อดีตแฟนหนุ่มของผู้เสียชีวิต โดยอ้างว่า เคยคบหากับผู้ตายก่อนเลิกรากัน แต่เมื่อประมาณ 4 วันที่ผ่านมา ผู้ตายได้กลับมาเอาของที่ห้อง และมีปากเสียงกัน จนตนบันดาลโทสะและฆ่าอดีตแฟนสาวจนเสียชีวิต แล้วจึงหั่นศพเพื่อทำลายหลักฐาน

ทั้งนี้ ในเฟซบุ๊กของผู้ต้องหาหลังก่อเหตุ ยังคงมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่มีทีท่าสะทกสะท้านจนกระทั่งก่อนถูกจับกุมตัวไม่กี่ชั่วโมง ฆาตกรยังแชร์ข่าวฆ่าหั่นศพที่ตนเองเป็นคนทำพร้อมวิพากษ์วิจารณ์ว่า "ใจคนสมัยนี้ทำด้วยอะไร เดี๋ยวยิงกัน เดี๋ยวฆ่ากัน หั่นคนอย่างกับหั่นหมู หั่นวัว" ทั้งที่ตนเองเป็นผู้ลงมือสังหาร

ประเด็นดังกล่าวจึงจุดชนวนให้ร้อนระอุอีกครั้งกับการ “คงโทษประหารชีวิตไว้” เพราะดูแล้วไม่มีท่าทีจะสำนึก หรือควรให้โอกาส

นอกจากนี้ ลักขณา ทองพัฒน์ แม่ของน้องแก้มที่ถูก ไอ้เกม -วันชัย แสงขาว พนักงานบริการบนรถไฟข่มขืนแล้วโยนศพทิ้งจากหน้าต่างของขบวนรถไฟ เมื่อปี พ.ศ. 2557 ยังกล่าวว่า วันชัย หรือ เกม ผู้ต้องหาในคดีนี้ อยู่ในเรือนจำก็สบายดี รูปร่างอ้วนท้วมสมบูรณ์ ทำให้ตนคิดว่าชีวิตนายเกมแตกต่างจากตนที่ต้องทนทุกข์ใจมานานถึง 4 ปีกว่าที่ผ่านมาได้

ส่วนกรณีที่สังคมได้มีการพูดถึงเรื่องตัดสินโทษประหารชีวิต ตนก็ให้ความสนใจกับเรื่องนี้ ส่วนตัวมองว่าโทษประหารชีวิตมีข้อดี และคิดว่าถ้าคนที่ไม่ประสบกับตัวก็คงไม่รู้สึกเจ็บ หรือทรมานแบบคนที่สูญเสีย รู้สึกคับแค้นใจ หากมีโทษประหารชีวิต อย่างน้อยก็ทำให้คนร้ายไม่ต้องออกมาทำผิดซ้ำ ที่ผ่านมาตนก็เห็นกรณีที่ออกจากคุกมาแล้วไปฆ่าคนอื่นก็มี แล้วเมื่ออยู่ในคุกก็มีชีวิตสุขสบาย ไม่ต้องหุงข้าวเอง ถึงเวลาบ่ายสามก็เข้านอน

สำหรับคำว่า “ชีวิตแลกชีวิต” แม่น้องแก้มมองว่า คุ้ม เพราะ ถ้าคนผิดได้ออกมาจากคุกก็อาจจะทำผิดซ้ำ การมีโทษประหาร จะทำให้คนหวาดกลัว

ประหารชีวิต “สะใจ” แต่ไม่แก้ปัญหา!?
วุธ ผู้ต้องการฆ่าหั่นศพ
สำหรับในมุมมองของนักสิทธิมนุษยชน ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิชาการอิสระด้านสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ผ่านผู้จัดการ Live ถึงประเด็นร้อนระอุนี้ ชี้โทษประหารไม่ได้ทำให้ฆาตกรเกรงกลัวต่อบาปเลย ย้ำแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ตั้งคำถามหากโทษประหารทำให้คนเกรงกลัวจริงทำไมปริมาณนักโทษพุ่งล้นคุก แนะเปลี่ยนโทษประหารเป็นให้ฆาตกรใช้มือที่ฆ่าคนทำงานไถ่บาป เลี้ยงดูลูกหลานของเหยื่อน่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย และเกิดประโยชน์ต่อสังคม

“พวกติดยาที่ก่อคดีฆ่าคนมักไม่มีสติสัมปชัญญะ ฉะนั้นเขาไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ดังนั้นต้องปรับพฤติกรรมใหม่ให้มีทางเลือก ฆ่าคนเหล่านี้ไม่หมดหรอก เพราะทุกหมู่บ้านในประเทศไทยเกือบครึ่งติดยากันหมดแล้ว

การประหารมันง่ายในแง่มุมของความสะใจ ในแง่มุมความรู้สึกของญาติผู้ตายในช่วงเวลาสั้น แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ความสะใจไม่ได้ทำให้เกิดการเยียวยาญาติเหยื่อได้”

นอกจากนี้ ดร.เพิ่มศักดิ์ ยังแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า การตัดสินลงโทษประหารชีวิตผู้กระทำความผิดคดีข่มขืนฆ่าให้ตกตายตามกัน คนส่วนใหญ่มักคิดกันว่าจบเรื่องไป เพราะฆาตกรชดใช้หนี้กรรมที่ทำกับผู้ตายสาสมใจแล้ว แต่ตนเองเห็นว่าเรื่องยังไม่จบ เพราะยังมีคนอีกจำนวนหนึ่ง ไม่ได้รับความเป็นธรรม

“ความเป็นจริงในหลายกรณี มีผู้รับเคราะห์กรรมอีกมากมายถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง คือบรรดาญาติพี่น้องของผู้ถูกฆาตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทายาทใกล้ชิดที่ดูแลตัวเองไม่ได้ต้องพึ่งพาผู้ตายอยู่ เช่นลูกเล็ก พ่อแม่ที่แก่ชรา พวกเขาจะทุกข์ขนาดไหน จะอยู่ต่อไปอย่างไร ยามไร้เสาหลักยังชีพของครอบครัว

จึงเห็นว่าภาระความรับผิดชอบต่อผู้ได้รับผลกระทบจากฆาตกรรมที่อยู่ข้างหลังนี้ ไม่ควรสิ้นสุดไปกับการประหาร แต่ควรตกแก่นักโทษประหาร คือแทนที่จะประหารเขา ก็ควรให้เขาอยู่เพื่อรับผิดชอบทำหน้าที่แทนผู้ที่ถูกเขาฆ่า”

อย่างไรก็ตาม ดร.เพิ่มศักดิ์ เสนอแนะ 2 วิธี ที่จะช่วยให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบ

1.ริบทรัพย์สินของนักโทษประหารที่เป็นฆาตกรหรือทรัพย์สินที่ควรจะเป็นของเขาทั้งหมด เช่น มรดก ริบมาเพื่อจ่ายชดเชยเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเขา แต่จะมากน้อยเท่าใดเป็นไปตามการประเมินของศาล

2. ควบคุมจัดการให้เขาทำงานหนักในคุกหรือสถานที่กักกันเป็นพิเศษเพื่อหารายได้มาให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ ใช้ให้สามารถดำเนินชีวิตตามปกติต่อไปได้ อาจนานไปตลอดชีวิตหรือจนผู้ได้รับผลกระทบพอใจจึงสิ้นสุด

“สำหรับการตัดสินคดีที่ลดโทษประหารชีวิตมาเป็นจำคุกตลอดชีวิต เพียงเหตุผลว่าจำเลยได้ให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีนั้น ผมไม่ค่อยจะเห็นด้วย เพราะเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องสืบสวนสอบสวนหาข้อมูลหลักฐานอยู่แล้ว และเชื่อว่าวิธีปฏิบัติอย่างนี้อาจทำให้คนกระทำความรุนแรงต่อกันหรือฆ่ากันได้ง่ายนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ล้นคุก แต่ติดอยู่ไม่นานก็ได้รับอภัยโทษ พ้นโทษออกมาก็ก่อคดีรุนแรงเป็นภัยกับสังคมอีก

ขอเสนอว่า การพิจารณาตัดสินคดีข่มขืน/ชิงทรัพย์แล้วฆ่า ควรเปลี่ยนจากการลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตให้กินฟรีอยู่ฟรีในคุกจากเงินภาษีอากรประชาชนโดยไม่ทำอะไรหรือฝึกอาชีพทำงานหารายได้เข้าตัวเอง มาเป็นการทำงานชดใช้กรรมแก่ญาติผู้ได้รับผลกระทบจนถึงที่สุด

ให้เขาใช้มือที่ฆ่าคน ทำงานไถ่บาป เลี้ยงดูลูกหลานของคนที่เขาฆ่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย และเกิดประโยชน์ต่อสังคมได้มากกว่าด้วย ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนจะได้พ้นจากบ่วงเวรบ่วงกรรมกันได้จริงๆ”
แอมเนสตี้คัดค้านโทษประหารชีวิต ประท้วงหน้าเรือนจำกลางบางขวาง
ส่วนกรณีที่โลกโซเชียลตั้งคำถามถึงนักสสิมนุษยชนฯที่ออกมาคัดค้านไม่ให้มีโทษประหารว่า หากครอบครัวคุณถูกกระทำบ้าง ยังจะออกมาเรียกร้องไม่ให้มีการประหารชีวิตนักโทษแบบนี้ไหม ดร.เพิ่มศักดิ์ มองว่า

“มันไม่ใช่เรื่องว่าเกิดกับครอบครัวใคร แต่เป็นปัญหาของสังคมคนทั้งชาติ ต้องดูทำไมแนวโน้มนักโทษเพิ่มมากขึ้น ไม่รู้จักเข็ดหลาบ กลายเป็นการถกเถียงการเอาชนะกัน ว่าประหาร หรือไม่ประหาร กลายเป็นว่านักสิทธิมนุษยชนเข้าข้างฆาตกร

ประเด็นอยู่ที่ว่า เมื่อประหารจะช่วยให้เรื่องของการฆาตกรรมการฆ่าข่มขืน การปล้นฆ่า จะยุติได้อย่างไร ต้องคิดให้รอบด้านทั้งระบบ ไม่ใช่คิดแค่ปลายเหตุ ต้องคิดว่าทำอย่างไรถึงจะไม่ให้มีนักโทษประหาร ทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดการฆ่าข่มขืน ไม่เกิดการใช้ความรุนแรง สังคมไทยจะได้เป็นสังคมที่เกื้อกูล ต้องคิดถึงต้นเหตุที่ทำให้มีนักโทษประหาร”

อย่างไรก็ดี ความคิดเห็นจากโลกโซเชียลฯ เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าเดนสังคมเหล่านี้ "สมควรประหารชีวิต" เพราะส่วนใหญ่ที่ออกมาใช้ชีวิตในสังคมล้วนแต่กลับไปกระทำความผิดซ้ำซาก

หากมีกลุ่มคนมาสนับสนุนค้านประหารชีวิตอีก พวกเดนมนุษย์เหล่านี้จะยิ่งได้ใจ!?


กำลังโหลดความคิดเห็น