xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย “ประหารชีวิต” ก่อนนับหนึ่งใหม่ ฟื้นโทษฉีดยาพิษรอบ 9 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


... รายงาน

หลังการลงโทษ “ประหารชีวิต” เงียบหายไปนาน พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ได้ประหารชีวิต น.ช.ธีรศักดิ์ หลงจิ อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังคดีฆ่าผู้อื่นเพื่อชิงทรัพย์ เมื่อบ่ายวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา

นับเป็นผู้ต้องขังรายที่ 7 นับแต่การเปลี่ยนวิธีประหารชีวิต จาก “ยิงเป้า” เป็นการ “ฉีดสารพิษ” แทน ที่สำคัญ ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ไม่เคยลงโทษประหารชีวิตเลย

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า ตามกฎหมายไทย มีบทลงโทษทางอาญา 5 อย่าง ได้แก่ ปรับ ริบทรัพย์สิน กักขัง จำคุก และประหารชีวิต ซึ่งถือว่าหนักที่สุด

“แม้หลายประเทศได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้วก็ตาม แต่ก็มีอีกหลายประเทศ ที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่ เช่นเดียวกับไทย อาทิ สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งเน้นการปกป้องสังคมและพลเมืองส่วนใหญ่ให้พ้นจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมมากกว่าเน้นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่กระทำผิดกฎหมาย”

เขากล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ หวังว่าการประหารชีวิตในครั้งนี้ จะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่คิดจะก่ออาชญากรรมร้ายแรงหรือกระทำผิดกฎหมายได้ยั้งคิดถึงบทลงโทษนี้

ย้อนกลับไปตั้งแต่ พ.ศ. 2478 จนถึงปัจจุบัน มีการบังคับโทษประหารชีวิตมาแล้ว 325 ราย

แบ่งออกเป็น ใช้อาวุธปืนยิงไปแล้ว 319 ราย รายแรก คือ น.ช. (สิบเอก) สวัสดิ์ มะหะหมัด คดีประทุษร้ายต่อพระบรมราชตระกูล (กบฎนายสิบ) ลงโทษด้วยการยิงด้วยอาวุธปืนเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2478 เวลาเที่ยงคืน ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ

รายสุดท้ายที่ถูกยิงเป้า เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2546 คือ น.ช.สุดใจ ชนะ หรือ น้อย ผู้ต้องขังคดียาเสพติด ที่เรือนจำกลางบางขวาง จ.นนทบุรี

กระทั่งมีการปรับแก้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2546 ซึ่งเปลี่ยนวิธีการบังคับโทษประหารชีวิตจากการยิงเสียให้ตายเป็นการฉีดสารพิษ บังคับใช้เมื่อ 19 ต.ค. 2546 เป็นต้นมา

12 ธ.ค. 2546 ประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษครั้งแรก มีทั้งหมด 3 เข็ม ได้แก่ โซเดียม เพนโตตรอน สารทำให้นอนหลับ, โครโรเนี่ยม โมมาย ยาคลายกล้ามเนื้อ และ โปแตสเซียม คลอไรด์ เพื่อหยุดการเต้นของหัวใจ

โดยมีนักโทษประหารกลุ่มแรก 4 ราย ถูกลงโทษด้วยการฉีดสารพิษ กระทั่งผ่านไป 5 ปี มีนักโทษประหารอีก 2 ราย ประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษไปเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2552

หลังจากนั้นไม่มีนักโทษเด็ดขาดคนใดถูกประหารชีวิตอีกเลย!

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยยังไม่มีการลงโทษประหารชีวิต ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา เพราะได้ลงนามร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต

แต่ได้ขอสงวนท่าทีต่อประเด็นการยกเลิกโทษประหารชีวิตไว้

สาระสำคัญคือ ภายในระยะเวลา 10 ปี หากไม่มีการลงโทษประหารชีวิต ไทยก็ต้องแก้ไขกฎหมายที่ว่าด้วยการลงโทษประหารชีวิตทุกฉบับ ด้วยการตัดโทษ “ประหารชีวิต” ออกจากโทษทางอาญา

รวมถึงกฎหมายที่มีความละเอียดอ่อน และกฎหมายที่ระบุโทษคนกระทำผิดด้วยการประหารชีวิตสถานเดียว อาทิ การกรณีที่เกียวกับความมั่นคง การลอบปลงพระชนม์ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม สังคมยังมีความคิดเห็นเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตที่หลากหลาย

ส่วนหนึ่งอยากให้มีโทษประหารชีวิต เนื่องจากปัจจุบันมีคนไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และคดีอาชญากรรมสะเทือนขวัญเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

โดยเฉพาะการเคลื่อนไหว น.ส.ปนัดดา วงษ์ผู้ดี อดีตนางสาวไทย ที่เคยจุดแคมเปญ "ข่มขืนต้องประหาร" เมื่อครั้งที่มีคดีเด็กวัย 13 ปี ถูกพนักงานปูเตียงข่มขินกระทำชำเรา และจับโยนลงจากรถไฟ ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี 2557

ขณะที่ฟากฝั่งนักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชน ก็อ้างว่า การลงโทษด้วยการประหารชีวิต ไม่ได้ช่วยให้ป้องกันอาชญากรรม หนำซ้ำทำให้ผู้กระทำความผิดมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงอีกด้วย

การออกมาเปิดเผยโทษประหารชีวิตครั้งล่าสุดของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ อาจจะมีทั้ง “ดอกไม้” และ “ก้อนอิฐ” ในยุคที่คดีอาชญากรรมยังคงเป็นข่าวหน้าหนึ่งอย่างต่อเนื่อง

และสังคมที่ยังมี “ความเห็นต่าง” อย่างไม่ตกผลึก ว่า บทลงโทษทางอาญา “โหด” แค่ไหนถึงจะเป็นที่ยอมรับในสังคมร่วมกันได้ ระหว่างจะให้โอกาส หรือจะให้ตายตกตามกันไป


กำลังโหลดความคิดเห็น