xs
xsm
sm
md
lg

นอกใจ-ทำผิด-สมควรถูกซ้อม!? ตรรกวิบัติ "กลุ่มล้อเลียน-รุนแรงนิยม"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
“ผู้หญิงนอกใจสมควรโดนซ้อม-ไม่ว่าเพศไหนก็ไม่ควรถูกทำร้าย” สังคมออนไลน์แบ่งทีมซัดกันมันส์ คดีไอเอ็มเมายาทำร้ายแฟนสาว จวกเละคำวิจารณ์ทำร้ายร่างกายได้ถ้าอีกฝ่ายทำผิด นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน เผย พวกใช้ความรุนแรงคือมนุษย์อ่อนแอ ไม่ต่างจากอาชญากร!!

เข้าข้างความรุนแรง..ทัศนคติป่วย!!

“ผู้หญิงผิดก็สมควรโดนแล้ว ทีผู้หญิงตบตีผู้ชาย ไม่เห็นมีใครออกมาดิ้นขนาดนี้เลย” สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างดุเดือด หลังหยิบยกประเด็น 'ความรุนแรงต่อผู้หญิง' จากกรณีสะเทือนใจ ไลฟ์สดไอเอ็มทำร้ายแฟนสาว เหตุเสพยาบ้า-หึงหวง-ทารุณกรรมแฟนสาวอย่างโหดเหี้ยมเกินมนุษย์!

ล่าสุด เกิด 2 กระแสหลักในสังคมขณะนี้ นั่นคือ กลุ่มที่คิดว่าฝ่ายหญิงทำผิดก่อน ดังนั้นการกระทำด้วยความรุนแรงของฝ่ายชาย จึงเป็นสิ่งที่สมควรที่จะกระทำและยอมรับได้

  ทั้งยังตั้งคำถามอีกด้วยว่าหากผู้หญิงเป็นฝ่ายกระทำความรุนแรงต่อฝ่ายชาย อย่างที่เห็นในสื่อกระแสหลักที่ผ่านมา แต่กลับถูกสังคมโจมตีถึงความผิดได้น้อยกว่ากรณีที่ฝ่ายชายเป็นผู้กระทำความรุนแรงต่อฝ่ายหญิง

 เช่นเดียวกับเพจดังอย่าง 'ผู้ชายใส่แว่น' ที่มีการวาดภาพถึงประเด็นสังคมนี้ด้วยเช่นกัน โดยได้มีการสื่อความหมายของภาพในเชิงคล้ายว่าเข้าข้างฝ่ายชาย จนทำให้เกิดกระแสตีกลับจากสังคมออนไลน์ยกใหญ่ว่าไม่ควรมองว่า เพราะฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิด ฝ่ายชายจึงสามารถกระทำความรุนแรงต่ออีกฝ่ายหนึ่งได้

ภาพ FB: Angry Salaryman
 
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่หญิงสาวรายหนึ่งโพสต์ภาพตนเองหลังทำศัลยกรรม ลักษณะใบหน้าบวมช้ำยังไม่เข้ารูป ซึ่งได้มีการนำภาพของตนมาเปรียบเทียบกับสาวที่ถูกทำร้ายร่างกายจากกรณีข้างต้น พร้อมระบุข้อความว่า “ผู้หญิงในข่าวไม่ใช่เบิร์ดนะคะ อันนี้รูปเบิร์ดตอนเหลาหน้าค่ะ ไม่ได้โดนผัวตี เอ้า! เหมือนมาก”

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติในเรื่องการทำร้ายร่างกายและการใช้ความรุนแรงต่อมนุษย์ว่า ยังคงเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากจิตใต้สำนึกของคนบางกลุ่ม ทั้งการทำภาพล้อเลียนความเจ็บปวดของผู้อื่น หรือการวาดภาพและแสดงความคิดเห็นที่สื่อความหมายไปในทางเดียวกันกับการเห็นด้วยต่อพฤติกรรมความรุนแรงในสังคม

ขณะที่อีกกลุ่มมองว่าไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิงก็ไม่ควรถูกปฏิบัติด้วยความรุนแรงกันทั้งสิ้น เพราะความก้าวร้าวรุนแรงไม่ใช่วิธีที่ควรเลือกมาใช้ในการแก้ปัญหาทั้งทางตรงหรือทางอ้อม

“ไม่อยากให้ใช้คำว่าผู้ชายห้ามทำร้ายผู้หญิง แต่เราไม่ควรทำร้ายกันเลยต่างหาก”
 
“จริงๆ มันไม่ควรจะแบ่งข้างกันด้วยซ้ำ คนที่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา มันก็ผิดอยู่แล้ว จะเอาข้างไหนมาเข้าอีก แล้วถ้าเทียบกัน ผู้หญิงนอกใจยังไงก็ผิดศีลธรรม แต่ผู้ชายก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปลงโทษเขาแบบนั้น”

“เห็นแบบนี้แล้ว รู้สึกเลยว่าคนไทยมีกลุ่ม Victim Blaming มากกว่าที่คิด เพราะที่จริงหากตามข่าวให้ดีจะมีข้อมูล 2 กระแสว่าทั้งฝ่ายหญิงนอกใจก่อน กับฝ่ายหญิงไม่ได้นอกใจแต่ฝ่ายชายคิดไปเอง ทว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยก็ยังเชื่อว่า "ถ้าผู้หญิงไม่ทำอะไรเลย ฝ่ายชายจะมาทำร้ายฝ่ายหญิงได้ยังไง"

ซึ่งกรณีนี้เป็นมาหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่กรณีผู้ชายล่วงละเมิดทางเพศฝ่ายหญิงในหลายๆ เคสที่หลายคนมักจะตั้งคำถามว่าฝ่ายหญิงใส่ชุดวาบหวิวเองหรือเปล่า ทั้งที่จริงไม่ใช่ ถึงฝ่ายหนึ่งไม่เคยทำอะไร อีกฝ่ายก็สามารถหาเรื่องทำร้ายก่อนได้เช่นกัน”
“อังคณา นีละไพจิตร” กรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ

 
สอดคล้องกับด้าน “อังคณา นีละไพจิตร” กรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับคดีหญิงสาวถูกทำร้ายร่างกายอย่างหนักในเคสล่าสุดครั้งนี้ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของตนด้วยว่า

“ที่ผ่านมาความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) หรือความรุนแรงทางเพศสภาพ (GBV) มักถูกมองเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องครอบครัว เป็นปัญหา "ลิ้นกับฟัน" แต่ไม่ใช่เป็นปัญหาสังคม ทั้งที่เรื่องนี้เป็นปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่สังคมต้องรับผิดชอบและร่วมกันแก้ไข

ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้หญิงเผชิญกับความรุนแรงโดยลำพัง หรือถูกทำให้เป็นคนผิดเพราะ "นอกใจผัว" "ไม่เชื่อฟังผัว" หรือ "ไม่รักผัว" ยืนยัน "การรัก หรือเลิกรัก" ไม่สามารถใช้เพื่อความชอบธรรมในการทำร้ายผู้หญิงได้
ผู้หญิงมีสิทธิรัก และเลิกรัก มีสิทธิในเนื้อตัวและร่างกายของตัวเอง ไม่สามารถอ้างเหตุผลใดเป็นความชอบธรรมในการทำร้ายผู้หญิง”

ไม่ว่าใคร..ก็ไม่ควรถูกทำร้าย

จากประเด็นการแสดงความรุนแรงต่อสตรี ถือเป็นกระแสข่าวที่คนหยิบมาพูดถึงและน่าสนใจอย่างมากในขณะนี้ เห็นจากที่สังคมออนไลน์กำลังดีเบทกันอย่างร้อนระอุ ถึงเรื่องความถูกต้องดีงามตามหลักมนุษยชน ขณะที่บางกลุ่มยังมองว่าการใช้ความรุนแรงถือเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ หากว่าอีกฝ่ายมีความผิดที่จะได้รับการถูกลงโทษเช่นนั้น

ทีมข่าว ผู้จัดการ Live จึงได้ติดต่อไปยัง “รศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์” นักวิชาการอิสระด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา เพื่อวิเคราะห์ถึงประเด็นดังกล่าว ผ่านทัศนะของผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนและการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี โดยได้อธิบายถึงเรื่องการใช้อำนาจนิยมในระดับครอบครัวและสังคมไทยไว้ว่า

“มันต้องเริ่มจากการกลับไปตั้งคำถามว่าเขารู้ข้อเท็จจริงหรือกำลังฟังความฝ่ายเดียวอยู่หรือไม่ ต้องอย่าเชื่อสิ่งใดที่ไม่มีหลักฐานข้อเท็จจริง อย่างแรกคือต้องรับฟัง อย่ากล่าวหาด่วนสรุปโดยที่ตัวเองไม่รู้-ไม่เข้าใจ

ส่วนอีกกรณี คือ สมมติว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ เช่น ถ้ากรณีที่ผู้หญิงไปมีคนอื่นจริงๆ ผมว่าก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขา ต้องมีคนที่เหมาะสมมาตัดสิน ไม่ใช่ตัดสินกันเอง และต้องฟังคำอธิบายของฝ่ายหญิงด้วยว่าเหตุใดถึงนอกใจ เราต้องให้ความเป็นธรรม รวมถึงการลงโทษก็ต้องเป็นการลงโทษที่มีกระบวนการความยุติธรรม


 
ผมจึงเสนอว่าการลงโทษแบบศาลเตี้ย หรือการใช้ความรุนแรงต่อคนในครอบครัว ทำร้ายผู้หญิงที่เป็นภรรยา ถือว่าเป็นอาชญากรรม เพราะคุณไม่มีสิทธิ์ไปทำร้ายเขา”

ดูเหมือนว่าประเด็นที่มีการพูดถึงเกี่ยวกับเรื่องการพูดถึงเหยื่อในทางลบ หรือที่เรียกว่า “Victim Blaming” จะเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในสังคมไทย
ทั้งการต่อว่าผู้ที่แต่งตัวล่อแหลมว่าเป็นสาเหตุของการถูกข่มขืน หรือแม้แต่ในเคสนี้เอง ที่ถูกต่อว่าจากสังคมในบางกลุ่มที่มองว่าเพราะฝ่ายหญิงทำผิด ฝ่ายชายจึงมีอำนาจในการใช้ความรุนแรงได้

“มันเกิดจากแนวคิดแยกขั้วว่าคนดี-คนไม่ดี เหมาะสม-ไม่เหมาะสม มักจะนำไปตัดสินเวลาที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น เช่น เพราะคุณแต่งตัวโป๊ คุณจึงถูกข่มขืน แต่ถ้าเรามองหลักความจริงที่เกิดขึ้นโดยส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกข่มขืน ไม่ใช่ผู้ที่แต่งตัวโป๊ หรือบางคนอายุ 70-80 ปี โดนข่มขืน-ฆ่าอย่างที่ถูกนำเสนอในข่าวก็เยอะ

ผมคิดว่าทัศนคติแบบนี้ มันเป็นทัศนคติทางลบที่ปิดบังปมด้อยของตัวเอง มันเป็นทัศนคติที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก สิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ได้สะท้อนว่าถ้าผู้หญิงแต่งตัวหรือทำแบบนี้ คุณจะสามารถไปทำร้ายเขา ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปมองเขาด้วยสายตาทางลบด้วยซ้ำ มันเป็นสิทธิส่วนบุคคลของเขา

แต่ถ้าเขาทำผิดกฎหมาย เช่น เปลือยกายในที่สาธารณะ เขาก็ต้องถูกลงโทษในทางกฎหมาย แต่คุณไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินและลงโทษเขา จริงๆ แล้ว ผมคิดว่าสังคมไทยจะไปตัดสินคนที่แต่งกายโป๊ว่าเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการฆ่า-ข่มขืน ผมว่ามันเป็นทัศนคติที่ค่อนข้างคับแคบ และไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม”
ภาพ FB: 8TMHS
 
สุดท้าย นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนคนเดิมยังกล่าวอีกว่า วิธีการในการแก้ไขทัศนคติของคนในสังคมไทยต่อเรื่องการใช้ความรุนแรง ควรเริ่มจากการแก้ไขที่ระบบเสียก่อน และทำให้เกิดความชัดเจนไปเลยว่า ผู้ที่ใช้ความรุนแรงทั้งในระดับครอบครัวและสังคม ไม่ต่างจากอาชญากรคนหนึ่ง!

“ผมคิดว่าเรื่องนี้อยู่ในส่วนที่เป็นกลไกของสังคม เราต้องแก้ระบบ ต้องชัดเจนว่าการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าต่อคนในสังคม หรือต่อคนในครอบครัว ถือเป็นอาชญากร คุณจะมาบอกว่าเป็นเรื่องของผัว-เมีย เป็นเรื่องของพี่-น้อง บอกแบบนี้ไม่ได้ เพราะมันเป็นการทำลายสิทธิมนุษยชน

ไม่มีการยกเว้นว่าคุณเป็นพี่เป็นน้อง เป็นผัวเป็นเมีย คุณสามารถตีภรรยาได้ ไม่มีกฎข้อไหนเขียนเอาไว้ เราต้องยึดหลักปฏิบัติที่เป็นสากล คือ การใช้ความรุนแรงในครอบครัวหรือสังคมก็ตามให้ถือว่าเป็นอาชญากร

อย่างที่สอง การมองผู้ที่ด้อยกว่า โดยเฉพาะการเยียดเพศ เยียดผู้ที่ด้อยกว่า ผมถือว่าเป็นความอ่อนแอภายในจิตใจของคนๆ นั้น มันเป็นการข่มปมด้อยของตัวเอง

เพราะคนที่เข้มแข็งจะไม่ทำร้ายคนที่อ่อนแอและไม่มีทางสู้ แต่คนพวกนี้คือมนุษย์อ่อนแอ ขาดการปลูกฝังและการอบรมที่ดีงาม จึงต้องได้รับการอบรมบ่มนิสัยอย่างหนักและปรับทัศนคติเสียใหม่”

ข่าวโดย ทีมข่าวผู้จัดการ Live


กำลังโหลดความคิดเห็น