โฆษกศาลยุติธรรมเผย ศาลเสนอเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้อำนาจศาลตรวจคำฟ้อง หรือเรียกหลักฐานได้ ก่อนประทับรับฟ้อง เพื่อป้องกันกลั่นเเกล้ง ฟ้องไม่สุจริต บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่ให้เป็นภาระกับประชาชนที่ถูกฟ้อง
วันนี้ (17 เม.ย.) นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงประเด็นการปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพว่า สำนักงานศาลยุติธรรมได้เสนอเเก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 161 มีสาระสำคัญ คือ ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือยกฟ้องหรือไม่ประทับฟ้อง ซึ่งในการฟ้องคดีอาญาผู้มีสิทธิฟ้องคดี คือ อัยการ หรือประชาชนที่เป็นผู้เสียหาย
ปกติหากเป็นการฟ้องคดีโดยอัยการศาลจะไม่ค่อยไต่สวนมูลฟ้อง จะประทับฟ้องเลยเพราะถือว่าผ่านการสอบสวนของพนักงานสอบสวนและส่งให้พนักงานอัยการกลั่นกรองแล้ว
เเต่ส่วนที่เราเสนอเเก้ไขเพิ่มเติมคือจะเพิ่มเติม ป.วิอาญา มาตรา 161/1 เข้ามา กรณีที่ราษฎรหรือประชาชนเป็นโจทก์ฟ้องคดี
โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ได้กำหนดขั้นตอนการไต่สวนมูลฟ้องเพื่อที่จะป้องกันแกล้งฟ้องหรือ ฟ้องโดยไม่มีมูล เพื่อให้เกิดภาระกับอีกฝ่ายหนึ่งไว้แล้ว
แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาจะมีบางคดีจำนวนไม่น้อยที่ประชาชนเป็นโจทก์ฟ้องเข้ามา แล้วศาลเห็นว่าคำฟ้องน่าจะเกิดจากการใช้สิทธิการฟ้องที่ไม่สุจริต หรือมีการกลั่นแกล้งหรือบิดเบือนข้อเท็จบางอย่าง แต่ถ้าคำฟ้องนั้นบรรยายฟ้องมาครบตามที่ ป.วิอาญากำหนดไว้ ศาลก็จำเป็นที่จะต้องนัดไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งตรงนี้ ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่มีคำสั่งประทับฟ้องแต่การที่นัดไต่สวนมูลฟ้อง เราเห็นว่าก็จะเป็นภาระกับคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ที่จะต้องแต่งตั้งทนายเข้ามาเพื่อที่จะถามค้านต่างๆ ปัญหานี้มันจะทำให้เป็นความทุกข์ในใจของประชาชนผู้ที่ถูกฟ้อง
จึงคิดว่าถ้าเรามีขั้นตอนหนึ่งเป็นเหมือนการตรวจคำฟ้องก่อนที่จะนัดไต่สวนมูลฟ้อง โดยหากศาลเห็นว่ามีข้อความหรือเหตุการณ์ใดที่น่าสงสัย ศาลอาจจะเรียกหลักฐานบางอย่างเพื่อตรวจสอบคำฟ้องได้ ซึ่งอาจจะยกฟ้องในชั้นนี้ได้
“แค่โจทก์ยื่นคำฟ้องมา แล้วศาลสงสัยบางสิ่งบางอย่างว่าอาจจะเป็นกรณีที่ไม่สุจริต หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง หรืออาจจะกลั่นแกล้งเอาเปรียบกับฝ่ายจำเลย หรือว่ามีการมุ่งหวังประโยชน์ในทางที่มิชอบ ดูแล้วว่าน่าจะมีการตรวจสอบคำฟ้องก่อน ก็จะมีการเรียกเอกสารบางอย่าง สมมติว่าเมื่อศาลได้ดูคำฟ้องประกอบกับเอกสารโดยละเอียดแล้ว ศาลมีสิทธิที่จะไม่ประทับรับฟ้อง โดยไม่ต้องมีการไต่สวนมูลฟ้อง พูดง่ายๆ ก็คือให้อำนาจศาลมากขึ้นในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ศาลมีอีกขั้นตอนหนึ่งขี้นมาเพื่อที่จะให้ดูรายละเอียดของคำฟ้องก่อนที่จะไต่สวนมูลฟ้อง”
เมื่อถามว่า การเเก้ไขกฎหมายตรงนี้จะทำให้การฟ้องคดีเองยากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ นายสุริยัณห์กล่าวว่า ไม่ทำให้ฟ้องยากขึ้นกว่าเดิม แต่การฟ้องคุณจะต้องแน่ใจจริงๆว่าสิ่งที่คุณฟ้องนั้นไม่ใช่การกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบคนอื่น หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นจะตัดเรื่องการแกล้งฟ้องไปได้ ต่อไปหากต้องการฟ้องโจทก์ต้องมีข้อมูล ข้อเท็จจริงมาพอสมควร ไม่ใช่ฟ้องเพื่อที่จะให้อีกฝ่ายต้องเป็นภาระ หรือ ฟ้องเพื่อที่จะบีบบังคับกัน เพื่อที่จะเรียกร้องเอาประโยชน์จากจากเขา ซึ่งกฎหมายที่จะขอเเก้ไขนี้มีใช้ใน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบฯ แค่ยังไม่เคยมีการใช้กับกฎหมายตัวอื่น
“ที่เสนอเเก้ไขเพิ่มเติมนี้จะสอดคล้องกับข้อสังเกตของนักสิทธิมนุษย์ชนต่างประเทศ อย่างในเรื่องของยูเอ็น คณะการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าถ้าเกิดมีกรณีนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้ามาดำเนินการบางอย่างในประเทศไทยแล้วไปกระทบกับกลุ่มเอกชนบางฝ่าย จะถูกฟ้องง่ายจนเกินไป เพราะฉะนั้น มาตรา 161/1 ก็จะเปิดโอกาสให้ศาลสามารถจะตรวจสอบในเรื่องของการฟ้องได้มากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่จะบอกกับยูเอ็นว่าอันนี้คือมาตรการที่ทั้งศาลไทยและรัฐบาลไทยจะคุ้มครองให้คนสุจริตถูกฟ้องได้ยากขึ้นตรงนี้เราพยายามให้สากลยอมรับในระบบของการพิจารณาคดีของเรามากขึ้นด้วย ซึ่งการเเก้ไขกฎหมายนี้ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเเล้ว” โฆษกศาลยุติธรรมชี้แจง