อธิบดีกรมกิจการสตรีฯ เยี่ยมสาวถูกแฟนหนุ่มไลฟ์สดทำร้าย ชี้แฟนหนุ่มผิดทั้งอาญาพยายามฆ่า ผิด พ.ร.บ. คอมพ์ ละเมิดสิทธิผู้หญิง ย้ำผู้หญิงอย่าทนกับความรุนแรงเพราะหวังผู้ชายจะเปลียนพฤติกรรมเอง ด้านองค์กรสตรี เผยชายทำร้ายหญิงเพิ่มขึ้น ยิ่งดื่มเหล้า - เสพยา ยิ่งรุนแรงเพิ่มเท่าตัว “ทิชา” ลั่นแต่งงานไม่ใช่ใบอนุญาตข่มขืน ทำร้ายร่างกายเมีย
วันนี้ (25 เม.ย.) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวภายหลังเดินทางมาเยี่ยมหญิงสาวที่ถูกแฟนหนุ่มไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ว่า ตนมาให้กำลังใจผู้ได้รับบาดเจ็บ ถือเป็นกรณีกระทบกระเทือนจิตใจของคนในสังคม และจากเหตุการณ์นี้ หากเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือผู้หญิงไม่ทัน อาจจะพบเจอกับความรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งนี้ ตนเห็นถึงความทุกข์ ความเจ็บปวดที่มากกว่าบาดแผลบนร่างกาย เพราะการกระทำของผู้ชายที่ถูกเรียกว่าแฟน
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า นอกจากทำร้ายทางร่างกายด้วยความรุนแรงจนบาดเจ็บสาหัส ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้แล้ว ถือว่ามีความผิดอาญาข้อหาพยายามฆ่า และยังไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กอีกด้วยในลักษณะที่ผู้หญิงเปลือยกาย ถือว่าผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 และล่วงละเมิดสิทธิของหญิงสาว สะท้อนถึงการขาดจิตสำนึกในการปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้หญิง ทั้งด้านจิตใจ ชื่อเสียง ครอบครัว สังคม หน้าที่การงาน และความเป็นส่วนตัว จึงถือเป็นการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
“ปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น ผู้ชายมีค่านิยมและเจตคติที่ไม่เหมาะสม เกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงกับชาย แนวคิดที่ว่าแฟนหรือคู่รักเป็นสมบัติของผู้ชาย ผู้ชายมีอำนาจเหนือผู้หญิง รวมทั้งจากการอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัว ความเชื่อที่ว่าปัญหาความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว มักทำให้ผู้ประสบปัญหาพยายามปิดเป็นความลับ และทำให้คนในสังคมไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวและให้ความช่วยเหลือ การที่ไม่ได้รับการแก้ไขผู้ที่กระทำความรุนแรงมักมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการกระทำความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งหากมีการใช้สารเสพติด เช่นกรณีนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้กระทำการโดยขาดความยับยั้งชั่งใจมากขึ้น” นายเลิศปัญญา กล่าว
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือหญิงสาวรายนี้ แสดงให้เห็นว่าสังคมมีการตื่นตัว ไม่ยอมรับ และไม่นิ่งเฉยต่อการกระทำความรุนแรง และขอให้ผู้หญิงหรือทุกคน เมื่อประสบกับปัญหาความรุนแรงให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ อย่าปล่อยให้คนรักหรือแฟนมีพฤติกรรมความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เพราะพฤติกรรมเหล่านี้มีกระบวนการที่สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงได้ อย่าทนกับปัญหาโดยคิดว่าคนรักหรือแฟนจะเปลี่ยนพฤติกรรมเอง เมื่อประสบปัญหาหรือผู้ที่พบเห็นเด็กหรือสตรีถูกทำร้าย ขอให้รีบแจ้งได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม พม. โทร.สายด่วน 1300 ซึ่งมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วบริการในภาวะวิกฤตตลอด 24 ชั่วโมง
ด้าน น.ส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์ ฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า สถิติที่มูลนิธิฯ เก็บข้อมูลทางหน้าหนังสือพิมพ์ พบว่า ส่วนใหญ่สถานการณ์ความรุนแรงในคู่รักหรือแฟน มักจะเป็นฝ่ายชายที่กระทำกับฝ่ายหญิง โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 54.55% ในปี 2557 เพิ่มเป็น 65.2% ในปี 2559 โดยมีชนวนเหตุมาจากความหึงหวง ซึ่งสะท้อนทัศนคติที่ถูกปลูกฝังว่าเมื่อหญิงและชายมีความสัมพันธ์กันแล้ว ทั้งในรูปแบบของสามี-ภรรยา หรือคู่รักแบบแฟน ฝ่ายชายมักคิดว่าฝ่ายหญิงต้องเป็นสมบัติของฝ่ายชาย ถือเป็นการใช้อำนาจเหนือกว่า ผ่านการแสดงออก พฤติกรรมความเป็นเจ้าของ การครอบครอง การใช้กำลังบังคับข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย จนถึงขั้นร้ายแรงที่สุดก็คือ การฆ่า ซึ่งผู้กระทำจะไม่มองคนรักว่าเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ยิ่งไปกว่านั้น หากมีปัจจัยกระตุ้น เช่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และใช้สารเสพติด จะทวีความรุนแรงเป็นเท่าทวี
“เมื่อใครที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ลักษณะนี้ สิ่งที่ต้องทำคือ จับสัญญาณว่าผู้ชายหรือคนรัก มีปัจจัยเสี่ยงทั้งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และใช้ยาเสพติดอะไรหรือไม่ และเมื่อทะเลาะกัน มักจะใช้คำหยาบ ทำลายของใช้ในบ้าน เมื่อเริ่มมีพฤติกรรมลักษณะนี้ ต้องคิดไว้เสมอว่าผู้ชายจะไต่ระดับความรุนแรงขึ้นแน่นอน ดังนั้น ผู้หญิงต้องกล้าที่จะต่อรองเพื่อป้องกันการทำร้ายร่างกาย แต่จากสถิติที่ผ่านมา พบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่มักเลือกที่จะอดทน ถูกสอนให้ต้องอดทน ให้อภัย ให้โอกาส เพราะผู้กระทำเป็นสามี ทั้งนี้ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ต้องมีกลไกเข้าให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาอย่างเข้าใจ ตรงจุด เป็นมิตร และผู้หญิงเองก็ต้องสร้างเงื่อนไขในการให้อภัย เพื่อให้ผู้กระทำได้รับบทเรียนและนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในข่ายอันตรายหรือมีแนวโน้มที่เสี่ยงจะถูกกระทำ สามารถโทรขอคำปรึกษา ได้ที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล 02-5132889 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ของมูลนิธิ” น.ส.จรีย์ กล่าว
นางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน และผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ความจริงการตัดสินใจเป็นคนรักเป็นสามีภรรยา ไม่ใช่การตัดสินใจยกมอบชีวิตให้ ซึ่งชายและหญิงที่จะร่วมใช้ชีวิตด้วยกัน ต้องระลึกไว้เสมอว่า ชีวิตคู่ที่เลือกนั้นไม่ได้ครอบคลุมการทำร้ายร่างกาย นั่นหมายความว่า การแต่งงานไม่ใช่ใบอนุญาตข่มขืนและใบอนุญาตให้ฆ่าหรือทำร้าย สิทธิในเนื้อตัวร่างกายเป็นสิทธิติดตัวตั้งแต่เกิด จนเปลี่ยนสถานะเป็นภรรยา สิทธินั้นก็ยังเป็นของผู้หญิงตลอดไป การทำร้ายร่างกายโดยอ้างความรัก มันเป็นสัญญาณอันตรายที่ผู้หญิงทุกคนพึงระวัง และต้องเตรียมทางหนีทางออกไว้ให้ดี อย่าคิดว่าความรักที่มอบให้เขาจะหยุดความรุนแรงนั้นได้ เพราะเราอาจบาดเจ็บ พิการหรืออาจตายไปก่อน และในฐานะเพื่อนร่วมสังคม โดยเฉพาะสังคมออนไลน์ หลักการสำคัญที่ต้องยึดถือร่วมกัน คือ ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงในชีวิตคู่ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเพราะความรัก ความหึงหวง หรือใดๆ ก็ตาม