“ไม่น่าเกิดก่อนเลยเรา...” เล่นเอาหนุ่มๆ โอดครวญกันเป็นแถว เพราะอยากย้อนวัย ลงเรียนชั้นประถมกับ “คุณครูคนสวย” คนนี้กันอีกรอบ หลังคลิปเล่น “หมากเก็บ” กับเด็กๆ ของ “ครูแอ๋ม” โด่งดังไปทั่วโซเชียลฯ ยอดแชร์เฉียดหมื่น ยอดวิวทะลุ 2 ล้าน!! ใครเห็นเป็นต้องแพ้ทางให้กับความน่ารัก-เป็นธรรมชาติของเธอ ยิ่งได้ยกหูเพื่อค้นหา “เบื้องหลังปรากฏการณ์ปัง” ผ่านทางปลายสาย ยิ่งได้คำตอบว่า “ครูสาวขาเฮ้ว” คนนี้ มีดีมากกว่าสมญานาม “เซียนหมากเก็บ” จริงๆ!!
ดูในคลิป เห็นสนิทสนมกับเด็กนักเรียนขนาดนั้น ใครจะรู้ว่าเธอยังเป็น “คุณครูหน้าใหม่” เพราะชื่อของเธอ “ชัชชนก นามโคตร” เพิ่งได้รับการบรรจุเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้วนี้เอง ส่วนสาเหตุที่เลือกรับตำแหน่งคุณครูประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านหลัก จ.ศรีสะเกษ โรงเรียนประจำ อ.บ้านหลัก แห่งเล็กๆ ซึ่งมีนักเรียนอยู่เพียง 70 คนแห่งนี้ ก็เพราะเธอคือผลผลิตจากโครงการ “ครูคืนถิ่น” ที่ตั้งใจกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองตั้งแต่แรกอยู่แล้วนั่นเอง
ถึงแม้จะมีประสบการณ์ในเส้นทางสายอาชีพ “ครู” ไม่มากเท่าไหร่ แต่ครูแอ๋มกลับมีมุมมองความคิดหลายๆ อย่างที่อ่อนโยน ลึกซึ้ง และน่าสนใจ ก่อนยังไม่ได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน ผู้สัมภาษณ์มองว่าเธอเป็นคนน่ารักคนนึง ซึ่งมีสำเนียงการพูดแบบไทยปนอีสานที่เป็นเอกลักษณ์
แต่หลังจากบทสนทนาระหว่างเราดำเนินไปกว่า 1 ชั่วโมง จึงได้รู้ว่าเธอคนนี้เหมาะสมกับคำว่า “สวย” มากกว่า “น่ารัก” เพราะครูสาววัย 24 คนนี้ สวยมาจากข้างในจริงๆ และบรรทัดต่อจากนี้ คือการถามมา-ตอบไปแบบซื่อๆ ตรงๆ ที่จะทำให้ใครอีกหลายๆ คน หลงรักความเป็นเธอ...
ครูสมัยใหม่ feat. การละเล่นสมัยเก่า
[เล่น “หมากเก็บ" กับเด็กๆ ที่มาความดังสนั่นโซเชียลฯ]
ตกใจไหม กระแสคลิปที่ปล่อยออกไปแรงมาก?
ตกใจมากค่ะ เพราะปกติหนูก็ถ่ายเล่นกับเด็กๆ ลงเฟซบุ๊กประจำอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้มีใครแชร์อะไรมากมายขนาดนี้ อาจจะแค่ 2-3 แชร์ แต่ครั้งนี้ พอเห็นถูกแชร์ไปเยอะๆ ก็ตกใจค่ะ งงๆ ด้วย มีคนบอกมีเพจเอาคลิปเราไปลง 2-3 เพจ หนูก็อึ้งไปเหมือนกัน นี่มันขนาดนั้นเลยเหรอ (หัวเราะ) ก็ไม่รู้ว่าทำไมคนถึงให้ความสนใจอะไรขนาดนี้ แต่คิดว่าที่คนแชร์เยอะ เพราะเขาคงชอบที่หนูเล่นหมากเก็บกับเด็กๆ ค่ะ
คน follow เยอะขึ้นมากไหมในเฟซบุ๊ก?
จากก่อนหน้านี้ มีคน follow หนูอยู่ประมาณ 2,000 คน เพราะหนูเคยขายของ-ขายเครื่องประดับด้วย แต่หลังจากมีคลิปออกไป ก็เพิ่มมาเป็น 12,000 กว่าๆ ก็ถือว่าเยอะนะคะ หนูไม่รู้ว่าทำไมคนเขาถึงชอบเหมือนกัน อาจจะเพราะหนูดูเป็นกันเองกับเด็กหรือเปล่า อันนี้หนูประเมินจากคอมเมนต์ที่เขามาตอบไว้นะคะ ส่วนใหญ่ก็จะมาทางบวกอยู่ค่ะ บอกว่าเราไม่ถือตัว เล่นกับเด็กแบบเป็นกันเอง
มีคอมเมนต์ไหนที่ชื่นใจที่สุด?
ก็มีที่บอกว่า “เป็นตัวอย่างที่ดี” ค่ะ เพราะสมัยนี้ก็ไม่ค่อยเจอคุณครูที่อ่อนโยนต่อเด็กขนาดนี้ มีคอมเมนต์นึงบอกว่าชอบตอนที่หนูมองเด็ก หนูก็โห..เขาดูขนาดนั้นเลยเหรอ (หัวเราะ) จริงๆ หนูคิดว่าคนอื่นจะมองว่าไร้สาระด้วยซ้ำ ประมาณว่าพาเด็กมาทำอะไรแบบนี้
อยากรู้จุดเริ่มต้นของการเล่นหมากเก็บ
ตกลงครูชวนเด็ก หรือเด็กชวนครู?
คือคาบนั้น หนูก็สอนวิชาภาษาอังกฤษตามปกติแหละค่ะ พอสอนเสร็จแล้ว ถ้าใครส่งงานเสร็จ หนูก็ให้เขาพักได้ คำว่า “พัก” ของหนูคือ ให้เขาไปทำกิจกรรมอะไรก็ได้ค่ะ ที่เขาอยากทำ แต่ต้องเป็นภายในห้อง เขาก็เลยเล่นตามปกติของเขา
หนูก็นั่งตรวจงานไปสักพัก เสียงก็ดังขึ้น หนูเลยเดินมาดู ก็เห็นเด็กเล่นหมากเก็บกันอยู่ หนูเลยเดินเข้าไปคุยกับเด็กว่า “แต่ก่อน ครูก็ชอบเล่นเด๊ะหนิ” ก็สงสัยค่ะว่าทำไมจู่ๆ ถึงมาเล่นหมากเก็บกัน เพราะมันไม่ใช่การละเล่นสมัยเขาไงคะ
เด็กเขาก็เลยพูดขึ้นมาว่า “ครูลองเล่นไหมล่ะคะ ไหนครูลองมาโชว์หน่อย” เขาก็ท้าทายเราตามประสาเด็ก (ยิ้ม) หนูก็เลยลองไปเล่นกับเขา ซึ่งหนูก็ชอบเล่นอะไรแบบนี้อยู่แล้วตอนเด็กๆ
แล้วตกลงเล่นไปได้กี่เกม ชนะหมดไหม?
นับตามจำนวนโซ่ค่ะ ถ้าเก็บโซ่ได้หมดก็ชนะ ถ้าไม่ตกเลย หนูก็มีเล่นได้บ้าง ไม่ได้บ้าง จริงๆ ก็ถ่ายหลายคลิปอยู่นะคะ (หัวเราะ) แต่คลิปที่ลงคือคลิปที่ชนะ เล่นไม่ตกเลย ก็เลยเลือกคลิปนี้ลง ตอนถ่ายก็ให้เด็กๆ ช่วยถ่ายให้ค่ะ ประมาณว่าอยากย้อนวันวาน แล้วหนูก็ลงปกติ ไม่ได้กะจะให้มันดังอะไรเลย
เด็กๆ ทึ่งในความเป็น “เซียนหมากเก็บ” ของเรายังไงบ้างไหม?
ในคลิปก็จะมีเด็กคนนึงทำหน้าทำตา บอก “อู้หู!!” ด้วย (ยิ้ม) ก็คิดว่าคนก็คงจะชอบจากปฏิกิริยาของเด็กด้วย เด็กเขาก็แซวนะว่า “โอ๊ย..ครู หนูไม่ได้เล่นเลย”
หลังจากคลิปมันดัง พอเปิดโรงเรียนมา โดนแซวหนักเลยค่ะ มีเด็กหลายคนเข้ามาทำท่าขอลายเซ็น บางคนก็เอาด้ามไม้กวาดมาแทนไมค์ บอกครูขอสัมภาษณ์หน่อย (ยิ้ม) ตามประสาเด็กแหละค่ะที่ชอบเล่น หนูก็แซวกลับว่า “มาๆ เดี๋ยวครูจะเปิดวิชาหมากเก็บนะ” (หัวเราะ)
รู้สึกยังไงที่มีคนชมว่า รู้จักเอาการละเล่นแบบไทยๆ มาสอนเด็กๆ?
ตอนแรกหนูก็ไม่ได้คิดถึงขั้นนี้นะคะ ไม่คิดว่าจะมีคนมองมาในมุมลึกขนาดนี้ด้วย หนูแค่เห็นเด็กเล่น แล้วก็อยากเล่นบ้าง อย่าง “หมากเก็บ” แต่ก่อนหนูก็ชอบเล่นค่ะ แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีให้เห็นแล้ว เพราะเด็กสมัยใหม่ เขาก็จะติดเกมโทรศัพท์-ติดคอมพ์แทนกันหมดแล้ว
รู้ไหมว่าทำไมเด็กๆ ถึงกลับมาเล่นแบบไทยๆ แบบนี้?
ก่อนหน้าที่เขาจะเล่นหมากเก็บ เขาก็เล่น “เกมเศรษฐี” มาก่อนค่ะ คือเขาจะเปลี่ยนการละเล่นกันไปเรื่อยๆ เหมือนพอมีคนนึงพาเล่น ทุกคนก็จะเล่นเหมือนๆ กันทั้งโรงเรียน เพราะโรงเรียนที่หนูสอนอยู่ เป็นโรงเรียนเล็กๆ มีนักเรียนอยู่ประมาณ 70 คนเอง ทำให้ทุกอย่างมันกระจายไปเร็วมาก นี่ก็กลายเป็นว่าตอนนี้เล่นโซ่กันทั้งโรงเรียนเลย
สานสัมพันธ์ ลดช่องว่างระหว่าง “ครู-นักเรียน”
เพิ่งเข้าไปสอนได้ไม่นาน ทำยังไงให้สนิทกับเด็กๆ ได้เร็วขนาดนี้?
ด้วยความที่หนูเฮฮาด้วยแหละมั้งคะ เด็กเขาเลยกล้าที่จะเข้าหา แต่ไม่ได้เข้ามาแบบลามปามหรือปีนเกลียวนะคะ เขาให้ความเคารพเราด้วย หนูจะไม่ใช่ประเภทครูที่ต้องทำท่าถือตัว อย่ามายุ่งกับครูนะ เธอเป็นเด็ก จะไม่ใช่แบบนั้นเลย
เหมือนเวลาช่วงพัก หนูก็จะเล่นกับเขา ไปคุย เหมือนไม่ใช่ว่าพอพักในคาบ ก็เอาแต่นั่งอยู่ในแต่โต๊ะ อยู่กับตัวเอง เพราะมันจะทำให้เด็กรู้สึกถูกแบ่งแยก ซึ่งหนูมองว่ามันเป็นความคิดแบบเก่าๆ สมัยเรียนหนูก็เคยเห็นครูที่ทำแบบนี้เหมือนกัน เคยแอบคิดอยู่ว่า ทำไมเราถึงไปเล่นกับครูไม่ได้
พอได้มาเป็นครู หนูก็เลยจะใช้ช่วงพัก เข้าไปคุย เข้าไปเล่นกับเด็กๆ แต่พอตอนสอน เราก็จะวางตัวอีกรูปแบบนึง จะตั้งใจสอน ให้เขาเห็นว่าเราเอาจริงอยู่นะ ถ้าใครผิด เราก็บอกตอนนั้นเลย แต่การบอกของหนูไม่ใช่การด่านะคะ แค่จะเตือนว่าผิดนะลูก แก้ไขหน่อยนะ
หนูคิดว่าเด็กเขารู้นะว่า ตอนไหนหนูเล่นกับเขาได้ หรือตอนไหนที่หนูสอนอยู่ เขาก็จะเข้าใจเราอยู่พอสมควร หนูคิดว่าการที่เราเข้าไปเล่นกับเขา เพื่อให้เขารู้สึกเป็นกันเองกับเรา แล้วพอเขาสนิทใจ เขาก็จะเชื่อฟังเราเอง และที่ผ่านมาที่พิสูจน์มา มันก็ใช่แบบนี้ตลอด
ส่วนเวลาสอน หนูก็จะนึกถึงตอนที่เราเด็กๆ ว่าเราชอบอะไร เด็กเขาก็น่าจะชอบแบบนั้นนะ จะพยายาม “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” แล้วก็สอนแบบไม่เครียดเลย เด็กก็จะชอบ เพราะเด็กชั้นประถม สมาธิเขาจะไม่อยู่นิ่งอยู่แล้ว จะสมาธิสั้นหน่อย พอทำอันนึงเสร็จ เขาก็จะไปละ หนูเลยพยายามคิดว่าจะทำยังไง ให้เขาจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เรากำลังสอน ก็เลยคิดถึงการทำ “เกม” ให้เขาเล่นขึ้นมา
[เกม “My Body” สอนคำศัพท์ให้เด็กๆ]
เห็นในเฟซบุ๊ก มีภาพแปะการ์ดคำบนจมูกเด็กด้วย
อันนี้ก็เกมอย่างนึงใช่ไหม?
อ๋อ..อันนั้นเป็นเกมในคลาสภาษาอังกฤษค่ะ จะใช้ตอนให้เด็กเรียนคำศัพท์เกี่ยวกับอวัยวะภายในร่างกาย เรียกว่าคลาส “My Body” จะเริ่มจากให้เด็กแบ่งเป็นกลุ่ม 2 กลุ่ม ให้แข่งกันเอาบัตรคำมาแปะเพื่อนที่ยืนเป็นหุ่นให้เพื่อนแปะ สมมติว่าเจอบัตรคำศัพท์ว่า “Nose” ก็ต้องแปะให้ถูกที่ “จมูก” ของเพื่อน หนูก็จะมีเปิดเพลงไปด้วย เขาก็จะสนุก เพราะได้ลุ้นกันไปด้วย
แสดงว่าต้องคอยทำเกม ทำสื่อการเรียนการสอนเองหมดเลย?
ทำเองหมดเลยค่ะ ก็มีบ้างเหมือนกันนะคะที่ทำไม่ทัน แล้วอยากจะสั่งซื้อ (หัวเราะ) เพราะเนื้อหาที่สอนโรงเรียนประถม ต้องทำวันต่อวันจริงๆ ตอนที่เรียนครุศาสตร์ (ม.ราชภัฏอุบลฯ) ก็ไม่คิดว่าเป็นครูจะต้องทำอะไรเยอะขนาดนี้ เพราะสมัยเราเรียน ไม่มีสื่ออะไรพวกนี้เลยค่ะ จะมีแค่ให้เปิดหนังสือไปหน้านี้ๆ นะ อ่าน เขียน แล้วก็ให้การบ้าน
แต่เราไม่ต้องทำก็ได้นี่ ทำไมถึงคิดว่าต้องทำสื่อให้เด็ก?
(นิ่งคิดนิดนึง) ก็ถูกค่ะ มันไม่ต้องทำก็ได้ แต่เวลาสอนแล้วเห็นเขาสนุกกับสื่อที่เราทำ มันก็โอเคแล้วค่ะ “อ.ปิยาพัชญ์ นิธิศอัครานนท์” อาจารย์ที่ปรึกษาของหนูสมัยมหาวิทยาลัย แกเคยบอกเอาไว้ว่าการที่เรามาพูดปาวๆๆ แล้วก็บังคับให้เด็กอ่าน แล้วหวังว่าเขาจะทำได้ ยังไงมันก็ไม่ได้หรอก เพราะยังไงเด็กเขาก็คู่กับการเล่น เราต้องทำให้เขาสนุก ให้ได้เรียนเหมือนได้เล่น มันถึงจะได้ผลค่ะ
มีตี-มีเตือน ไม่ใช่ “นางฟ้าในห้องเรียน”
ตอนนี้มีคนเรียกเราว่า “นางฟ้าในห้องเรียน” ไปแล้ว
รู้สึกยังไงบ้าง?
(หัวเราะ) ก็มีอยู่นะคะที่เขาบอกแบบนี้ หนูก็ดีใจนะที่คนให้การตอบรับที่ดี แต่อยากจะบอกว่ามันไม่จริงเลยค่ะ (หัวเราะเบาๆ) ในคลิปอาจจะเห็นมุมน่ารักๆ เห็นหนูเล่นกับเด็ก แต่ในเวลาสอน หนูก็จริงจังนะ เด็กก็จะบอกว่า “พอครูโหด น่ากลัวมาก” หรือบอกว่า “ครูสวยนะคะ แต่ครูโหดมาก” (หัวเราะ) อะไรแบบนี้
ที่ว่า “โหด” โหดยังไง?
อย่างเรื่อง “กาลเทศะ” บางทีเด็กอาจจะมีลืมตัวไปบ้าง พูดจาโผงผาง ไม่มีหางเสียง ถ้าได้ยินปุ๊บ หนูจะจี้ให้แก้ตรงนั้นเลย ไม่ให้เขาสะสมไปเรื่อยๆ จนเป็นนิสัย พอเจอเราคราวหลัง เขาก็จะรู้แล้วว่า ถ้าต่อไปพูดกับครูแอ๋ม ต้องพูดมีหางเสียง บางทีเวลาเดินผ่านเรา เขาก็จะก้ม และทุกอย่างก็จะเริ่มเป็นระบบมากขึ้นเอง
หนูจะไม่ด่าเด็กเลยค่ะ เพราะหนูชอบเวลาเด็กเข้าหาเรา ก็เลยคิดว่าจะวางตัวยังไงให้เขากล้ามาคุยกับเรา เลยจะใช้วิธีการพูดดีๆ เป็นการเตือนแทนค่ะ แต่ถ้าเด็กคนไหนทำเกินกว่าเหตุจริงๆ ทำเกินไปจนเตือนอย่างเดียวไม่ได้แล้ว หนูก็จะมีลงโทษบ้าง ก็จะมีตีบ้างค่ะ
แต่ก่อนจะตี หนูก็ต้องบอกเหตุผลก่อนทุกครั้ง ให้เด็กเข้าใจว่าทำไมเราถึงต้องลงโทษ เพื่อให้เขารู้ตัวเขาก่อนว่า เขาทำผิดตรงไหน เพราะเด็กบางคนเขาบอกว่าเขาไม่ผิด ซึ่งมันก็อาจจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่เราไม่ถามเหตุผลเขาไงคะ เราก็ต้องถามก่อน แล้วก็อธิบายกับเขาดีๆ
เพราะตอนเด็กๆ หนูเคยเจอครูที่ตีแบบไม่มีเหตุผลมาแล้ว ตีหนักด้วย บางคนก็ตีกะให้ตายก็มี หนูเคยเห็นเพื่อนโดน แล้วก็เห็นตอนฝึกสอนด้วย แล้วก็คิดเอาไว้ตั้งแต่ตอนนั้นเลยว่า เราจะไม่ทำแบบนี้แน่ๆ
เราใช้อะไรตี?
ก็เป็นไม้ไผ่ก้านเล็กๆ ค่ะ มีตีมือบ้าง ตีก้นบ้าง นอกนั้นก็มีดึงหูบ้าง (หัวเราะ) สำหรับเด็กที่เวลาทำกิจกรรมแล้วไม่ฟัง เขาก็จะรู้ว่าเราหมายความว่าให้ฟัง
ช่วงหลังๆ มีประท้วงการลงโทษเด็กของครู
ออกกฎกันว่า “ห้ามตี” เรามองยังไงบ้าง?
เอาจริงๆ นะคะ หนูมองว่าถ้าไม่ตี มันไม่ได้นะ เพราะต่อให้ครูจะใจดีแค่ไหน แต่มันก็ต้องมีการลงโทษกันบ้าง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูเหตุการณ์และเรื่องราวในตอนนั้นด้วยว่า สิ่งที่เด็กทำมันสมควรโดนลงโทษไหม
มีครูหลายคนมองว่า การตีหนักๆ จะทำให้เด็กจำ เพราะฉะนั้น ก็จะมีครูที่ตีจนเด็กเลือดซิบ ตีจนเป็นรอย พอเวลาเพื่อนจะถูกลงโทษ เขาก็จะยุให้ตีเพื่อนคนที่ทำผิดเลย เขาจะได้จำ หนูยังถามเด็กเลยว่า มันต้องขนาดนั้นเลยเหรอ เพราะจริงๆ แล้ว ถึงหนูจะมองว่าอาจจะต้องมีการตีเด็กบ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องตีแรงเกินความจำเป็นขนาดนั้น
ที่สำคัญ ก่อนจะตีเด็กทุกครั้ง เราต้องบอกเหตุผลที่เพียงพอให้เขาค่ะ สังเกตจากการที่เขาซักถามเรา เขาจะขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่า “ทำไม...” ตลอด “ทำไมคุณครูต้องใส่รองเท้าคู่นี้” “ทำไมคุณครูใส่เสื้อตัวนี้มา” “ทำไมวันนี้คุณครูมาสาย” ฯลฯ แสดงว่าเด็กๆ เขามีเหตุผลกันมากๆ เลย เราเลยจำเป็นต้องให้เหตุผลกับเขา
อาชีพนี้ ไม่ง่ายอย่างที่เคยคิด
ตอนที่เลือกเรียนครู เคยมองภาพตัวเอง
เป็น “ครูประถม” บ้างไหม?
ไม่ได้คิดเลยค่ะ ตอนช่วงปี 2 ทุกคนที่เรียนด้วยกัน ทั้งเพื่อน ทั้งหนู ท้อมาก มานั่งจับเข่าคุยกันว่า เราจะออกไปเป็นครูได้จริงเหรอ จากก่อนหน้านี้เราเคยมองว่า “ครู” เป็นอาชีพที่ใครๆ ก็อยากเป็น พอๆ กับหมอเลย ก็เลยคิดว่ามันน่าจะง่าย คงไม่มีอะไรมาก ก็แค่มายืนพูดยืนสอน แต่พอได้ไปสอนจริงๆ รู้เลยว่ายากมาก (ลากเสียง)
จากช่วงแรกๆ ที่เข้าเป็นเรียนครุฯ ก็จะยังไม่หนักมาก ตอนเป็นเฟรชชี่ก็ยังดูชิลชิล แต่พอมาปี 2 เริ่มมีวิจัย, เรียนจิตวิทยาสำหรับครู หนูก็เพิ่งรู้นี่แหละค่ะว่า การเป็นครูมันต้องขนาดนี้เลย ก็มีเพื่อนหลายๆ คนที่ซิ่วไป (ย้ายไปเรียนคณะอื่น) แต่หนูก็ยังพยายามสู้มาจนถึงตอนนี้
ตอนไปสอนครั้งแรกยากไหม?
ถ้าสอนครั้งแรกก็คือตอนไป “ฝึกสอน” ช่วงเรียนปี 4 ค่ะ ได้ไปสอนเด็ก ป.3 ยิ่งพอได้มาสอนจริงๆ มาทำอาชีพครูจริงๆ ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ จากตอนแรกที่คิดว่าถ้าฝึกสอนทำได้ ตอนสอนก็คงไม่มีอะไรหรอก ก็คงเหมือนๆ กัน แต่ความจริงมันไม่ใช่เลยค่ะ เพราะตอนเราฝึกสอน ถึงเราจะได้สอนเด็กจริง แต่เด็กๆ ก็ยังอยู่ในความดูแลของ “ครูพี่เลี้ยง” อยู่ ไม่เหมือนตอนที่เรามาเป็นครูจริงๆ ที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเองทุกอย่าง
พอมาสอนจริงๆ มีเหตุการณ์ไหนไหมที่เจอแล้ว
ผ่านไปได้ยากที่สุด?
มีค่ะ (นิ่งคิดนิดนึง) นี่เป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดเลย วันนั้นเป็นวันที่หนูสอนคณิตศาสตร์เด็กเรื่อง “จำนวนคู่-จำนวนคี่” หนูก็ซื้อถุงเท้ามาให้เด็กๆ นับกันในห้องเรียนจริงๆ ประมาณ 4 คู่ แล้วก็ให้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ใครชนะจะได้ถุงเท้าเป็นของรางวัล
พอผลออกมา ทีมที่แพ้เขาก็พูดเยาะเย้ยทีมที่ชนะ ประมาณว่าถุงเท้าถูกๆ แค่นี้ ไปซื้อเองก็ได้ มันก็แรงในความรู้สึกหนูนะ หนูก็เลยพูดสอนเด็กไปตรงๆ เลยว่า การที่เราพูดแบบนี้ มันเหมือนดูถูกน้ำใจครูนะ ก็มีพูดจนน้ำหูน้ำตาไหลกันไป (ยิ้ม) หนูก็มีร้องไห้ด้วย เด็กเขาก็อินด้วย เพราะหนูก็พูดจากใจเลย กะให้เขาอินไปกับเราจริงๆ
ก็มียกตัวอย่างให้เขาฟังว่า ถ้ามีคนเอาสิ่งของมาให้ แล้วเธอบอกว่าไม่เอา ไม่สวย ไม่อยากได้ เธอว่าเขาจะรู้สึกยังไง เสียใจไหม เด็กเขาก็ตอบมา หนูก็พูดย้อนไปย้อนมาให้เขาคิดตามว่า เราเสียใจนะ แต่พอสอนจบ หนูก็จะตบท้ายด้วยมุกฮาๆ ให้เขายิ้ม เด็กเขาก็มาบอกว่า เมื่อกี้หนูร้องไห้เลย
[สมัยฝึกสอนตอนมหาวิทยาลัย ก่อนลงสนามจริง]
อีกเหตุการณ์นึงก็จะเป็นตอนที่เจอเด็กผู้หญิงคนนึงที่ก้าวร้าวมาก เป็นเหตุการณ์ที่คณะครูจดจำกันได้ทุกคน คือเขามาขอชีตอันใหม่ เพราะว่าอันเก่ามันเปื้อน มันไม่สวย หนูก็บอกเขาไปดีๆ ว่า ถ้ามาขอใหม่แบบนี้ แล้วเพื่อนคนอื่นที่เขาอยากได้เหมือนกันล่ะ มีคนที่ 2 ที่ 3 มาขอใหม่ แล้วอย่างนี้ครูไม่ต้องทำให้ใหม่ทุกคนเลยเหรอ
คือเราก็พยายามค่อยๆ พูดให้เขาคิดนะ แต่เขาก็แสดงออกมาแบบก้าวร้าว บอกว่าไม่เอาก็ได้ ไม่ให้ก็ไม่ทำ แล้วก็ฉีกชีตทิ้งต่อหน้าเราตรงนั้นเลย แล้วก็เขียนด่าครูด้วย เขียนเป็นคำหยาบเลย ก็ถือว่ารุนแรงเหมือนกันนะ ตอนนี้คณะครูก็กำลังจับตากันอยู่ ถือเป็นเด็กที่ต้องดูแลเป็นพิเศษมากๆ
มาทราบทีหลังว่า เป็นเพราะพื้นฐานจากทางบ้าน เด็กก็เลยเป็นแบบนี้ หนูก็มานั่งคิดว่าจะแก้ปัญหายังไงดี เพราะก็ไม่เคยเจอเด็กก้าวร้าวแบบนี้
แต่หนูก็พยายามเข้าใจ ก็จะใช้วิธีไม่ซ้ำเติมเขา จะไม่ตีหรือด่าให้จำ เพราะหนูก็เคยดุเขาไปบ้างแล้วเหมือนกัน แต่มันไม่ได้ผล มีแต่จะทำให้เขาไม่กล้าเข้าหาเรา หลังๆ หนูเลยใช้วิธีใหม่ พอเขารุนแรงมา เราก็อ่อนโยนใส่ ซึ่งก็ได้ผล ช่วงหลังๆ เขาก็เข้ามาคุยกับหนูเอง มาขอคำปรึกษา หนูก็เลยรู้ว่าพูดดีๆ นี่แหละค่ะ ต้อง “ใจดีสู้เสือ” ถึงจะได้ผล
แล้วเรื่องประทับใจล่ะ มีไหม?
หนูว่าครูทุกคนรู้สึกเหมือนกันค่ะ คือการที่เด็กชอบในสิ่งที่เรานำเสนอ แค่เห็นเขาเรียนกับเราแล้วเขาสนุก เขามีความสุขไปกับสิ่งที่เราพาทำ แค่นั้นหนูก็รู้สึกบรรลุแล้วค่ะ (ยิ้ม) เพราะถ้าเขาสนุกที่จะเรียนแล้ว แล้วเดี๋ยวอะไรดีๆ อย่างอื่นก็จะตามมาเอง เขาก็จะได้ความรู้ แล้วก็เก่งได้เองตามลำดับ
ดีต่อใจ “ครูบ้านนอก” คนนึง
เห็นเด็กพูดภาษาอีสานกับครูแอ๋มด้วย เวลาสอน พูดภาษาอะไร?
ปนเปเลยค่ะ (ยิ้ม) ผสมกันเลย แต่โรงเรียนที่หนูสอน ภาษาถิ่นเขาจะเป็นภาษาเขมร กับภาษาส่วย แล้วก็มีภาษาลาวบ้างประปราย ซึ่งหนูก็ฟังเขมรออกบ้างอยู่แล้ว เพราะคุณยายหนูแกพูดได้ หนูก็ฟังเอาจากนั้น ก็เลยฟังได้ พูดได้เป็นบางคำ แต่ถ้าเด็กพูดรัวมาเลย ก็ไม่ได้เหมือนกัน (ยิ้ม)
อายไหม เวลาพูดภาษาอีสาน เพราะสาวอีสานบางคนไม่กล้าพูด?
จะอายทำไมพี่ (ยิ้ม) ไม่อายเลยค่ะ หนูว่าเรื่องนี้ตัดออกได้เลย มันไม่ใช่เรื่องน่าอายเลย ภาษาพูด ภาษาถิ่นของเราเนี่ย ดูอย่างคนใต้สิคะ เขาพูดกันน้ำไหลไฟดับ เขาก็ไม่ได้อายนะ หนูก็มองว่าการพูดภาษาอีสานก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรนะ ตอนสอนเด็กก็พูด ช่วงสอนก็จะมีใส่มุกภาษาอีสานด้วย (ยิ้ม) ภาษาอีสานก็จะเป็นภาษาตลกอยู่แล้ว เด็กๆ ก็จะได้ขำขันกันไป แต่มุกภาษาเขมรยังไม่มีนะคะ (หัวเราะ) ยังไม่แอดวานซ์ขนาดนั้น
สอนโรงเรียนเล็กๆ ในต่างจังหวัด
มีคนเรียก “ครูบ้านนอก” บ้างไหม และรู้สึกยังไงกับคำนี้?
หนูก็ไม่ได้คิดว่าเป็นคำที่เขามาดูถูกอะไรเรานะคะ ถ้าจะมีคนเรียกหนูอย่างนั้น เพราะมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ (ยิ้ม) และที่หนูได้สอนโรงเรียนนี้ ก็เพราะหนูสอบติดโครงการ “ครูคืนถิ่น” ด้วย เลยทำให้ได้กลับมาสอนที่ภูมิลำเนาของตัวเอง และหนูก็ตั้งใจสอบโครงการนี้เลยด้วยค่ะ
ในฐานะคุณครู อยากเห็นลูกศิษย์เป็นเด็กแบบไหน
ถึงเรียกได้ว่า “เด็กดีของคุณครู”?
ในความคิดหนู ที่อยากเห็นเด็กๆ เป็น อาจจะไม่ใช่แค่ “เด็กเก่ง” อย่างเดียว แต่ต้องเป็น “เด็กดี” ด้วย เพราะตอนนี้ก็จะมีเด็กคนนึงที่เก่งมากๆ เก่งกว่ารุ่นพี่อีก แต่จะมีความเห็นแก่ตัว ไม่มีจิตอาสาอะไรเลย หนูก็เลยพูดเรื่องนี้กับเขาไปตรงๆ เลยว่า “เธอน่ะเก่งนะ แต่ว่าเก่ง แล้วก็ต้องดีด้วย” ใจความประมาณนี้
หนูว่าทุกวันนี้ เด็กบางคนเรียนเก่ง แล้วเขาก็จะคิดว่าตัวเองสุดยอดแล้ว เราเก่ง ครูชอบเรา ครูชื่นชมเรา พอแล้ว ไม่ต้องทำอะไร แต่มันก็ทำให้เขาขาดความเป็นจิตอาสา แทบจะหาไม่ได้เลย หนูก็อยากฝากตรงนี้
ตรงกันข้ามกัน มีเด็กคนนึงที่หนูเห็น เขาไม่เก่งอะไรเลย แต่ทำงานอาสาได้ไวมาก ทำได้ทุกอย่าง มันก็ทำให้เราเห็นว่าเด็กเขาก็มีหลายแบบเนอะ เราก็พยายามเอามาปรับ เอามาคิดว่าจะทำยังไงให้เด็กของเราเป็นได้ทั้ง “เด็กเก่ง” และ “เด็กดี”
แต่หนูจะไม่พูดเปรียบเทียบเด็กคนไหนเลยนะคะ เพราะหนูเคยเห็นเด็กถูกเรียกไปดุ และอาจารย์ก็หยิบเพื่อนอีกคนมาเปรียบเทียบ เด็กที่ถูกตักเตือนก็ไม่ได้เถียงอะไร ได้แต่ทำหน้าเศร้าอยู่ข้างใน หนูก็ไม่อยากให้เกิดแบบนั้น เพราะคงไม่มีใครชอบหรอกที่ถูกเปรียบเทียบ แม้แต่ตัวเราเอง
คิดว่าเราประสบความสำเร็จในอาชีพครูหรือยัง
และคิดว่าเมื่อไหร่จะถึงจุดนั้น?
ยังเลยค่ะ เพราะการที่เราจะประสบความสำเร็จไหม หนูว่าผลของมันจะสะท้อนไปที่ตัวเด็กด้วย ตอนนี้เด็กที่หนูสอนก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเลย อาจจะต้องดูว่าเขาสอบได้ที่ 1 หรือเปล่า, สอบติดที่ไหน, หรืออะไรก็ตามที่เขาทำได้ แล้วถือเป็นความภาคภูมิใจและความสำเร็จในชีวิตเขา หนูว่าจุดนั้นแหละค่ะ ก็คือความสำเร็จของครูผู้สอนด้วย ที่ได้เป็นคนที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ
ทุกก้าวที่ผ่านมา บนเส้นทางสายอาชีพ “ครู”
มีจุดไหนบ้างไหม ที่รู้สึก “ดีต่อใจ” มากที่สุด?
เหตุการณ์ที่หนูประทับใจจริงๆ เลยก็คือ การที่เด็กบอกหนูว่า “หนูอยากเรียนกับครูทุกวันเลย” “หนูอยากให้ครูสอน” มันเป็นแรงผลักที่ดีมากๆ เลยนะคะสำหรับหนู มันก็ต้องมีบางวันอยู่แล้วที่เราอาจจะมีขี้เกียจบ้าง รู้สึกไม่ไหวบ้าง แต่พอนึกถึงคำพูดนี้ มันก็ทำให้หนูมีแรงอยากจะไปสอน อยากไปเจอเด็กๆ อีก มันดีต่อใจหนูมากจริงๆ (หัวเราะ)
จะมีคลิปน่ารักๆ อะไรออกมาอีกไหม?
น่าจะคงยังค่ะ เพราะถ้าหนูลงคลิปไป คนอาจจะคิดว่า แหม..คลิปนั้นออกไปแล้วปัง คลิปนี้รีบมาลงเลยนะ (ยิ้ม) ก็เลยไม่ได้คิดเรื่องนี้เลยค่ะ ไม่ได้รู้สึกว่าต้องเค้นออกมา คนมาติดตามเราแล้วนะ เขาต้องอยากดูคลิปเรา ต้องรีบไปอัดคลิป ก็ไม่ได้คิดแบบนั้น (หัวเราะ) ก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามปกติค่ะ
ตอนนี้ก็มีคนมาทัก-มาแซวนะคะว่า มีคลิปหมากเก็บไปแล้ว เมื่อไหร่จะมีคลิปโดดยาง, เป่ากบ, กิงก่องแก้ว ออกมาบ้าง (ยิ้ม) การละเล่นพื้นบ้านก็มาหมดเลย
แล้วจะมีคลิปการละเล่น ออกมาเอาใจแฟนๆ หรือเปล่า?
มันก็คงจะดูไม่เป็นไปตามธรรมชาติแล้วค่ะ แต่ก็แอบคิดเหมือนกันนะคะว่า ถ้าเราทำคลิปการละเล่นพื้นบ้านกับเด็กๆ ออกมา มันก็จะเป็นจุดขายเราได้เหมือนกันนะ มันจะได้ไม่หลุดคอนเซ็ปต์ เพราะเรามาแนวนี้แล้วไง (หัวเราะ) ก็มีแอบคิดเหมือนกัน แต่คงยังไม่ลงคลิปหรอกค่ะ
แต่หนูก็มานั่งคิดนะคะว่า การที่คลิปนี้มันโด่งดัง มันก็เป็นเหมือนดาบสองคมเหมือนกันนะ จากแต่ก่อนคนไม่รู้จักเราเลยว่าเราเป็นใคร อยู่มุมไหนของโลก จะลงอะไรก็ได้ แต่ตอนนี้คนก็รู้จักแล้ว จะโพสต์อะไรก็ต้องคิด ต้องระวังแล้ว ต้องคิดเยอะ กลายเป็นต้องไปแคร์คนหลายๆ คนที่เราไม่รู้จัก แต่หนูก็จะเป็นแบบนี้ของหนูไปนี่แหละค่ะ
อยากฝากบอกอะไรถึงคนที่ติดตามเราอยู่ไหม?
ก็ขอบคุณมากจริงๆ ค่ะ ไม่คิดไม่ฝันว่าจะมีคนให้ความสนใจมากขนาดนี้ กับครูตัวน้อยๆ คนนึงคนนี้ ก็ดีใจค่ะ ภูมิใจ คิดว่าอย่างน้อยเขาก็อาจจะเห็นอะไรในตัวเรา เพราะคลิปที่ลงมันก็ธรรมดามาก ก็ต้องขอบคุณมากๆ ค่ะ
ยังไงก็สามารถติดตามผลงานการสอนของหนูได้ค่ะ (หัวเราะ) พูดเหมือนจะฝากละครเลย ปกติที่เวลาเด็กทำงานอะไรมา หนูก็จะเอามาลงตลอด ก็จะพยายามสร้างสรรค์สื่อ สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ออกมาให้ได้ชมกันค่ะ
คนรู้ใจ = เพื่อนที่ลุยไปด้วยกัน [คนรู้ใจที่คบมาได้ 2 ปีแล้ว] ถ้าพูดถึงเรื่องสเปก พอเรามาคบกันจริงๆ แทบจะไม่คิดเรื่องนี้เลยค่ะ เรื่องรูปลักษณ์ภายนอก หนูไม่สนใจ หนูตัดทิ้งได้เลย เพราะหนูดูที่ข้างในจิตใจ แต่ถ้าเป็นสเปกเรื่องนิสัย หนูชอบคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่า คือไม่ได้หมายถึงอายุนะคะ แต่หมายถึงนิสัย ต้องมีความเป็นผู้นำ อย่างแฟนตอนนี้ก็อายุน้อยกว่า 1 ปี แต่เขาก็มีความเป็นผู้ใหญ่กว่าเราค่ะ ที่สำคัญต้องให้เกียรติเรา ในขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนเพื่อนกัน จะได้ลุยๆ ไปด้วยกันได้ เพราะหนูไม่ชอบให้ใครมากำหนดกรอบว่า ทำนู่นนี่ก็ไม่ได้ ต้องทำตามที่เขาสั่ง เพราะหนูก็เป็นคนที่ช่วยเหลือตัวเองมาก่อนหน้านี้อีก แค่เจอคนไปไหนไปกันได้ ก็โอเคแล้วค่ะ เราคบกันแบบสบายๆ ปีนี้ก็เป็นปีที่ 2 แล้วค่ะ ทุกวันนี้ก็ไม่ได้ปิดบังเรื่องแฟนค่ะ ยังลงรูปคู่กันเหมือนเดิมตามปกติ หลังจากที่คลิปดัง เขาก็รู้ เขาก็บอกให้หนูทำตัวปกติ ก่อนหน้านี้เป็นยังไง ก็เป็นอย่างนั้น ก็จะมีไม่เข้าใจกันบ้างช่วงแรกๆ ค่ะ ตอนที่เราเช็กโทรศัพท์เยอะ เพราะมันเตือนในเฟซบุ๊ก เขาก็จะบอกว่าจับแต่โทรศัพท์นะ ไม่จับมือเขาเลย อะไรประมาณนั้นค่ะ (หัวเราะ) แต่ก็คุยกัน-เคลียร์กันเรียบร้อยแล้ว ก็เลยไม่เป็นปัญหา และตอนนี้เขาก็รู้ว่าสถานการณ์มันเป็นยังไง กระแสก็คือกระแสค่ะ หนูว่าเดี๋ยวมันก็คงจางไปเอง |
“ผู้สาวขาลุย” โตมาแบบแมนๆ!! [คุณพ่อ, น้องชาย และคุณแม่] คุณแม่เลี้ยงหนู แบบที่หนูไปสอนเด็กนี่แหละค่ะ (ยิ้ม) เลี้ยงแบบกันเอง เป็นเพื่อนกัน คุยกันได้ทุกเรื่อง ส่วนคุณพ่อก็จะเป็นคนมีมุมน่ารักของเขา จะเป็นห่วงลูกสาว แต่ไม่ค่อยพูดเท่าไหร่ แล้วก็ชอบปลูกฝังหลายๆ เรื่องให้เรา อย่างทุกวันนี้ในวัยทำงาน พ่อก็จะสอนเรื่อง “การวางตัว” จะบอกตลอดเลยเรื่องนี้ [คุณแม่และคุณพ่อ สมัยรับปริญญาจาก ม.ราชภัฏอุบลฯ] นอกนั้นก็จะสอนเรื่อง “ความกตัญญู” แล้วก็ “การช่วยเหลือตัวเอง” พ่อจะบอกตลอดว่าไม่มีใครช่วยเหลือเราได้ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน หนูก็เลยเป็นคนสไตล์ลุยๆ เหมือนผู้ชาย เพราะตอนเด็กๆ ก็สนิทกับพ่อมากที่สุด แล้วก็ชอบทำอะไรๆ เองตลอด ช่วยเหลือตัวเองมาตลอด ส่วนคุณแม่ก็จะสอน “การประหยัด” ค่ะ เพราะเขาอาจจะเห็นช่วงวัยรุ่นที่เราอาจจะมีซื้อนั่นซื้อนี่เยอะหน่อย เขาก็จะปลูกฝังเรื่องนี้เราตลอด แต่หลังๆ แกก็ไม่ค่อยห่วงเท่าไหร่ เพราะหนูก็ชอบขายของ ชอบหาเงิน แกเลยไม่กังวลเท่าไหร่ |
เดินตามรอย “ไอดอลคุณครู” [อ.มาริษา เกิดปราชญ์] ไอดอลของหนูเหรอคะ? ต้องคนนี้เลยค่ะ ครูที่ปรึกษาของหนูมาตลอดชีวิต “อ.มาริษา เกิดปราชญ์” เป็นครูที่ปรึกษาของหนูมาตั้งแต่ตอนเรียนมัธยม ที่ ร.ร.ขุขันธ์ เลยค่ะ แล้วแกก็ยังคงเป็นที่ปรึกษาให้หนูมาจนถึงตอนนี้ (ยิ้ม) เป็นความสัมพันธ์ที่ยาวนานมากเลยค่ะกับครูคนนี้ วิชาที่อาจารย์สอนไม่ใช่คณิต, วิทย์, อังกฤษ ฯลฯ ไม่ใช่วิชาพื้นฐานอะไรเลย แต่คือวิชา “แนะแนว” ค่ะ ซึ่งก็คือการ “แนะนำ” เราในทางที่ดี แนะนำการใช้ชีวิตทุกอย่าง หนูก็ได้มาจากที่อาจารย์สอนนี่แหละค่ะ มาจนถึงทุกวันนี้ อาจารย์สอนทักษะการใช้ชีวิตให้หนูมาตั้งแต่ตอนยังไม่ได้ออกไปเจอโลกภายนอก จนหนูจบมา แล้วเดินมาถึงจุดตันของชีวิต ก็ได้ครูคนนี้นี่แหละค่ะที่ช่วยแนะนำ เราขอคำแนะนำอะไรอาจารย์เขาไป เขาจะมีคำแนะนำดีๆ ตอบกลับมาให้เราตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน หรือเรื่องหัวใจ คุยได้หมดกับครูคนนี้ หนูก็อยากทำให้ได้อย่างครูค่ะ เพราะครูที่เป็นแบบอย่างของหนูก็คือ ครูที่เป็น “มากกว่าครู” เป็นทั้ง “พ่อแม่คนที่ 2” ของเด็ก แล้วก็เป็นได้ทั้ง “เพื่อน” ของเขาด้วย เขาจะได้กล้าเข้าหาเรา |
สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: เฟซบุ๊ก “Nam Chatcha”