xs
xsm
sm
md
lg

“เด็กติดเกม” เลว อันตราย อันธพาล...ใช้มาตรา 44 ปราบ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จากกรณีหัวหน้า คสช.จัดหนักงัดคำสั่งมาตรา 44 จัดการเด็กอันธพาล เด็กอาชีวะยกพวกตีกัน ดูแลความประพฤติของนักเรียน นักศึกษา สพฐ.จึงเล็งใช้มาตราดังกล่าว แก้ปมปัญหาเด็กติดเกมด้วย ชาวโซเชียลฯ ทั้งหลายจึงตั้งข้อสงสัย ว่าทำไมมาตรา 44 แก้ได้ทุกปัญหาจริง สารพัดประโยชน์ขนาดนี้เชียวหรือ!? เด็กติดเกมโวย คนเล่นเกมไม่มีอันตราย ไม่ได้รวมหัวยกพวกตีฆ่ากันแบบเด็กช่างกลสักหน่อย เด็กไม่ดี เด็กก้าวร้าว ก็โทษแต่เกม! จริงๆแล้วปัญหาอยู่ที่ครอบครัวหรือเปล่า

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2559 นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ออกคำสั่ง เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษานั้น คำสั่งดังกล่าว ครอบคลุมเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่อยู่ในสถานศึกษาทุกสังกัด ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา หรืออุดมศึกษา โดยนอกจากจะป้องกันปัญหาทะเลาะวิวาทแล้ว ยังดูแลเรื่องความประพฤติของนักเรียน นักศึกษาทุกเรื่อง

เรื่องนี้ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ผู้ดูแลนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงขณะนี้คือ ปัญหาเด็กติดเกม อาจนำไปสู่การมั่วสุม ยาเสพติดและความรุนแรง คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้ ทำให้มีเครื่องมือในการดูแลเด็ก และทำให้ผู้ปฏิบัติงาน ทำหน้าที่ได้อย่างมั่นใจด้วย

“ปัญหาเด็กติดเกม มั่วสุมในร้านเกมเป็นปัญหาใหญ่ของ สพฐ.ในขณะนี้ ดังนั้นเมื่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ครอบคลุม ในเรื่องของการดูแลความประพฤตินักเรียนด้วย สพฐ.ก็จะนำกฎหมายนี้มาวิเคราะห์ ว่า จะใช้ในการดูแลความประพฤตินักเรียน นอกเหนือจากการก่อเหตุทะเลาะวิวาทได้อย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันก็จะต้องทำคู่มือและแนวทางปฏิบัติให้แก่เจ้าหน้าที่อย่างชัดเจน”

ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับนักเรียนในสังกัด สพฐ.ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทะเลาะวิวาท การใช้ความรุนแรงในโรงเรียน พฤติกรรมไม่เหมาะสม และอื่นๆ จะมีศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน เป็นผู้ดูแลในภาพรวม ขณะเดียวกัน จะมีการประสานงานร่วมกับ ศูนย์เสมารักษ์ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการดูแลนักเรียนอยู่แล้ว ดังนั้น เพื่อให้การดูแลนักเรียน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตรงตามคำสั่งหัวหน้า คสช. จึงเล็งหารือร่วมกับ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์ คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้ และจัดทำเป็นคู่มือ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง

เมื่อรู้ถึงหูชาวโลกโซเชียลฯ และคนเล่นเกมจึงเกิดดรามาขึ้นมา ว่าควรแก้ที่ต้นเหตุมากกว่าปลายเหตุ เอะอะก็โทษเกม คือต้นเหตุของความรุนแรง เลยเถิดไปเป็นการติดยา ขนาดคนเก่งที่โตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จวันนี้ก็เคยติดเกมเช่นกัน

“สุดท้ายไม่พ้นเกม ทำไมไม่คุยกันล่ะว่า เพราะอะไรเด็กถึงติดเกม ทำแบบสำรวจไปสิ วิจัยไป ใช้ ม.44 บังคับทำทั่วไปประเทศไปเลย ว่าความรุนแรงในเด็กเกิดจากเกมจริงหรือเปล่า หรือมันเกิดจากสังคมรอบๆบ้าน ครอบครัว เพื่อน แล้วค่อยไปแก้ปัญหาตรงนั้นมันถึงจะถูก เอะอะโทษเกมตลอด ผมว่ามันไม่แฟร์นะครับ”

รวมถึงการคอมเมนต์เชิงประชดประชัน ว่าแม้จะฆ่ากันในเกม แต่ชีวิตจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น

“นี่เล่น Fallout ทุกวัน กูจะยิงขาศัตรูก่อนให้ขามันเป๋ จากนั้นก็จะเอามีดไปฟัน ไม่ก็ย่องไปข้างหลังแล้วเอามีดเสียบ เอาขวานจาม เอาเลื่อยยนต์ผ่า ยังไม่พอนะ ตายแล้วยังจะเอาขวานมาสับศพเล่น สับแขน ขา หัว ขาดให้หมด แล้วสับที่ตัวรัวๆจนแตกกระจายเลือดสาด สะใจ พอตื่นขึ้นมา ก็ลุกไปอาบน้ำทำงานเหมือนเดิม ไม่ได้คิดว่าจะเดินไปฆ่าใครเลย”

“มันเป็นปัญหาปลายเหตุหรือเปล่า เอะอะๆ ม.44 ยิ่งเป็นนักเรียนในเครือ สพฐ.จะเข้าร้านเกมตอนไหน เป็นหลังเลิกเรียน หรือเสาร์อาทิตย์ ถ้ามีเด็กโดดเรียนออกมาร้านเกม โรงเรียนต้องมีมาตรการหรือทบทวนกระบวนการเรียนการสอน ถ้าคิดจะใช้ ม.44 แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ อีก 10 ชาติ ก็แก้ไม่ได้ เพราะคนที่ถือและใช้กฎหมาย ไม่ได้ให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือในการตัดสินใจแก้”

“ร้านเกมไม่ใช่แหล่งมั่วสุมเสมอไป และอาจจะผลิตนักกีฬา E- Sport ในอนาคตด้วยซ้ำ”

เช่นเดียวกับ สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน เคยเขียนไว้ในคอลัมน์พ่อแม่ลูกปลูกรัก

นับตั้งแต่ปี 2548 ที่ NPD เริ่มทำการสำรวจการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของชาวอเมริกันในช่วงวัยต่างๆ ข้อน่าสังเกตคือ อายุเฉลี่ยของเด็กที่เริ่มใช้อุปกรณ์ไฮเทคเหล่านี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มล่าสุดก็คือ การใช้โทรศัพท์มือถือ และเครื่องเล่นดีวีดี

“ผู้ที่เปิดประตูสู่โลกของการใช้ข้าวของไฮเทคเหล่านี้ก็คือผู้ใหญ่ หรือบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองนั่นเอง ที่มองว่ามันเป็นสิ่งที่ทันสมัยและไม่มีพิษมีภัยอะไร ทั้งยังคิดว่าอุปกรณ์เหล่านั้นจำเป็น และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว” นักวิเคราะห์อุตสาหกรรม แห่ง NPD กล่าว

….ปัญหาเรื่องเด็กติดเกม อย่าโทษว่าเป็นเพราะตัวเด็กอย่างเดียว แต่ลองเหลียวดูแล้วจะพบว่าคนเป็นพ่อแม่ล้วนแล้วเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาแทบทั้งสิ้น

ฉะนั้น เมื่อเกิดปัญหาก็ต้องเยียวยาด้วยความรักของพ่อแม่ค่ะ



มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น