จากปัญหาเด็กติดเกม วันนี้สังคมไทยได้พัฒนาปัญหาไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้าถึงทุกๆ คน และทุกๆ วัย เพียงเพราะช่วยสร้างความสะดวกสบายในทุกๆ เรื่องให้กับชีวิตไม่ว่าจะเป็นการอัปเดตข่าวสาร การค้นหาข้อมูลและความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่มากมายมหาศาล รวมไปถึงความบันเทิงหลากหลายทั้งเพลง หนัง ละครและเกมต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงชีวิตของคนได้ตลอดเวลาจากสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต
โดยเฉพาะ “เด็ก” วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายครอบครัวเลี้ยงลูกด้วยสิ่งเหล่านี้ และอีก 2 จอที่บ้าน คือ คอมพิวเตอร์ และทีวี ที่ดึงเวลาของเด็กๆ เกือบทั้งวันแล้ว เด็กติดจอ กำลังเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และส่งผลกระทบต่อเด็กแล้ว ทั้งพัฒนาการด้านร่างกาย สมอง สติปัญญา สมาธิ และพฤติกรรมความรุนแรง เรียกว่าไม่แพ้ปัญหาเด็กติดเกมที่ผ่านมาเลย เพื่อลดภาวะการติดจอ ติดเกมของเด็กและวัยรุ่น และสร้างสมดุลการใช้ชีวิตในครอบครัว
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับโครงการ ปันฝัน ปันยิ้ม จำกัด จัดทำโครงการ “ดิจิตอลของเด็กดี” ขึ้นโดยตั้งเป้าดึง 200 กว่าครอบครัวทั่วประเทศที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเข้าร่วมโครงการในรูปแบบค่ายสร้างสรรค์ ในกรุงเทพมหานคร และ 4 ภูมิภาค พร้อมจัดทำสปอตโฆษณาความยาว 45 วินาที สำหรับเผยแพร่ในสื่อต่างๆ เพื่อสื่อให้สังคม และครอบครัวเห็นถึงความสำคัญของการสร้างสมดุลในการใช้ชีวิตในครอบครัว เพราะความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว คือ การสร้างความรักและความอบอุ่นให้เกิดขึ้นซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดให้แก่เด็กในสังคมวันนี้และอนาคต
ดร.ณัฐพงศ์ โมกขพันธ์ ผู้อำนวยการ บริษัท ปันฝัน ปันยิ้ม จำกัด ผู้รับผิดชอบโครงการ “ดิจิตอลของเด็กดี” กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาเด็กติดจอมีจำนวนมากขึ้นและอายุลดน้อยลงเรื่อยๆ จากผลการวิจัยต่างๆ พบว่า การติดจอของเด็กส่งผลให้สมรรถนะของเด็กไทยวันนี้ต่ำกว่ามาตรฐานทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ ทักษะการเคลื่อนไหว ทักษะด้านสังคม ทักษะด้านอารมณ์ ทักษะด้านการคิด และสติปัญญา ทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร ทักษะด้านจริยธรรม และทักษะด้านการสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังพบว่าการติดจอเป็นภัยเงียบที่คุกคามเด็กๆ โดยไม่รู้ตัว เช่น สมาธิสั้น มีปัญหาด้านสายตา โรคอ้วน และกระดูกพรุน เป็นต้น ซึ่งผลวิจัยนี้ตอกย้ำชัดเจนว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รูปแบบการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ยุคใหม่ได้ใช้อุปกรณ์สื่อสารหลากหลายชนิดเข้ามามีส่วนให้เด็กได้แตะต้องสัมผัส ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมทางสังคมที่พ่อแม่แม้จะมีความตระหนักแต่อาจไม่ระมัดระวัง
ด้าน รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวไว้ว่า “เมื่อไม่สามารถแยกเด็กออกจากการเล่มเกม หรือจอได้ ก็ต้องให้เด็กเล่นอย่างมีกฎกติกาอย่างเคร่งครัด เพื่อการเล่นเกม หรือดูจอต่างๆ นั้นไม่ทำร้ายสุขภาพและเป็นการเล่นเพื่อการผ่อนคลาย หรือเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น”
สำหรับโครงการ “ดิจิตอลของเด็กดี” มีเป้าหมายสำคัญคือเพื่อลดภาวะการติดเกมและติดจอของเด็กและวัยรุ่น โดยการสร้างลักษณะนิสัยที่ดีของเด็กและวัยรุ่น ให้มีความรับผิดชอบ แบ่งหน้าที่ในการทำงานและการแบ่งเวลาให้ถูกต้องรวมทั้งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวเพื่อช่วยลดปัญหาความก้าวร้าวในสังคมไทย อันเนื่องมาจากได้อิทธิพลจากการเล่นเกมบางประเภท นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นป้องกันไม่ให้เด็กกลับไปมีพฤติกรรมเช่นเดิมอีก โดยการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง
“กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการฯ เราคือ ครอบครัวของเด็กและวัยรุ่น ในช่วงอายุระหว่าง 7-18 ปี ที่มีภาวะติดเกม หรือติดจอซึ่งเราจะคัดสรรครอบครัวที่มีเด็กติดเกม หรือติดจอ เพื่อมาเข้าร่วมโครงการ โดยการเข้าค่ายจำนวน 2 วัน รวมทั้งหมด 5 ค่าย ในกรุงเทพฯ และในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น, ภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี โดยตั้งเป้าผู้เข้าร่วมโครงการค่ายละไม่น้อยกว่า 40-50 ครอบครัวคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 200 ครอบครัว”
กิจกรรมภายในค่าย ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก ได้แก่ ผศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยนักจิตวิทยาคลินิก เอษรา วสุพันธ์รจิต ผู้รับผิดชอบในโครงการ HealthyGamer.net พญ.พรพิมล-นพ.อัศวิน นาคพงศ์พันธุ์ ผู้ก่อตั้งเพจ “เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ” นพ.พีรพล ภัทรนุธาพร จิตแพทย์ บล็อกเกอร์ และนักเขียนเจ้าของนามปากกา “ผมอยู่ข้างหลังคุณ” พร้อมด้วยนักพูดชื่อดัง อ.เชน-จตุพล ชมภูนิช และ พ.อ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ตั้งคณา มาเป็นวิทยากรให้ความรู้กับเด็กและพ่อ แม่ ผู้ปกครอง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสร้างสรรค์ผลงาน โดยกำหนดให้ผู้ปกครองเป็นที่ปรึกษา และกลุ่มเด็กสามารถขอคำแนะนำจากผู้ปกครองได้ มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมที่มีการวางแผนงานร่วมกันคิด วิเคราะห์ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ร่วมกัน โดยรูปแบบกิจกรรมจะมีความสร้างสรรค์ สามารถต่อยอดเป็นงานอดิเรก มีประโยชน์ต่อสังคม และสามารถทำร่วมกันในครอบครัวได้ เช่น กิจกรรมการท่องเที่ยว กิจกรรมทำสิ่งประดิษฐ์ DIY หรือกิจกรรมกีฬา เป็นต้น
หลังจากจัดกิจกรรมค่ายแล้ว โครงการจะมีการติดตามประเมินผล โดยการลงพื้นที่สังเกตพฤติกรรมเด็กที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ผลของการจัดกิจกรรมดังกล่าวมีความยั่งยืน ทำให้เด็กไม่สามารถกลับไปติดเกม หรือติดจอได้อีก สำหรับผู้ที่สนใจติดตามโครงการดีๆ ของ “ดิจิตอลของเด็กดี” สามารถเข้าชมได้ที่ www.facebook.com/DigitalDekD หรือสอบถามรายละเอียดการเข้าร่วมโครงการได้ที่โทร. 09-4224-4635