เสวนาปฏิรูปตร. "สุเทพ" ชี้โครงสร้างไม่เอื้อทำหน้าที่ต้องรื้อ ค่าตอบแทนต่ำ ต้องคิดหาเงิน ชี้รบ.เลือกตั้งไม่มีทางปฏิรูปตร.ได้ แนะให้ตร.ปฏิรูปตัวเอง ยกระดับจิตใจ อย่ายอมระบบแต่งตั้้งจากคนมีอำนาจ-อยู่ใต้อิทธิพล ให้ปชช.ประเมินผล "อุดม" หวังยกระดับตร.-องค์กรยุติธรรม ไม่ให้การเมืองจุ้น ชี้ปฏิรูปตร.ไม่สำเร็จร่างรธน.ไร้ความหมาย ย้ำ ต้องเปลี่ยนแปลงไม่งั้นจะเป็นองค์กรที่ไม่มีใครนับถือ
วันนี้ (8มี.ค.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) กล่าวในวงเสวนา “การปฏิรูปตำรวจ” ว่า ปัญหาองค์กรตำรวจคือเป็นปัญหาของประเทศ เราจะมีชีวิตอยู่ในประเทศด้วยความสงบสุขเรียบร้อยได้ ต้องมีผู้รักษากฎหมายที่เรียบร้อยมีอิสระในการทำหน้าที่ รักษากฎหมายอย่างจริงจัง วันนี้พบว่าโครงสร้าง ตำรวจไม่เอื้อให้ตำรวจทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ ในประเทศมีตำรวจกว่า 3แสนคน ส่วนมาก เป็นคนที่มีอุดมการณ์มีความคิดความภาคภูมิใจรักษากฎหมาย แต่ส่วนใหญ่ มีชีวิตที่ไม่ดี ต่ำกว่ามาตรฐานของคนทั่วไป เงินตอบแทนต่ำกว่าเกณฑ์ที่ตำรวจจะทำงานในหน้าที่ให้สมกับที่ประชาชนคาดหวังได้ การปฎิรูปตำรวจต้องพูดเรื่องค่าตอบแทนโดยจะต้องมีมากกว่าอาชีพอื่น จะได้ไม่ต้องคิดหาเงินด้วยวิธีต่างๆ
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาตำรวจที่ผ่านมาจะพบว่า ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจที่เกี่ยวข้องไม่คิดแก้ปัญหาให้ตำรวจต้องคิดเอาเอง ผู้ใหญ่ก็เอาแต่เอาใช้เพื่อประโยชน์ ปัญหาอยู่ที่ใครจะเริ่มต้นในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีทางปฏิรูปตำรวจได้ เพราะไม่กล้า มีกระบวนการตำรวจออกเคลื่อนไหวต่อต้าน รัฐบาลคสช.อยู่ในฐานะที่จะปฏิรูปตำรวจได้ เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะทำเรื่องนี้ไม่สำเร็จ วันนี้ต้องให้ตำรวจ เป็นคนคิดเรียกร้องให้ปฏิรูปตัวเอง เพราะไม่มีใครรู้มากไปกว่าตำรวจ
“วันนี้ไม่มีประโยชน์ที่จะสวมเครื่องแบบตำรวจท่ามกลางคนดูถูกชิงชัง ยิ่งในเวลานี้มีการเขียนรธน. แล้วเขาบอกว่า พวกเราต่อสู้เพื่อตัวเอง ที่ผ่านมาพล.ต.อ.วสิษฐ์ เดชกุญชร อดีตอธิบดีกรมตำรวจ เคยกล่าวว่าตำรวจ ควรปฏิรูปใจก่อน หมายความต้องฟื้นฟูยกระดับจิตใจตัวเองให้มั่นคง รักษาสัจจะ เชื่อว่าจะช้าหรือเร็วประเทศเราก็จะต้องปฏิรูปให้ได้
นายสุเทพ กล่าวว่า ประชาชนเรียกร้องมากในเรื่องการปรับโครงสร้างการทำงานและการกระจายอำนาจของตำรวจ วันนี้บริหารงานตำรวจรวมศูนย์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) จะเห็นว่าไม่เอื้อต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาที่เกิดคือการบริหารงานบุคคลและบริหารงานงบประมาณ พ.ร.บ.ตำรวจฯ เขียนข้อกำหนดในเรื่องการโยกย้าย ตำรวจ เขียนไว้มากมาย แต่หากไปถามตำรวจ ในเรื่องการเลื่อนยศ ไม่มีการใช้หลักนี้ ตำรวจต้องไม่ยอมรับระบบการแต่งตั้งที่มาจากคนที่มีอำนาจหรือจากคนที่อยู่ส่วนกลาง
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า หัวใจของการปฏิรูปตำรวจ ต้องไม่ให้ตำรวจอยู่ใต้อิทธิพล นักการเมือง พ่อค้า ผู้บังคับบัญชาที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ต้องรื้อทั้งโครงสร้าง ประชาชนมีโอกาสประเมินผลและตรวจสอบการทำงานของตำรวจได้ ตำรวจทำงานดีเยอะ แต่ไม่เคยได้เลื่อนชั้น เพราะคะแนนของประชาชนไม่มีใครเอาไปพิจารณา พอถึงเวลาแต่งตั้งตัวใครตัวมัน
“ตลอดชีวิตที่เป็นนักการเมืองมา 36 ปี เห็นมีข้าราชการ2 หน่วยที่วิ่งได้เก่งมาก คือเจ้าหน้าที่ป่าไม้และ ตำรวจ เป็นนักวิ่งทีมชาติวิ่ง 100 เมตรได้เลย คนที่นายร้อยต้องพึ่งตำรวจชั้นประทวนมาช่วยงาน เราต้องคิดถึงตำรวจชั้นผู้น้อย วันนี้คิดปฏิรูปตำรวจต้องทบทวนโครงสร้างทั้งระบบ แต่คิดว่าเป็นเรื่องยาก พอถึงเวลามีคนออกมาปลุกระดมอยู่ตลอด วันนี้เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่ต้องเรียกร้องปฎิรูปให้ดีขึ้น”
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวว่า ตำรวจในสายตาของคนไทย อาจจะมองว่าได้หลายรูปแบบ เช่นคนที่รักษากฎหมาย บางคนอาจจะบอกว่าคนที่เป็นคนไปฟ้องคดีบางคนที่จะไปช่วยเรา เวลาที่เรามีปัญหาหรือมีความทุกข์ อยู่ที่จะมองในมุมไหน ตำรวจในสังคมไทยเป็นองค์กรที่มีความจำเป็นสำหรับการแก้ปัญหาในเรื่องการใช้กฎหมาย ในเรื่องการดำเนินชีวิต กระบวนการยุติธรรม
นายอุดมกล่าวต่อว่า มี 2 เรื่องที่อยากทำ คือการยกระดับองค์กรตำรวจ และองค์กรยุติธรรม ทำอย่างไรให้ตำรวจ สามารถดำรงตนอยู่ได้โดยไม่ข้องแวะวงการการเมือง บางคนวิจารณ์ว่าเหมือน รปภ.อยู่ที่การทำงานว่าจะใช้กฎหมายอย่างไรทำให้บ้านเมืองอยู่ได้อย่าง การที่มีการมองว่ามีการซื้อขายตำแหน่งนั้นเป็นเพียงการมองกันแต่ภายนอกเท่านั้น
นายอุดมกล่าวว่าการปฏิรูปตำรวจเป็นเรื่องที่เราไม่กล้าใช้คำตรงๆในร่างรธน.ใช้คำว่า การบังคับใช้กฎหมาย เพราะไม่อยากให้กระทบใจคนหลายฝ่าย จุดประสงค์ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตำรวจ มองในภาพรวมว่าภารกิจตำรวจ ควรเป็นอย่างไร เราพูดในกรธ.ว่าหากการปฏิรูปตำรวจไม่ประสบความสำเร็จ เป้าหมายของรัฐธรรมนูญ การปฎิรูป2 เรื่องคือการศึกษา และกระบวนการยุติธรรม ก็ไม่มีความหมาย ตนหวังว่าหากนายกฯฟังอยู่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงใน 2 เรื่องก่อนการเลือกตั้ง คือเรื่องปฏิรูปการศึกษา และการปฎิรูปตำรวจ
“ภารกิจเรื่องการรักษากฎหมายต้องการองค์กรที่พัฒนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วย การปรับย้ายตำแหน่ง คืออุปสรรคสำคัญขององค์กรตำรวจ และทำอย่างไรจึงจะให้ตำรวจเป็นตำรวจอาชีพได้ และการที่คนมีความรู้สึกกับองค์กรตำรวจมาก มาจากกระบวนการยุติธรรม เช่นอำนาจในการสอบสวน อำนาจในการจับดำเนินคดี ความกลัวของประชาชนตรงนี้จะต้องมีมาตรการมาดูแลอย่างจริงจังใน ในกรธ.มีข้ออยากทำให้เสร็จภายใน 1 ปี คืออยากเห็นตำรวจมีการปรับเรื่องภารกิจคือ1.โอนส่วนที เกินเลยกว่าที่ตำรวจทำให้กระทรวงอื่นๆไปดูแลเองบ้าง 2.เรื่องการสอบสวนจะทำอย่างไร และ3.การบริหารงานบุคคลจะทำอย่างไรไม่ให้ตกอยู่ในระบบการคอบงำ การโยกย้าย เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องทำ และเปลี่ยนแปลงให้ได้ หากทำไม่ได้ตำรวจจะเป็นองค์กร ที่ไม่มีใครยอมรับนับถือ อยู่ยาก คนไม่ให้ความเชื่อถือศรัทธา”นายอุดมกล่าว