xs
xsm
sm
md
lg

สื่อ = ครูของสังคม! องค์กรสื่อร่วมมือ “ปกป้อง-คุ้มครองสิทธิเด็ก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
เมื่อบทบาท-พลังอำนาจสื่อฯ กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคม นี่จึงกลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยในงานเสวนา “บทบาทสื่อมวลชนในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็ก” โดยสถาบันอิศรา ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อหวังปฏิรูปบทบาท “สื่อกระแสหลัก” ให้กลายเป็น “ครูของสังคม” ภายใต้กรอบจริยธรรมและจรรยาบรรณ!





Power for Positive Change!

ปัจจุบันยังคงมีข่าวที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ซึ่งมีทั้งเด็กที่ตกเป็นผู้ถูกกระทำและเป็นผู้กระทำเองอยู่หลายกรณี ซึ่งการนำเสนอข่าวสื่อมวลชนบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจในแง่มุมของกฎหมาย และแน่นอนว่ากระบวนการในการนำเสนอต่างๆ อาจส่งผลกระทบต่อตัวเด็กและเยาวชนเข้าอย่างจัง

“ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี” ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มองว่า ทุกวันนี้สื่อมวลชนถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักถึงเรื่องการนำเสนอเนื้อหาข่าวสารที่มีความเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ซึ่งปัญหาในเรื่องดังกล่าวยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง

ถึงแม้ว่าจะมีการออกกฏหมายหลายฉบับที่ใช้ในการคุ้มครองสิทธิเด็ก แต่อย่างไรก็ตามเรื่องที่ว่านี้ยังคงไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนจึงกลายเป็นเครื่องมือที่มีทั้งแง่ดีและแง่ที่ส่งผลกระทบต่อตัวเด็กและเยาวชนอย่างไม่รู้ตัว

 
เช่นเดียวกับ “โธมัส ดาวิน” ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้พูดถึงบทบาทสื่อมวลชนในการเสริมสร้างโลกที่ดีสำหรับเด็กไว้ด้วยว่า สื่อในยุคปัจจุบันมีบทบาทอย่างมากกับเด็กและเยาวชน

อย่างที่เห็นกันว่าการใช้เทคโนโลยีที่ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิตและเรื่องของสภาพจิตใจต่อตัวเด็ก เช่น การโพสต์ภาพละเมิดสิทธิเด็ก ไปจนถึงการรังแกกันบนโลกออนไลน์ หรือที่เรียกว่า “ไซเบอร์บูลลีอิง” ที่มีให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่องในโลกโซเชียลฯ

“ฐานะที่เป็นตัวแทนเรื่องปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็ก เราหวังว่าการเข้าถึงข้อมูลในยุคปัจจุบันของเด็กและเยาวชน รวมถึงการที่สื่อนำเสนอสิ่งต่างๆ ลงสื่อสิ่งพิมพ์หรือโลกออนไลน์ จะมีความตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเด็กและเยาวชนในอนาคต”

“ทุกคนเคยเป็นเด็ก ไม่มีเด็กคนใดไม่เคยทำผิด”

อย่างที่ทราบกันว่าพลังและอิทธิพลของสื่อมวลชนที่มีอยู่ในสังคมไทยถือว่าเป็นที่ยอมรับ ทั้งการแสดงแนวคิดผ่านผลงานของสื่อ ความมีอิสระและอิทธิพลในการนำเสนอ นี่จึงเป็นเรื่องที่ถูกหยิบมาพูดในประเด็นบทบาทของสื่อ ซึ่งสะท้อนผ่านมุมมองของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ “เมทินี ชโลธร”

“ในฐานะคนเสพข่าวมักต้องการความรวดเร็วและความถูกต้องที่มาพร้อมๆ กัน ดังนั้น ความรวดเร็วจึงทำให้เกิดความแข่งขัน ในเรื่องกระบวนการการกลั่นกรองข่าวที่อาจจะน้อยลง ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนอาจเกิดขึ้น รวมไปถึงความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ที่นำเสนอ และการทำงานที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดกฏหมายหรือละเมิดต่อสิทธิของเด็กอย่างเห็นได้ชัด
“เมทินี ชโลธร” ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
 
ในกระบวนการนำเสนอเรื่องที่เกี่ยวกับเด็ก ข่าวดีๆ มักมีพื้นที่น้อย ในขณะที่ข่าวในเชิงลบเกี่ยวกับตัวเด็ก กลับมีพื้นที่มากมายจนไปถึงขั้นขึ้นหน้าหนึ่ง ซึ่งเวลาที่มีข่าวที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ในฐานะจำเลยหรือเหยื่ออาชญากรรมก็ตาม การนำเสนอข่าวที่สื่อเสนอในด้านเดียวก็อาจส่งผลกระทบต่อเด็ก คนรอบข้างและสังคมด้วยเช่นกัน”

นอกจากนี้คุณเมทินี ยังพูดถึงบทบาทของสื่อในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กอีกด้วยว่า เด็กที่เคยทำผิดพลาดต่างต้องการโอกาสและการยอมรับจากสังคม รวมถึงสื่อเองมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ตัวเด็ก

“หลักการพื้นฐานของมวลมนุษยชาติ คือ คนเราทุกคนเคยเป็นเด็ก ไม่มีเด็กคนใดไม่เคยทำผิด แต่เด็กทุกคนต้องการความคุ้มครองและการให้โอกาส แม้จะมีตัวบทกฎหมายลักษณะนี้แล้ว แต่ก็ยังมีการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับเด็กผ่านสื่อต่างๆ ที่สามารถคาดเดาได้ว่าเด็กคนนั้นเป็นใคร อยู่ที่ไหน สถานศึกษาอะไร ซึ่งส่งผลกระทบกับเด็กได้โดยตรง

การจัดเสวนาครั้งนี้ เพื่อแสวงหาแนวทางให้สื่อมวลชนมีส่วนร่วม ในการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนป้องกันการละเมิดสิทธิเด็กและโต้ตอบความรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้นกับเด็ก สื่อมวลชนไม่เพียงแต่ไม่เสนอข่าวที่เป็นการละเมิดสิทธิของเด็กเท่านั้น แต่สื่อเองต้องมีบทบาทในการส่งเสริมหรือการรายงานข่าวเกี่ยวกับเด็กให้มากยิ่งขึ้นด้วย”

สื่อ = ครูของสังคม

กว่า 10 ปีแล้วที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในการอภิปรายและอบรมเรื่องเกี่ยวกับสิทธิเด็ก “ทิชา ณ นคร” ผู้อำนวยการ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก สถานที่ที่เรียกว่าเป็น “ปราการด่านสุดท้าย” ของสังคมที่นำเยาวชนที่ช้ำมาแล้วจากกระแสของสังคมและสื่อต่างๆ มาที่แห่งนี้

“การเยียวยาเด็กที่อยู่เป็นผู้ต้องหาคดีร้ายแรง ซึ่งได้เคยออกสื่อและมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก มีการเยียวยาที่ยากกว่า เมื่อเทียบกับเด็กผู้ต้องหาคดีร้ายแรงที่ไม่ได้มีการนำเสนอออกสื่อหรือขึ้นข่าวหน้าหนึ่ง

ที่สำคัญทางลงของเด็กที่ถูกนำเสนอในทางที่ถูกละเมิดสิทธิเด็ก แทบจะไม่มีทางออก การที่เด็กกลับสู่สังคม คนที่รอต้อนรับไม่ใช่ครอบครัว แต่กลับเป็นเจ้าของธุรกิจสีเทา-สีดำ เพราะการขึ้นหน้าหนึ่งได้การันตีและมอบวุฒิบัตรกับเด็กเหล่านั้นไปเรียบร้อยแล้ว”

ขณะที่ “สุวรรณา สมบัติรักษาสุข” ประธานศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา ได้แลกเปลี่ยนมุมมองและทิศทางของสื่อกระแสหลักในปัจจุบันนี้ด้วยเช่นกัน

“อนาคตอันใกล้ได้กำลังทำศูนย์ให้คำแนะนำและปกป้องสิทธิของผู้เสียหายจากการถูกละเมิดโดยสื่อ แม้ที่ผ่านมาจะมีกฏหมายและมาตรการควบคุม แต่ยังคงใช้ไม่ได้ในภาคปฏิบัติและภาคบังคับ”

อาจกล่าวได้ว่าในอนาคตอันใกล้ เราอาจจะได้เห็นองค์กรเฉพาะที่สร้างขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการฟ้องร้อง และดำเนินคดีทางกฏหมายกับสื่อมวลชนอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีตัวบทที่ช่วยในการดูแลเรื่องดังกล่าว แต่ก็ยังไม่มีสักกรณีเดียวที่ถูกหยิบมาดำเนินการให้เห็นเป็นกรณีตัวอย่าง

ข่าวโดย ทีมข่าวผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น