xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.กมธ.สื่อฯ โดดเสวนาสื่อปฏิรูป อ้างกลัวถูกรุมซัก รบ.-สื่อ ยังเห็นต่างปม กม.ควบคุม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สปท. จัดเสวนาปมบทบาทสื่อกับการปฏิรูป ไร้เงา ปธ.กมธ.สื่อฯ ชิงหนี อ้างเกรงถูกรุมซัก รองโฆษกรัฐบาล ยันสื่อไม่ใช่ฐานันดรที่สี่ เชื่อแตะต้องได้ อย่าคิดดีกว่าคนอื่นๆ เปรยหากไม่ชั่วไม่ต้องกลัวถูกควบคุม ด้านตัวแทนสื่อ ซัดกลับ รบ. เลว เท่านั้นที่กลัวการตรวจสอบ ส่วนสื่อมี กม. ควบคุมเพียงพออยู่แล้ว ยันคนการเมืองนั่ง กก. มีปัญหาแน่



วันนี้้ (14 มี.ค.) เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่รัฐสภา มีการจัดเสวนา “เรื่องบทบาทสื่อมวลชนกับการปฏิรูปประเทศ (ช่วยชาติเดินหน้า...หรือ...ถอยหลัง) จัดโดยคณะกรรมการโครงการเสียงปฏิรูปประเทศ ของสปท. โดยมี ศ.พิเศษ กระแส ชนะวงศ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการโครงการเสียงปฏิรูปประเทศ พล.ท.วีรชน สุคนธฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายมงคล บางประภา เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ นายโสภณ องค์การณ์ ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์ ASTV มาร่วมงาน ขณะที่ พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กลับไม่มาร่วมงานแต่อย่างใด

พล.ท.วีรชน สุคนธฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เห็นด้วยกับบทบาทสื่อมวลชนในการตรวจสอบรัฐบาล และเป็นเครื่องมือที่สร้างความสมดุลให้บ้านเมือง แต่ยืนยันว่า สื่อมวลชนเป็นอาชีพที่แตะต้องได้ไม่ใช่ฐานันดรที่สี่ ที่ผ่านมา ตนก็รู้สึกเสียใจที่สื่อมวลชนบางส่วน ได้สร้างความขัดแย้งและสร้างปัญหาให้บ้านเมือง อยากถามว่าได้มีการตรวจสอบกันหรือไม่ รวมทั้งมีความรับผิดชอบอะไรหรือไม่กับความเสียหายต่อประเทศชาติและสังคมจากประเด็นข่าวที่นำเสนอออกไป

“สื่อมวลชนต้องคิดว่าตัวเองแตะต้องได้ และอย่าคิดว่าดีกว่าคนอื่น เพราะเป็นอาชีพหนึ่งที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและการกำกับดูแล หากเราคิดดีทำดีไม่ต้องไปหวั่นเกรงกฎกติกาใดๆ และเมื่อมีเสียงท้วงติงในสังคมเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของตัวเอง เราก็ต้องกับมาคิด และพร้อมจะแก้ไข ไม่ใช่ปฏิเสธและไม่ยอมทำอะไรเลย” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สะท้อนความเห็น

นายโสภณ กล่าวว่า สื่อมวลชนต้องคงความอิสระในการตรวจสอบอำนาจชั่วร้ายของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย เพราะตนมีความเชื่อว่ารัฐบาลที่ครึ่งดีครึ่งเลว หรือเลวสุดๆ ถึงจะกลัวเกรงการตรวจสอบของสื่อมวลชน และที่ผ่านมา สื่อมวลชนก็ถูกตรวจสอบจากประชาชนผ่านช่องทางการตลาด รวมทั้งยังมีกฎหมายอาญา อาทิ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และกฎหมายหมิ่นประมาทที่ควบคุมเพียงพออยู่แล้ว

นายมงคล กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ กมธ. ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สปท. ยกร่างอยู่โดยมีเนื้อหาให้ตัวแทนจากปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และปลัดสำนักนายกฯ เข้ามาเป็นคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อฯ จะมีอิทธิพลทางการเมือง และยังมีอำนาจในการเพิกถอนและให้ใบอนุญาตสื่อมวลชน ซึ่งเป็นประเด็นนี้จะกระทบต่อการทำงานของสื่อมวลชนที่ทำงานอย่างแท้จริงในการตรวจสอบรัฐบาล เว้นแต่สื่อมวลชนการเมืองที่ไม่ต้องกังวลกับกฎหมายนี้ เพราะสามารถเอาตัวรอดได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานดังกล่าวได้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ถึงความไม่เหมาะสมกรณี พล.อ.อ.คณิต ไม่ยอมมาร่วมงานเสวนา ทั้งที่ สปท. เป็นผู้จัดงานเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นจากทุกฝ่ายให้เกิดความรอบคอบในการร่างกฎหมาย รายงานข่าวจาก สปท. แจ้งว่า สาเหตุที่ พล.อ.อ.คณิต ไม่ยอมเข้าร่วมงาน เนื่องจากเรื่องการปฏิรูปสื่อกำลังเป็นความขัดแย้งที่ยังไม่ได้ข้อยุติ และเกรงว่าหากเข้าร่วมจะตกเป็นเป้าโจมตีของสื่อมวลชน อีกทั้ง กมธ. ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สปท. ก็มีช่องทางผ่านการแถลงข่าว ซึ่งถือว่าเพียงพออยู่แล้ว

ด้าน นางเตือนใจ สินธุวณิก ประธานคณะกรรมการโครงการเสียงปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า ก่อนการจัดงานเสวนาประมาณ 2 สัปดาห์ ได้เชิญ พล.อ.อ.คณิต มาร่วมประชุม และท่านก็ตอบรับเข้าร่วมงานอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พล.อ.อ.คณิต ได้โทรศัพท์มาแจ้งกับตัวเองว่าไม่สามารถมาร่วมงานได้ เพราะติดธุระ


กำลังโหลดความคิดเห็น