xs
xsm
sm
md
lg

[ชมคลิป] กูรูไวนิล ชวนปัดฝุ่นหมุนฟังแผ่นหายาก “เพลงพระราชนิพนธ์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

[ขอบคุณสถานที่: “ร้านแผ่นเสียง” ซ.ประดิพัทธ์ 19 (fb.com/nokbangkokhifi)]
...จะมีสักกี่อัลบั้มที่คอเพลงขอกว้านซื้อเพราะเห็นคุณค่าของนักประพันธ์มากกว่านักร้อง จะมีสักกี่บทเพลงที่ไม่ว่าจะบรรเลงผ่านเพลงแนวไหน เมโลดี้ที่บรรจงสรรค์สร้างเอาไว้ ก็ยังคงความงดงามไม่แปรเปลี่ยน และจะมีสักกี่ตัวโน้ตที่สามารถเชื้อเชิญให้ศิลปินระดับโลกคนแล้วคนเล่า เข้ามาร่วมสรรเสริญพระเกียรติ จารึกประวัติศาสตร์ไว้ได้มากมายขนาดนี้...
 
ถ้าไม่ใช่...บทเพลงในพระราชนิพนธ์อันทรงคุณค่า ถ้าไม่ใช่...พระผู้เปี่ยมไปด้วยอัจฉริยภาพทางดนตรี ถ้าไม่ใช่...เจ้าของเมโลดี้ทั้ง 49 บทเพลงหนึ่งเดียวคนนี้ ถ้าไม่ใช่...พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงของพวกเรา
 



 

บันทึกความผูกพันจาก “พ่อ” ถึงลูก...

[ภาพมีเสียง... เก็บไว้ในวันที่คิดถึง "พ่อหลวง"]
“ผมว่างานศิลปะชิ้นนี้เป็นสิ่งที่ล้ำค่ามากในหลายๆ มิติ คือถ้าดูจากภาพหน้าปกอัลบั้ม จะเห็นว่ามีทั้งภาพพระบรมฉายาลักษณ์ มีทั้งภาพวาดประกอบ ซึ่งถือเป็นการเก็บช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระองค์เอาไว้ผ่านงานสองมิติ
 
จะหยิบเอาปกอัลบั้มเหล่านี้เอาไปใส่กรอบ แขวนโชว์เหมือนภาพวาดก็ได้ ในขณะเดียวกัน วันดีคืนดีก็สามารถคว้าเอาผลงานศิลปะชิ้นเดียวกันนี้ขึ้นมาฟังได้ หยิบเอาแผ่นไวนิล (Vinyl) ที่อยู่ด้านในมาเสพมิติที่สามของงานศิลปะชิ้นนี้ได้เหมือนกัน
 
คิดดูว่าจะมีรูปวาดหรือรูปถ่ายที่ไหนที่มีเสียงเพลงบรรเลงขับกล่อมให้เพลิดเพลินได้แบบนี้ นี่แหละครับคือความคลาสสิกของบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ท่านฝากเอาไว้ในรูปแบบของแผ่นเสียง ให้เหล่านักสะสมได้รำลึกถึงพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของท่านได้ตลอดไป
 
นก-พงศกร ดิถีเพ็ง เจ้าของ “ร้านแผ่นเสียง” ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการบรรเลงเพลงบนพลาสติกทรงกลมมากว่า 14 ปี ค่อยๆ ละเลียดวางปลายเข็มจากเครื่องเล่น สัมผัสร่องเสียงแห่งประวัติศาสตร์อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยภายใต้ความเงียบงัน ทันใดนั้นเอง ท่วงทำนองพระราชนิพนธ์จากองค์ราชาจึงเริ่มทำหน้าที่ขับกล่อมอย่างเต็มกำลังความสามารถ


[แนะนำเพลง "สายฝน" จากแผ่นหายาก “เพลงพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชุด แสงเทียน”]
...เพลงแล้วเพลงเล่า แผ่นแล้วแผ่นเล่า...ถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นหมุนบรรเลงในรอบหลายสิบปี หวังเพียงให้ผู้อยู่ในวงล้อมแห่งช่วงเวลาต้องมนต์ในนาทีนี้ ได้คลายความทุกข์โศกจากห้วงแห่งความคิดถึงลงไปได้บ้าง...

เสน่ห์ของเพลงพระราชนิพนธ์ “สายฝน” ก็คือเสียงฟ้าร้องที่สร้างจากเครื่องดนตรีสดๆ มันเป็นความน่ารักของเพลงสมัยก่อนที่ยังไม่มีเสียงสังเคราะห์ หรือไม่มีการไปอัดเสียงบรรยากาศฝนตกเพื่อเอามาใช้ตัดต่อ ทำให้ช่วงเริ่มเพลง ต้องใช้เสียงดุดันของกลองและฉาบเป็นตัวช่วยเล่าเรื่อง เพื่อให้รู้สึกเหมือนได้ยินเสียงฝนและฟ้าผ่าจริงๆ

ผมชอบฟังเพลงนี้จากแผ่นดั้งเดิมในอัลบั้ม “แสงเทียน” บรรเลงและขับร้องโดย คณะสุนทราภรณ์ ซึ่งเป็นเพลงจังหวะวอลซ์ที่ขับร้องผ่านน้ำเสียงเย็นๆ ของ คุณรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ซึ่งคุ้นหูผมมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วครับ ตั้งแต่สมัยที่คุณพ่อเคยเปิดให้ฟัง”


เพียงถูกโอบกอดผ่านท่วงทำนอง ความผูกพันจากผู้ครอบครอง “แผ่นเสียงหายากในตำนาน” ก็ย้อนรอยอดีตให้ได้หวนคำนึงถึงอีกครั้ง เพื่อให้พบว่าไม่ใช่เพียงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับคุณพ่อแท้ๆ เท่านั้นที่ชัดเจนขึ้นมา แม้แต่ความรู้สึกที่มีต่อองค์ “พ่อหลวง” แห่งแผ่นดินก็เป็นอีกหนึ่งความทรงจำอันล้ำค่าไม่ต่างกัน

“ตั้งแต่ยุคสนามหลวงเก่า คุณพ่อจะพาไปซื้อพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงมาใส่กรอบเก็บไว้ตั้งแต่สมัยเด็กๆ แล้วก็จะสอนให้เรากราบไหว้ท่านเสมอๆ ในห้องพระ คุณพ่อจะตั้งพระบรมฉายาลักษณ์เอาไว้ที่เดียวกันเลยครับ ให้เป็นเหมือนพระประจำบ้านอีกหนึ่งองค์ (ยิ้มบางๆ)

[ปกหลังแผ่น บอกคณะผู้ขับร้องและบรรเลงเอาไว้ชัดเจน]

ถึงตอนเด็กๆ เราอาจจะเคยฟังบทเพลงของพระองค์ผ่านๆ ตามประสา แต่มาวันนี้ วันที่ได้ทำงานตรงนี้ มันยิ่งทำให้เราเห็นคุณค่าของงานศิลปะชิ้นนี้มากขึ้น บทเพลงพระราชนิพนธ์คือของที่ระลึกอันล้ำค่า ที่ช่วยสะท้อนความผูกพันระหว่างเรากับพระเจ้าอยู่หัวของเราได้จริงๆ

อัลบั้ม “Sweet Words” คืออีกหนึ่งชุดสะสมที่หาไม่ได้แล้วในตลาดไวนิล ด้วยความพิเศษของภาพปกที่เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้เพียงไม่กี่แผ่นเท่านั้น จากบรรดาแผ่นเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งหมดทุกรุ่นที่มี ด้วยผู้ถ่ายทอดอารมณ์เพลงเจ้าของอัลบั้มอย่าง ฮัคกี้ ไอเคิลมานน์ (Hucky Eichelmann) คือหนึ่งในนักกีตาร์คลาสสิกชาวเยอรมันที่ในหลวงทรงโปรดในฝีมือการบรรเลงอันพลิ้วไหวผ่านตัวโน้ตเป็นอย่างมาก

“พระองค์ทรงโปรดแนวดนตรีแจ๊ซกับคลาสสิกเป็นทุนเดิมอยู่แล้วครับ และคุณฮัคกี้ก็ถนัดเพลงสไตล์นี้ แล้วก็เป็นศิลปินที่ถวายการรับใช้เรื่องดนตรีแก่ในหลวงเยอะมากด้วยครับ... ถ้าให้แนะนำหนึ่งเพลงจากอัลบั้มนี้ ผมขอเลือกเพลงโปรดของผมอย่าง “Alexandra (แผ่นดินของเรา)” แล้วกัน


ผมว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่ผู้ทรงสร้างสรรค์ ทรงมีชั้นเชิงในการวางโน้ตมากๆ ในส่วนของเนื้อเพลงเองก็มีความหมายดีๆ แฝงอยู่เยอะ แถมยังเป็นบทเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นมาในวาระพิเศษด้วย (เพื่อต้อนรับเจ้าหญิง Alexandra แห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ ซึ่งเสด็จฯ มาเยือนสยามประเทศเป็นการส่วนพระองค์เมื่อปี 2502)

ปกติแล้ว เพลงในหลวงทั้งหมดจะเป็นแนวฟังสบาย ไม่ปรี๊ดปร๊าด ฟังแล้วไม่รู้สึกรกหู เรียกว่าได้พระราชนิพนธ์เอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ว่าศิลปินท่านใดจะหยิบไปถ่ายทอดผ่านแนวเพลงแบบไหน จึงยังคงความไพเราะและงดงามเอาไว้เสมอๆ โดยเฉพาะบทเพลงนี้ที่ถูกถ่ายทอดผ่านเสียงบรรเลงกีตาร์คลาสสิกของคุณฮัคกี้ ยิ่งทำให้ฟังแล้วมีความสง่างามมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะท่อนเปิดที่ทรงเรียบเรียงเอาไว้ได้อย่างลงตัวที่สุดแล้ว


 

ไม่ใช่เรื่องง่าย...ผู้จัดจำหน่ายอัลบั้มล้ำค่าเพียงหนึ่งเดียว!!

[ที่สุดแห่งความภาคภูมิใจ ได้เป็นผู้จัดจำหน่ายเพียงหนึ่งเดียว สำหรับอัลบั้มหายาก ปกพระบรมฉายาลักษณ์]
ถ้าจะฟังเพลงพระราชนิพนธ์ให้ถึงต้นฉบับการประพันธ์เพลงจริงๆ คนรักเสียงเพลงควรเลือกฟังอย่างไรดี จากบทเพลงที่ถูกนำมาเรียบเรียงใหม่ และถ่ายทอดออกมาหลากหลายสไตล์จนเลือกกันไม่หวาดไม่ไหว เจ้าของร้านแผ่นเสียง ประจำซอยประดิพัทธ์ 19 นิ่งคิดรับคำถามอยู่ครู่หนึ่ง จึงมอบคำแนะนำผ่านประสบการณ์ในฐานะนักฟังเพลงตัวยง

“ท่วงทำนองที่พระองค์ทรงประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นดนตรีแนวแจ๊ซ-บลูส์ครับ เพราะทรงโปรดดนตรีแนวนี้มากที่สุด ถึงกับเคยมีพระราชกระแสรับสั่งว่า อยากจะเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนเมือง “นิวออร์ลีนส์ (New Orleans)” เมืองต้นกำเนิดแห่งแจ๊ซ ให้ได้ครั้งหนึ่งในชีวิต แต่ท้ายที่สุด พระองค์ก็ไม่ได้เสด็จฯ ด้วยเหตุเพราะทรงเป็นห่วงราษฎรมากเกินกว่าจะทิ้งพระราชกรณียกิจใดๆ ไปได้

ถ้าจะให้แนะนำว่าควรจะเลือกฟังแบบไหนถึงจะได้อารมณ์ที่สุด อันนี้อาจจะตอบยาก (ยิ้ม) เพราะเพลงของพระองค์ท่านถูกนำมาตีความใหม่หลายครั้ง มีทั้งแบบแจ๊ซ, บลูส์, ออเคสตร้า, คลาสสิก, ผ่านการเล่นด้วยวงดนตรีดุริยางค์ หรือแม้แต่ดนตรีไทยของเราเอง ทำให้บทเพลงจากพระปรีชาสามารถของพระองค์ลื่นไหลไปได้ทุกช่องทางอย่างไม่มีข้อจำกัด”

“นี่ไงครับ” ว่าแล้วชายผู้รักการเล่นเพลงผ่านร่องเสียง ก็หยิบแผ่น "เพลงพระราชนิพนธ์ (บรรเลงโดย วงดุริยางค์กองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่ 13)” ปกสีน้ำเงินเข้มขึ้นมายืนยันคำพูดอีกหน เพื่อให้คู่สนทนารับรู้ถึงพระอัจฉริยภาพทางดนตรีขององค์เหนือหัวรัชกาลที่ ๙ ได้โดยไร้คำอธิบายว่า บทเพลงพระราชนิพนธ์นั้นได้รับการยอมรับในระดับสากลมากเพียงใด แม้แต่วงดุริยางค์ประจำกองทัพมหาอำนาจยังขอหยิบบทเพลงยืมไปเล่นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ

[แผ่น "เพลงพระราชนิพนธ์ (บรรเลงโดย วงดุริยางค์กองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่ 13)” | ขอบคุณภาพ: www.thaigramophone.com]

"ทรงพระราชนิพนธ์ได้ดีเยี่ยมในทุกจังหวะ ผมเชื่อว่าถ้าพระองค์ไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์สามารถทรงเป็นหัวหน้าวงดนตรีชั้นนำได้เลยทีเดียว" เลส บราวน์ (Les Brown) นักดนตรีแจ๊ซชื่อดัง เคยกล่าวสรรเสริญคีตราชาผู้นี้เอาไว้อย่างนั้น ภายหลังได้มีโอกาสพูดคุยกันผ่านตัวโน้ต

เช่นเดียวกับศิลปินชื่อก้องโลกอีกหลายรายที่ยืนยันเป็นเสียงเดียวในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็น Stan Getz นักเป่า Tenor Saxophone ชื่อดัง, Jack Teagarden นักเป่าทรอมโบนชื่อดัง, Lionel Hampton นักเล่น Vibraphone ระดับโลก หรือแม้แต่ราชา Swing Jazz นักเป่าคลาริเน็ตฝีมือเอกของโลกอย่าง Benny Goodman ฯลฯ

จึงไม่แปลกหากบทเพลงพระราชนิพนธ์ จะมีอัลบั้มที่ควรค่าแก่การจับจองเป็นเจ้าของได้แทบนับไม่ถ้วน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีนักดนตรีมากฝีมือต่างตบเท้ากันเข้ามา ขอถ่ายทอดความเสนาะหูออกมาผ่านลายเซ็นของตัวเอง ที่เห็นวางโชว์อยู่เต็มหน้าตักเจ้าของ “ร้านแผ่นเสียง” ตรงนี้กว่าสิบแผ่น บอกเลยว่าเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของการสะสมเท่านั้นเอง


“ยังขาดอีกเยอะเลยครับ (น้ำเสียงเสียดาย) ผมเคยสะสมไว้สูงสุดถึง 40 ปก แต่วันนั้นเราพลาดไป เพราะคิดว่าเดี๋ยวคงหาใหม่ได้ถ้าเรายังอยู่ในวงการนี้ ปรากฏว่ามันหาไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะช่วงเวลาแบบนี้ที่แผ่นเหล่านี้ กลายเป็นของล้ำค่าไปหมดแล้ว”

แต่อย่างน้อยๆ แผ่นในการครอบครองของนก ก็มีไวนิลเพลงพระราชนิพนธ์ ซึ่งไม่น่าจะหาได้จากที่ไหนอยู่หลายปกเหมือนกัน และที่น่าภาคภูมิใจกว่านั้นคือ ในจำนวนนั้นมีถึง “5 ปก” ที่ทางร้านได้รับอนุญาตให้เป็นผู้จัดจำหน่ายหลักแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย

ยากนะครับ ได้รับมาถึง 5 อัลบั้มในรอบ 2 ปี ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจมากครับที่ได้จัดจำหน่ายบทเพลงที่มีคุณค่าทางจิตใจและสำคัญต่อด้านประวัติศาสตร์เหล่านี้ ซึ่งประกอบไปด้วย อัลบั้มของคุณฮัคกี้ ไอเคิลมานน์ ทั้ง 2 อัลบั้ม (“Sweet Words” และ “Candlelight Blues”) และอัลบั้ม “A Tribute to King of Jazz” ของคุณจอห์น ดิ มาร์ติโน่ (John di Martino) อีก 2 อัลบั้ม (Vol.1 และ Vol.2)”


ส่วนอีกหนึ่งอัลบั้มมีชื่อว่า “ต้นไม้ของพ่อ (14 บทเพลงพิเศษ ด้วยความรัก...แด่พ่อ)” ถึงจะไม่ใช่บทเพลงพระราชนิพนธ์ แต่ก็เป็นแผ่นที่คนถามหามากที่สุดและหายากที่สุดแผ่นหนึ่งในตอนนี้ เพราะมีเนื้อหาพูดถึงความรักและผูกพันที่องค์พ่อหลวงมีต่อปวงชนชาวไทย แต่ถ้าจะให้พูดถึงอัลบั้มที่มีเรื่องเล่าอันน่าภาคภูมิใจ คงหนีไม่พ้นแผ่นลิขสิทธิ์ของนักกีตาร์คลาสสิกอย่างฮัคกี้

“ผมทำตรงนี้มาได้ 14 ปีแล้วครับ แต่เพิ่งมาเน้นบุกเบิกธุรกิจแผ่นเสียงเพลงไทยทีหลัง เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้วนี้เอง ทางร้านเลยตั้งใจจะให้พื้นที่กับแผ่นไวนิลเพลงไทยให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอัลบั้มเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสองชุดนี้ (“Sweet Words” และ “Candlelight Blues”)

[5 ปกหายากที่ได้รับจัดจำหน่ายรายหลักเพียงหนึ่งเดียว | ขอบคุณภาพ: "ร้านแผ่นเสียง" | fb.com/nokbangkokhifi]

ตั้งแต่ตอนที่รับมาจำหน่าย ทางร้านไม่ได้คาดหวังอะไรเลยครับ เราแค่เห็นคุณค่าของงานศิลปะ ยิ่งแผ่นเพลงพระราชนิพนธ์ ถึงจะอยู่ในช่วงที่คนยังไม่นิยมตามหาซื้อกันเหมือนช่วงนี้ เราก็ไม่เคยขายลดราคา ไม่ว่าจะเหลือจำนวนมากมายขนาดไหนก็ตาม ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่เคยขายเกินราคาด้วย

แม้กระทั่งวันนี้ ยังกำชับพรรคพวกที่เล่นแผ่นเสียง มีร้านแผ่นเสียงเหมือนกันว่าขอร้อง อย่าทำ เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงแผ่นเพลงพระราชนิพนธ์ให้ได้มากที่สุด ตามพระราชปณิธานในการสืบสานศิลปะทางดนตรีของพระองค์ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราภูมิใจมากครับ ที่ได้มีส่วนช่วยคุมราคาในท้องตลาด ให้ไม่เกิดการเก็งกำไรจากเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งใหญ่ของคนไทยในครั้งนี้”


 

สุดขลังสุดล้ำค่า...ยิ่งกว่าแผ่นเสียงหายาก!!

แทบไม่รู้จะเลือกชี้นิ้วลงไปที่แผ่นไหนดี เมื่อชายผู้รักเสียงเพลงวัย 50 ที่อยู่ตรงหน้าคนนี้ ได้รับมอบหมายให้เลือก “แผ่นพระราชนิพนธ์สะสมที่ล้ำค่าและหายากที่สุด” ที่ตัวเองมี เพราะเท่าที่หยิบออกมาให้ได้เสพได้ฟัง เรียกได้ว่าแทบทุกแผ่นที่ถือครองอยู่ได้กลายเป็นที่สุดแห่ง “สินค้าหายาก” แห่งยุคสมัยไปเรียบร้อยแล้ว


[แผ่น “เพลงพระราชนิพนธ์ชุด สายฝน”]
โดยเฉพาะแผ่นเสียงปกดึกดำบรรพ์ที่ยังคงเน้นออกแบบด้วยภาพวาด ทั้งแผ่น “เพลงพระราชนิพนธ์ชุด สายฝน” ในภาพวาดพระบรมมหาราชวัง, แผ่น “เพลงพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แสงเทียน” ในภาพวาดสาวสมัยเก่ายกมือพนม หรือแม้แต่แผ่น “เพลงพระราชนิพนธ์ (Music Composed by H.M.The King)” ในภาพเปลวเทียนส่องเมืองกรุงเก่า ซึ่งน่าจะมีราคาพุ่งสูงในหลักหลายหมื่นไปแล้ว ถ้าจะมีใครยอมควักออกมาขาย




“แผ่นเพลงพระราชนิพนธ์ในวันนี้น่าจะแพงมากๆ แล้วครับ เพราะใครๆ ก็อยากเก็บเป็นของที่ระลึกถึงพระองค์ทั้งนั้น ขนาดว่าแผ่นเพลงไทยที่หายากๆ ในยุค 60's ทุกวันนี้ราคาพุ่งขึ้นไปอยู่หลักหมื่นก็มี ยิ่งถ้าเป็นแผ่นที่มีภาพปกเป็นภาพวาด จะยิ่งมีมูลค่ามากครับ เพราะนอกจากจะหายากแล้ว ยังบ่งบอกประวัติศาสตร์สมัยนั้นไปด้วยได้ ทำให้ได้อีกอารมณ์ว่านี่คืองานศิลปะจากยุค 60's นะ เพราะถ้าเป็นยุค 70's จะเริ่มผันมาเป็นภาพถ่ายกันแล้ว


ตอนนี้พูดง่ายๆ ว่าอะไรที่เกี่ยวกับในหลวง กลายเป็นสินค้าที่ล้ำค่ามาก เพราะทุกคนต้องการเก็บเป็นที่ระลึก เหมือนธนบัตรที่ระลึกที่มีคนไปต่อคิวกันยาวๆ เพื่อแลกซื้อนั่นแหละครับ เพียงแต่การสะสมในรูปแบบนี้ มันมีเสียงเพลงให้ฟังด้วย มันคืองานศิลปะที่บันทึกประวัติศาสตร์ได้ ซึ่งช่วงชีวิตหนึ่ง คนหนึ่งจะได้เห็นหนึ่งครั้ง หรือบางคนอาจไม่มีโอกาสได้เห็นเลยก็มี

ผมว่าทุกชิ้นตอนนี้กลายเป็นสินค้าหายากไปหมดแล้ว เพราะแผ่นเสียงพวกนี้มีคุณค่าทางใจสูงมาก การที่จะไปหาหรือไปขอมาจากใครเหมือนในอดีต คงเป็นไปได้ยากแล้ว คือถ้าไปขอเขาฟังยังได้ครับ แต่ถ้าขอมาเพื่อครอบครอง ต้องยอมรับว่าทำได้ยากมากแล้วในวันนี้ เพราะมันไม่เหมือนสินค้าป็อปปูลาร์ทั่วๆ ไปตามท้องตลาด แต่ยังเป็นของที่ช่วยให้เราทุกคนได้ระลึกถึงองค์พ่อหลวงด้วย


ต้องถือว่าโชคดีมากๆ ที่ทางร้านมีลูกค้าผู้ใหญ่ใจดีช่วยอุปการะ นำแผ่นไวนิลรุ่นหายากเหล่านี้มามอบให้แก่ทางร้านแบบฟรีๆ ด้วยหวังให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้สัมผัสถึงพระอัจฉริยภาพผ่านการร้อยเรียงดนตรีของคนยุคเก่าได้อย่างทั่วถึง จึงทำให้มีแผ่นเสียงรุ่นเก๋าให้มานั่งลูบๆ คลำๆ กันได้จนถึงตอนนี้

“เรารับปากเขาว่าจะเอามาโชว์ จะไม่ขายเด็ดขาดครับ” นกย้อนรอยคำสัตย์ที่เคยให้ไว้แก่เจ้าของไวนิลรุ่นเก๋าตัวจริง ซึ่งเป็นความตั้งใจชนิดเดียวกับที่ทำให้ “ร้านแผ่นเสียง” ร้านนี้ เลือกเก็บแผ่นเทสต์ (Test Pressings) แผ่นต้นแบบของแผ่นพระราชนิพนธ์หายากฉบับจริงเอาไว้ ไม่ยอมปล่อยขายเพื่อเก็งกำไรที่ไหนๆ แม้ว่าถ้าตีราคากันจริงๆ แผ่นเหล่านี้จะมีราคาสูงกว่าฉบับผลิตขายตัวจริงเสียอีก เพราะมีเพียงแผ่นเดียวหรือไม่กี่สิบแผ่นในโลก


“แผ่นเทสต์พวกนี้จะถูกส่งให้ผู้จัดจำหน่ายเอาไว้เปิดในลูกค้าฟัง แต่บางค่ายจะผลิตออกมาจำนวนไม่เยอะครับ แค่หลัก 10 แผ่น เพราะฉะนั้น ร้านที่ไม่ได้เป็นผู้จัดจำหน่ายโดยตรง แต่รับจากทางเราไปอีกที ก็อาจจะไม่ได้แผ่นเทสต์เหล่านี้ไป

แต่อย่างอัลบั้ม “Sweet Words” กับ “Candlelight Blues” มีแผ่นเทสต์แค่แผ่นเดียว คือที่อยู่กับทางร้านของเรา ส่วนอัลบั้ม “ต้นไม้ของพ่อ” ที่เป็นเพลงที่แต่งเกี่ยวกับพ่อหลวง น่าจะมีแผ่นเทสต์ไม่เกิน 5 แผ่น


ในมุมมองของคนที่ทำงานตรงนี้ ถือว่าแผ่นเหล่านี้มีคุณค่ามากนะ อย่างผมก็เก็บเอาไว้หมดเลยครับ เพราะมันคือหลักฐานที่แสดงว่าเราเคยมีประสบการณ์การจัดจำหน่ายสินค้าอันทรงคุณค่าและทรงเกียรติเหล่านี้

ยัง..ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น!! สิ่งของที่ระลึกถึงพ่อหลวงภูมิพลประจำร้านแห่งนี้ ไม่ได้สิ้นสุดอยู่ที่แผ่นไวนิลหายาก แต่กลับยกตำแหน่ง “ที่สุด” ให้แก่ “ภาพโปสเตอร์ขนาดใหญ่ที่ใช้ต้อนรับในหลวง-ราชินี” เมื่อครั้งเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 14 มิ.ย.-14 ก.ค.2503 โดยมีประธานาธิบดีไอเซนเฮาเวอร์ (Dwight David "Ike" Eisenhower) จัดริ้วขบวนต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ

[หนึ่งเดียวในโลก!! โปสเตอร์ประวัติศาสตร์เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกา]

[เจ้าบ้านติดโปสเตอร์ต้อนรับขบวนเสด็จของทั้งสองพระองค์ | ขอบคุณภาพ: วิจิตร ไชยวัณณ์]

ในตอนที่พระองค์เสด็จฯ ทางอเมริกาติดโปสเตอร์แบบนี้ไว้ต้อนรับตามเสาเป็นแนวตลอดเส้นทาง ซึ่งโปสเตอร์แผ่นนี้ ผมได้มาจากคุณพ่อของเพื่อนพี่ชาย ซึ่งเป็นคนอเมริกันที่นั่น เขาเก็บโปสเตอร์นี้ไว้หลังขบวนเสด็จของพระองค์เสด็จผ่านไปแล้วพอดี พอเขารู้ว่าพี่ชายเราเป็นคนไทย เขาก็ฝากลูกเขาซึ่งเป็นชาวอเมริกันมาให้ บอกว่าให้เอากลับประเทศยูไปละกัน (หัวเราะ)

[ประธานาธิบดีไอเซนเฮาเวอร์ ถวายการต้อนรับอย่างดี เมื่อครั้งเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา วันที่ 14 มิ.ย.-14 ก.ค.2503 | ขอบคุณภาพ: วิจิตร ไชยวัณณ์]

[สหรัฐอเมริกาต้อนรับด้วยริ้วขบวนยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ | ขอบคุณภาพ: วิจิตร ไชยวัณณ์]

พอได้มา พี่ชายก็เอามาให้ ผมก็เอามาใส่กรอบตั้งโชว์ไว้ตั้งแต่ 5-6 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ยังไม่ย้ายร้านมาตรงนี้เลย แต่คนไม่ค่อยสังเกตเห็นเท่าไหร่ ใครแวะมาที่ร้านเราก็จะเล่าให้ฟังตลอด แต่ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไหร่ แต่ถึงตอนนี้ ชี้ให้ใครดู เล่าให้ใครฟัง ก็กลายเป็นเรื่องเล่าล้ำค่าขึ้นมา

นี่ผมก็ตั้งใจเอาไว้ว่าถ้าทางสำนักพระราชวังอยากได้ อยากเอากลับไปเก็บเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ผมก็ยินดีจะให้แบบฟรีๆ เลยครับ เพราะถ้าทางอเมริกาไม่มีใครเก็บไว้ แผ่นนี้ก็น่ามีเหลือแผ่นเดียวในโลกแล้วจริงๆ



[ชมคลิปและฟัง “บทเพลงพระราชนิพนธ์” ผ่านแผ่นไวนิลหายาก]




[นก-พงศกร ดิถีเพ็ง และ บอย-เถลิงศักดิ์ เผือกพันธ์ หุ้นส่วน “ร้านแผ่นเสียง”]




สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Lite
เรื่องและคลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณสถานที่: “ร้านแผ่นเสียง” ซ.ประดิพัทธ์ 19 (fb.com/nokbangkokhifi)




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น