อันตรายรอบด้าน!! ฮิตเล่น “โปเกมอน โก” กันทั่วประเทศ บอกเลยว่าต้องจัดโซนนิ่ง ถ้าอยากเล่นให้ปลอดภัยสบายใจจริงๆ ทั้งโซนนิ่งจากภาครัฐเพื่อปกป้องประเทศจากภัยคุกคาม ทั้งโซนนิ่งจากครอบครัวเพื่อปกป้องลูกๆ จากมิจฉาชีพ ก่อนที่การตามล่าเก็บแต้มจาก Pokemon Go จะกลายมาเป็นความสูญเสียของครอบครัว กลายเป็น Family Go แบบไม่มีวันหวนกลับ...
จัด “โซนนิ่ง” การล่า ห้าม “โปเกมอน” ปรากฏตัว!!
“สำหรับประเทศญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เขาปล่อยประชาชนเล่นบนฟุตปาธได้ เพราะสภาพฟุตปาธเขากว้างขวางเดินสบาย แต่ประเทศไทยของเรา ฟุตบาธไม่ได้เหมือนอย่างบ้านเมืองเขา และบางพื้นที่ก็เป็นอันตรายต่อผู้เล่นเองจริงๆ ครับ”
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บอกเล่าถึงเหตุผลที่ต้องหารือ เพื่อจัดโซนนิ่งการจับตัวการ์ตูนในเกม “โปเกมอน โก (Pokemon Go)” ที่กำลังจะเกิดขึ้น หลังเริ่มเห็นเค้าลางแล้วว่าเกมยอดฮิตตัวนี้ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดความโกลาหลได้มากขนาดไหนในอนาคต
เนื่องจากเป็นเกมที่เล่นผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ผู้เล่นต้องสวมบทบาทเป็น “เทรนเนอร์” ตามจับเหล่ามอนสเตอร์ตัวน้อยๆ ที่เรียกว่า “โปเกมอน” โดยใช้โทรศัพท์ที่เชื่อมโยงกับ GPS ให้ผู้เล่นเห็นภาพในเกมซ้อนทับภาพจริงบน google maps ผ่านมือถือ กำหนดพิกัดล่าเหล่าสัตว์ประหลาดเพื่อแลกแต้มสะสม ให้ก้าวข้ามพ้นเลเวลขึ้นไปเรื่อยๆ ตามที่เกมระบุเอาไว้
ถือเป็นการเล่นเกมผ่านการเดินเหินในชีวิตจริง ส่งให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลต่ออันตรายจากการจับจ้องหน้าจอโทรศัพท์ จนอาจสุ่มเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ และอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่ใช้โอกาสนี้ในการล่าเหยื่อได้ โดยเฉพาะผู้เล่นที่เป็นเด็กและสตรี
และเพื่อให้กฎระเบียบในเรื่องการดูแลความมั่นคงปลอดภัยต่างๆ ออกมาอย่างเป็นทางการ ทาง กสทช.ได้เชิญตัวแทนบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะที่ได้ลิขสิทธิ์เกมตัวนี้ เข้าหารือพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้เรียบร้อยแล้ว โดยวางมาตรการไว้ว่าจะขอกำหนด “พื้นที่ต้องห้ามโปเกมอนปรากฏตัว” ซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือรบกวนบุคคลอื่นโดยไม่มีกิจอันเหมาะสม เช่น โรงพยาบาล, เขตพระราชวัง, และพื้นที่ที่มีป้ายระบุว่าเป็นเขตหวงห้าม หรือเป็นพื้นที่ที่เกี่ยวกับความมั่นคง
ในประเทศไทยของเรา ทางการยังคงย้ำชัดว่าไม่ได้ห้ามไม่ให้เล่น เพราะมองว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่แค่อยากควบคุมให้อยู่ในลิมิตที่เหมาะสมเท่านั้นเอง เทียบกับในอิหร่านแล้ว ยังถือว่าจิ๊บๆ เพราะที่นั่นถึงกับออกมาประกาศ “แบนเกม” เป็นประเทศแรก ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของประเทศ หรือแม้แต่ที่อินโดนีเซียเอง ก็มีคำสั่งจากทางราชการ “ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร เล่นเกมโปเกมอนระหว่างปฏิบัติหน้าที่” ด้วย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาแสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่า ทางการกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาและศึกษาอย่างละเอียดว่า เกมฮิตดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงหรือไม่ และถ้ากระทบ จะกระทบต่อด้านใดบ้าง ซึ่งเมื่อมีคำให้สัมภาษณ์เช่นนี้ออกมา ก็ทำเอาคอเกมส่งแรงกระเพื่อมด้านคัดค้านกลับมาอยู่บ้างเหมือนกัน
ถ้านับจากวันเปิดตัวเกมล่ามอนสเตอร์จิ๋วตัวนี้ออกมา ยังไม่พบผลกระทบด้านความมั่นคงที่ชัดเจนออกมาแต่อย่างใด มีเพียงคำเตือนจาก กสทช.เกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ที่ขอเตือนให้บรรดาผู้ปกครองดูแลสมาร์ทโฟนในมือบุตรหลานของตัวเองกันดีๆ
"กสทช.พบข้อมูลการซื้อไอเทม หรือการซื้อสินค้าเพิ่มในเกม ราคาประมาณ 2,000-3,000 บาท ซึ่งเรื่องนี้ผู้ปกครองอาจจะยังไม่รู้ว่าจะเกิดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้บานปลายตามมาได้ และจะทำให้มีปัญหากับบริษัทค่ายมือถือในการจ่ายค่าอินเทอร์เน็ต และค่าไอเทมต่างๆ เหล่านี้ จึงอยากเตือนให้ระวังเอาไว้ เพราะทาง กสทช.เอง ก็ไม่อยากให้เกิดปัญหาการร้องเรียนตามมา"
ส่วนที่อาจเรียกได้ว่า “กระทบต่อความมั่นคง” ทางความปลอดภัยที่สุด คงหนีไม่พ้นการจ้องจอมือถือเพื่อตามล่าโปเกมอนบนท้องถนน และการบุกเข้าไปโกยเหล่าโปเกมอนตามพื้นที่ส่วนบุคคล ซึ่งทาง พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอฟันธงเอาไว้ตรงนี้เลยว่า การกระทำดังกล่าวมีความผิดทั้งสองกระทง
“ก็ถือว่ามีผู้สนใจเล่นจำนวนมากครับ จึงอาจทำให้เกิดผลกระทบหลายด้านต่อผู้อื่นได้ โดยเฉพาะหากเล่นขณะขับขี่ยานพาหนะ อาจทำให้ผู้อื่นได้รับอันตราย ซึ่งตามกฎหมายแล้ว ถึงจะหยิบมาเล่นตอนติดไฟแดงอยู่ก็มีความผิดครับ มีโทษปรับ 400 - 1,000 บาท ส่วนกรณีที่มีบางคนที่เข้าไปจับโปเกมอนในสถานที่ต้องห้าม หรือสถานที่ราชการ ก็อาจมีความผิดได้เหมือนกัน"
อันตรายกว่าที่คิด! เล่นแบบไหนไม่ให้ Family Go!!
วัยรุ่น 2 รายถูกยิง ขณะกำลังเล่น “โปเกมอน โก” เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เนื่องจากผู้ยิงเข้าใจผิดคิดว่าทั้งสองคนเป็นขโมย จะเข้าไปขโมยของในบ้าน จึงยิงไปที่รถยนต์ของผู้ต้องสงสัย มารู้ภายหลังว่าพวกเขาไม่ได้ไปด้อมๆ มองๆ เพราะอยากลักทรัพย์ แต่แค่อยากไปเก็บโปเกมอนเท่านั้นเอง ยังถือโชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้ แต่ก็ถือเป็นกรณีซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างอยู่เหมือนกัน
ย้อนกลับไปดูความสูญเสียหลังเกมยอดฮิตนี้เปิดตัวในประเทศต่างๆ ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่าเศร้าใจไม่น้อยจากเหตุไม่คาดฝัน มีทั้งกรณีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เพราะมัวแต่ก้มมองจอสมาร์ทโฟนจนสะดุดและหกล้ม แม้แต่ในไทยเองก็มีเด็กๆ ที่ถูกแท็กซี่ชนเข้าไปเบาๆ เพราะมัวแต่ก้มหน้าล่าโปเกมอน
หรือแม้แต่ในบอสเนียก็เกิดเหตุขึ้นเช่นกัน ล่าสุด มีผู้เล่นไปเดินเก็บแต้มอยู่บริเวณวัตถุระเบิดสมัยสงครามยังหลงเหลือ จนกลายเป็นเรื่องราวให้เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปเก็บกู้และออกคำเตือนเรื่องโซนนิ่ง แต่ที่น่าสลดใจที่สุด คงหนีไม่พ้นกรณีที่มีผู้เล่นไปตามจับโปเกมอนจนกลายเป็นศพในหนองน้ำในเวลาต่อมา
ที่ญี่ปุ่น ซีเรียสในเรื่องนี้มากถึงขั้นมีคำเตือนจากรัฐบาลเรื่อง “โปเกมอน โก” ถึงความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งเรื่องการล่อลวงทางอินเทอร์เน็ต, การรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัว, การห้ามไม่ให้เข้าไปหาโปเกมอนในสถานที่อันตราย, การตามล่าหาโปเกมอนอย่างใจจดใจจ่อโดยไม่สนใจสภาพอากาศจนเป็นลมแดด หรือแม้แต่การเน้นย้ำว่าอย่าเล่นเกมระหว่างเดิน หรือขี่จักรยาน เนื่องจากมีรายงานการเกิดอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิตมาหลายต่อหลายรายแล้ว
แต่ต่อให้พูดให้เตือนสักเท่าไหร่ก็คงไปห้ามคนที่อยากจะเล่นไม่ได้ แอนดี้ โรเบิร์ทสัน (Andy Robertson) นักรีวิวเกมและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับครอบครัว จึงได้เขียนบทความช่วยไขทางออกเล็กๆ เอาไว้ เกี่ยวกับ "5 วิธีที่ครอบครัวสามารถทำได้ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจาก โปเกมอน โก" ย้ำชัดว่าเกมนี้เล่นได้ เพียงแต่คนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องเตรียมรับมือกับ 5 ความเสี่ยงเหล่านี้เอาไว้ อย่าให้คลาดสายตา
1.ระวังความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมผ่านเกม โดยการกำหนดช่วงเวลาในการเล่นเกม และตั้งพาสเวิร์ดเพื่ออนุญาตการเข้าเล่นเกม ก่อนที่จะส่งสมาร์ทโฟนไปไว้ในมือน้อยๆ ของเด็กๆ เพราะถ้าไม่ตั้งกรอบเอาไว้ คุณอาจกระเป๋าบานจากออปชันที่เกมส่วนใหญ่มักยื่นข้อเสนอมาให้ เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ผู้เล่นอยากได้ระหว่างเล่นเกม
2.ระวังความเสี่ยงจากคนแปลกหน้า ด้วยความเห่อของผู้เล่นโปเกมอนซึ่งถือเป็นของใหม่ อาจทำให้เด็กๆ เที่ยวไปพูดคุยกับคนแปลกหน้าคนอื่นได้ง่ายๆ เพื่อสอบถามเรื่องเกม โดยเฉพาะมิจฉาชีพใช้เกมฮิตเหล่านี้บังหน้า ซึ่งถ้าเป็นครอบครัวที่ตัดสินใจเล่นเกมนี้ไปกับลูกๆ ตามไปเก็บเหล่าโปเกมอนด้วยกัน ก็จะช่วยตัดปัญหาเรื่องนี้ไปได้
3.ระวังความเสี่ยงจากการเดินทาง ต้องยอมรับว่าผู้ล่าโปเกมอนในเกมนี้ มีความเสี่ยงต่ออันตรายจากอุบัติเหตุได้มากกว่าคนทั่วๆ ไป เพราะสมาธิของพวกเขาไม่ได้จดจ่ออยู่กับสถานที่ที่ปรากฏอยู่บนเลนส์ตาจริง แต่กลับไปโฟกัสอยู่กับภาพกราฟิกของเหล่าโปเกมอนบนจอสมาร์ทโฟน ที่ซ้อนทับถนนหนทางจริงอยู่
4.ระวังความเสี่ยงจากข้อมูลที่รั่วไหล โดยการสร้างบัญชีใหม่ใน google เพื่อการเล่นเกมนี้โดยเฉพาะ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลต่างๆ ที่อยู่ใน gmail เก่าของเรารั่วไหล และเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบและควบคุมลิมิตการเล่นของเด็กๆ ด้วย
5.ระวังความเสี่ยงจากปัญหาเด็กหาย เพราะเกมนี้ไม่ใช่เกมที่จะนั่งเล่นเฉยๆ อยู่ที่บ้านได้ แต่ต้องเดินทางออกไปจากบ้าน ไปตามเก็บเหล่าโปเกมอนตามสถานที่ต่างๆ บนแผนที่จริง ผู้ปกครองจึงควรระมัดระวังเป็นอย่างดีเพื่อไม่ให้ลูกหลานของตัวเองอยู่ไกลจากสายตา หรือออกไปตามเก็บแต้มไกลเกินไป โดยต้องตกลงเป็นกฎระหว่างกันเอาไว้ก่อนเล่นเลยว่า จะกำหนดโซนนิ่งในการเล่นเป็นแบบไหน
“ผู้ปกครองควรใช้วิจารณญาณให้มาก ก่อนที่ลูกบุตรหลานของท่านจะได้รับอุบัติเหตุ หรือเป็นเหยื่อของอาชญากรที่แฝงตัวมากับเกม หรือตกเป็นทาสของเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ” ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการด้านสื่อ ออกโรงเตือนครอบครัวในปรากฏการณ์นี้เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ
“โปรดจำไว้ว่า ของเล่นที่ดีที่สุดของเด็กคือพ่อแม่ครับ อย่าให้เทคโนโลยีมาแย่ง มาทำหน้าที่แทนท่าน ด้วยข้ออ้างว่ารักลูกหรือทนคำรบเร้าอยากเล่นของลูกไม่ไหว ด้วยความรัก ความเอาใจใส่ การทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว คือสายใยที่ดีที่สุดในการสร้างบุตรหลานของท่านให้เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจ อย่าทำให้โทรศัพท์มือถือมาทำให้ลูกหลานของท่านกลายเป็นหุ่นยนต์ อย่าให้มือถือท่านเลี้ยงลูกเลยจะดีกว่าครับ เกมที่ดีที่สุด สำหรับเด็กๆ คือ Family Go! พาลูกออกไปเที่ยวไปทำกิจกรรมนอกบ้านครับ!"
[ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก "Pongsatorn Kumplee" | fb.com/pongsatornkumplee]
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก "Pongsatorn Kumplee", แฟนเพจ “Fanime” และ #pokemongo
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754