นักวิชาการด้านสื่อ แจงข้อกังวลใจสำหรับเกมโปเกม่อนโก (Pokemon Go) สำหรับพ่อแม่ชาวไทย โดยเฉพาะความจริงที่ว่า บริษัทผู้พัฒนาเกมนี้จะนำเอาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ไปเก็บเป็นประวัติข้อมูลเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาเกมต่อไป ดังนั้น อาจมีข้อมูลส่วนตัวของผู้ปกครองที่ถูกดัก ตรวจ จับเอาไปใช้งานในอนาคต ทั้งข้อมูล ชื่อ นามสกุล สถานที่ และบัตรเครดิต
10 ข้อควรรู้สำหรับพ่อแม่ ก่อนตัดสินใจให้ลูกเล่นเกม Pokemon Go ของ "ธาม เชื้อสถาปนศิริ" นักวิชาการด้านสื่อชื่อดัง มีดังนี้
1. เกมนี้ ผู้เล่นควรมีอายุมากกว่า 13 ปีขึ้นไป ดังนั้น พ่อแม่ควรทำความเข้าใจเงื่อนไขของเกม (ข้อแย่ คือ ผู้พัฒนา ไม่เขียนเงื่อนไข แปลเป็นภาษาท้องถิ่น กรณีประเทศไทย คำแนะนำเป็นภาษาอังกฤษที่มีคำศัพท์เทคนิคยืดยาว เชื่อว่าไม่มีผู้ปกครองคนใด อ่าน หรือทำความเข้าใจได้หมด เรียกว่าบริษัทผู้ผลิตและพัฒนาขาดความตระหนักในเรื่องนี้)
2. เกมนี้ เด็กที่จะถูกอนุญาตให้เล่นโดยความยินยอมและรับทราบของผู้ปกครอง หากเด็กเล่น ต้องมีบัญชีจีเมล (หรือบัญชีเฟซบุ๊กในกรณีบางประเทศ) ดังนั้น การเล่น ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ส่วนผู้ใหญ่ ก็ใช้วิจารณญาณส่วนตัวเอาเอง จุดนี้จึงควรระวังไม่เล่นเกมจนเสียเงิน เสียงาน เสียความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
3. เกมนี้ ทางบริษัทจะนำเอาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ ไปเก็บเป็นประวัติข้อมูลเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาเกมต่อไป ดังนั้น อาจมีข้อมูลส่วนตัวของท่านถูกดัก ตรวจ จับเอาไปใช้งานในอนาคต (ข้อมูล ชื่อ นามสกุล สถานที่ บัตรเครดิต และเพื่อนๆ ของท่าน จะถูกใช้การเอาไปวิเคราะห์พฤติกรรมและการตัดสินใจบริโภคในเชิงการตลาด)
4. เกมนี้ ผู้เล่นจะต้องเปิดเผยพื้นที่ตำแหน่งของตนเองให้ผู้พัฒนาทราบ และ ผู้เล่นคนอื่น ๆจะทราบว่ามีใครในละแวกนั้นอยู่บ้าง เพราะฉะนั้น อาจเป็นช่องทางที่ไม่เหมาะสมสำหรับโจรออนไลน์ ที่จะรู้ว่าท่านอยู่ที่ไหน หรือไปที่ไหน หรือทำอะไร (ต่อไปจะสามารถแชร์ตำแหน่งการเล่น เปิดเผยกับเพื่อนๆ ในเกมได้)
5. เกมนี้ เล่นร่วมกันกับเพื่อนได้ ดังนั้นระมัดระวัง การออกไปเจอคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักนอกบ้าน ซึ่งอาจเป็นอาชญากร หรือ ขบวนการลักพาตัวเด็ก (ด้วยการใช้ ไอเท็ม หรือ คำชักชวน ล่อออกมาพบ เจอกัน เพื่อที่จะช่วยเล่นเกม หรือ แลกเปลี่ยนไอเท็ม)
6. เกมนี้ มีการซื้อขายไอเท็ม อุปกรณ์ ต่างๆ ในเกม ดังนั้น ผู้เล่น หรือ พ่อแม่ ควรระมัดระวังการใช้จ่ายเงิน และควบคุมวินัยการเงินในเครื่องบัญชีของเยาวชนที่เล่นเกม ระวังเจอบิลช็อกจากการจ่ายเงินเล่นเกม
7. เกมนี้ ผู้เล่นอาจเข้าไปฝ่าฝืนพื้นที่ส่วนตัว ถนน และ สถานที่สาธารณะอันมีรถ ถนน ตลาด ย่านการค้า ร้านขายอาหารแผงลอยต่างๆ ซึ่งมีความพลุกพล่าน ควรเล่นเกมด้วยความเคารพผู้คนในสถานที่ที่เขาไม่ได้เล่นเกม และเคารพกฎเกณฑ์ ข้อระเบียบ และวัฒนธรรม ความละเอียดอ่อนทางวัฒนธรรมของบริบทพื้นที่แวดล้อมนั้น
8. เกมนี้ เล่นได้ทั้งวันทั้งคืน การออกไปจับสัตว์โปเกม่อนในยามวิกาล ค่ำคืน หรือที่เปลี่ยว ตามจุดต่างๆ ละแวกบ้านหรือพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย อาจไม่ปลอดภัย และตกเป็นเหยื่ออาชญากร แก๊งปล้น ที่คอยดักจี้ ปล้น ได้
9. เกมนี้ ไม่ควรเล่นขณะขับขี่ยวดยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ การจอดในพื้นที่ข้างถนน ห้ามจอด) หรือ การขับขี่จักรยาน (บางพื้นที่ห้ามนำเอาจักรยาน เข้าไปในพื้นที่) หากเล่นในพื้นที่กรุงเทพ ระวังหลุม ผาท่อ คูน้ำ พื้นที่ขุดลอกคลอง ที่เต็มไปด้วยอันตราย และ พื้นที่ก่อสร้างข้างเคียง อาจบาดเจ็บได้
10. เกมนี้ อาจทำให้ผู้เล่น เสพติดความเสมือนจริงจากหน้าจอ มากยิ่งขึ้น กลายเป็นคนเสพติดเกม เสพติดมือถือมากขึ้น เพราะมีความสนุก ไม่ควรเล่นจนเสียการเรียน การงาน และสูญเสียความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและคนรอบข้าง ควรมีวิจารณญาณ สติเท่าทันตนเอง และผู้พัฒนาเกม ตลอดจนบริษัทเอกชนที่ได้ผลประโยชน์จากเกมนี้ อีกทั้ง ต้องเท่าทันรอบคอบ ไม่เชื่อใจคนแปลกหน้า หรือ เพื่อนร่วมเล่นเกม ที่จะชักจูงเราออกไปเล่นเกมในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย
สรุปคือ ผู้ปกครองควรใช้วิจารณญาณให้มาก ก่อนที่ลูก บุตรหลานของท่านจะได้รับอุบัติเหตุ หรือ เป็นเหยื่อของอาชญากรที่แฝงตัวมากับเกม หรือ ตกเป็นทาสของเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ
โปรดจำไว้ว่า ของเล่นที่ดีที่สุดของเด็ก คือ พ่อแม่ อย่าให้เทคโนโลยีมาแย่ง มาทำหน้าที่แทนท่าน ด้วยข้ออ้างว่ารักลูก หรือ ทนคำรบเร้าอยากล่นของลูกไม่ไหว
ด้วยความรัก ความเอาใจใส่ การทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว คือสายใยที่ดีที่สุดในการสร้างบุตรหลานของท่านให้เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจ อย่าทำให้โทรศัพท์มือถือมาทำให้ลูกหลานของท่านกลายเป็นหุ่นยนต์
อย่าให้มือถือท่านเลี้ยงลูกเลยจะดีกว่า ฉะนั้นเกมที่ดีที่สุด สำหรับเด็กๆ คือ Family Go! พาลูกออกไปเที่ยวไปทำกิจกรรมนอกบ้าน!