อีกแล้ว! กับวีรกรรมสุดมึนของนักท่องเที่ยวชาวจีน ครั้งนี้เป็นการพยายามนำปะการังออกนอกประเทศ ผ่านทางสนามบินดอนเมือง
เฟซบุ๊กของสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม Greennews พบว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2559 ระหว่างที่กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนทยอยนำสัมภาระผ่านเครื่องเอ็กซ์เรย์ บริเวณจุดตรวจสแกนสัมภาระขาออกนอกประเทศ พบถุงพลาสติกสีแดง 1 ถุง ที่ไม่ผ่านการสแกน เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบวัตถุข้างในพบว่าเป็นปะการังที่ยังมีความชื้นอยู่
โดยเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องเอ็กซ์เรย์ สนามบินดอนเมือง เปิดเผยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นประจำแทบจะทุกวัน โดยเกือบจะทั้งหมดเป็นนักท่องเที่ยวจีนที่ต้องการนำปะการังกลับบ้าน พบทั้งปะการังสดและปะการังแห้งที่ตายแล้ว ซึ่งตามกฎหมายคือไม่อนุญาตให้นำออกนอกประเทศโดยเด็ดขาด ดังนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบก็ต้องยึดเอาไว้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือหากเป็นปะการังสดก็ไม่รู้ว่าจะเก็บรักษาอย่างไร
เจ้าหน้าที่ ยังบอกอีกด้วยว่า ไม่รู้ว่านักท่องเที่ยวเหล่านั้นจะรู้หรือไม่ว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เพราะทุกครั้งที่ตรวจยึดได้บางคนก็โวยวายสักครู่แล้วก็เงียบ บางคนก็ไม่ได้สนใจอะไรยอมทิ้งปะการังไว้ที่จุดสแกนแล้วก็เดินไปหน้าตาเฉย
อย่างไรก็ตาม นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรชายฝั่งทางทะเล (ทช.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า จะทำหนังสือถึงผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อแจ้งว่า หากมีการตรวจพบกรณีดังกล่าวอีกให้ประสานมายัง ทช. เพื่อดำเนินการ เนื่องจากมีหน่วยเฉพาะกิจที่ดูแลเรื่องนี้ และพร้อมจะออกไปดำเนินคดีและรับของกลางกลับคืนมา
นายโสภณ กล่าวต่อว่า ไม่ว่าปะการังจะตายแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ก็ควรจะต้องนำกลับมา ไม่ใช่ปล่อยทิ้งไว้เป็นขยะ ซึ่งหากยังมีชีวิตอยู่ก็จะได้นำกลับมาเพาะเลี้ยงอนุบาลจนแข็งแรงดีแล้วจึงปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ เพราะปะการังก็คือสิ่งมีชีวิต
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวความมีผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 19 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้านนักวิชาการประมง ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat ให้ความเห็นถึงเหตุการณ์นักท่องเที่ยวจีนฉกปะการังกลับประเทศตัวเองด้วยว่า
“เก็บจากทะเลไทย เอากลับบ้านกันเห็นๆ ขืนเป็นอย่างนี้ แล้วจะมีอะไรเหลือให้ลูกหลานเรา”
นอกจากนี้ ผศ.ธรณ์ ยังเสนอว่า ควรขอความร่วมมือสายการบินทำแผ่นแนะนำสิ่งที่ห้ามทำ ในส่วนนี้กระทรวงท่องเที่ยว ฯลฯ น่าจะทำได้ ตั้งป้ายใหญ่ที่สนามบินต่างๆ ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ระบุชัดว่าผิดกฎหมาย
อีกทั้งยังแนะนำให้ต้องจับและปรับให้แรงขึ้น จะพยายามเสนออุทยานให้เพิ่มค่าปรับ ในส่วนนอกอุทยาน ก็ต้องฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนสนามบินหากตรวจเจอต้องจับ เพราะมีกฎหมายคุ้มครองปะการังอยู่แล้ว โดยเจ้าหน้าที่ต้องขอให้นักท่องเที่ยวรายนั้น หยุดรอแจ้งด่านสัตว์น้ำ(กรมประมง) เพื่อมาจัดการรับช่วงต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนการขยายผล จับแล้วต้องโปรโมต แจ้งไปสถานทูต นำภาพมาเผยแพร่พร้อมเงินค่าปรับให้เกิดความกลัว
นอกจากนี้ ผศ.ธรณ์ ยังได้เผยแพร่กฎหมายของกรมประมงที่กำหนดมาตราการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยผู้ฝ่าฝืนทำการประมงปะการัง หรือหินปะการังทุกชนิด ทุกขนาดไม่ว่าวิธีใดๆ ในทะเล หรืออ่าวในท้องที่จังหวัดชายทะเลทุกจังหวัด มีความผิดต้องโทษปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
ผู้ฝ่าฝืนส่งปะการัง ซากส่วนหนึ่งส่วนใด ผลิตภัณฑ์จากปะการังและปลาสวยงามออกนอกประเทศ มีความผิดต้องโทษปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้า จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ และริบของกลางรวมทั้งสิ่งที่บรรจุและพาหนะใดๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าซึ่งเกี่ยวเนื่องด้วยความผิด
ผู้ฝ่าฝืนมีหินปะการัง กัลปังหา เต่าทะเล กระและผลิตภัณฑ์ไว้ในครอบครองเพื่อการค้า มีความผิดต้องโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
ล่าสุด กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ออกคำสั่งคุ้มครองปะการังทะเลไทย 7 พื้นที่ พร้อมเผยแพร่คำสั่งดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า
วันที่ 23 พฤษภาคม 2559 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ออกคำสั่งกรม ทช. ที่ 445/2559 เรื่องมาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการระงับความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรปะการัง บริเวณ 7 พื้นที่ ได้แก่ 1. เกาะมันใน จ.ระยอง 2. เกาะทะลุ 3. เกาะเหลื่อม จ.ประจวบคีรีขันธ์ 4. เกาะไข่ จ.ชุมพร 5. เกาะราชาใหญ่ 6. แหลมพันวา 7. เกาะไม้ท่อน จ.ภูเก็ต
โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป จนกว่าความอุดมสมบูรณ์เข้าสู่สภาวะปกติ และความเสียหายระงับสิ้นไป
ขอบคุณภาพจาก สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม Greennews , เฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754