xs
xsm
sm
md
lg

หัวขโมยวินเทจ! ย่องเบาป้ายร้าน แฟชันของเก่าในยุคใหม่!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากกระแสความนิยมสะสมของเก่า เกิดเป็นแฟชั่นการขโมยยุคใหม่ เน้นเฉพาะป้ายชื่อกิจการ ป้ายไม้โบราณเหตุการณ์ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นกับร้านค้าย่านสำเหร่ ที่ถูกขโมยเป็นป้ายประจำตระกูลอายุไม่ต่ำกว่าครึ่งศตวรรษ! เจ้าของกิจการปวดใจ ของเก่ามีคุณค่าทางจิตใจ กลายเป็นของล่อตาโจรยุคนี้เสียแล้ว!!

ปวดใจหนักมาก! ขโมยป้ายประจำตระกูล

ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสู้ดีในปัจจุบัน อีกทั้งค่าครองชีพที่แพงขึ้น จึงส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วนโดยเฉพาะประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ บางคนอยากมีเงินแต่ไม่ใช้วิธีสุจริต จึงใช้ทางลัดผันตัวไปเป็นขโมย สร้างความเดือดร้อนให้กับคนในสังคม ซึ่งก็ขโมยกันแทบทุกอย่าง เรียกได้ว่าอะไรหยิบติดมือได้ก็เอาหมด

ไม่เว้นแม้แต่ ‘ป้ายชื่อร้านโบราณ’ เรามักจะพบเห็นได้ทั่วไปตามย่านค้าขายของคนไทยเชื้อสายจีนต่างๆ ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ลักษณะที่คุ้นตาคือ เป็นป้ายที่ทำจากแผ่นไม้ มีตัวอักษรภาษาไทยและภาษาจีนอยู่ในแผ่นเดียวกัน สีของตัวอักษรส่วนใหญ่จะเป็นสีทองเพื่อความเป็นสิริมงคลและส่งเสริมให้กิจการเจริญรุ่งเรือง ก็กลายมาเป็นของมีค่าในสายตาโจรเช่นกัน

ล่าสุดเกิดเหตุการณ์ที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของร้านขายหนังสือและล็อตตารี ร้องทุกข์ไปทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ “JS100Radio” ให้ช่วยตามหาป้ายร้านที่ถูกขโมยไปจารกหน้าร้านย่านสำเหร่ มีลักษณะเป็นแผ่นป้ายไม้สีดำ ตัวอักษรสีทอง ตามแบบป้ายไม้โบราณทั่วไป ซึ่งป้ายนั้นมีคุณค่าทางจิตใจต่อคนในครอบครัว และมีความเก่าแก่พอๆ กับที่ร้านนี้เปิดกิจการมาเกินกว่าครึ่งศตวรรษ!


[ ร้านอาวซ้งฮวด ผู้เสียหายรายล่าสุดที่ถูกขโมยป้ายร้าน ]

จากการสอบถามไปยังเจ้าของร้าน “อาวซ้งฮวด” ที่เป็นผู้เสียหายในเหตุการณ์ดังกล่าว ได้ความว่า ป้ายนี้ถือว่าเป็นทั้งป้ายชื่อร้านและป้ายประจำตระกูลแซ่อาวก็ว่าได้ มีอายุพอๆ กับที่ก่อตั้งร้านนี้มาเกือบ 60 ปีแล้ว ซึ่งหายไปตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา และเหมือนกับว่าร้านนี้จะเป็นร้านแรกที่ถูกขโมยป้ายชื่อร้านในย่านนั้น จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าหรือเบาะแสเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น

หลังจากที่เหตุการณ์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมาย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เห็นใจกับเจ้าของร้าน ที่ป้ายร้านและยังเป็นป้ายประจำตระกูลถูกขโมยไปและช่วยส่งกำลังใจให้เจ้าของร้านได้ป้ายกลับคืนมาโดยเร็ว บางความเห็นยังบอกว่า เคยพบเห็นป้ายในลักษณะนี้วางขายตามตลาดของเก่าต่างๆ อีกด้วย




“ขโมยแม้แต่ป้ายกิจการ ยุคนี้อยู่ยาก”
“คนจีนหวงมาก เหมือนเป็นป้ายประจำสำนัก”
“ขอให้ได้คืนนะคะ”
“ถ้าชอบสะสมแนววินเทจทำไมไม่ทำเอง ไปขโมยของเขาทำไม มันมีคุณค่าทางจิตใจต่อเจ้าของรู้หรือเปล่า(เวลาเขาแหงนดูป้ายมันระลึกนึกถึง)”
“ต่อไปคงขโมยป้ายหลุมศพ ป้ายฮวงซุ้ยแน่ๆ”
“ต้องมีใบสั่งจากพวกนักสะสมของเก่าแน่นอน”



เหตุการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นอุทาหรณ์ให้กับร้านค้าที่มีป้ายโบราณติดไว้ ซึ่งนอกจากจะต้องระวังไม่ให้สินค้าภายในร้านถูกขโมยแล้ว ยังต้องระวัง ‘ป้ายร้าน’ ซึ่งมีมูลค่าในตลาดของเก่าไม่ให้ถูกขโมยอีก สำหรับร้านอาวซ้งฮวดนั้น ก็ได้แต่เอาใจช่วยให้ป้ายประจำตระกูลกลับคืนมาโดยเร็วแม้จะมีความหวังอันน้อยนิดก็ตาม

“ป้ายยิ่งเก่ายิ่งขายได้แพง!”

เพื่อหาคำตอบของเหตุการณ์นี้ ทางทีมข่าวผู้จัดการ Lite ได้ทำการลงพื้นที่สำรวจร้านรับซื้อของเก่าย่านสนามหลวงสอง ซึ่งเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่มีการวางขายสินค้ามือสองและของเก่าชื่อดังของฝั่งธนฯ ได้พบร้านขายของเก่าหนึ่ง มีป้ายร้านแบบโบราณภาษาจีนสีแดง ตัวอักษรสีทองสะดุดตาวางอยู่บนหลังขายตู้ภายในร้าน และได้พบกับเจ้าของร้านหน้าตาเป็นมิตรที่รอต้อนรับลูกค้าอยู่

“หน่อย” หญิงเจ้าของร้านวัยประมาณ 40 ปี เปิดเผยผ่านมุมมองของผู้ค้าของเก่าว่า ได้ทำธุรกิจรับซื้อของเก่านี้มาเกือบ 10 ปีแล้ว ของที่ขายอยู่ ในร้านมีทั้งที่ไปตระเวนขอซื้อเอง ไปรับซื้อเมื่อมีคนโทรตาม และหาสินค้าตามออเดอร์หากมีคนสั่ง บางครั้งก็มีการออกไปรับซื้อถึงต่างจังหวัด หรือไม่ก็รับซื้อจากร้านของเก่าด้วยกัน เป็นเครือข่ายที่รู้จักกันหมด



“ส่วนใหญ่จะรับซื้อจำพวกเฟอร์นิเจอร์เก่า ของตกแต่งบ้านต่างๆ ตุ๊กตาโบราณ กระป๋องลูกอมโบราณต่างๆ ลูกค้าที่มาซื้อส่วนใหญ่เป็นคนไทยเพราะร้านพี่ยังไม่ถึงขนาดที่ส่งออกต่างประเทศ อย่างป้ายโบราณ ถ้าพี่หรือแฟนพี่ไปเจอแล้วถูกใจ หรือตรงตามออเดอร์ ก็จะซื้อมาเก็บไว้ที่ร้าน

ป้ายไม้โบราณยังเป็นที่นิยมในตลาดของเก่านะ มีคนตามหาเยอะเหมือนกัน พวกป้ายไม้เก่า ป้ายชื่อร้านเก่า พี่บอกเลยว่า ‘ยิ่งเก่ายิ่งแพง’ โดยเฉพาะพวกที่เป็นป้ายแบบดั้งเดิม ของเดิมไม่ได้เปลี่ยนหรือซ่อม แบบนั้นจะยิ่งแพง ส่วนเรื่องของราคาก็มีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหลายหมื่น ขึ้นอยู่กับความเก่า ความสมบูรณ์ของป้าย และวัสดุที่ใช้ทำถ้าเป็นไม้สักก็จะยิ่งแพง”



ส่วนในเรื่องของการรับซื้อป้าย หน่อยบอกว่า บางครั้งเวลาที่ลูกค้าจะย้ายบ้านหรือโละของที่ไม่ต้องการ ก็จะมีการโทร.ติดต่อให้ไปรับซื้อ หากบ้านหลังไหนมีป้ายลักษณะนี้ก็จะขอซื้อมาด้วย หรืออย่างบางครั้งมีคนมาฝากขายเลยก็มี ซึ่งอย่างหลังนี้ตนก็ไม่ทราบต้นทางของป้ายเช่นกัน เพราะเหมือนเป็นการรับซื้อต่อๆ กันมาเป็นทอด



“ข่าวการขโมยป้ายโบราณแถวนี้พี่ไม่เคยได้ยินข่าวนะ ก่อนหน้านี้ที่ร้านพี่ก็มีอยู่หลายป้ายเหมือนกันแต่ก็ทยอยขายออกไปบ้างจนเหลือป้ายนี้เพียงป้ายเดียว ลูกค้าที่ซื้อป้ายพวกนี้ไปส่วนใหญ่เขาจะเอาไปตกแต่งร้านที่เป็นสไตล์วินเทจ บางทีก็จะมีลูกค้าที่ทำรีสอร์ต เอาไปตกแต่งรีสอร์ตของเขา ซึ่งจะนิยมสไตล์เก่าๆ แบบคลาสสิก คนจะชอบกัน



ส่วนของเก่าที่ได้รับความนิยมไม่แพ้ป้ายร้านคือพวกตู้ไม้เก่า ตู้โชว์ห่วยต่างๆ ทั้งแบบเก่าและแบบที่ทำสีให้ดูเก่า ถ้าไม่ใช่ของเก่าแต่ดั้งเดิม ก็จะมีคนเอามาให้ทำสีเพื่อให้ดูเก่าตามสไตล์ที่ลูกค้าอยากได้กัน อย่างป้ายไม้ที่เหลืออยู่เพียงชิ้นเดียวในร้านก็ไม่ใช่ของเก่าเสียทีเดียว หน่อยบอกว่าเป็นการทำสีให้ดูเก่า และเห็นว่าสวยดี จึงซื้อมาตกแต่งร้านของตน แต่หากใครต้องการจะซื้อต่อ ตนก็ยินดีขายให้เช่นกัน
“แต่จะว่าไปตั้งแต่ที่พี่เปิดร้านมาก็ไม่เคยเจอเจ้าของมาเจอป้ายตัวเองในร้านพี่นะ(หัวเราะ)” เจ้าของร้านรับซื้อของเก่ากล่าวอย่างติดตลกทิ้งท้าย

ย่านคนจีน = ย่านที่ถูกขโมยบ่อยสุด!!

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการขโมยป้ายไม้โบราณไปขายเก็งกำไร ในอดีตก็เคยมีข่าวการขโมยลักษณะนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ บนหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งไม่เพียงแต่ในเฉพาะกรุงเทพมหานครที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ ตามต่างจังหวัดก็ยังโดน โดยเฉพาะย่านที่มีคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยและทำการค้ามาอย่างยาวนาน

เดือนกันยายน ปี 2557 คืออีกหนึ่งประวัติศาสตร์การโจรกรรม มีมิจฉาชีพอาละวาดขโมยป้ายไม้โบราณ ในเขตเทศบาลอุดรธานีถึง 3 ร้านด้วยกัน แน่นอนว่าทำให้เจ้าของร้านทั้งหลายเสียใจมาก เพราะเป็นมรดกที่ได้รับตกทอดมาจากบรรพบุรุษ มีอายุกว่า 50 - 100 ปี และมีคุณค่าทางจิตใจเป็นอย่างยิ่ง

แต่ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีเหลืออยู่ เพราะร้าน “คูจิ้นปัก” หนึ่งในร้านที่ถูกขโมยป้ายไป ได้ออกมาเปิดเผยว่า โจรได้นำส่งป้ายคืนมาในรูปของพัสดุที่ห่อมาอย่างดี จ่าหน้าพัสดุระบุส่งคืนร้านปัก ได้มีการนำส่งมาจากจังหวัดพิจิตร เมื่อข่าวแพร่ออกไป ทำให้มีญาติพี่น้องและเพื่อนๆ มาร่วมแสดงความยินดีที่ได้ป้ายกลับคืนมา


[ เจ้าของร้านคูจิ้นปักดีใจ หลังได้ป้ายกลับคืนมาทางไปรษณีย์ ]

วิโรจน์ บวรกิติวงศ์ และไซเอีย บวรกิติวงศ์ สองสามีภรรยาเจ้าของร้าน ให้ข้อมูลกับสื่อว่า เป็นป้ายที่ตกทอดกันมาจากบรรพบุรุษ หลังจากที่ป้ายหายไปก็เสียใจจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ และไม่คิดว่าจะได้คืนแล้ว หลังจากได้ป้ายคืนมาทั้งตนและภรรยารู้สึกดีใจจนพูดไม่ออก

หลังจากที่มีการตรวจสอบแล้ว พบว่า
ป้ายที่ได้รับมานั้นเป็นของแท้ ไม่ใช่ป้ายที่ทำเลียนแบบขึ้นมา
เพราะตนได้ขึ้นไปทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ตำหนิต่างๆ รวมไปถึงแผ่นโลหะที่สลักอักขระเหนือตัวอักษรก็ยังอยู่ที่เดิมครบถ้วน ซึ่งตนจะนำป้ายของเดิมไปติดไว้ในร้าน และสั่งทำป้ายใหม่มาติดไว้แทน เพื่อป้องกันการถูกขโมยซ้ำอีก


ทางด้านภรรยาของเจ้าของร้านเปิดเผยว่า พอเห็นกล่องพัสดุก็รู้เลยว่าเป็นป้ายร้านของตน รู้สึกเหมือนได้บรรพบุรุษกลับคืนมา ซึ่งในสมัยก่อนป้ายนี้มีราคาเพียงไม่กี่ร้อยบาท แต่สำหรับครอบครัวแล้วนั้น มีคุณค่าทางจิตใจจนประเมินค่าไม่ได้ ส่วนทางด้านคดีความ แม้ว่าจะนำป้ายมาคืนแล้วแต่ก็ยังถือว่ามีความผิด ส่วนคนที่รับซื้อหรือมีป้ายอยู่ในครอบครองก็อาจโดนข้อหารับของโจรเช่นกัน


[ ร้านหมุ่ยซินในจังหวัดราชบุรีที่ถูกขโมยป้ายร้านถึง 2 ครั้งแล้ว ]

นอกจากที่จังหวัดอุดรธานีแล้ว ในจังหวัดอื่นๆ ก็มีข่าวการขโมยป้าย
ลักษณะนี้เป็นจำนวนมากเช่นกัน เมื่อปลายปี 2558 ที่ร้าน “หมุ่ยซิน” ซึ่งเป็นร้านรับซักรีดในจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ป้ายที่ถูกขโมยไปเป็นป้ายตั้งแต่สมัยอากง มีอายุกว่า 60 ปีแล้ว ครั้งนี้ถูกขโมยเป็นครั้งที่ 2 เพราะช่วงต้นปีถูกขโมยไปแล้วครั้งหนึ่ง และยังไม่สามารถจับคนร้ายมาดำเนินคดีได้
ในเขตเทศบาลเมืองบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ก็มีร้านค้าที่ถูกขโมยป้ายแบบนี้ไปกว่า 10 ร้าน ส่วนร้านที่ยังไม่ถูกขโมยก็ได้ทยอยปลดป้ายออกและนำไปเก็บไว้ในร้าน เพื่อเป็นการป้องกันการถูกขโมยเหมือนอย่างหลายๆ กรณีที่เคยเกิดขึ้นไปก่อนหน้าแล้ว

ป้ายร้านโบราณต่างๆ นอกจากจะมีคุณค่าทางจิตใจที่บรรพบุรุษส่งทอดเป็นมรดกมาให้ลูกหลานรุ่นสู่รุ่นแล้ว ยังบ่งบอกถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานที่ชาวจีนเข้ามาทำมาค้าขายในประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งร้านใดที่ยังมีป้ายลักษณะนี้ก็ต้องเก็บไว้ให้ มิฉะนั้น อาจกลายเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพก็ได้



เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ขอบคุณภาพประกอบ : เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘JS100 Radio’ และ www.thaiscooter.com/




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น