xs
xsm
sm
md
lg

แม่โจ้โพลล์ เผยเศรษฐกิจซบ คนไทยเชื้อจีนจ่ายเพื่อไหว้บรรพบุรุษเท่าเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำรวจความคิดเห็นคนไทยเชื่อสายจีนในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 403 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ 2559 ในหัวข้อ “ตรุษจีนปี 59 กับราคาสินค้าเกษตรในมุมมองคนเชียงใหม่”
มีวัตถุประสงค์ ได้แก่ 1.สำรวจพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนไทยเชื้อสายจีน ในช่วงเทศกาลตรุษจีน 2. สำรวจความคิดเห็นต่อแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่จำหน่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีน 3.สำรวจความต้องการต่อการกำหนดมาตรการในการควบคุมราคาสินค้าเกษตรในช่วงเวลาเทศกาลต่างๆ ของประชาชน
ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 78.10 ชาวเชียงใหม่เชื้อสายจีน จะเตรียมซื้อของไหว้เจ้า / บรรพบุรุษ ในวันตรุษจีนปีนี้ และ ร้อยละ 21.25 ไม่ได้ไหว้ โดยจะใช้งบประมาณเฉลี่ย คือ 5,567 บาท
เมื่อสอบถามประเภทวัตถุดิบในวันตรุษจีน ร้อยละ 53.75 จะซื้อวัตถุดิบมาทำเอง อีกร้อยละ 46.25 จะซื้อวัตถุดิบสำเร็จมาไหว้ในวันตรุษจีน จากการสอบถามปริมาณการจับจ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 77.75 จะจับจ่ายเท่าเดิม เนื่องจากเศรษฐกิจยังชะลอตัวอยู่ รองลงมา ร้อยละ 13.00 จะจับจ่ายเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา และ ร้อยละ 9.25 จะลดการจับจ่ายลง ด้านการสอบถามราคาสินค้าในช่วงเทศกาลตรุษจีน พบว่า ร้อยละ 61.75 เห็นว่าราคาสินค้าปีนี้ยังไม่มีการปรับขึ้นราคาจากเดิม และร้อยละ 38.25 เห็นว่าราคาสินค้าในปีนี้จะปรับขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ช่วงเทศกาลราคาสินค้ามักจะปรับขึ้นตามปกติ
เมื่อสอบถามปริมาณสินค้าเกษตรในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ พบว่า ร้อยละ 96 เห็นว่ามีเพียงพอตลอดช่วงเทศกาล มีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น ที่เห็นว่าปริมาณสินค้าเกษตรจะไม่เพียงพอในช่วงเทศกาล และจากการสอบถามมาตรการควบคุมราคาสินค้าเกษตร พบว่า ร้อยละ 82 เห็นว่าควรมีการควบคุมราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ปรับขึ้นสูงมากเกินไป มีเพียงร้อยละ 18 เท่านั้นที่เห็นว่า ไม่ควรมีการควบคุมราคาสินค้าเกษตรในช่วงเทศกาลตรุษจีน
ประเทศไทยมีเทศกาลหรือวันสำคัญอยู่มากมายตลอดทั้งปี ทั้งเทศกาลของไทย รวมถึงเทศกาลที่ได้รับอิทธิพลจากต่างชาติ หนึ่งเทศกาลสำคัญ โดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีน คือวันตรุษจีน สำหรับที่มาของวันตรุษจีนนั้น เชื่อกันว่าเทศกาลนี้มีมานานกว่าสี่พันปีแล้ว จัดขึ้นเพื่อฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งมีชื่อเรียกต่างกันตามยุคสมัยโดยในยุค1,000กว่าปีก่อคริสต์ศักราชจะเรียกเทศกาลตรุษจีนว่า "เหนียน"หมายถึงการเก็บเกี่ยวได้ผลอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ วันตรุษจีน ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า"วันชุงเจ๋" ซึ่งหมายถึงเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ หรือขึ้นปีเพาะปลูกใหม่ เพราะช่วงก่อนตรุษจีนนั้นตรงกับฤดูหนาว ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิที่มีอากาศเหมาะสมแก่การเพาะปลูก ชาวจีนจึงสามารถทำนา ทำสวน ได้อีกครั้งหลังจากผ่านพ้นฤดูหนาวมานั่นเอง โดยในช่วงเวลาดังกล่าวจะจัดให้มีการเฉลิมฉลอง ตั้งแต่หนึ่งเดือนก่อนวันตรุษจีน ผู้คนจะเริ่มซื้อข้าวของต่าง ๆ เพื่อประดับตกแต่งบ้านเรือน และเตรียมทำความสะอาดครั้งใหญ่ ตั้งแต่ชั้นบนลงชั้นล่าง เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะเป็นการปัดกวาดสิ่งที่ไม่ดีภายในบ้าน ออกไป ประตู หน้าต่าง จะประดับประดาไปด้วยสีแดง และกระดาษสีแดงที่มีคำอวยพรให้อายุยืน ร่ำรวย อยู่ดีมีสุข ฯลฯ
จากนั้นครอบครัวจะร่วมรับประทานอาหารที่ล้วนแต่มีความหมายมงคลทั้งสิ้น เช่น กุ้งจะหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรืองและความสุข เป๋าฮื้อแห้งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งความโชคดี สาหร่าย จะนำความร่ำรวยมาให้ และขนมต้ม หมายถึงบรรพชนอวยพร หลังจากทานอาหารค่ำแล้ว ทุกคนในครอบครัวอยู่รวมกันจนเช้าเพื่อรอวันใหม่โดยการเล่นเกม เล่นไพ่ หรือดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับวันตรุษจีน และในวันนี้จะต้องไม่โกรธ ริษยา หรือ ไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง (จิตรา ก่อนันทเกียรติ, 2009; http://kapook.com, 2016) ซึ่งในช่วงเวลาก่อนจะถึงเทศกาลตรุษจีน ตามธรรมเนียมของคนจีน จะมีวันจ่าย หรือ ตื่อเส็ก จะเป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปหาซื้ออาหาร ผลไม้ เครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ มาเตรียมพร้อมไว้ ก่อนที่ร้านค้าต่าง ๆ จะหยุดยาวในช่วงวันตรุษจีน ซึ่งจะตรงกับวันก่อนวันสิ้นปี โดยในปี 2559 วันจ่ายตรุษจีนคือวันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ และมีวันไหว้ ในวันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีความคึกคักของตลาดสินค้าเกษตร และสินค้าบริโภคแปรรูปต่าง ๆ ที่นำมาใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้ ทำให้เกิดความผันผวนของราคาสินค้า รวมถึงมีรายงานจากกรมการค้าภายในซึ่งได้ออกตรวจสอบภาวะราคาสินค้าอุปโภคบริโภค
จากการตรวจสอบพบว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ราคาวัตถุดิบทางการเกษตร และสินค้าที่ใช้เป็นของไหว้ในวันตรุษจีน อย่างผลไม้ เช่น ส้ม มีการปรับราคาสูงขึ้น (หนังสือพิมพ์แนวหน้า, 2558) ประกอบกับรายงานของธนาคารศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด แสดงให้เห็นว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ธนาคารพาณิชย์ ได้มีการสำรองเงินสด เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 9,700 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงสภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, 2559) จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้มีโอกาสที่จะมีการจับจ่ายใช้สอยของชาวไทยเชื้อสายจีน ในช่วงเทศกาลตรุษจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเพียงพอ และการปรับขึ้นของราคาสินค้าเกษตร และรวมถึงสินค้าแปรรูปที่ผลิตมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น