xs
xsm
sm
md
lg

“ทัวร์ศาลเจ้า-ขอพรองค์เทพ” ทั่ว 14 จังหวัดใต้ในเทศกาลตรุษจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
“ศาลเจ้า” มรดกทางวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีนที่ยังคงตั้งอยู่บนความเชื่อ และความศรัทธานั้น ยังคงพยายามรักษาให้คงอยู่ถึงปัจจุบัน โดยแสดงให้เห็นถึงแนวทางการปฏิบัติตามธรรมเนียมจีนผ่านพิธีกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาล เช่น เทศกาลวันตรุษจีนที่กำลังจะถึงในอีกไม่กี่วันนี้
 
พูดถึงศาลเจ้าใน 14 จังหวัดภาคใต้จัดว่าโดดเด่นไม่แพ้ภาคใดๆ โดยมีที่ขึ้นทะเบียนต่อกรมการปกครองไว้ 123 แห่ง แบ่งเป็น กระบี่ 11 แห่ง, ชุมพร 7 แห่ง, ตรัง 23 แห่ง, นราธิวาส 1 แห่ง, นครศรีธรรมราช 15 แห่ง, ปัตตานี 3 แห่ง, พัทลุง 2 แห่ง, ภูเก็ต 10 แห่ง, ยะลา 3 แห่ง, สงขลา 23 แห่ง, สตูล 3 แห่ง, สุราษฎร์ธานี 7 แห่ง, ระนอง 3 แห่ง และพังงา 12 แห่ง
 
ถ้ากำลังคิดอยู่ว่าตรุษจีนปีนี้จะไปเที่ยวไหนดี ขอชวนมาทัวร์ภาคใต้ เดินสาย “ไหว้เจ้า” บนแผ่นดินด้ามขวาน “ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์” เพื่อความเป็นสิริมงคลรับปีใหม่มังกร ซึ่งตรุษจีนปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 8 ก.พ. ตามธรรมเนียมดั้งเดิมผู้มีสายเลือดมังกรนิยมไปไหว้เทพเจ้าเพื่อขอพรให้ท่านช่วยคุ้มครองดวงชะตาปีเกิด และให้อยู่เย็นเป็นสุข
 

 
*** “ศาลเจ้าบางยี่โร” กลางชุมชนเก่าแก่ที่ชุมพร
 
ทัวร์ไหว้เจ้าช่วงตรุษจีนปีนี้เริ่มจาก จ.ชุมพร ซึ่งถือเป็นประตูสู่ภาคใต้ ที่นั่นมีศาลเจ้าอายุกว่า 100 ปี และยังตั้งอยู่ในชุมชนเก่าแก่ใน อ.หลังสวน คือ “ศาลเจ้าบางยี่โร” โดยมีหลักฐานปรากฏชัดว่า รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จที่สะพานบางยี่โรเมื่อ ร.ศ.108
 
ศาลเจ้าบางยี่โร นอกจากจะมีความสวยงาม ความขลังแล้ว และเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของคนไทยเชื้อสายจีนที่นั่นแล้ว มักจะมีผู้คนจากต่างถิ่นมากหน้าหลายตาแวะเวียนไปสักการบูชากันอย่างไม่ขาดสาย ยิ่งในช่วงเทศกาลกินเจ ทางศาลเจ้าบางยี่โรจะมีการจักกิจกรรมที่หน้าจับตามองมากเลยทีเดียว
 
*** “ศาลเจ้าต่ายเต่เอี๋ย” อายุกว่า 129 ปีที่ระนอง 
 
จากชุมพร ถ้าเลี้ยวไปฝั่งทะเลอันดามัน ไม่ไปไม่ได้เลยที่เดียวสำหรับ “ศาลเจ้าต่ายเต่เอี๋ย” ศาลเจ้าเก่าแก่ และเป็นที่นับถือบูชาของชาวจีนในแผ่นดินระนอง โดยศาลเจ้าแห่งนี้สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2419 ถ้านับถึงปัจจุบันก็ประมาณ 129 ปีล่วงมาแล้ว
 
สมัยสร้างใหม่ๆ จะเป็นศาลไม้เก่าๆ ที่ตั้งอยู่บนที่ดินประมาณ 20 ตารางวา ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.2528 บรรดาลูกหลานเลือดมังกรบนแผ่นดินระนองก็ได้ร่วมใจกันพัฒนาให้เจริญขึ้น จวบจนปัจจุบันนับว่าเป็นศาลเจ้าจีนที่มีความสวยงามมาก และพื้นที่ทั่วอาณาบริเวณก็ถูกขยับขยายให้กว้างขวางขึ้น พร้อมๆ กับเป็นที่ประดิษฐานของเทพเจ้าต่างๆ มากมาย
 
*** “ศาลเจ้าฮกเกี้ยน” แลนด์มาร์กเมืองสุราษฎร์ธานี
 
แม้ “ศาลเจ้าฮกเกี้ยน” จะเป็นศาลเจ้าเล็กๆ แต่สำหรับแผ่นดินที่ถูกเรียกขานว่าเป็นเมืองคนดีแล้ว ศาลเจ้าแห่งนี้อาจจะนับเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์ก (Landmark) สำคัญของเมืองสุราษฎร์ธานีเลยก็ว่าได้
 
ห่างไปประมาณ 200 เมตร ยาวจากบริเวณหน้าศาลเจ้า ยามเย็นจะมีพ่อค้าแม่ค้านำอาหารการกินต่างๆ นานามาตั้งขายกันคึกคัก แทรกแซมด้วยข้าวของเครื่องใช้ และผู้คนก็สนใจไปเดินเลือกหากันอย่างครึกครื้น จนเรียกขานกันแบบติดปากว่า “ตลาดศาลเจ้า” ซึ่งการได้ไปสักการะเทพเจ้าที่นั่นนอกจากจะอิ่มเอมใจแล้ว ท้องของทุกคนก็สามารถอิ่มหนำตามไปด้วย
 
*** “ศาลเจ้ามาจ้อโป๋” เทพธิดาแห่งท้องทะเลที่พังงา
 
ในจังหวัดเล็กๆ แต่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเที่ยวชื่อกระฉ่อนโลกริมฝั่งอันดามัน “ศาลเจ้ามาจ้อโป๋” จัดเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่มีอายุอานามทอดยาวมากว่า 200 ปี และจัดเป็นศาลเจ้าที่มีความสำคัญในระดับประจำ จ.พังงา เลยทีเดียว ซึ่งความสำคัญของศาลเจ้าแห่งนี้ยังยืนยันได้จากการได้รับพระราชทานกระถางธูปจากรัชกาลที่ 5
 
ศาลเจ้าแห้งนี้มีองค์ “มาจ้อโป๋” หรือ “เทียนส่งเซ่งโบ้ว” ซึ่งเป็นเจ้าแม่ หรือเทพธิดาแห่งท้องทะเลที่คุ้มครองผู้เดินทางทางเรือประดิษฐานอยู่ จึงเป็นที่เคารพบูชาในหมู่ชาวเรือ และชาวประมง และหากใครได้ไปสักการบูชารับรองได้เลยว่า ความรู้สึกจะเหมือนมนต์สะกดที่นำไปสู่ความเป็นสิริมงคลรับเทศกาลตรุษจีนอย่างแน่นอน
 

 
*** “ศาลเจ้ากวนอู” เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ที่นครศรีธรรมราช
 
“ศาลเจ้ากวนอู” เริ่มการก่อตั้งประมาณปี พ.ศ.2430 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งตรงกับปีที่ 13 ในรัชสมัยจักรพรรดิกวางซีฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์ชิง เวลานี้จึงมีอายุกว่า 122 ปีแล้ว มีองค์เทพ “กวนอู” เป็นองค์ประธานศาลเจ้า ซึ่งนับถือกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ คนจึงนิยมไปไหว้ขอพรท่านเพื่อความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ได้เป็นเจ้าคนนายคน และให้มีลูกน้องบริวารที่ดี จึงควรแวะไปขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต
 
ศาลเจ้ากวนอู นับว่าเป็นศาลเจ้าที่มีกิจกรรม และคุณูปการต่อชุมชนชาวจีนแห่งเมืองพระมากศาลเจ้าหนึ่ง เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับชุมชนเศรษฐกิจท่าวัง และอยู่ในบริเวณเดียวกันกับที่ทำการของสมาคมพาณิชย์จีน ยังเป็นที่ก่อเกิดกลุ่มกิจกรรมต่างๆ เช่น กลุ่มเชิดสิงโต กลุ่มดนตรีจีน และเป็นสถานที่แรกเริ่มในการก่อตั้งสมาคมต่างๆ เช่น สมาคมแต้จิ๋วนครศรีธรรมราช สมาคมซีเต็กมิตรสัมพันธ์นครศรีธรรมราช เป็นต้น
 
*** “ศาลเจ้ากิ้วเที้ยนเก้ง” แคล้วคลาดจากสึนามิที่ภูเก็ต
 
ศาลเจ้าแห่งนี้ตั้งอยู่ปลายแหลมสะพานหิน ในเขตเมืองภูเก็ต อันเป็นที่ประดิษฐานขององค์เทพ “กิ้วเที้ยนเลี่ยนลื้อ” ซึ่งเพิ่งสร้างประมาณ 10 กว่าปีเห็นจะได้ เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์สึนามิในปี 2547 บริเวณปลายแหลมสะพานหินก็ได้มีผลกระทบไม่น้อย แต่สำหรับศาลเจ้าแห่งนี้กลับมีปาฏิหาริย์ที่แทบไม่มีร่องรอยได้รับผลกระทบใดๆ เลย ทั้งๆ ที่อยู่ติดชายหาดเพียงไม่กี่เมตร ทำให้ชาวบ้านยิ่งเกิดความศรัทธา และต่างพูดกันว่า องค์กิ้วเที้ยนลื้อ ช่วยปกปักรักษาศาลเจ้าแห่งนี้ไว้
 
ศาลเจ้ากิ้วเที้ยนเก้ง ยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระโพธิสัตว์กวนอิม” หรือ “กวนอิมปุดจ้อ” ที่สร้างขึ้นจากหยกขาวทั้งองค์ ความสูง 5.2 เมตร น้ำหนัก 17,000 กิโลกรัม และมี 3 ปาง ดังนั้น จึงเชื่อกันว่าใครได้ไปไหว้พระขอพรที่ศาลเจ้านี้ก็จะช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตรายทั้งหลาย
 
*** “ศาลเจ้าเฉ้งจุ้ยจ้อซู้ก๋ง” ศูนย์รวมใจชาวกระบี่กว่า 140 ปี
 
ถือว่าเป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่พอสมควรเมื่อเทียบกับศาลเจ้าในหลายๆ จังหวัดของภาคใต้ เพราะมีอายุอานามล่วงมาแล้วประมาณ 140 ปี สำหรับ “ศาลเจ้าเฉ้งจุ้ยจ้อซู้ก๋ง” ที่ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ซึ่งมีผู้คนแวะเวียนไปไหว้ขอพรในวันต่างๆ กันอย่างคับคั่ง โดยเฉพาะเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาอย่างมากในช่วงเทศกาลศีลกินเจ ไม่ว่าจะเป็นคนจีน คนไทยเชื้อสายจีน แม้กระทั่งคนไทยแท้ และไม่ว่าจะรวย หรือจนต่างก็นิยมไปร่วมกินเจอย่างพร้อมเพรียง
 
จนปัจจุบัน ศาลเจ้าเฉ้งจุ้ยจ้อซู้ก๋งได้ถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็วจากแรงศรัทธา ทำให้มีอาคารเพิ่มมากขึ้นหลายหลัง มีความสะอาด สะดวกและสบาย พร้อมที่จะต้อนรับผู้คนได้เป็นอย่างดี
 
*** “ศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ย” ศูนย์รวมเทพเจ้าเก่าแก่ที่สุดในเมืองตรัง
 
ถือเป็นศาลเจ้าที่ใหญ่ และเก่าที่สุดของ จ.ตรัง สำหรับ “ศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ย” ตามภาษาจีนฮกเกี้ยน แต่ผู้คนโดยทั่วไปมักจะเรียกกันว่า “กิวอ๋อง” หรือ “กิวอ๋องเอี๋ย” ตั้งอยู่บน ถ.ท่ากลาง เขตเทศบาลนครตรัง อ.เมือง จ.ตรัง อยู่ตรงข้ามกับวัดตันตยาภิรม บนเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่เศษ
 
ภายในศาลเจ้ามีโต๊ะบูชาเทพเจ้าองค์ต่างๆ โดยมีอักษรกำกับการกราบไหว้ไว้พร้อมมูลว่าต้องบูชาธูปกี่ดอก และด้วยอะไรบ้าง เช่น องค์กิวอ่องไต่แต่ ปั่กเต้าแชกุน หลั่งกวนไต่เต่ ตั่วแป๊ะก๋ง เจ้าพ่อเสือ เป็นต้น นอกจากนั้น ภายในศาลเจ้ายังมีศาลเทวดาฟ้าดิน ศาลไท้ซือเอี๋ย ศาลเจ้าแม่กวนอิม และบริเวณลานกว้างเพื่อใช้ประกอบพิธีต่างๆ ซึ่งทุกวันนี้จะมีผู้มีจิตศรัทธาเดินทางไปกราบไหว้บูชาไม่ขาดสาย
 

 
*** “ศาลเจ้าช่งเต๊กเซี่ยงตึ้ง” เพื่อชีวิตราบรื่น และเสริมดวงให้ดียิ่งขึ้นที่พัทลุง
 
“ศาลเจ้าช่งเต๊กเซี่ยงตึ้ง” ตั้งอยู่ในเขตตัวเมืองของ อ.เมือง จ.พัทลุง ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่มีอายุอานามต่อเนื่องมายาวนานกว่า 100 ปี ที่สำคัญถือเป็นศาลเจ้าแห่งแรก และเป็นศูนย์รวมใจของชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในพัทลุง
 
คนไทยเชื้อสายจีนใน จ.พัทลุง ได้ใช้ศาลเจ้าช่งเต๊กเซี่ยงตึ้งในการประกอบพิธีตามประเพณีถือศีลกินผักมาโดยตลอด ซึ่งเชื่อกันว่าหากใครได้มีโอกาสเดินทางไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสถานที่แห่งนี้ คนนั้นชีวิตจะมีแต่ความราบรื่น ไม่มีจุดสะดุด อีกทั้งหากดวงดีอยู่แล้วก็จะส่งผลให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
 
*** “ศาลเจ้าโป้เจ้เก้ง” ศูนย์รวมใจชาวไทยเชื้อสายจีนในสตูล
 
“ศาลเจ้าโป้เจ้เก้ง” ตั้งอยู่บน ถ.สมันตประดิษฐ์ ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล แม้ว่าสถาปัตยกรรมของศาลเจ้าแห่งนี้จะมีรูปแบบเหมือนๆ กับศาลเจ้าทั่วไป ที่มีลวดลายมังกร หงส์บนหลังคา แต่ก็จัดว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครเช่นกัน
 
ปัจจุบัน ศาลเจ้าโป้เจ้เก้งถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานพิธีหลักๆ ตามความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีนในสตูล โดยเฉพาะงานประเพณีถือศีลกินเจที่จัดเป็นประจำทุกปี การได้เดินทางไปสักการะองค์เทพอันศักดิ์สิทธิ์ที่นั่น ผู้คนมักอธิษฐานขอพรให้เกิดสันติสุข และเพื่อการเพิ่มพูนบารมีต้อนรับตรุษจีนด้วย
 
*** “ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ (เห้งเจีย)” เป็นที่นิยมขอบุตร-เสี่ยงโชคที่ยะลา
 
ความจริงแล้วมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่” แต่ชาวบ้านมักเรียกขานกันว่า “ศาลเจ้าเห้งเจีย” อ.เมือง จ.ยะลา มีองค์พระประจำศาลเจ้ามากมาย แต่องค์ประธาน คือ “ไต่เสี่ยฮุดโจ้ว” ผู้คนนิยมไปกราบไหว้ และอธิษฐานขอให้มีบุตร ให้ครอบครัวมีแต่ความรัก ขอในเรื่องการสอบเข้า การสอบคัดเลือก ขอเรื่องสุขภาพให้แข็งแรงอายุยืน ซึ่งผู้ไปกราบไหว้บูชามักจะได้ลาภการเสี่ยงโชค และกลับมาแก้บนเป็นประจำ
 
ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ หรือศาลเจ้าเห้งเจีย จะมีการจัดงานแห่พระลุยไฟเป็นประจำในเดือน เม.ย.ของทุกปี โดยงานจะจัด 3 วัน 3 คืน และมีการประทับทรงองค์ไต่เสี่ยฮุดโจ้ว องค์จี้กงฮุกโจ้ว และองค์นาจาชายส่วย เพื่อสืบสานประเพณีวัฒนธรรมจีน
 
*** “ศาลเจ้าโก้งเล้งจี่” มีมังกรคาบแก้วคอยปกปักรักษาที่นราธิววาส
 
“ศาลเจ้าโก้งเล้งจี่” สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2457 ตามหลักฮวงจุ้ย อายุกว่า 40 ปี สร้างขึ้นบริเวณ “เขามงคลพิพิธ” ซึ่งเป็นเขาที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ คนไทยเชื้อสายจีนที่ได้มาอาศัยอยู่ใน จ.นราธิวาส ซึ่งมีความศรัทธาต่อองค์เทพเจ้าจีน จึงได้สร้างศาลเจ้าแห่งนี้ขึ้นมาเพื่อประกอบพิธีมงคลต่างๆ และให้ลูกหลานกราบไหว้ขอพรเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต โดยได้จัดจำลองรูปเหมือนองค์เทพเจ้าหลายองค์ เช่น พระยูไล พระอรหันต์จี้กง เทพเจ้ากวนอู เจ้าพ่อเสือ องค์เห้งเจีย เจ้าแม่กวนอิม เป็นต้น
 
ศาลเจ้าโก้งเล้งจี่ มีเจ้าที่ หรือเจ้าศาลเป็น “หัวมังกรคาบแก้ว” ซึ่งมีลำตัวใหญ่ยาว คอยปกปักรักษาดูแลผู้คนในพื้นที่ โดยแต่ละวันจะมีคนแวะเวียนไปกราบไหว้บนบานศาลกล่าวขอพรเป็นประจำ หรือใครที่เดินทางไป จ.นราธิวาส ก็มักจะแวะไหว้เทพเจ้าที่ศาลแห่งนี้
 

 
*** “ศาลเจ้าแม่กวนอิม-พระโพธิสัตว์” แก้ปีชง-เสริมดวงต้องที่สงขลา 
 
“ศาลเจ้าแม่กวนอิม-พระโพธิสัตว์” ตั้งอยู่ที่ ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นศาลเจ้าที่มีผู้คนชาวไทยเชื้อชายจีน ทั้งในพื้นที่สงขลา และจังหวัดใกล้เคียงต่างให้ความสนใจ โดยเฉพาะการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ มากมายในทุกครั้งที่ศาลเจ้ามีการกิจกรรม เช่น การออกแห่โปรดลูกหลานในเมืองหาดใหญ่ งานเทศกาลถือศีลกินเจ หรือการทำพิธีกรรมต่างๆ โดยผ่านองค์เทพประทับทรง คือ เจ้าแม่กวนอิม เทพเจ้าสามตา เป็นต้น
 
ความพิเศษของศาลเจ้าแม่กวนอิม-พระโพธิสัตว์แห่งนี้ก็คือ ผู้ที่ต้องการแก้ปีชง หรือทำบุญไหว้เจ้าเสริมบารมีให้ดีขึ้น รวมถึงเช็กดูดวง-เสริมดวงชะตาราศี สามารถทำพิธีกรรมโดยผ่านองค์เทพประทับทรงได้ที่ศาลเจ้าแห่งนี้
 
*** “ศาลเจ้าเล่งจูเกียง (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) ปัตตานี 
 
เป็นที่รู้จักสำหรับคนทั่วไปว่า “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” แต่แท้จริงแล้วชื่ออย่างเป็นทางการคือ “ศาลเจ้าเล่งจูเกียง” อาจจะไม่ใช่แค่เป็นศาลเจ้าเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของชาวปัตตานี แต่น่าจะรวมถึงชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ถ.อาเนาะรู ต.อาเนาะรู อ.เมือง จ.ปัตตานี เป็นที่ประดิษฐานรูปแกะสลักเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว พระหมอ เจ้าแม่ทับทิม แม้ศาลเจ้านี้จะตั้งมาเก่าแก่นับได้หลายศตวรรษ แต่ด้วยบุญญาภินิหารของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ทำให้ศาลเจ้าแห่งนี้มีความเจริญรุ่งเรือง และเป็นที่ศรัทธาของสาธุชนอย่างต่อเนื่องเสมอมา
 
เรื่องราวอันเป็นตำนานเล่าขานต่อเนื่องมามีว่า หญิงชาวจีนแผ่นดินใหญ่ชื่อ “ลิ้มกอเหนี่ยว” ล่องเรือสำเภามาตามพี่ชายชื่อ “ลิ้มโต๊ะเคี่ยม” ที่แต่งงานกับธิดาพระยาตานี และได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม นางเกิดน้อยใจที่ไม่สามารถอ้อนวอนให้พี่ชายกลับบ้านเกิดได้สำเร็จตามที่ได้สัญญาไว้กับมารดา จึงได้ผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ พี่ชายได้ฝังร่างน้องสาวไว้ตรงนั้น ต่อมา ชาวปัตตานีได้นำต้นไม้ที่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตายไปแกะเป็นรูปบูชา และสร้างศาลเจ้าแห่งนี้ขึ้น ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาต่อเนื่องมาจวบจนปัจจุบัน
 
ตรุษจีนปีนี้หากใครยังคิดไม่ออกว่าจะไปพักผ่อนเติมแบตเตอรี่ให้แก่ร่างกาย และจิตใจกันที่ไหน บนเส้นทางสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ของแผ่นดิน 2 ฟากฝั่งทะเลด้ามขวานทองมี “ศาลเจ้า” ที่ประดิษฐานองค์เทพ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์มมากมายให้เลือกแวะเวียนไปกราบไหว้เสริมความเป็นสิริมงคลของชีวิต หรือใครจะเดินสายทัวร์ไหว้เจ้าตลอดทั่วทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ก็น่าจะได้รับอีกรสชาติที่แตกต่างอย่างแน่นอน 
 
-----------------------------------------
เรื่อง/กราฟฟิก  :  วรถพ สังสง, นันทนา โกศล, ธัญสินี สุดทองคง, ฤทธิชัย ฉายบุญชยภัทร
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น