xs
xsm
sm
md
lg

จุดจบของผม? นั่นแหละฮะท่านผู้ชม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทันทีที่พิธีกรเล่าข่าวชื่อดัง "สรยุทธ" คืนจอจ้อข่าวตามปกติในรายการ "เรื่องเล่าเช้านี้" ของเช้าวันที่ 1 มี.ค. ทั้งๆ ที่เจ้าตัว และบริษัทไร่ส้มของตัวเองเพิ่งถูกศาลอาญาพิพากษาคดีโกงเวลาโฆษณา 138 ล้านไปหมาดๆ จุดกระแสแอนตี้จากโลกออนไลน์ กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดเผ็ดร้อนถึงจริยธรรม การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของนักเล่าข่าวคนดัง ทั้งจากผู้ใช้สื่อโซเชียลฯ นักวิชาการ รวมถึงไปถึงคนในวงการสื่อด้วยกันเอง

โซเชียลฯ ระอุ! แอนตี้นักเล่าข่าวคนดัง

เป็นข่าวใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของคนทั่วไปขณะนี้ เมื่อศาลพิพากษาจำคุก "สรยุทธ สุทัศนะจินดา" ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง พร้อมเจ้าหน้าที่บริษัท ไร่ส้ม คนละ 20 ปี ทุจริตค่าโฆษณาในรายการ "คุยคุ้ยข่าว" กว่า 138 ล้านบาท พร้อมปรับ บ.ไร่ส้ม 1.2 แสนบาท คำให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน ส่วน "พิชชาภา" อดีต พนง.จัดทำคิวโฆษณา อสมท โดนจำคุก 30 ปี ลดเหลือ 20 ปี ล่าสุดศาลให้ประกันตัวคนละ 2 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังสั่งห้ามออกนอกประเทศ และต้องมารายงานตัวทุก 30 วัน


ด้านผู้บริหารทีวีช่อง 3 หลังทราบเรื่องได้มีการประชุมในวาระเร่งด่วน เพื่อกำหนดแนวทางกรณีคดีสรยุทธถูกจำคุก แต่แทนที่จะให้พักหน้าจอ กลับสนับสนุนให้จัดรายการต่อ จนนักเล่าข่าวคนดังได้คืนจอจ้อข่าวตามปกติแถมยังอ่านข่าวคดีทุจริตของตัวเองในรายการ "เรื่องเล่าเช้านี้" ของเช้าวันที่ 1 มี.ค. โดยอ้างว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนร่วมงานกัน, คดียังไม่สิ้นสุด อยู่ระหว่างการพิสูจน์ในชั้นศาล, ทำงานเป็นครอบครัวเดียวกัน




จุดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน เห็นได้จากความเคลื่อนไหวในสังคมออนไลน์ที่ลุกฮือแอนตี้ทั้งตัวช่อง และตัวนักเล่าข่าว ถึงขนาดมีการทำแบนเนอร์ "งดดูช่อง 3 ฐานสนับสนุนคนโกง" เพื่อให้มีการแชร์กันไป และมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันมากมาย หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ "ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน" ที่มีการโพสต์รูปภาพ และข้อความให้เด็กๆ ดูกรณีนี้เป็นแบบอย่าง อย่าเอาแบบอย่างคนโกง ให้เปลี่ยนไปดูช่องอื่นแทน ทั้งนี้ เพื่อร่วมสร้างสังคมที่ดี อย่าให้คนโกงมีที่ยืน

ส่วนความเคลื่อนไหวในทวิตเตอร์นั้น พบว่า ชาวเน็ตส่วนใหญ่พร้อมใจกันติดแฮชแท็ก #สรยุทธ #เรื่องเล่าเช้านี้ #คดีไร่ส้ม กันอย่างแพร่หลาย นอกจากนั้นยังมีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทำรายการต่อแบบไม่แคร์สังคมของนักเล่าข่าวคนดัง รวมไปถึงภาพล้อเลียนต่างๆ ที่เกรียนคีย์บอร์ดทำออกมาอีกมากมาย




ขณะที่เพจ "เตชะ ทับทอง" ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในกรณีเดียวกันว่า "ก็ต้องยอมรับกันนะครับว่าบอร์ดของสถานีนี้ มีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล ดังนั้นอย่าไป...ไปจัดอบรมอะไรให้เด็กและเยาวชนในด้านจริยธรรมสื่อ หรืออะไรประเภทนี้นะครับ อายหมาแถวคลองเตยมันครับ

ตั้งแต่คดีรถดับเพลิง จนถึงประชาหนีคดี และมาถึงพ่อแพนด้าหน้าด้านสุดนี้...ถือว่าจบกันถาวรนะครับกับการที่ประชาชนจะเห็นคุณภาพการทำงานของครอบครัวข่าวว่าไร้ศักดิ์ศรี ไร้ความน่าเชื่อถือสำหรับผมและคนอีกมากมาย" ก่อนทิ้งท้ายว่า "คุณทำลายศรัทธาของประชาชนลงหมดสิ้นครับ"




กรณีสรยุทธ "ตบหน้า" ใครบ้าง


เป็นคำถามที่ "ธาม เชื้อสถาปนศิริ" ผู้จัดการฝ่ายวิจัย ประเมินผล และพัฒนา สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊ก Time Chuastapanasiri ก่อนแสดงความเห็นว่า "การที่คุณสรยุทธ ยังคงได้รับโอกาสมานั่งเล่าข่าวอ่านข่าวตามปกติเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นนั้น เป็นการตบหน้าสังคมไทยแรงๆ อีกครั้งหนึ่ง มันเท่ากับเป็นการพิสูจน์ว่า จริยธรรม เป็นสิ่งที่ไม่มีความสำคัญอีกต่อไปในสังคมไทย กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีค่า ล่องลอยอยู่ในอากาศและ ช่อง 3 ก็ลดระดับการเป็นองค์กรสื่อ ลงไปอยู่ในระดับเดียวกับนักเล่าข่าว คือ ขาดธรรมาภิบาลองค์กรอย่างรุนแรง


พวกเขาดำเนินธุรกิจสื่อสารมวลชนได้อย่างไร? ทั้งๆ ที่จิตวิญญาณของวิชาชีพนี้ คือ จริยธรรมและความรับผิดรับชอบต่อสังคม เหตุการณ์นี้เป็นการ "ตบหน้า" หลายๆ คนในสังคมไทยเป็นการยืนยันว่า "ผลประโยชน์อยู่เหนือจริยธรรม" หน้าชากันไหมครับ คนไทยทั้งหลาย"


นักเล่าข่าวคนดัง "ตบหน้า" ใครบ้างผมคิดว่าการที่คุณสรยุทธ์ ยังคงได้รับโอกาสมานั่งเล่าข่าวอ่านข่าวตามปกติเสมือนไม่มีอะไ...

Posted by Time Chuastapanasiri on Monday, February 29, 2016


อย่างไรก็ดี กับคำถามที่ว่า "นักเล่าข่าวคนดัง ตบหน้าใครบ้าง" นั้น นักวิชาการท่านนี้ได้แจกแจงออกมาเป็น 7 ฝ่าย ดังนี้ 1. คนไทยทั้งประเทศ 2. องค์กรวิชาชีพสื่อ 3. ครูบาอาจารย์ 4. นักวิชาการด้านสื่อ 5. เพื่อนร่วมวิชาชีพ 6. ก.ส.ท.ช. และ 7. สปอร์นเซอร์


ชี้! ตำนานที่ไม่ควรเลียนแบบ


นอกจากนั้น ยังบอกไว้ในโพสต์ก่อนหน้านี้ โดยเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า "สรยุทธเลยจุดแสดงสปิริตทางวิชาชีพมานานแล้ว" จุดเดียวจากนี้ที่เขายืนอยู่ คือ "จุดจบของความน่าเชื่อถือในวงการ" พร้อมยกเป็นกรณีศึกษาให้เด็กๆ รุ่นใหม่ในสายวารสารศาสตร์ได้เรียนรู้ว่า จริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน คือ เข็มทิศนำทางการทำงานของเราไม่ให้ไขว้เขวไปกับผลประโยชน์ อวิชชา และความมิจฉา มิเช่นนั้น จุดจบก็คงจะเป็นเช่นสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรเล่าข่าว ที่กลายเป็นตำนานด้านจริยธรรมที่ไม่ควรเลียนแบบและน่าชื่นชมแต่อย่างใด"


ดังนั้น "คนโกงไม่ควรมีที่ยืนฉันใด นักข่าวที่โกงเสียเอง ยิ่งไม่ควรมีที่ยืนฉันนั้น" คือสิ่งที่นักวิชาการด้านสื่อท่านนี้เน้นย้ำ ก่อนจะถามไปถึงนักเล่าข่าวคนดังว่า "เวลาที่รายงานข่าวนักการเมืองโกง ข้าราชการทุจริตคอร์รัปชัน คุณจะยังคงมองหน้าตัวเองในกระจกได้อย่างไร? ยอมรับผิด รับโทษ สังคมจะให้อภัยได้ครับ"




ด้าน ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย ในฐานะนักวิชาการด้านสื่อมวลชน และอดีตคนข่าว ก็ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ และออนไลน์ถึงการทำหน้าที่หน้าจอของนักเล่าข่าวคนดังว่า ควรรอให้อีก 2 ศาลตัดสินก่อน ถ้าบริสุทธิ์จึงค่อยกลับมาทำหน้าที่ตามเดิม แต่การออกมาทำหน้าที่ทั้งๆ ที่มีชนักติดหลังอยู่ นอกจากกระทบความน่าเชื่อถือ และการทำหน้าที่ในการซักถามหรือรายงานข่าวเกี่ยวกับคดีทุจริตแล้ว ยังต้องมองถึงการเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนด้วย เพราะอยู่ในบทบาทที่ประชาชนคาดหวังและให้เครดิตค่อนข้างมาก

ล่าสุด "สภาวิชาชีพข่าวฯ และสมาคมนักข่าวฯ" ออกแถลงการณ์เรื่องการทบทวนการทำหน้าที่ของพิธีกรข่าว โดยเรียกร้องให้ผู้บริหารของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ทบทวนการทำหน้าที่ของ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” เพื่อเป็นแบบอย่างในการสร้างบรรทัดฐานด้านจริยธรรมให้แก่วงการสื่อมวลชนไทย


สุดท้ายนี้ คงต้องจับตาดูกันต่อไป ทั้งประเด็นจริยธรรม และการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของทางช่อง และนักเล่าข่าวคนดัง รวมไปถึงการต่อสู้ทางกฎหมายที่เจ้าตัวบอกว่า เคารพคำพิพากษาของศาล และขอใช้สิทธิในการต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมต่อไป


นั่นแหละฮะ ท่านผู้ชม...


ขอบคุณภาพ : อินสตาแกรม @sorrayuth9111





มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น