"กินอาหารค้างคืนทำให้เป็นมะเร็ง" กลายเป็นหัวข้อข่าวที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลกออนไลน์ในขณะนี้ หลังมีการแชร์ส่งต่อเรื่องราวของสาวคนหนึ่งที่สูญเสียแม่ด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โดยระบุว่า สาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารค้างคืนที่เอามาอุ่นจนเป็นพิษต่อตับไต
แน่นอนว่า ใครได้อ่านได้ฟังแบบนี้แล้ว ย่อมเกิดอาการกลัว เพราะเชื่อว่าใครหลายคนนิยมซื้ออาหารสำเร็จรูป หรือปรุงประกอบอาหารในปริมาณที่มาก เมื่อรับประทานไม่หมดก็นำไปเก็บไว้ในตู้เย็น แล้วนำไปอุ่นรับประทานในมื้อต่อไป เนื่องจากรู้สึกเสียดายอาหาร
เกี่ยวกับอันตรายจากอาหารค้างคืนที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เคยออกมาแนะให้เลี่ยงอาหารค้างคืน หรือต้ม ตุ๋นเป็นเวลานาน (เกิน 4 ชั่วโมงขึ้นไป) เพราะมีโอกาสทำให้คุณค่าทางโภชนาการลดลง ซึ่งในตอนนั้น ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานคณะกรรมการการสาธารณสุข สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (อดีตอธิบดีกรมอนามัย) บอกว่า อาหารที่ปรุงสุกใหม่ คุณค่าทางโภชนาการจะมีมากกว่าอาหารที่ผ่านการอุ่นหลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะอาหารประเภทเป็ดพะโล้ ห่านพะโล้ หมูสามชั้น ในขณะปรุงจะมีการเคี่ยวด้วยน้ำตาล เพื่อรสชาติที่อร่อย
อย่างไรก็ดี ข้อควรระวังที่ ดร.นพ.พรเทพ ไม่อยากให้มองข้ามก็คือ โปรตีนจากเนื้อสัตว์ หากถูกความร้อนจากการเคี่ยว และต้มตุ๋นเป็นเวลานาน อาทิ ต้มจับฉ่าย อาหารพวกนี้มักถูกตรวจพบสารกลุ่มเฮ็ตเตอโรไซคลิกเอมีน (heterocyclic amine) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง โดยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม
- กลุ่มที่หนึ่งเกิดที่ความร้อนไม่สูงนัก เป็นการรวมตัวระหว่างครีเอตินีน หรือครีเอติน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของน้ำในเนื้อสัตว์ ที่มักไหลออกมาเวลาเราเอาเนื้อสัตว์ออกจากตู้แช่แข็ง กับสารสีน้ำตาลในเนื้อที่ถูกทอดหรือตุ๋นซึ่งเรียกสารนี้ว่า เมลลาร์ดรีแอคชั่นโพรดักซ์
- กลุ่มที่สองเกิดจากความร้อนค่อนข้างสูงมากถึงกว่า 300 องศาเซลเซียส จากการเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโนในเนื้อสัตว์ระหว่างปรุงอาหาร เช่น การปิ้งหมู การย่างหมู เป็นต้น
นอกจากนั้นการรับประทานเนื้อแดงมากๆ คุณหมอบอกว่า จะมีแนวโน้มทำให้การรับประทานผักและผลไม้ลดลง ทำให้ป้องกันเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายไปจากกระบวนการ oxidation หรือการเกิดอนุมูลอิสระ เมื่อเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งบางชนิด
ทางที่ดี ควรกินผักสดเป็นประจำ อย่างน้อยมื้อละ 2 ทัพพี เพราะในผักมีวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อร่างกาย นอกจากนี้การรับประทานอาหารประเภทกะทิค้างคืนที่มีส่วนประกอบเป็นเนื้อสัตว์ หากมีการเก็บรักษาไม่ดีพอ หรืออุ่นด้วยความร้อนไม่ทั่วถึง อาจทำให้เน่าเสียได้
เช่นเดียวกับอาหารประเภทผักสด ผัดผัก ผักลวก นึ่ง ต้ม ถ้าเหลือแล้วนำไปเก็บไว้รับประทานมื้อต่อไปคุณค่าทางโภชนาการของผักก็จะลดลง และรสชาติจะเปลี่ยนไป หากมีการเก็บรักษาไม่ดีพอ อุณหภูมิในการเก็บไม่เหมาะสม จุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนในระหว่างเก็บก็จะทำให้ท้องเสียได้
รู้แบบนี้แล้ว ใครที่ชอบอาหารประเภทยิ่งเคี่ยว ยิ่งต้ม ยิ่งตุ๋นเนื้อสัตว์นานๆ ควรคิดถึงสุขภาพตัวเองให้มากๆ เพราะนอกจากคุณค่าอาหารที่หมดไปแทบเกลี้ยงแล้ว หากเก็บอาหารไว้ไม่ดีอาจจะปนเปื้อนเชื้อจนเกิดอาการท้องเสียตามมาได้ แถมยังเสี่ยงต่อการเกิดสารก่อมะเร็งอีกด้วย
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754