xs
xsm
sm
md
lg

เปิดความเชื่อ "พระบรมสารีริกธาตุ" ปาฏิหาริย์ ศรัทธา ความศักดิ์สิทธิ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พระบรมสารีริกธาตุในส่วน พระรากขวัญ (ไหปลาร้า) จากประเทศศรีลังกา
ทันทีที่พระบรมสารีริกธาตุในส่วน "พระรากขวัญ (ไหปลาร้า) จากประเทศศรีลังกา ถูกอัญเชิญมาถึงแผ่นดินไทยเพื่อประดิษฐานชั่วคราวที่พุทธมณฑล จ.นครปฐมเมื่อเร็วๆ นี้ ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน ตลอดจนคนทั่วไปจำนวนมาก ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ไม่พลาดที่จะพาไปเปิดตำนาน และความสำคัญของพระบรมสารีริกธาตุ รวมไปถึงเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ใจที่มีการเล่าขานต่อๆ กันมา

พระบรมสารีริกธาตุจากศรีลังกาถึงไทย

ในโอกาสครบรอบ 60 ปี สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ศรีลังกา รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ เห็นความสำคัญที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา นายไมตรีพละ สิริเสนา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา จึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุอันศักดิ์สิทธิ์มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ พุทธมณฑล จ.นครปฐม ซึ่งเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก เพื่อให้พุทธศาสนิกชนชาวไทย และต่างประเทศ ได้มีโอกาสเข้าสักการะ ถวายเป็นพุทธบูชา ตั้งแต่วันที่ 1-16 พ.ย. 2558 รวมเวลา 16 วันด้วยกัน

ส่วนความสำคัญของพระบรมสารีริกธาตุพระองค์นี้ กนก แสนประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ให้ความรู้ว่า เป็นพระบรมสารีริกธาตุในส่วนพระรากขวัญ หรือไหปลาร้า ถือเป็นครั้งแรกที่ถูกอัญเชิญออกจากประเทศศรีลังกา

ปัจจุบัน พระบรมสารีริกธาตุองค์ดังกล่าว ประดิษฐานยังวัดมหิยานกะนะ ราชามหาวิหาร ประเทศศรีลังกา ซึ่งตามบันทึกของวัด ระบุว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนมชีพอยู่ มีอายุยาวนานมากกว่า 2,500 ปี และหลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ได้ 9 เดือน ได้เสร็จประทับรอยพระบาทไว้ในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของวัด ซึ่งเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว พระอรหันต์ นามว่า สาราพุมหาเถระ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นกระดูกไหปลาร้าด้านซ้ายมาประดิษฐานยังสถูปวัดมหิยานกะนะฯ แห่งนี้

อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่พระบรมสารีริกธาตุถูกอัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 พระวัสกดุเว มหินทวังสะ มหานายกเถระ ประมุขสงฆ์ของอมรปุรนิกาย แห่งวัดทีปทุตตมาราม นครโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ มาถวายให้แก่ พระครูปลัดสุรัฐ สิริปุณโญ เจ้าอาวาสวัดนายโรง กรุงเทพฯ เพื่อประดิษฐานเป็นการถาวรในประเทศไทย เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมพรรษา 86 พรรษา 5 ธันวาคม 2556

สำหรับพระบรมสารีริกธาตุในครั้งนั้น เป็นส่วน "ข้อพระกรด้านขวา" ซึ่งเป็นชุดเดียวที่นายวิลเลียม แคลกซ์ตัน เปปเป นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ได้ขุดพบเมื่อปี 2440 และได้มีจารึกการบรรจุไว้ว่า เป็นของตระกูลศากยราช อุทิศถวายไว้ ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุนี้ ถือเป็น 1 ใน 8 ส่วน ที่เจ้าศากยะ ได้รับแบ่งไว้หลังถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้า และเป็นชุดเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานยังบรมบรรพต ภูเขาทอง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร


พระบรมสารีริกธาตุ พุทธมรดกล้ำค่า


เป็นที่ทราบกันดีว่า หลังจากสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นศาสดาเอกของโลกเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วก็ได้ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ สิ่งที่ยังหลงเหลือให้กับพุทธศาสนิกชนนอกจากพระธรรมคำสอนให้รำลึกเป็นแนวทางปฏิบัติแล้ว ยังมีพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งหมายถึงพระอัฏฐิธาตุ (กระดูก จำนวน 16 ทะนาน) แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ชาวพุทธได้สักการะ เคารพ นับถือ และบูชา เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติและเป็นหนทางการเข้าถึงมรรคผลนิพพาน ถือเป็นพุทธมรดกในส่วนแห่งรูปธรรมที่ล้ำค่าสูงสุด


คำว่า "พระบรมสารีริกธาตุ" นั้น พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ ให้ความหมายไว้ในบทความ "พระธาตุและพระบรมสารีริกธาตุกับคนไทย" หมายถึง กระดูกของพระพุทธเจ้า (พระสัมมาสัมพุทธเจ้า) หนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ปรินิพพานไปแล้ว ซึ่งในคัมภีร์มีข้อความกล่าวถึงไว้ 4 อย่าง คือ


1. ธาตุเจดีย์ คือ พระบรมสารีริกธาตุ

2. บริโภคเจดีย์ คือ สังเวชนียสถาน 4 ตำบล
3. ธรรมเจดีย์ คือ จารึกข้อพระธรรม
4. อุเทสิกเจดีย์ คือ พระพุทธรูป ธรรมจักร รอยพระพุทธบาท พระแท่นวัชรอาสน์ หรือสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า

ทั้ง 4 อย่างนี้ คือเจดีย์ 4 ประเภทที่ควรบูชาสักการะสูงสุดของชาวพุทธ โดยเฉพาะธาตุเจดีย์นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง การหายไปของ พระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุเป็นเครื่องแสดงถึงความเสื่อมของศาสนาอย่างหนึ่ง เรียกว่า "ธาตุอันตรธาน" แต่การหายไปของธาตุที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงว่าพระธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุนั้นหายไปจากโลกนี้ เป็นเพียงการหายไปจากที่หนึ่งที่คนไม่นิยมปฏิบัติธรรมแล้วไปปรากฏในอีกที่หนึ่งที่คนนิยมปฏิบัติธรรม หรืออาจไม่ปรากฏในที่ไหนเลยจนกว่าจะมีคนปฏิบัติธรรม จึงจะปรากฏให้เห็นเหตุการณ์อย่างนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อไม่มีการบูชาสักการะ


ดังนั้น พระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ในที่ต่างๆ ตามตำนานบอกว่า ถ้าทั่วทุกหนทุกแห่งไม่มีผู้บูชาสักการะเลย พระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายจากมนุษยโลก เทวโลก และภพพญานาค จะเสด็จมาสู่ต้นพระศรีมหาโพธิ์สถานที่ตรัสรู้ทั้งหมด รวมกันเป็นรูปพระพุทธองค์ ทรงประดิษฐาน ณ โคนต้นพระมหาโพธิ์นั้น ทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ (เป็นปาฏิหาริย์สุดอัศจรรย์ที่เป็นพุทธวิสัย คือ แสดงได้โดยพระพุทธเจ้าเท่านั้น เป็นปาฏิหาริย์คู่ คือ น้ำคู่ไฟในลักษณะต่างๆ) แต่ไม่มีมนุษย์คนใดหรือสัตว์โลกตนใดเห็นพระองค์เลย

ส่วนคำว่า "พระธาตุ" มีความหมายเหมือนกับคำว่า "ธาตุ" แต่มีข้อพิเศษออกไปก็คือเป็นส่วนต่าง ๆ ของร่างกายคนที่บรรลุธรรม มีจิตใจบริสุทธิ์ หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ซึ่งเหลือจากการถูกเผา บางทีเรียกว่า "พระอรหันตธาตุ" พระสาวก สาวิกาของพระพุทธเจ้า (หมายรวมถึงพระปัจเจก-พุทธเจ้า และอุบาสก อุบาสิกาผู้เป็นอรหันต์ด้วย) หรือจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ "พระบรมสารีริกธาตุ" เป็นศัพท์เฉพาะใช้เรียกเฉพาะพระธาตุของพระพุทธเจ้า หากเป็นของพระอรหันตสาวกจะเรียกว่า "พระธาตุ" เท่านั้น


สำหรับพระบรมสารีริกธาตุที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธวงศ์ของฝ่ายเถรวาทมีทั้งแตกกระจาย และไม่ได้แตกกระจาย โดยพระบรมสารีริกธาตุไม่แตกกระจายมี 7 ส่วน คือ พระเขี้ยวแก้ว 4 พระรากขวัญ 2 และพระอุณหิส หรือส่วนพระนลาฏ 1 คำว่า "ไม่แตกกระจาย" หมายถึงยังความเป็นรูปร่าง เป็นแท่ง หรือเป็นกลุ่มก้อนสมบูรณ์ ไม่มีส่วนไหนหักบิ่นไป กล่าวคือก่อนที่ร่างกายจะถูกเผา พระเขี้ยวแก้วเป็นต้นนี้มีรูปร่างอย่างใด หลังจากร่างถูกเผาแล้ว พระเขี้ยวแก้วนี้ก็ยังมีรูปร่างอย่างนั้น

ส่วนพระบรมสารีริกธาตุแตกกระจาย คือ ส่วนอื่นนอกเหนือจาก 7 ส่วนที่กล่าวไว้ในในข้างต้น จะไม่เหลือส่วนที่เด่นชัด ขนาดเล็กสุดเท่าเมล็ดพรรณผักกาด ขนาดเท่าเมล็ดข้าวสารหัก และขนาดใหญ่เท่าเมล็ดถั่วเหลือง คำว่า "แตกกระจาย" หมายถึง ไม่มีความเป็นรูปร่าง เป็นแท่ง หรือเป็นกลุ่มก้อนเหมือนเดิม มีบางส่วนหักบิ่นไป กล่าวคือก่อนที่ร่างกายจะถูกเผา พระธาตุนี้มีรูปร่างสมบูรณ์ แต่หลังจากร่างถูกเผาแล้ว ก็สูญเสียความสมบูรณ์ไป
พระธาตุเขี้ยวแก้วถูกบรรจุอยู่ในเจดีย์และผอบทองคำ 7 ชั้น ตั้งอยู่ในห้องกระจกกันกระสุนอย่างหนาแน่นของวัดพระเขี้ยวแก้ว ประเทศศรีลังกา
อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์ก็มีการกล่าวถึงพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่แตกกระจาย 7 ประเภทไว้ด้วย คือ

1. พระเขี้ยวแก้ว 1 บนด้านขวา (บน+ขวา) ประดิษฐานอยู่ในพระจุฬามณีเจดีย์ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

2. พระเขี้ยวแก้วบนด้านซ้าย (บน+ซ้าย) ประดิษฐาน ณ คันธารบุรี (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในเจดีย์วัดหลิงกวง ประเทศจีน)
3. พระเขี้ยวแก้วล่างด้านขวา (ล่าง+ขวา) ประดิษฐาน ณ แคว้นกาลิงคะ (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี ประเทศ ศรีลังกา)
4. พระเขี้ยวแก้วล่างด้านซ้าย (ล่าง+ซ้าย) ประดิษฐานอยู่ในดินแดนของพระราชาเผ่านาค
5. พระรากขวัญ (ไหปลาร้า) ด้านซ้าย และพระอุณหิส (หน้าผาก) ประดิษฐานอยู่ในทุสสเจดีย์ ณ พรหมโลก
6. พระรากขวัญด้านขวา ประดิษฐานอยู่ในพระจุฬามณีเจดีย์ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
7. พระทนต์ 40 ซี่ พระโลมา (ขน) ทั่วพระวรกาย (90,000 เส้น) และพระนขา (เล็บ) ทั้ง 20 เทพยดาในหมื่นจักรวาลนำไปบูชาในจักรวาลของตน

ส่วนพระบรมสารีริกธาตุที่แตกกระจาย บางส่วนได้กระจายแผ่ไปประดิษฐานในนานาประเทศ นับว่าเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกเป็นอย่างมาก 

(คัดลอกบางส่วนบางตอนมาจากบทความ "พระธาตุและพระบรมสารีริกธาตุกับคนไทย" ของพระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ)

เปิดความศักดิ์สิทธิ์ "พระบรมสารีริกธาตุ"

เมื่อกล่าวถึงความความศักดิ์สิทธิ์ของพระบรมสารีริกธาตุ มีการสืบทอดเล่าขานกันมา ซึ่งชาวพุทธส่วนใหญ่คงเคยได้ยิน ได้ฟังกันมาบ้างแล้วว่า บริเวณที่ประดิษฐาน ไม่ว่าจะเป็นสถูปเจดีย์ หรือเนินดิน ในคืนอันเป็นมงคลจะปราฏดวงไฟสว่างไสวเปล่งแสงสัพพรรณรังสีอยู่เหนือสถูปเจดีย์นั้น
พระบรมสารีริกธาตุในส่วน พระรากขวัญ (ไหปลาร้า) จากประเทศศรีลังกา ถูกเอิญเชิญมาประดิษฐานชั่วคราวที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม
วรธนัท อศกุลโกวิท ผู้ได้ชื่อว่าเป็นปรมาจารย์ด้านฮวงจุ้ยชื่อดังของเมืองไทย เคยให้สัมภาษณ์ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุ และบรมสารีริกธาตุว่า ทรงอานุภาพ และมีปาฏิหาริย์ประจักษ์กับหลายๆ คนมาแล้ว หากบูชาด้วยความเคารพ และศรัทธาอย่างแรงกล้าพระธาตุก็อาจจะเสด็จมาเพิ่มจำนวนเองได้ ซึ่งมีคนได้พบปาฏิหาริย์มากมาย ทั้งในอดีตสมัยโบราณ หรือแม้ในสมัยปัจจุบันก็ตาม

นอกจากนั้น พลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของพระบรมสารีริกธาตุ มีความเชื่อกันว่า สามารถป้องกันภัยพิบัติจากธรรมชาติ เช่น ภัยจากอัคคีภัย (ไฟ) ภัยจากอุทกภัย (น้ำ) ภัยจากพายุ (ลม) โดยในอดีตนั้นวัดวาอาราม สถานที่ศักดิ์สิทธิ์มักอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาไว้สักการะบูชา เพื่อป้องกันภัยจากธรรมชาติดังกล่าว อีกทั้งเพื่อเป็นการให้พุทธศาสนิกชนต่างๆ ได้มีโอกาสมาทำบุญ ระลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


เห็นได้จากกรณีที่มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศต่าง ๆ มาเก็บรวบรวมไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้บูชาที่วัดยานนาวาในปี พ.ศ.2552 ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากคนทั่วไปมาก ซึ่งตั้งแต่นำพระบรมสารีริกธาตุมาไว้ที่วัดยานนาวาก็พบว่า น้ำที่เคยไหลบ่ามาในบริเวณวัดนั้นไม่มีเลย ซึ่งแต่เดิมนั้นบริเวณวัดยานนาวา มีที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำเมื่อถึงฤดูน้ำหลากนำจะไหลบ่าเข้าท่วมวัดจนสร้างความเสียหายแก่ถาวรวัตถุ


อย่างไรก็ดี แม้เรื่องนี้จะไม่สามารถบังคับให้ทุกคนเชื่อได้ เพราะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่ส่วนตัวเชื่อว่าอำนาจพระพุทธคุณนั้นมีอำนาจเหนืออำนาจใดๆในโลกซึ่งการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุให้ครบร่างกายของพระวรกายของพระพุทธเจ้านั้นจะช่วยปราบยุคเข็ญของบ้านเมือง หรือช่วยให้ผ่านเรื่องร้ายๆ ไปได้


สุดท้ายนี้ อาจจะกล่าวได้ว่า พระธาตุและพระบรมสารีริกธาตุ เป็นคติความเชื่อเกี่ยวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสิ่งหนึ่งที่ผูกพันจิตใจพุทธศาสนิกชน คือ การเคารพบูชาสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือเป็นสิ่งมงคลสูงสุดที่ผู้ได้พบเห็นจะเกิดความปีติยินดี ดุจได้เห็นองค์จริงของพระพุทธเจ้าเพื่อจะประกอบพิธีสมโภชบูชาให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว รวมไปถึงญาติสนิท มิตรสหาย


ส่วนความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุและพระบรมสารีริกธาตุ มีหลายคนบอกว่าเคยพบปาฏิหาริย์มากมาย ในขณะที่บางคนบอกว่า เคยแต่ได้ยินได้ฟังกันมา พูดถึงเรื่องนี้ก็ชวนให้นึกถึงคำให้สัมภาษณ์ของอาจารย์วิศิษฐ์ เตชะเกษม ผู้ค้นคว้า ศึกษาประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมตะวันออก ที่พอจะนำมาสรุปทิ้งท้ายไว้เตือนสติได้เป็นอย่างดี


"คำว่าศักดิ์สิทธิ์ ภาษาบาลีมาจากคำว่า 'ศักยภาพ' กับ 'สิทธิ' ที่แปลว่าความสำเร็จ เพราะฉะนั้น ศักดิ์สิทธิ์จึงหมายถึงความสามารถในการประสบความสำเร็จ การกราบไหว้ สักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เราจึงต้องอาศัยความสามารถของเราเองด้วย ถึงจะเป็นการกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างถูกต้อง"


ดังนั้น การกราบไหว้บูชา ถือเป็นสิริมงคล ถือเป็นเหตุนำความสุข ความเจริญ และความก้าวหน้าในชีวิตมาให้แก่ผู้ทำ แต่ถ้าบูชาด้วยการนำพุทธธรรมมาปฏิบัติด้วยแล้ว ย่อมนำพาสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิตอย่างแน่นอน

ดังที่พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) พระนักคิด นักเทศน์ชื่อดังเคยให้คมธรรมเอาไว้ว่า "การบูชาด้วยวัตถุ หรืออามิส ชีวิตยังไม่เปลี่ยน ต่อเมื่อนำพุทธธรรมมาปฏิบัติในชีวิตจริง จึงจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นมา ด้วยเหตุนี้เอง พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ปฏิบัติบูชาดียิ่งกว่าการบูชาด้วยวัตถุอามิส"

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live



มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...

Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015

รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"



มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น