xs
xsm
sm
md
lg

“เดรัจฉานบนฐานดอกบัว” เกลื่อนเมือง! คนนครศรีธรรมราชแห่งเมืองนักปราชญ์ว่าไง?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
โดย...กฤษณะ  ทิวัตถ์สิริกุล
 
ล่วงพุทธศกมาแล้ว ๒๕๕๘ ปี “นครศรีธรรมราช” ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งนักปราชญ์ ทั้งศาสตร์ ทั้งศิลป์ อุดมมาตั้งแต่โบราณกาล หลายครั้งในประวัติศาสตร์ชาติไทยมีชื่อปราชญ์แห่งเมืองนครศรีธรรมราชปรากฏทั้งเถรานุเถระ ล้วนลุแต่เมืองนครศรีธรรมราชมา แม้ว่าผ่านมาหลายยุคหลายสมัย การบ้านการเมืองพัฒนาแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ทั้งรุ่งเรือง และเสื่อมถอย
 
“พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช” ผ่านกาลเวลามาเกือบ 1 พันปี ที่บรรพบุรุษชาวนครศรีธรรมราชเป็นผู้สร้างขึ้น และสืบทอดการทำนุบำรุงรักษามารุ่นต่อรุ่น เป็นจุดศูนย์รวมของความเจริญทางด้านพระพุทธศาสนาในแถบหัวเมืองย่านนี้ จุดเสื่อมของพุทธศาสนาย่อมเกิดขึ้นเมื่อล่วงแล้วกึ่งพุทธกาลเมื่อปี ๒๕๐๐ เช่น ที่พุทธองค์ทรงทำนายถึงวาระของพระพุทธศาสนาในโลกจะยืนยาวได้ ๕ พันปี ไม่ต่างอะไรกับความจริงที่ทรงตรัสคือ เกิดขึ้น คงอยู่ และดับไป ตามสัจธรรมของทุกสิ่งบนโลกนี้ อยู่ที่ว่ามนุษย์จะรู้จักรักษา และคงคุณค่าความดีงามที่สร้างขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน
 
ผมกำลังจะพูดถึง “เดรัจฉานบนดอกบัว”..ประติมากรรมที่ “เทศบาลนครนครศรีธรรมราช” กำลังภูมิใจเป็นหนักหนาถึงผลงานอันเยี่ยมยอดกับเสาไฟฟ้าราคาเรือนแสน!!
 
บนยอดเสาไฟเหล่านั้นมีสิงห์สาราสัตว์ที่เข้าใจว่า สมมติเป็นตัวแทนของสัตว์ใน ๑๒ ราศีตามความเชื่อ ยืนอยู่บนดอกบัวหัวเสาของเสาไฟอันลือลั่นนี้ ที่องค์กรตรวจสอบภาครัฐกำลังสอบสวนอย่างเข้มข้น ถึงการ “ล็อกสเปก” หรือ “ราคาที่แพงแสนแพง” นั่นก็ว่าไปเรื่องของการตรวจสอบผลจะออกมาอย่างไร ย่อมที่จะเป็นไปตามนั้น เงินหลวงตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้จริงหรือไม่ ยังไม่เคยเห็นจริงๆ แต่ตกกระเป๋าคนบางคนรู้ทั้งรู้ แต่ทำอะไรกันไม่ได้
 
เกือบ 2 ปีแล้วที่เสาไฟถูกเปลี่ยนไปทั่วเมือง แต่ที่ผู้ทรงภูมิรู้ ผู้เฒ่าผู้แก่ หรือคณาจารย์ ปราชญ์ทั้งหลายตกใจ คือ การนำเอา “ดอกบัว” ไปรองรับประติมากรรม “สัตว์” ทั้ง ๑๒ ชนิด ที่เข้าใจว่ามันคือ สัตว์ ๑๒ ราศี มันถูกต้องตามครรลองประเพณี ความเชื่อ ความศรัทธาที่มีอย่างยาวนานหรือไม่
 
อาจารย์ศิลปกรรม หรือนักโบราณคดีหลายคนต่างส่ายหน้า เบือนหนี เมื่อเห็นสิ่งปรากฏอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง แขกบ้านแขกเมืองผ่านไปผ่านมาไม่อายเขาบ้างหรือ หลายคนเปรยไปในทิศทางเดียวกัน!!
 
ผมได้แต่เฝ้าดูว่าผู้บริหารบ้านเมืองนี้ หรือเจ้าของโครงการที่ประจานความไม่รู้ หรือรู้แต่ทำไม่รู้ หรือผู้ออกแบบก็ไม่อาจทราบได้จริงๆ เขาคิดอ่านจะแก้ไขหรือทำกันอย่างไรกัน?!
 

 
ตลอดชีวิตที่ผ่านร้อน ผ่านหนาว ร่ำเรียนมาก็ไม่น้อย ชอบที่จะศึกษาความเป็นโบร่ำโบราณของบ้านของเมืองอย่างผม แม้ว่าจะไม่รู้มากเช่นศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ หรือผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผู้ทรงภูมิรู้ที่ผู้ยกมาตั้งไว้หน้าชื่อ แต่ถ้ายกสัตว์มาเชิดชูบนดอกบัว ผมไม่ทำแน่
 
แต่เทศบาลนครนครศรีธรรมราช อาจสร้างมิติใหม่ของวัฒนธรรม ลงทุนถึงขั้นเชิดชูสัตว์ทั้ง 12 ชนิดนี้ไว้บนดอกบัว ประกาศไว้ในเมืองนักปราชญ์!!
 
ผมพยายามค้นคว้าหาความรู้มาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา นับปีที่ประติมากรรมที่ถูกเรียกว่า เดรัจฉานบนดอกบัว ถูกติดตั้งตลอดทั้งถนนราชดำเนิน มูลค่านับสิบล้าน ท่วงท่าของสัตว์แต่ละตัวใช่ว่าจะปกติ หมู หมา วัว ยืนสองขา จะห้อยโหนโจนทะยานไปไหน หรือแม้แต่เจ้าลิงวอกจะป้องสายตามองหาอะไร มันแปลกประหลาดในอิริยาบถของสัตว์เหล่านี้อยู่แล้ว
 
แต่คติความเชื่อ ความศรัทธา ที่สามารถประดิษฐานอยู่บนฐานกลีบบัวได้นั้น พบเห็นมาตลอดชีวิตมีแค่พระพุทธรูป พระโพธิสัตย์กวนอิม หลวงปู่ทวดเท่านั้นที่ถูกอัญเชิญด้วยความศรัทธาของมวลมนุษยชาติประดิษฐานบนฐานดอกบัว
 
แต่คนจำพวกที่นำเอาสิงสาราสัตว์มายืนอยู่บนฐานบัวนี่ ตลอดชีวิตเพิ่งมาพบเอาที่นครศรีธรรมราชนี่แหละครับ เป็นบ้านเกิดเมืองนอนเสียด้วย ค้นข้อมูลทั้งกรมศิลปากร หรือหนังสือเล่มไหนไม่เคยปรากฏมาก่อน คนคิดเรื่องนี้คงต้องการกำหนดทฤษฎีรูปเคารพเสียใหม่กระมัง มันช่างน่าอับอาย
 
ยกเอาบางช่วงบางตอนที่ไปศึกษามาผู้รู้เขาเขียนไว้อย่างนี้ครับ...
 
บัวหลวงมีความสำคัญๆ ต่อผู้คนในทวีปเอเชียมากที่สุด ทั้งในด้านประโยชน์ใช้สอยโดยตรง และด้านวัฒนธรรมความเชื่อ โดยเฉพาะด้านศาสนา ดังปรากฏในชื่อภาษาอังกฤษว่า Sacred lotus กล่าวเฉพาะในศาสนาฮินดู (พราหมณ์) และศาสนาพุทธ บัวหลวงมีความสำคัญมากถึงขนาดขาดไม่ได้ หรือมีบทบาทหลักในการเกิดความเชื่อในศาสนาทั้ง ๒ ศาสนาดังกล่าว เช่น ศาสนาพราหมณ์เชื่อว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างโลก และพระพรหมเกิดจากดอกบัวหลวงที่ผุดขึ้นมาจากพระนาภี (สะดือ) ของพระวิษณุ (พระนารายณ์) จะเห็นว่าดอกบัวเกิดขึ้นก่อนโลกของเราเสียอีก
 
ส่วนในศาสนาพุทธก็มีตำนานว่า ดอกบัวหลวงเป็นดอกไม้ที่เกิดก่อนดอกไม้ชนิดใดๆ ในโลก และเมื่อพระพุทธเจ้าประสูติได้ทรงดำเนินไป ๗ ก้าว แต่ละก้าวมีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับพระบาทไว้ นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อของชาวพุทธว่า หากต้องการไปเกิดในยุคพระศรีอาริย์จะต้องฟังเทศน์มหาชาติให้จบในวันเดียว และบูชาพระด้วยดอกบัวหลวงพันดอก เป็นต้น
 
ช่วงที่มีเทศน์มหาชาตินั้นนิยมทำในช่วงหลังวันออกพรรษา (เดือนสิบสอง) ซึ่งเป็นฤดูน้ำท่วม จึงหาดอกบัวหลวงไปบูชากัณฑ์เทศน์ได้ง่าย นอกจากนั้น ในวันลอยกระทงกลางเดือนสิบสอง ชาวพุทธในสมัยก่อนนิยมนำดอกบัวมาลอยเป็นกระทง เพื่อบูชาพระจุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทำให้คนไทยนิยมทำกระทงเป็นรูปดอกบัวหลวงมาจนถึงปัจจุบัน
 
ลักษณะพิเศษของบัวหลวงหลายประการทำให้เกิดความเชื่อในหมู่ชาวพุทธ และฮินดูว่า บัวหลวง เป็นเครื่องหมายของความบริสุทธิ์ ปราศจากราคีมาแปดเปื้อน เนื่องจากแม้บัวหลวงจะเกิดจากโคลนตมที่สกปรก เน่าเหม็น แต่ดอกบัวกลับงดงาม และมีกลิ่นหอม อีกทั้งใบบัวก็ไม่เปียกเปื้อนน้ำ หรือความสกปรกเช่นกัน
 
ดังนั้น คนไทยจึงนิยมนำดอกบัวหลวงมาถวายเป็นพุทธบูชา และนำไปประดิษฐ์เป็นงานศิลปะในพุทธศาสนามากมาย เช่น พระพุทธรูปปางต่างๆ ไม่ว่าจะประทับยืน ลีลา (เดิน) นั่ง หรือบรรทม (นอน) ก็จะพบลวดลายกลีบดอกบัวหลวงรองรับอยู่ข้างใต้เสมอ เรียกกันว่าเป็น “ฐานบัว” แยกออกเป็น “บัวเล็บช้าง” “บัวเบ็ด” และ “บัวฟันปลา” เป็นต้น
 

 
นอกจากนี้ พระพุทธองค์ยังทรงนำดอกบัวหลวงมาเปรียบเทียบกับสติปัญญาของมนุษย์ว่า เปรียบเสมือนดอกบัว ๔ เหล่า บางเหล่าชูพ้นน้ำแล้วจะบานในวันนี้ บางเหล่าอยู่ปริ่มน้ำจะบานวันต่อไป บางเหล่าอยู่ใต้น้ำแต่มีโอกาสบานได้เหมือนกัน แต่บางเหล่าอยู่ใต้น้ำลึก หรือใต้โคลนตมไม่มีโอกาสบานเลย มีแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลาเท่านั้น
 
จากการเปรียบเทียบนี้จึงทำให้เกิดสำนวน “บัวใต้น้ำ” ขึ้นในภาษาไทย หมายถึง บุคคลที่สติปัญญาต่ำมาก ไม่มีโอกาสพัฒนาได้เท่าคนทั่วไปเลย?!
 
ที่มา..(บัวหลวง : คุณค่า ควรคู่ คนบูชา http://www.doctor.or.th/article/detail/2601)
 
นี่ใกล้จะถึงวิสาขบูชากันอีกครั้งแล้ว ผู้คนทั่วสารทิศจะหลั่งไหลมาสักการะ “องค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช” ที่เชื่อว่าประดิษฐานอยู่ที่ “องค์พระบรมธาตุ” อันสูงตระหง่านแห่งนี้บนปลียอดทองคำ ยังมี “กลีบบัวคว่ำบัวหงาย” รองรับปูชนียวัตถุสิ่งที่พุทธศาสนิกชนทั้งโลกบูชา แต่ตลอดราชดำเนินยังมี “สิงห์สาราสัตว์เชิดชูอยู่บนดอกบัว”
 
คนนครศรีธรรมราช.. “เมืองนักปราชญ์” จะว่ากันอย่างไรเล่า?!?!
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น