xs
xsm
sm
md
lg

ตีแผ่! ขบวนการค้าเนื้อสุนัข เน้นสุนัขจรจัด เปลี่ยนรูปแบบ-แอบชำแหละสด!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ไทยฉาว! สื่ออังกฤษตีแผ่ การค้าเนื้อสุนัขในประเทศไทยที่กำลังแพร่หลาย หลังพบว่าปัจจุบันได้รับความนิยมในการเอาหนังมาทำถุงมือกอล์ฟ และเครื่องหนังอื่นๆ จนเจ้าของสุนัขในภาคอีสานต้องระวังสุนัขของตนไม่ให้คลาดสายตา”

ท่ามกลางความเงียบสงบของชนบทแถบภาคอีสาน ทางดินแดงไร้ใครสัญจรอยู่ก่อน หากมองไปสุดสายตา รถกระบะคันหนึ่งกำลังคืบคลานใกล้เข้ามาตามทาง และสำหรับบางชีวิตความตายกำลังจะมาถึง! จากปากคำของผู้คนที่อยู่เบื้องหลังวงการ ว่ากันว่าอุตสาหกรรมที่ไม่ได้เสียภาษีนี้ ทำเงินหมุนเวียนได้มากถึงกว่าปีละ 1 พันล้านบาท! แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นชาติที่นิยมกินเนื้อสุนัขกันอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกับในเวียดนาม หรือจีน หากในแต่ละปีมีสุนัขริมทางมากมายหายไปในความมืด

หากเราเริ่มต้นจากคำถามที่ว่า แล้วพวกมันหายไปไหน? บางทีคำถามนี้อาจนำมาซึ่งคำตอบที่เราไม่อยากจะได้ยิน
ข่าวการจับกุมยังมีให้พบเห็นภายหลังบังคับใช้กฎหมาย
กฎหมายมีผล แต่การค้าเนื้อสุนัขยังมี
ปัจจุบันแม้จะมีกฎหมายป้องกันการ “ทารุณกรรมสัตว์” หรือ พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ที่มีผลบังคับใช้มาระยะหนึ่งแล้ว ดังที่มีข่าวการจับกุมคดีตัวอย่างตามหน้าหนังสือพิมพ์ หากเหล่านั้นก็ยังคงเป็นเพียงส่วนน้อย ขบวนการค้าสุนัขยังคงดำเนินต่อไป ปรับเปลี่ยนวิธีการไม่ให้ประเจิดประเจ้อดังเดิม เพราะหากยังมีความต้องการ ขบวนการค้าเนื้อสุนัขก็ต้องปรับเปลี่ยนช่องทางเพื่อความอยู่รอด ดังเช่นตัวอย่างจากการเปิดเผยข้อมูลของอดีตพ่อค้าหมาแลกถังในจังหวัดสกลนคร

“ทำมานานแล้ว ร่วม 30 ปีโน่น” “บัญชา” อดีตพ่อค้าหมาแลกถัง เปิดเผยข้อมูล แน่นอนการค้าสุนัขในไทยมีมากว่า 30 ปี หากสมัยก่อนยังไม่ได้รับการพูดถึงในวงกว้าง ปัจจุบันสุนัขหลายล้านตัวถูกลักลอบขนส่งข้ามแดนอย่างผิดกฎหมายผ่านประเทศลาวไปยังเวียดนาม รวมถึงในไทยแถบภาคอีสาน ที่มีศูนย์กลางคือจังหวัดสกลนคร

ในท้ายรถกระบะสองตอนปิดทึบ-กองเนื้อที่ถูกชำแหละสองกองนั้น ส่วนหัวของมันบ่งบอกว่าอดีตคือสุนัขที่มีชีวิต เลือดบางส่วนกระเซ็นไปทั่วกระบะรถ สายตาคนขับยังคงสอดส่องไปทั่วตามทาง สุนัขจรจัดคือเป้าหมายของพวกเขา ไม้ไผ่ยาวปลายเป็นง่ามรับกับช่วงคอของมัน เสียงหอนโหยหวนตามมา สิ้นเสียงมันถูกล็อคเหวี่ยงขึ้นไปบนตอนหลังของรถกระบะ ชายร่างเล็กผิวกร้านคล้ำอีกคนเดินเข้ามา “ตัวนี้ จัดการเอง” เชือกเหวี่ยงล่ามคอ มันวิ่งวนหนีเอาชีวิต แต่แรงกระชากจากชายคนนั้นเหวี่ยงมันกลับมา มันแยกเขี้ยวขู่สู้สุดฤทธิ์ ก่อนถูกไม้ยาวฟาดไปที่ลำตัว!

ฉากโหดเหี้ยมสามัญของชีวิตพ่อค้าเนื้อสุนัข ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานตามความต้องการในแถบภาคอีสาน หากในอีกด้านหนึ่งแล้วมันกลับหลบซ่อนมากขึ้น แต่ทารุณและโหดเหี้ยมมากขึ้น

ไม่ต่างไปจากคดีล่าสุดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง 5 กองกำกับการ 4 (สว.สทล.5 กก.4) นำกำลังเจ้าหน้าที่สกัดจับผู้ลักลอบค้าเนื้อสุนัขที่กำลังจะลำเลียงขนผ่านเส้นทางหมายเลข 22 สายสกลนคร-นครพนม โดยยึดของกลางเป็นเนื้อและซาก รวมถึงเครื่องในสุนัขไว้ได้จำนวนหนึ่ง! โดยผู้ต้องหารับสารภาพว่า เป็นชาว ต.ท่าแร่ อ.เมือง ซื้อสุนัขมาจากชาวบ้านเขตพื้นที่ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ในราคาตัวละ 150-200 บาท จากนั้นได้นำไปชำแหละและขนของกลางทั้งหมดไปพักไว้ที่ “บ้านท่าแร่” ก่อนจะมีคนมารับนำไปส่งให้พ่อค้าใน จ.นครพนม อีกทอดหนึ่ง โดยได้รับค่าจ้างเที่ยวละ4,000 บาท

แสดงถึงว่าแม้จะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรม หากขบวนการค้าเนื้อสุนัขยังคงอยู่ ! และจากการเข้าตรวจสอบการขยายผลการจับกุมขบวนการค้าสุนัขใน ต.ท่าแร่ อ.เมือง จ.สกลนคร ยังได้ผู้ต้องหาเพิ่มอีก 2 ราย พร้อมยึดของกลางเนื้อสุนัขที่ถูกชำแหละแล้วกว่า 300 กิโลกรัม เครื่องใน 135 กิโลกรัม หนังและกระดูก 211 กิโลกรัมผู้ต้องหารับสารภาพว่าได้ใช้สถานที่ดังกล่าวเป็นแหล่งชำแหละสุนัขก่อนนำมาส่งขายใน จ.สกลนคร จากการตรวจสอบพบกระท่อม 3 หลัง ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งกระท่อม 2 หลังใช้เป็นที่พักอาศัย ส่วนอีก 1 หลังใช้เป็นสถานที่ชำแหละสุนัข แต่ไม่พบเจ้าของ จากการตรวจสอบเจ้าหน้าที่พบคราบเลือดและขนสุนัขกระจัดกระจาย ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ
จีน คือแหล่งรับซื้อเนื้อสุนัขรายใหญ่ของโลก
นอกจากนี้ยังพบอุปกรณ์ที่ใช้ชำแหละสุนัข ทั้งกะละมัง ถังน้ำ จอบ เสียม ท่อนไม้เปื้อนเลือด เขียง มีดปลายแหลม เครื่องชั่ง และอุปกรณ์ที่ใช้เผาขนสุนัขจำนวนมาก คาดว่าสถานที่แห่งนี้น่าจะเป็นแหล่งชำแหละสุนัขขนาดใหญ่ ทำการชำแหละสุนัขอย่างน้อยหลายพันตัว!

โหดกว่าเดิม! เน้นชำแหละสด
พล.ต.ต.พลศักดิ์ บรรจงศิริ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสกลนคร (ผบก.ภ.จว.สกลนคร) กล่าวถึงผลจากการเดินหน้าปราบปรามการค้าสุนัขข้ามชาติ ทำให้กลุ่มผู้ลักลอบค้าสุนัข เปลี่ยนวิธีการขนส่ง จากเดิมขนสุนัขทั้งตัว แออัดกันไปในกรง แต่ปัจจุบันใช้วิธีชำแหละเนื้อในประเทศ แล้วส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทำให้ไม่ถูกตรวจตามเส้นทาง และช่วยให้ส่งเนื้อสุนัขไปขายในแต่ละครั้งได้ปริมาณมากขึ้น

“ตอนนี้ทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว ต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ แต่ก็รู้ๆ กัน” บัญชาอดีตพ่อค้าหมาแลกถังวัยปลาย 40 บอกขณะขับรถไปตามเส้นทางที่มุ่งไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แม้อาชีพนี้จะไม่ได้รับการยอมรับ รวมถึงสังคมยังตราหน้าว่าโหดเหี้ยม แต่แน่นอนว่าอาชีพนี้จะไม่มีวันหมดไป หากยังมีผู้คนที่นิยมกินเนื้อสุนัขอยู่ “ผมต้องทำเพื่อครอบครัว ไม่ทำจะเอาอะไรกิน มันไม่รู้จะไปทำอะไรแล้ว ที่นาก็ไม่มี” แน่นอนส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาไม่รู้จะไปทำอะไรที่จะสร้างรายได้ได้เท่านี้เพื่อเลี้ยงดูปากท้องของครอบครัว เพราะว่ากันว่าอุตสาหกรรมค้าเนื้อสุนัขที่ไม่ได้เสียภาษีนี้ ทั้งวงจรสามารถทำเงินได้มากถึง 1 พันล้านบาทต่อปี ! (34,000,000 ดอลล่าร์)

“เน้นชำแหละเลยเดี่ยวนี้!” ปัจจุบันผู้ค้าส่วนใหญ่ใช้วิธี “ชำแหละ” สุนัขจากพื้นที่ต้นทาง (ส่วนมากอยู่ในรัศมีไม่เกิน 150 กม. ในพื้นที่ใกล้เคียง จ.สกลนคร) เพื่อสะดวกต่อการขนส่งไปขายยังพื้นที่ต่างๆ และส่งออกไปต่างประเทศ นอกจากนี้ยังทำให้หลีกเลี่ยงการจับกุมจากเจ้าหน้าที่ได้ง่ายกว่า รวมทั้งยังทำให้ขนเนื้อหมาในแต่ละเที่ยวได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

ทุกวันนี้ขบวนการค้าเนื้อสุนัขมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ ภายหลังจากมีกฎหมายทำให้ขบวนการค้าเนื้อสุนัขต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ ไม่สามารถประเจิดประเจ้อได้เช่นเดิม แต่ “บ้านท่าแร่” ต.ท่าแร่ อ.เมือง จ.สกลนคร ยังคงเป็น “แลนด์มาร์ค” ของขบวนการค้าสุนัขทั้งในประเทศและต่างประเทศ หากลดจำนวนลง
 
ในลานกว้าง รถกระบะสองคัน ขนาบข้างด้วยรถหกล้อ ทั้งหมดนี้ ล้วนหาได้จากเงินที่แลกมาด้วยชีวิตมากมายที่สูญเสียไป รถเหล่านี้มีหน้าที่ลำเลียงสุนัข คันหนึ่งสามารถบรรทุกได้เกิน 100 ตัว จากนั้นทั้งหมดจะถูกส่งต่อลงเรือและลักลอบข้ามแม่น้ำโขง จากนั้นจะถูกลำเลียงขึ้นรถบรรทุกขนาดใหญ่ ไปยังจุดหมายปลายทาง!

เปลี่ยนเป้าหมาย เน้นหมาจรจัด
จากการประมาณการของ “องค์กรพันธมิตรเพื่อคุ้มครองสัตว์ในเอเชีย” (Asia Canine Protection Alliance - ACPA) ระบุว่าในทุกๆปีมีสุนัขถึงกว่า 80,000 ตัวที่ถูกส่งจากประเทศไทยและลาว เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเนื้อสุนัขในประเทศเวียดนาม และจากการสำรวจหลายครั้ง พบว่าทุกขั้นตอนของการค้าเนื้อสุนัขนั้นมีความโหดร้ายทารุณเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การจัดหาไปจนถึงการฆ่าชำแหละ
จากเดิมที่ขบวนการค้าเนื้อสุนัขในแถบภาคอีสาน เคยใช้วิธีการนำหมามาแลกถัง โดยอาศัยความยินยอมพร้อมใจของเจ้าของที่ไม่เห็นค่าชีวิตสุนัข เอามาแลกเปลี่ยนเป็นถังกะละมังพลาสติก หากภายหลังกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์มีผลบังคับใช้ ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนเป้าหมาย มาเป็นหมาจรจัดแทน!

“มันลงทุนน้อย หมาจรจัดในไทยมันเยอะไม่เหมือนแถบประเทศเพื่อนบ้าน ใบสั่งมีมาตลอด” บัญชาบอกปัจจุบันเราจะไม่พบเห็นวิธีการเช่นเคย “หมาแลกถัง” กลายเป็นอดีต จากเดิมที่เคยเป็นข่าวกับภาพรถกระบะที่กรงด้านหลังบรรจุสุนัขเป็นๆ นับร้อยชีวิต ตระเวนออกไปตามหมู่บ้าน ป่าวประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงรับแลกสุนัขกับถังกะละมังพลาสติก กลายเป็นใช้วิธีจับหมาจรจัดตามริมทางเพียงอย่างเดียว โดยมีการย้ายสถานที่ชำแหละไปอยู่ตาม “ตะเข็บชายแดน” เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุมดำเนินคดี

ปัจจุบันอดีตแหล่งการค้าเนื้อสุนัขที่ใหญ่ที่สุดคือท่าแร่ (เส้นทางที่มุ่งไปยัง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม) หลงเหลือผู้ค้าอยู่ไม่ถึง 15 รายในพื้นที่ แต่ใช่ว่าผู้ค้าเหล่านั้นจะเลิกไปประกอบอาชีพอื่น เพราะแท้จริงแล้ว ส่วนใหญ่จะหลบออกจากท่าแร่ไปทำที่อื่นแทน เนื่องจากในพื้นที่อื่นยังไม่มีความเข้มงวดเท่าตรวจตราเท่ากับที่นี่ หากในท้ายที่สุดเนื้อสุนัขเหล่านั้นก็จะถูกส่งกลับมายังท่าแร่เช่นเคย

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่า แม้พฤติกรรมบริโภคเนื้อสุนัขของคนท่าแร่จะลดลง โดยส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกสุนัขไปประเทศเพื่อนบ้านถูกจับกุมดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด แต่ผู้คนที่ยังนิยมเนื้อสุนัขก็ยังคงมาซื้อหาไปรับประทานกันเอยู่ช่นเคย หากจากการเข้มงวดจับกุมในระยะหลัง จึงมีการปรับเปลี่ยน “เมนู” เน้นมาขายแต่เนื้อแห้งเพียงอย่างเดียว (ราคา200-250 บาท ต่อกิโลกรัม) จากแต่ก่อนที่มีทั้งสดและแห้ง

นอกจากนี้ยังมีใบสั่งจากนายทุนนอกพื้นที่ เน้นให้ผู้ค้าหาหนังสุนัขเพื่อส่งออกทำเครื่องหนังและ “ถุงมือกอล์ฟ” แทนการค้าเพื่อบริโภคเพียงอย่างเดียวเช่นแต่ก่อน! “ยังไงๆ ท่าแร่ก็ยังเป็นศูนย์กลาง แค่เปลี่ยนแหล่งพักสินค้าเท่านั้น” บัญชา บอกทิ้งท้ายกับทีมข่าว

กฎหมายยังไม่พอ! ทุกคนต้องมีส่วนร่วม 
ปัจจุบันจากเดิมที่เจ้าหน้าที่จะใช้กฎหมายข้อหาค้าสัตว์ (สุนัข)โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ 2499 ซึ่งมีบทลงโทษน้อย ผู้กระทำผิดอาจไม่เกรงกลัว แต่กับพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ที่ออกมาล่าสุดนี้ มีผลทำให้เจ้าหน้าที่สามารถขอตรวจค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น หากพบว่ามีการกักขังสุนัขจำนวนมาก โดยโทษของผู้กระทำความผิดนั้นระบุไว้ที่จำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท และเป็นคดีที่ยอมความกันไม่ได้

“ที่ผ่านมา จ.สกลนคร มีภาพลบเกี่ยวกับการกินและค้าเนื้อสุนัข แต่ผมมองว่ามีเพียงกลุ่มน้อยเท่านั้นที่ยังนิยมรับประทานเนื้อสุนัข ซึ่ง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ จะช่วยให้ภาพดังกล่าวค่อยๆ หมดไปได้” พล.ต.ต.พลศักดิ์ บรรจงศิริ ผบก.ภ.จว.สกลนคร กล่าว
สุนัขจะถูกชำแหละทันที ภายหลังจากถูกจับได้
หากแม้จะมีกฎหมายบังคับใช้ และเจ้าหน้าที่จะกวดขันจับกุม หากผู้ค้าก็ยังคงลดจำนวนลงแต่เพียงส่วนน้อย จึงมีแคมเปญ Trade of Shame ที่ได้รับการก่อตั้งขึ้นมาเพื่อยุติการค้าสุนัข แน่นอนการค้าสุนัขไม่เพียงแต่ผิดกฎหมายเพราะผิดกฎระเบียบเรื่องการควบคุมโรค ทั้งการแพร่กระจายการติดต่อของโรคพิษสุนัขบ้า และโรคติดต่ออื่นๆเช่นโรคอหิวาตก และโรคพยาธิบางชนิดที่เกิดจากการบริโภคเนื้อสัตว์

ทั้งนี้ จุดประสงค์ของโครงการ Trade of Shame คือการขอให้คนไทยและสังคมระดับนานาชาติมาร่วมช่วยกันเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการยุติการค้าสุนัขลงอย่างถาวร ยุติการลักลอบค้าสุนัขที่ผิดกฎหมาย “Stop The Illegal Dog Meat Smuggling Trade-คำร้องถึงพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” ผ่านทาง Soi Dog Foundation หรือมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย

โดยชี้ว่า ผู้บงการที่อยู่เบื้องหลังขบวนการค้าสุนัขนั้น แท้จริงแล้วก็เป็นที่รู้จักดีในบรรดาเจ้าหน้าที่ของทางการ กลุ่มคนเหล่านี้เป็นอาชญากรและก็ดำเนินธุรกิจนี้ได้อย่างเสรีเพราะการคอร์รับชั่น ยิ่งไปกว่านั้น การอนุญาติให้การค้าสุนัขนี้ยังคงดำเนินก็จะเหมือนเป็นการที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีเกิดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งการที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มอาเซียน ทางกลุ่มได้มีนโยบายที่จะกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี 2563

“ผมผิดหวังที่ได้เห็นว่าทั้งๆ ที่มีข่าวการจับกุมผู้ค้าสุนัขออกมามากอย่างต่อเนื่อง แต่การค้าสุนัขเพื่อแร่เนื้อและ หนังที่ผิดกฎหมายก็ยังคงดำเนินต่อไปทั้งภายในประเทศไทย และจากไทยไปเวียดนาม เนื่องจากสุนัขส่วนใหญ่ที่ ถูกลักลอบขนส่งนี้ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และอาจก่อให้เกิดการระบาดของโรค ได้ ซึ่งขัดแย้งกับหลักการที่ประเทศ ไทยได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มประเทศอาเซียน ที่กำลังมีนโยบายกำจัดโรคพิษ สุนัขบ้าให้หมดไปจากภูมิภาคภายในปี 2563 นอกจากนี้ ประชาชนคนไทยควรตระหนักถึง อันตรายของการบริโภคเนื้อสุนัขซึ่งได้มีข่าวเกิดขึ้นในเวียดนามและ จีนแล้วว่าเป็นสาเหตุของการระบาดของโรคต่างๆ”

“คุณจะสามารถทำอะไรได้บ้าง? เพื่อทำให้การค้าสุนัขยุติลงได้” จอห์น ดัลลี่ ตัวแทนของมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย ตั้งคำถามนี้กับทุกคน...
 
 
ขอบคุณภาพและข้อมูลบางส่วนจาก จอห์น ดัลลี่ และมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย



มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...

Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015

รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"



มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น