xs
xsm
sm
md
lg

ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเรียนรู้หรือมั่วสุม?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"15.36 น. หลังเลิกเรียนเพียง 6 นาที ในร้านเกมแห่งหนึ่งย่านอ่อนนุช ทันทีที่นักข่าวเปิดประตูร้านเข้าไป ก็พบเด็กในชุดเครื่องแบบสีขาวแน่นร้าน แน่นอนพวกเขาคือนักเรียน หากคะเนดูแล้วมีตั้งแต่วัยประถมไปจนถึงมัธยม ในโต๊ะหลังสุดของร้านเด็กหญิงในชุดเสื้อคอซอง บ่งบอกว่าเธอเพิ่งอยู่ในชั้น ม.ต้น กำลังเล่นเกมออนไลน์ในขณะที่มือกำลังสอดประสานคลอเคลียไปกับเด็กชายโต๊ะข้างๆ !" 
จากการที่รัฐบาลมีนโยบายปรับลดเวลาเรียนจากเดิมโดยกำหนดให้โรงเรียนเลิกในเวลาบ่ายสองโมง โดยมองว่าเพื่อให้เด็กไม่เครียดจนเกินไป และมีเวลาเรียนรู้นอกตำรามากขึ้น แต่เวลามีผลกับคุณภาพการศึกษาจริงหรือ แล้วเวลาที่เหลือนั้นเราจะจัดการอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กใช้เวลาที่มีมากขึ้นไปมั่วสุมกันเช่นเหตุการณ์ข้างต้น?

ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเรียนรู้ (อะไร)
ผลการทดสอบความรู้พื้นฐานของนักเรียน 60 ประเทศทั่วโลก หรือ PISA Score (Programme for International Student Assessment ) พบว่า ที่มีคะแนนสูงสุดอันดับที่ 1 คือนักเรียนจีน (ในเซี่ยงไฮ้) 613 คะแนน, อันดับที่ 2 นักเรียนสิงคโปร์ ได้ 573คะแนน, เกาหลีมาเป็นอันดับที่ 5 ได้ 554 คะแนน, ญี่ปุ่นอันดับที่ 7 ได้ 536 คะแนน, และฟินแลนด์อันดับที่ 12 ได้ 519 คะแนน
ขณะที่คะแนนของนักเรียนไทย อยู่ในลำดับที่ 50 ! ได้ 427 คะแนน ทั้งๆ ที่นักเรียนไทยเรียนกันอย่างเอาเป็นเอาตาย (โดยคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนทั่วโลก คือ 494 คะแนน)

ภายหลังจากที่ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ออกมาเปิดเผยถึงนโยบายการปรับลดเวลาเรียนของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เกี่ยวกับนโยบาย"ปรับลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" โดยจะปรับลดเวลาเรียนให้เลิกเวลา 14.00 น. อันเป็นไปตามข้อเรียกร้องของสังคม ที่มองว่าเด็กเรียนมากเกินไป สพฐ.จึงปรับลดเวลาเรียนลงโดยในช่วงเช้าจนถึงเวลา14.00 น. จะเรียนวิชาหลัก หลังจากนั้นจะให้เด็กเรียนวิชาที่ต้องลงมือปฏิบัติ เช่น ศิลปะ นาฎศิลป์ ดนตรี พลศึกษา การงานพื้นฐานอาชีพ หรือทำกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต เช่น สอนว่ายน้ำ ทำกับข้าว เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน รวมทั้งการสอนเสริมโดยเฉพาะการสอนทำการบ้านที่จะช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ซึ่งแต่ละโรงเรียนไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกัน

“เรื่องการลดเวลาเรียน ไม่ใช่การเรียนเฉพาะ 5 วิชาหลัก และย้ายอีก 3 กลุ่มสาระ คือการงานอาชีพและเทคโน โลยี สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ ไปเรียนในช่วงบ่ายนั้น แต่กิจกรรมในช่วงบ่ายจะเป็นส่วนของการเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งจะให้เด็กสามารถอยู่ได้ในสังคม ต่อสู้ในสังคมภายนอกได้ ดังนั้นจึงต้องหารูปแบบกิจกรรมที่ทำให้เด็กรู้สึกอยากจะทำ และรู้สึกว่าทำแล้วมีความสุข" รมว.ศธ.กล่าว
หากมีหลายคำถามที่สังคมยังสงสัยเกี่ยวกับประเด็นที่ประเทศไทยยังเน้นเรื่องการสอบแข่งขัน และต้องสอบทุกวิชาเพื่อวัดผล รวมถึงอย่างไรเด็กก็ยังต้องมาเรียนเพิ่มตามโรงเรียนกวดวิชาอยู่ดี เกี่ยวกับประเด็นนี้ใน เฟซบุ๊ก-หยุดดัดจริตประเทศไทย ได้วิพากษ์วิจารณ์ไว้อย่างดุเดือดว่า...

“ผมไม่ปฏิเสธว่าสิ่งนี้ "ควรทำ" จริงๆแล้วควรปรับเวลาเรียนใหม่ด้วยซ้ำ เข้าเรียน 9.00 - 10.00 น. ตอนเช้าจะลดปัญหารถติดไปได้มาก เพราะคนทำงาน นักเรียน ต่างแย่งชิงถนนกันไปทำหน้าที่ของตน ถ้าปรับเวลาเข้าเรียนได้ ปัญหาการจราจรติดขัด จะลดลงไประดับหนึ่ง เวลาเลิกเรียนน่าจะประมาณ 14.00 - 15.00 น.

แต่การมาลดเวลาเรียน โดยที่ไม่แก้ไของค์ประกอบอื่น เช่นตัวเนื้อหาหลักสูตร วิชาต่างๆ การที่มาลดเวลาเรียนแบบ "หักดิบ" ปัญหาที่ตามมาคือนักเรียนจะ"เรียนไม่ทัน" คุณภาพการศึกษาจะยิ่งแย่ ทุกวันนี้เรามีวิชากี่หมวด เอาสาระหลักๆก็ 8 หมวด = 8 วิชา (คณิต , วิทย์ , อังกฤษ , ไทย , สังคม , การงานฯ , ศิลปะ , สุขศึกษา พละ)

ถ้าเป็นสายวิทย์ มีวิชาเฉพาะเข้าไปอีก ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ถามว่าเวลาจะพอไหม? ทุกวันนี้ขนาดเรียนเวลาเท่าเดิม ยังสอนไม่ทัน ตอนนี้หายไปอีกคนละเกือบ 2 ชั่วโมงต่อวัน คิดว่ามันจะไปรอดไหม? แล้วโจทย์ที่ท่านตั้งว่า "ให้เด็กผ่อนคลาย" หรือ "อยู่กับครอบครัว" มันเป็นจริงหรือ การศึกษาไทยเน้นการสอบ เรามีการสอบวัดผลเยอะมาก เอา ป.6 สอบเข้า ม.1 , ม.3 สอบเข้า ม.4 หรือ ม.6 สอบเข้ามหาวิทยาลัย เรามีการแข่งขันกันสูงมาก เด็กคนหนึ่งต้องเรียนทุกวิชา เพื่อไปสอบ (แทนที่จะสอบเฉพาะที่ต้องใช้เรียนต่อ)

เลิกเรียน 14.00 น. เด็กมันก็ไปกวดวิชา เคร่งเครียดจนถึงทุ่ม สองทุ่ม อยู่ดีในทุกๆวัน การลดเวลาเรียน มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย แถมพวกกวดวิชา โรงเรียนติว ได้ประโยชน์เต็มๆ หรือบางโรงเรียนจะใช้วิชามาร อ้างว่าเลิกเรียนตอนบ่ายสองแล้วก็จัดคอร์ส "เรียนพิเศษ" มายัดให้เด็กอยู่ถึงสี่โมง ห้าโมง บังคับเรียนทุกคน เก็บเงินเพิ่ม
ท่านจะจัดการอย่างไร? สิ่งที่ท่านควรทำก่อนคือ "แก้ไขหลักสูตรและการวัดผล" แล้วจึงค่อย "ปรับเวลาเรียน" ให้สอดคล้องกับตัววิชาหลักสูตร มันถึงจะไปกันได้ ทำแบบนี้ ไม่ต่างอะไรจากการวิ่งในระยะทางเท่าเดิม แต่ลดเวลาลง คนวิ่งมันก็ต้องใช้แรงมากขึ้น เหนื่อยขึ้น ไม่ได้มีผลดีอะไรเลย ผมไม่เคยเห็นด้วยที่ "ดาว์พงษ์" มารับตำแหน่งรัฐมนตรีศึกษาธิการ เพราะเป็นทหารมาโดยตลอด ไม่เคยมีประสบการณ์ แถมพฤติกรรมต่างๆที่ปรากฏบนหน้าสื่อ เป็นไปในเชิงลบและไม่ดีนัก

แต่หากต้องการปฏิรูปการศึกษา (อย่างจริงใจ) ผมก็เอาใจช่วยและจะนำเสนอโดยไม่ใช้ "อคติ" เรื่องลดเวลา ผมเห็นด้วย แต่ถามว่าในกรอบระยะเวลานี้หลักสูตรแบบนี้ มันเหมาะสมหรือไม่? ยังไม่นับปัญหาที่จะตามมาอีกนับไม่ถ้วน เข้าใจตรงกันนะ”

ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลามั่วสุม?
เมื่อประเด็นนี้ถูกหยิบยกมาพูดถึง คำถามมากมายที่ตามมาคือ นอกจากการลดชั่วโมงเรียน แล้วกับการเรียนรู้นอกห้องเรียน ทั้งกิจกรรมต่างๆ นั้น ครูผู้สอนมีความสามารถเพียงใด รวมทั้งประเด็นที่ว่าในเวลาที่เด็กเลิกเรียนนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองยังไม่เลิกงาน เด็กจึงอาจจะไปมั่วสุมที่ไหนก็ได้ เพราะแม้แต่เวลาเลิกเรียนปัจจุบัน เด็กยังไปมั่วสุมกันตามสถานที่ต่างๆ หลังเลิกเรียน ทั้งตามห้างสรรพสินค้า รวมถึงร้านเกม ดังเช่นที่มีคนออกมาแสดงความคิดเห็นไว้ใน pantip ว่า...

“ผมไม่ใช่คนโลกสวยนะ.. บอกตรงๆ เพราะงั้นอยากบอกว่า เรียนน้อย ก็ไม่ได้ทำให้เด็กส่วนใหญ่ฉลาดขึ้น หรือเอาตัวรอดในการใช้ชีวิตได้ครับ ที่ว่าอยากได้เวลา เอาเวลาว่างไปทบทวนบทเรียน ก็มีเฉพาะคนที่ตั้งใจเรียนเท่านั้นครับ กี่% กันผมยังสงสัย?? วิชาต่างๆที่สอน มันมีเหตุผลของมันอยู่ สุขศึกษา-พลศึกษา เป็นเรื่องเบื้องต้นเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพความแข็งแรงของร่างกาย เข้าใจว่าในระดับม.ปลาย-มหาลัยน่าจะเป็นการเน้นสอนเฉพาะทาง เป็นวิชาเลือกแล้ว ประเด็นสำคัญ น่าจะเป็นเรื่องของหลักสูตร วิชา หรือลักษณะแนวทางที่ใช้ในการเรียนการสอนมากกว่า ที่จะต้องประยุกต์และพัฒนาไปตามยุคสมัย แต่มันก็ขึ้นกับตัวนักเรียนไทย.. ย้ำว่า.. ไทย..!! นั่นล่ะ ว่าจะรักดี เอาดีทางการศึกษารึปล่าว? ไม่เกี่ยวกับการมีเวลา หรือไม่มีเวลาทบทวนบทเรียนเลย คนจะเก่ง..เก่งได้ด้วยความพยายามของตัวเองครับ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนๆ”

ผมเคยเห็นเด็กหญิง ม.ต้น ท้อง(เห็นมา 4-5 คนแล้ว) เด็กชายก็เป็นแก๊งค์ซิ่ง เป็นขโมยก็เยอะ คิดว่าเรียนมาก จนไม่มีเวลาทบทวนบทเรียนรึปล่าวครับ พวกนี้??? เลิกเรียน บ่าย4 บางวัน5โมง เลิกเรียน ไม่อยากกลับบ้าน เหนื่อย อยากเตะบอล อยากเมาท์กับเพื่อน" เอาไงแน่?? เหนื่อย แต่อยากเตะบอล อยากเมาท์กับเพื่อน แถมยังบอกว่า "เด็กก็ต้องมีเวลาเล่นบ้าง เพื่อผ่อนคลาย" แล้วเตะบอลไม่ใช่การเล่นกีฬาเพื่อผ่อนคลายรึ? เมาท์กับเพื่อนไม่ผ่อนคลายรึ? เวลาเล่นหาได้ทั้งวัน ผมไม่เชื่อหรอกว่า ในระหว่างวัน เวลาพัก เวลาว่าง เด็กไทยจะไม่เล่น ไม่เมาท์เรื่องสนุกๆ กัน” 
จะลดเวลาเรียน ต้องเพิ่มคุณภาพครู!
หลายคนสงสัยว่าการลดเวลาเรียนอาจมีส่วนผลักดันให้เด็กออกมาเรียนกวดวิชากันมากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุที่เด็กออกมาเรียนกวดวิชากันมากขึ้นนั้นก็เป็นเพราะคุณภาพของครูในระบบเช่นกัน ทั้งกับคำถามที่ว่าครูมีความสามารถพอที่จะรองรับการสอนในระบบนี้หรือไม่ หากยังมีความยึดติดอยู่ในระบบโบราณเก่าๆ เพราะอย่าลืมว่า ธรรมชาติของเด็ก GEN - Z ที่ต้องเข้าใจ คือ 1. ชอบความรวดเร็วทันใจ 2. มีเพื่อนเป็นศูนย์กลาง 3. มีความมั่นใจสูงแต่ความสามารถต่ำ ครูจึงควรใช้ 3 สิ่งนี้เพื่อส่งเสริมศักยภาพและเตรียมรับมือปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้นครูจึงควรทันโลก และปรับเปลี่ยนเทคนิคการสอนด้วยเช่นกัน

“ครูพี่แนน” อริสรา ธนาปกิจ และศศิมาลา จันทมาลาหรือ “ครูเมย์” จากโรงเรียนกวดวิชา Enconcept แนะเทคนิค “Memory Palace” และ “Memologic” ในการช่วยนักเรียนจดจำข้อมูลต่างๆ ด้วยเทคนิค M.A.P “P-Purpose” คือ การกำหนดเป้าหมายและทิศทางในการเรียนรู้ให้กับน้องๆ ขั้นตอนนี้เป็นเหมือนการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียน ซึ่งต้องชัดเจนว่าจะทำอะไรเพื่ออะไร A - Autonomy คือการสร้างวินัยในการเรียนและการทบทวนให้เป็นไปตามระบบและแผนการที่วางไว้”

“ส่วน M-Mastery คือ การพัฒนาระดับการเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนความสามารถให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน โดยการเชื่อมโยงและสร้างภาชนะบรรจุความจำช่วยให้นักเรียนสามารถจำคำศัพท์ที่ซับซ้อนจำนวนมากได้ “ธรรมชาติของสมองคนเรานั้น จะชอบเชื่อมโยง Where to What เชื่อมจากที่ไหน สู่อะไร ซึ่งเทคนิคนี้จะช่วยจดจำคำศัพท์ และการเรียบเรียงข้อมูลที่ยากๆได้ เช่น นักศึกษาแพทย์จะจดจำอาการของโรคอัลไซเมอร์ จากชื่อของอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน จากคำว่า Ronald คือ R - Reduction of Acetylcholine, O-Old Age , N - Navigations of Difficulty, A-Atrophy of Cerebral Cortex , L - Language Impairment และ D-Dementia,Delusion เป็นต้น”

เพียงเท่านี้เราก็จะเห็นว่า เทคนิคต่างๆ และความทันสมัย เมื่อเปรียบเทียบระหว่างครูในโรงเรียนกวดวิชา กับครูในระบบนั้นมีความแตกต่างกันมาก การเพิ่มคุณภาพครูจึงเป็นประเด็นที่เราควรให้ความสำคัญไม่แพ้กัน


จะลดจะเพิ่มไม่สำคัญ ถ้าระบบการสอนไม่พัฒนา
เมื่อเรามองดูเวลาเรียนของนักเรียนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก จะพบว่าเวลาเรียนนั้นมีความแตกต่างกันไป
หากเมื่อเทียบชั่วโมงการเรียนแล้วเกาหลีและญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่เรียนหนักที่สุดในโลกเพราะต้องใช้เวลานอกห้องเรียนเพื่อกวดวิชาติวหนังสือเพื่อเตรียมสอบตลอดเวลา เพราะเรียนอย่างเข้มข้น เนื้อหามาก และสอบวัดความรู้ ตลอดเวลาเพื่อกระตุ้นให้เด็กต้องเตรียมตัวอยู่เสมอซึ่งการเรียนลักษณะนี้คล้ายกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ของประเทศไทย

ทั้งนี้ประเด็นการลดจำนวนชั่วโมงเรียนความจริงแล้วเป็นเรื่องที่ได้รับการถกเถียงกันมานานแล้ว โดย ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตร และตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “จะต้องปรับเรื่องการลดชั่วโมงเรียนในชั้นของนักเรียนแต่ระดับชั้นลง เนื่องจากพบว่าเวลาเรียนของเด็กไทยในแต่ละช่วงชั้นต่อปีมากเกินไป เช่น ประถมศึกษาเรียน ประมาณ 1,000 ชั่วโมง มัธยมศึกษาเรียนประมาณ 1,200 ชั่วโมง แต่เมื่อเปรียบเทียบชั่วโมงเรียนของนักเรียนไทยกับประเทศอื่น พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนชั่วโมงเรียนต่อปีสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศในแถบแอฟริกา ซึ่งเรียนประมาณ 1,400 ชั่วโมงต่อปี แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของไทยเด็กกลับต่ำลงเรื่อยๆ ขณะที่ประเทศที่มีผลสัมฤทธิ์สูง อย่าง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มีชั่วโมงเรียนต่ำกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปี โดยเฉพาะฮ่องกง ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาการศึกษาอย่างมาก มีชั่วโมงเรียนต่อปีแค่ 790 ชั่วโมง”

ทั้งนี้ ยูเนสโก ได้กำหนดชั่วโมงเรียนของนักเรียนที่เหมาะสม ไว้ว่าควรอยู่ที่ 800 ชั่วโมงต่อปี ส่วนหนึ่งจึงมองว่าการที่ ศธ.จะปรับลดชั่วโมงเรียนลงเป็นเรื่องที่ดี เด็กบางคนเรียนมากแต่กลับคิดวิเคราะห์ไม่เป็น หรือไม่มีทักษะด้านอื่นเลย แต่คำถามต่อมาคือ แล้วการลดเวลาเรียนนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกที่คันหรือเปล่า?
เพราะเมื่อเพราะเมื่อเข้าไปถึงรายละเอียดของการปรับลดจำนวนชั่วโมงก็ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจนนอกจากคำกล่าวของ นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ที่บอกว่าเบื้องต้นอาจปรับลดชั่วโมงเรียนในบางวิชาลง เช่น วิชาสังคมศึกษา ที่มีการเรียนเรื่องประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองให้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบของกิจกรรมแทน

แต่กับคำถามที่ว่า การลดหรือเพิ่มชั่วโมง จะช่วยให้เด็กไทยมีคุณภาพขึ้นจริงหรือไม่ ถ้าระบบการสอนและสิ่งที่โปรแกรมให้เด็กยังเป็นเช่นเคย เพราะปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่จำนวนชั่วโมง หากอยู่ที่คุณภาพ และทุกอย่างก็คงไม่เปลี่ยนแปลง

เรายังคงจะเห็นภาพเด็กนักเรียนกวดวิชากันอย่างเอาเป็นเอาตายเช่นเคย...

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live



มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...

Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015

รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"



มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754





กำลังโหลดความคิดเห็น