xs
xsm
sm
md
lg

ตีแผ่-กล้องวงจรปิด กทม. คุณภาพระดับโลก แต่ภาพระดับมือถือตกรุ่น!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? จุดที่กล้องวงจรปิดร้านโชว์ห่วย ชัดกว่ากล้องวงจรปิด กทม. และความคมชัดนั้นมีให้ดูออกเพียงว่านี่คือคน ไม่ใช่ลิงกัง?  ถ้อยคำประชดเสียดสีมากมายภายหลังเหตุการณ์ระเบิดราชประสงค์ ภาพจากกล้องวงจรปิดกลายเป็นประเด็นที่สังคมพูดถึง ทั้งแง่ของความคมชัดของกล้องที่ดูจะสวนทางกับราคา รวมถึงเรื่องที่ว่าในจำนวนนั้นมีกล้องที่ใช้งานได้จริงๆ สักกี่ตัว?

กล้องระดับโลก แต่ไม่ชัดเพราะมุมกล้อง?

“ทุกครั้งที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายๆ ทุกครั้งที่จะไปขอใช้บริการหลักฐานจากกล้องวงจรปิดที่ติดโดยกทม. เห็นแล้วอนาถครับ...ไม่ติดก็เสีย ที่ได้ภาพก็ไม่ชัด...ราคากล้องก็แพงกว่าชาวบ้านชาวช่องเขาซื้อกัน...แต่คุณภาพมันห่วย กล้องล่ะ3-4หมื่น คุณภาพไหงไม่ต่างจากตัวล่ะ3-4พัน... เห็นสนข.ต่างประเทศเอารูปจากกล้องวงจรปิดเหตุระเบิดที่ราชประสงค์ไปเปิดแล้ว บอกตรงอายว่ะ... รู้เลยงานนี้ อิ่มหมีพีมันกันแน่ๆ ลองมีใครตามตรวจสอบสเปกและราคาต่างดูสิ ผมว่าเปรม...” 

“เขาก็บอกแล้วว่ามันคือกล้องวงจรปิด ที่ปิดเอาไว้ไม่ได้ต่อไฟ ถ้าต่อไฟก็เรียกว่ากล้องวงจรเปิด แต่นี่มันคือกล้องวงจรปิด ก็ต้องปิดจริงๆ ปิดสนิท ให้มันสมชื่อหน่อย อิอิ”

เหล่านี้คือข้อความที่ผู้คนออกมาระบายอารมณ์ผ่านเว็บบอร์ด pantip เกี่ยวกับประเด็นกล้องวงจรปิดของกทม. ล่าสุดทาง กทม. ได้ให้นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง ได้ออกมาชี้แจง หลัง ผบ.ตร. กล่าวว่ากล้อง CCTV 20 ตัว ใช้ได้แค่ 5 ตัว แถมภาพก็ยังกระโดดไปกระโดดมาอีกด้วย โดยชี้แจงว่ากล้องทุกตัวมีคุณภาพติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่ที่ภาพไม่ชัด เพราะขึ้นอยู่กับระยะและมุมที่ติดตั้ง หากดูสวนทางกับที่ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เจาะข่าวเด่น” ว่า "กล้องทั้งหมดที่จับภาพได้นั้น ไม่ใช่กล้องของทางกทม.เลย ภาพทั้งหมดที่เห็นนั้นเป็นกล้องของทางห้างสรรพสินค้าอัมรินทร์พลาซ่า และทางโรงแรมไฮแอท เอราวัณทั้งหมดเลย"

"ทางกทม. บอกว่าส่งภาพมาให้ถึง 48 ครั้งแล้ว"พล.ต.ท.ประวุฒิ ได้กล่าวยืนยันว่า"ภาพทั้งหมดนั้นเป็นกล้องของทางอัมรินทร์ ผมไปดูที่ศูนย์กล้องของอัมรินทร์ด้วยตนเอง ซึ่งความจริงแล้วกล้องทั้งหมดนั้นควรจะรองรับซึ่งกันและกัน ในจุดเชื่อมต่อทั้งหมด"
“อย่างที่คนร้ายลงที่ลุมพินีปาร์ค ตอนประมาณ 18.57 น. แต่หลังจากนั้นเราไม่เจออะไรเลย กล้องทุกตัวไม่เห็นเขาเลยว่าเขาจะไปไหนได้อย่างไร ซึ่งถ้าเรามีกล้องพอ เราจะสามารถเห็นความเคลื่อนไหวได้พอสมควร ถ้า กทม. บอกว่ามีภาพ ผมขอภาพหลังจาก 18.55-18.57 น. ซึ่งเรามีเวลาว่าเขาลงจากวินมอเตอร์ไซค์ไปลงตรงนั้น หลังจากนั้นเราไม่เห็นว่าเขาไปไหนเลย ถ้า กทม.มีภาพ และกล้องไม่เสียก็ขอดูหน่อย เพราะเราก็อยากจะเห็นเหมือนกันว่า หลังจากที่คนร้ายลงตรงนั้น แล้วเขาเดินไปไหนต่อ ตอนนี้เหลือจิ๊กซอว์ตรงนี้ว่าเขากลับบ้านยังไง "

ทั้งนี้ นายไตรภพ ขันตยาภรณ์ ผอ.กองพัฒนาระบบจราจร สำนักการจราจรและขนส่ง กทม.(สจส.กทม.)ที่กำกับดูแลงานกล้องซีซีทีวี กล่าวว่า ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ากล้องซีซีทีวีของกรุงเทพมหานครไม่ชัดเมื่อเทียบกล้องซีซีทีวีของตำรวจที่สามารถจับภาพเลขทะเบียนของรถที่กระทำผิดได้นั้น ขอชี้แจงว่า เป็นเพราะวัตถุประสงค์ของกล้องนั้นต่างกัน

“กล้องซีซีทีวีของตำรวจเป็นกล้องที่บันทึกภาพเจาะจงเป็นช็อตๆ ไป เพื่อจะได้ระบุผู้กระทำผิดอย่างชัดเจน ไม่เหมือนกับกล้องซีซีทีวีของกรุงเทพมหานครที่เป็นระบบมุมมองกว้างๆ เพื่อเป็นลักษณะเพื่อตรวจตราและติดตามพฤติกรรมที่เกิดขึ้นมากกว่าการเจาะจงบุคคลคนนั้น “อย่างกล้องของตำรวจที่ว่านั้นเป็นกล้องที่มีความละเอียดสูงมาก ตกราคาประมาณตัวละแสนกว่าบาท ขณะที่กล้องซีซีทีวีของกรุงเทพมหานครที่ใช้อยู่ตัวละไม่ถึงสี่หมื่นบาทเท่านั้น เพราะลักษณะงานคนละแบบกัน แต่หากต้องการใช้แบบเฉพาะเจาะจงจริงๆ อย่างวันนี้ต้องการจับภาพให้ชัดเจนตรงจุดไหน ก็สามารถทำได้โดยเปลี่ยนระบบที่เป็นมุมกว้างทั่วไปมาเป็นระบบโฟกัสเฉพาะจุดได้”


คุณภาพของกล้อง-ข้อมูลที่ กทม. บอกไม่หมด

“ไม่แปลกใจเลยทำไมเมื่อตอนที่มีกระทู้เกี่ยวกับรถมอเตอร์ไซค์หาย ถึงได้ขอดูกล้องวงจรปิดยากเย็นนัก
สาเหตุหลักคือมันดูได้แค่ 7วันย้อนหลังเท่านั้นและก็มันเสียหรือเปล่าก็ไม่รู้” (ข้อความจาก pantip)

เมื่อมองย้อนกลับไปกรุงเทพมหานครได้เริ่มมีการติดตั้งกล้องซีซีทีวีมาตั้งแต่ปีพศ. 2550 ในระยะแรก ช่วงปี 2550-54 ความละเอียดของกล้องอยู่ที่ 3 แสนพิกเซล โดย กทม.จัดซื้อมา 2,500 ตัว ด้วยราคา 3 หมื่นบาทต่อตัว มาติดตั้งเฉพาะในพื้นที่ชั้นใน ต่อมาในช่วงปี พศ. 2555-56 ได้เปิดประมูลจัดซื้อกล้องซีซีทีวีประมาณ 1 หมื่นตัว มีความละเอียดถึง 1 ล้านพิกเซล จัดซื้อมาในราคาราวตัวละ 2 หมื่นบาท
ต่อมาในช่วงปี 57-58 ได้ประมูลจัดซื้อกล้องซีซีทีวีอีกกว่าหมื่นตัว มีความละเอียดสูงถึง 5 ล้านพิกเซล มาติดตั้งตามทางแยกใหญ่ๆ ราคาอยู่ที่ 3 หมื่นบาทต่อตัว ไม่รวมกับกล้องที่เรียกว่า IR Bullet ที่เป็นกล้องอินฟาเรดที่สามารถมองเห็นได้ในเวลากลางคืน ส่วนที่เหลืออีกราว 2-3 หมื่นตัว กทม. จัดซื้อมาในราคาประมาณ 8 พันบาทต่อตัว ติดตั้งตามตรอกซอย และชุมชนต่างๆ โดยเป็นกล้องอนาล็อก (Analog) ที่มีความละเอียด 5-6แสนพิกเซลเท่านั้น

"ตอนนี้กรุงเทพฯ เรามีกล้องซีซีทีวีอยู่ประมาณ 5.7 หมื่นตัว ถามว่าประสิทธิภาพเหมาะสมกับราคาหรือไม่ ก็ต้องขอตอบว่าเราได้กำหนดลักษณะเป็นแบบนี้ตามสภาพงานของเรา และคุ้มกับราคาที่จ่ายไปแน่นอน" ผอ.กองพัฒนาระบบจราจร เปิดเผยข้อมูล แต่กับคำถามที่ว่า แล้วกล้องที่มีอยู่นั้นใช้งานได้สักเท่าไร เพราะยังไม่มีใครตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง

นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า ปัจจุบัน กทม. ดำเนินการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด CCTV ไปแล้ว 58,614 กล้อง สามารถใช้งานได้ จำนวน 47,063 กล้อง ส่วนที่เหลือกำลังอยู่ในขั้นตอนเชื่อมสัญญาณและรับมอบ โดยภายในปีนี้จะดำเนินการติดตั้งเพิ่มอีก จำนวน 11,546 ตัว

โดยปีที่ผ่านมามีสถิติของดูภาพจากกล้องซีซีทีวีเกือบ 7,000 ครั้ง! โดยเปิดให้ประชาชนขอดูภาพและสำเนาบันทึกภาพได้ฟรีที่ศาลาว่าการ กทม. โดยเจ้าหน้าที่จะจดข้อมูลส่วนตัว บัตรประจำตัวประชาชน และหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ของผู้ที่ตรวจสอบภาพเหตุการณ์ หากผู้เสียหายหรือเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต้องการสำเนาบันทึกภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด CCTV จะต้องมีหนังสือเป็นทางการจากสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่เกิดเหตุ โดยในหนังสือจะต้องระบุเหตุการณ์ สถานที่ วันเวลาที่เกิดเหตุ หมายเลขกล้องบริเวณจุดเกิดเหตุ และรายชื่อบุคคลที่จะมารับหลักฐานนั้น พร้อมทั้งเตรียมแผ่น CD/DVD มาบันทึกภาพ จำนวน 2 ชุด ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ยังมีหลายสิ่งที่ประชาชนยังไม่รู้... จากการสอบถามไปยังแหล่งข่าววงในพบว่า กล้องวงจรปิดของ กทม. นั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท และกล้องทุกตัวจะมีรหัสประจำกล้องระบุไว้ สำหรับประเภทแรก จะเป็นกล้องที่มีการบันทึกเหตุการณ์ สามารถเรียกดูย้อนหลังได้ประมาณ7-15 วัน ใช้รหัส TF2-xx-SA-zz (กล้องรหัส SA) ส่วนใหญ่จะติดตั้งอยู่ตามสี่แยกใหญ่ๆ กลางเมือง หรือพื้นที่เปลี่ยวและจุดเสี่ยง ที่มักเกิดเหตุขึ้นบ่อยๆ หากต้องการขอดูภาพสามารถขอดูภาพย้อนหลังได้ภายใน 15 วัน ที่ศูนย์ CCTV ศาลาว่าการ กทม.

ส่วนประเภทที่สอง เป็นกล้องที่มีจำนวนมากกว่ากล้องประเภทแรก จะไม่มีการบันทึกภาพเก็บไว้ ไม่สามารถเรียกดูภาพย้อนหลังได้ไม่ว่าในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่มีการบันทึกเอาไว้มีไว้สำหรับตรวจตราการจราจรเท่านั้น ใช้รหัส TF2-xx-Vyy-zz (กล้องรหัส V) โดยติดตั้งในพื้นที่ทั่วไป และหากประชาชนทั่วไปต้องการขอดูภาพจากกล้องวงจรปิด จะต้องจำรหัสกล้องให้ได้ เพราะที่ศูนย์ควบคุม ในระบบอาจจะระบุพื้นที่ไม่ตรงกับความจริง เช่น ชื่อใน Server อาจเขียนว่า “ถนนรามคำแหง มุ่งหน้าแยกลำสาลี” แต่ภาพที่ปรากฏบนจอกลับเป็น “ถนนรามคำแหง มุ่งหน้าแยกคลองตัน” โดยจุดสังเกตจะอยู่บริเวณโคนเสาที่ติดตั้งกล้อง CCTV ที่จะมีป้ายรหัสติดไว้ แต่ถ้าเป็ํนกล้องรหัส V ก็ไม่ต้องไปเสียเวลาตรวจสอบเลย เพราะจะไม่มีการบันทึกภาพไว้ !


ปากคำจากคนใน-กล้องแพง แต่คุณภาพต่ำ
“ถ้าไม่เชื่อลองดูถ้ามีเหตุการณ์ ในกทม ก็ได้ ดูภาพคนร้ายก่อเหตุ หรืออุบัติเหตุไรก็ได้ ตามข่าวดูแทบไม่ออก
ดูว่าจะเป็นไง กล้องไม่มี หรือ กล้องเสีย หรือมันต้องเป็นเฮีย อะไรซักอย่างนี่แหละ ส่วนใหญ่ติดตามบ้านประชาชนทั้งน้าน ที่ชัด"(ข้อความจาก pantip)

เกี่ยวกับเรื่องราคาและคุณภาพที่ดูจะสวนทางกัน ได้มีผู้ที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทกล้องวงจรปิดที่รับติดตั้งให้ กทม. ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลไว้ “ผมเคยอยู่ในบริษัทที่รับผิดชอบงานติดตั้งกล้องวงจรปิด 20000 ตัวของกทม.บริษัทหนึ่ง ขออนุญาตไม่บอกชื่อบริษัทนะครับ เพราะสิ่งที่ผมกำลังจะเล่า บอกได้เลยว่า ไม่มีหลักฐาน แต่ประสบมากับตัวเองล้วนๆ”

“กล้องที่นำมาใช้ในงานนี้ แท้จริงแล้วเป็นกล้อง HD 5 Megapixel เชียวนะครับ ราคามันเลยสูงมาก กล้องส่วนใหญ่จะเป็นกล้อง IP เดินสาย Cat5e แล้วแปลงเป็น Fiber Optic ส่งเข้าที่แต่ละสำนักงานเขต ซึ่งในแต่ละสำนักงานเขตก็จะมีห้อง Control Room สำหรับ Monitor ดูได้ แต่จะไม่เต็มสูบแบบส่วนกลาง กล้องอีกส่วนนึงจะเป็น Stand Alone ซึ่งก็จะติดตั้ง DVR แล้วก็บันทึกภาพไว้ในนั้นอ่ะแหละครับ ขนาด HDD ผมไม่แน่ใจว่าเท่าไหร่ แต่จะพอบันทึกภาพได้ตามระยะเวลาของที่ TOR กำหนดไว้ (ลืมแล้วเหมือนกัน) ส่วนเวลาจะนำภาพออกมาใช้ เข้าใจว่าต้องลงพื้นที่ไปดึงภาพที่ตู้เลยล่ะมั้งครับ(เข้าได้ผ่าน IP Address) ส่วนนี้ไม่แน่ใจนะว่ามีเยอะมั้ย แล้วราคาเป็นยังไง แต่กรุณาอย่าเอา DVR ที่ใช้ในงานนี้ไปเทียบกับของกระโหลกกะลาตัวละ 5-6 พันตามท้องตลาดเด็ดขาด เพราะตามท้องตลาด ความสามารถบันทึกอย่างเก่งก็แค่ 4CIF,D1 ราคาก็พุ่งไปเป็นหมื่นแล้ว เพราะตัวนี้ บันทึกเป็น HD ได้ล่ะครับ (แต่เท่าที่ทราบ ราคาก็ยังสูงโดดเกินไปอยู่ดี ถ้าอยากรู้ว่ามันราคาสูงขนาดนั้นเลยมั้ย ก็ต้องไปดูเอาเองล่ะครับ ตามถึงแหล่งผลิตแล้วลองขอใบเสนอราคามาดูเล่นๆก็ได้ แล้วจะรู้เอง... ถ้าคุณรู้ราคาจริงแล้วคุณจะตกใจ ว่าทำไมมันกล้าเซ็นต์กันเข้าไปได้ยังไง ของราคาขนาดนั้น)

ผมบอกสั้นๆ ละกัน ว่า บริษัทที่นำกล้องตัวนี้เข้ามาขายตอนนั้น ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อขายงานนี้ ใครเป็นเจ้าของก็ไม่รู้ รู้แต่ว่า ทุกเจ้าที่จะเข้าประกวดราคางานนี้ ถูกบีบให้ใช้กล้องรุ่นนี้ ยี่ห้อนี้ในการยื่นซอง ทั้งๆที่ ยังมีกล้องที่ดีกว่ามันหลายเท่านัก และราคาถูกกว่า แต่ตามสเป็คมันดูดี เพราะมีถึง 5 MP แต่ถามว่าห่วยมั้ย บอกเลยว่าห่วยสุดๆ อย่างกับว่าเอาของตกรุ่นของยี่ห้อนั้นมาขายด้วยซ้ำ บอกเลย ถ้าใครอยากจะรื้อเรื่องนี้มาดู แนะนำให้ไปตรวจสอบตรงเรื่องตัวกล้องยี่ห้อ S*****t ก่อนเลย ว่าบริษัทไหนที่นำมาขายให้!”


ในเมืองใหญ่-จุดเสี่ยง กล้องต้องชัดกว่านี้

จากการสอบถามไปยัง ผศ.พ.ต.ท.ดร. กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต เกี่ยวกับประเด็นนี้ได้ให้ความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า เรื่องของเทคโนโลยีที่ทันสมัยตามมาตรฐานสากลก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังเช่นในเมืองใหญ่ๆ ของโลกจะมีการลงทุนในเรื่องเทคโนโลยีในการป้องกันการเกิดเหตุร้ายที่สูงกว่าในไทยมาก

“กล้องที่ กทม.มียังไม่มาก หากเทียบกับเมืองใหญ่ๆในโลก อย่างหลายๆ เมืองในยุโรป หรืออเมริกาจะใช้กล้องพิเศษชนิดที่สามารถซูมระยะใกล้ได้ โดยยังคงความคมชัดไว้ อย่างเรื่องที่ พูดกันว่าหากใช้กล้องความคมชัดสูง จะทำให้เปลืองพื้นที่จัดเก็บ และงบประมาณไม่พอ เราไม่จำเป็นต้องติดทุกที่ แต่ในย่านสำคัญเราควรจะมีกล้องคุณภาพสูงเหล่านี้ไว้” “เราไม่จำเป็นต้องจับภาพตลอด 30 เฟรมต่อวินาทีแค่ปรับ 8-16 ภาพ ก็เพียงพอให้รู้แล้วว่า ใน 1วินาที เกิดอะไรขึ้นบ้าง ทำให้ประหยัดพื้นที่ไปได้เกินครึ่ง อีกเรื่องคือการบันทึกของ CCTV กับหนังนั้นมีความต่างกันในรายละเอียด การบันทึกแบบ CCTV ใช้วีธีบีบอัดข้อมูลให้เล็กลง ทำให้ประหยัดพื้นที่มากกว่า นอกจากนี้ CCTV ยังมีระบบเซ็นเซอร์แบบโมชั่นเซ็นเซอร์ คือจะทำการบันทึกภาพก็ต่อเมื่อมีการเคลื่อนไหวของภาพ ส่วนภาพที่มีความเคลื่อนไหวไม่มาก ก็จะใช้พื้นที่ในการบันทึกน้อยลงมาก”

อย่างในย่านราชประสงค์ที่กลายเป็นเสมือนแลนด์มาร์กของการก่อการร้ายในทุกวันนี้ เมื่อมองถึงความเป็นศูนย์กลางธุรกิจ ย่านใจกลางเมืองหลวง ศูนย์รวมของเทวสถานศักดิ์สิทธิ์มากมาย และยังเป็นสถานที่ตั้งของห้างยักษ์ใหญ่มากมายทั้งเซ็นทรัลเวิลด์ อิเซตัน เกษรพลาซ่า ทั้งหมดนี้จึงทำให้ย่านราชประสงค์กลายเป็นย่านที่คนร้ายมุ่งหวังผลในการก่อการร้ายทั้งทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ความน่าเชื่อถือของรัฐบาล รวมถึงกลายเป็นพื้นที่สัญลักษณ์ทางการเมืองแทนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่หมดยุคสมัยไป และหากเรามองย้อนกลับไป ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สามที่เกิดเหตุในย่านนี้และเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุด การลงทุนติดตั้งกล้องวงจรปิดคุณภาพสูงในจุดเหล่านี้จึงคงเป็นสิ่งที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง

“อย่างมีคนถือถุงอะไรในมือ หากมีกล้องคุณภาพสูงจะสามารถซูมได้ว่าถุงนั้นเป็นอะไร แล้วเขาจะมีเจ้าหน้าที่คอยนั่งเฝ้ากล้องเลย ผลัดละ 10 คน ผลัดละ 8 ชั่วโมง 3 ผลัด ในย่านศูนย์การค้า ย่านธุรกิจ หน่วยงานราชการ อย่างย่านศาลพระพรหมบ้านเรา ก็ควรจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตรา หากมีคนน่าสงสัยถือถุงอะไรมาก็เข้าไปตรวจสอบ เพราะตามหลักวิชาการแล้วการป้องกันมีความสำคัญกว่าการติดตามหลังเกิดเหตุมาก”

บางทีกรุงเทพฯ อาจถึงคราวต้องเปลี่ยนสโลแกนจาก “ทั้งชีวิตเราดูแล” เพราะอาจมีหลายคนถามว่า นั่นสิ นอกจากเอาขยะหน้าบ้านไปทิ้งให้แล้ว.. ดูแลอะไร?



บทเรียนจากราชประสงค์ ต้องมีอีกกี่ศพ เราจึงจะจดจำ!
บทเรียนจากราชประสงค์ ต้องมีอีกกี่ศพ เราจึงจะจดจำ!
กรุงเทพฯ ชีวิตดีดีที่ลงตัว-ข้อความขนาดใหญ่โดดเด่นอยู่เหนือรางรถไฟฟ้ากลางแยกราชประสงค์ ย่านศูนย์กลางแห่งความเป็นเมืองสมัยใหม่ ศาลพระพรหมเอราวัณก่อนค่ำวันที่ 17 สิงหาคม ยังคงมากมายไปด้วยผู้คนทั้งไทยและต่างชาติที่พากันมากราบไหว้ขอพร อาจคล้ายเช่นวันทั่วๆ ไป หากไม่มีใครรู้-อีกไม่ถึงชั่วโมงข้างหน้าจะเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น ณ ที่แห่งนี้ ! ไม่ใช่ครั้งแรกกับเหตุการณ์วางระเบิดในกรุงเทพฯ หากเราควรจะทำอย่างไรให้การระเบิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย? เพราะดูเหมือนว่าเมื่อเหตุการณ์ผ่านไป ความสูญเสียทั้งหมดมักจะรางเลือนไปโดยไม่ทิ้งบทเรียนใดๆ ให้กับเรา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีกครั้ง...
กำลังโหลดความคิดเห็น