กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว-ข้อความขนาดใหญ่โดดเด่นเหนือรางรถไฟฟ้ากลางแยกราชประสงค์ ย่านศูนย์กลางแห่งความเป็นเมืองสมัยใหม่ ศาลพระพรหมเอราวัณก่อนค่ำวันที่ 17 สิงหาคม ยังคงมากมายไปด้วยผู้คนทั้งไทยและต่างชาติที่พากันมากราบไหว้ขอพร อาจคล้ายเช่นวันทั่วๆ ไป หากไม่มีใครรู้-อีกไม่ถึงชั่วโมงข้างหน้าจะเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น ณ ที่แห่งนี้ !
ไม่ใช่ครั้งแรกกับเหตุการณ์วางระเบิดในกรุงเทพฯ หากเราควรจะทำอย่างไรให้การระเบิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย? เพราะดูเหมือนว่าเมื่อเหตุการณ์ผ่านไป ความสูญเสียทั้งหมดมักจะรางเลือนไปโดยไม่ทิ้งบทเรียนใดๆ ให้กับเรา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีกครั้ง...
ทุกคนต้องมีส่วนร่วม อย่ารอให้มีศพต่อไป
ประเด็นเรื่องการป้องกันก่อนเกิดเหตุดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญน้อยเกินไป จากการสัมภาษณ์ผศ.พ.ต.ท.ดร. กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
“สิ่งหนึ่งที่เรายังให้ความสำคัญน้อยไปคือการป้องกันก่อนเกิดเหตุ ยกตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น อเมริกา อังกฤษ หรือเยอรมัน อย่างที่อเมริกา เรื่องแรกที่เขาเน้นให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือความมีส่วนร่วมของประชาชน เราจะเห็นว่าประชาชนที่นั่นจะมีการร่วมมือกับภาครัฐ และหน่วยงานความมั่นคง ในการแจ้งเบาะแสบุคคลต้องสงสัยหรือวัตถุต้องสงสัย ให้หน่วยงานความมั่นคงทราบ ตัวอย่างเช่นไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีคนขับรถจะไปทำคาร์บอมบ์ ที่ไทม์สแควร์ (Time Square) แต่ปรากฏว่าคนที่พบไม่ใช่ตำรวจ แต่เป็นประชาชนที่ใช้ถนนพบแล้วแจ้งมา ว่าพบรถที่น่าสงสัยจอดติดเครื่องอยู่โดยไม่มีคนอยู่ในรถ แต่มีควันออกมาจากด้านหลัง พอได้รับแจ้งตำรวจมาตรวจสอบก็พบว่าเป็นระเบิดจริงๆ ที่บริเวณไทม์สแควร์ จึงยับยั้งไว้ได้ก่อนเกิดการระเบิด ทำให้ไม่เกิดโศกนาฏกรรมและไม่มีคนตายในครั้งนั้น”
อย่างไรก็ตามควรมีการให้ความรู้กับประชาชนด้วยเช่นกัน “การให้ความรู้กับประชาชนในการมีส่วนร่วมป้องกันเป็นสิ่งสำคัญ เราไม่ควรให้ประชาชนคิดว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อย่างเดียว เพราะอย่างไรก็คงยังไม่เท่ากับสายตาของประชาชน อย่างเยอรมนี เขาบอกเลยว่า มากกว่า 90 % ที่จับกุมคนร้ายได้ เพราะได้รับการแจ้งเบาะแสจากประชาชน อย่างที่บ้านเราเมื่อหลายปีก่อนที่เกิดระเบิดที่ซอยปรีดี ที่ชาวต่างชาติเข้ามาจะลอบสังหารผู้นำของชาติอื่น แต่เกิดเหตุระเบิดขึ้นมาก่อน กรณีนี้ ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการแจ้ง และตั้งข้อสงสัยว่าทำไมมาเช่าบ้านอยู่วันๆ ไม่ทำอะไร ซื้อข้าวแล้วก็เข้าบ้าน หากมีคนเห็นก็แจ้งไป เหตุก็จะไม่เกิด ดีกว่าวัวหายแล้วล้อมคอก คือเราต้องมีป้องกันก่อนที่จะมีการสูญเสีย ทั้งในแง่ทรัพย์สิน และชีวิต เพราะชีวิตเมื่อสูญเสียแล้วเราไม่สามารถเรียกคืนได้”
ในจุดสำคัญ กล้องวงจรปิดควรมีคุณภาพดีกว่านี้?
“เรื่องของการเฝ้าระวังเหตุ อย่าง กทม. ที่กำลังจะมีโครงการติดกล้อง ที่บอกจะติดอีก 20,000 ตัว ผมก็ยังมองว่าไม่มากหากเปรียบกับเมืองใหญ่ๆ อย่างใน นิวยอร์ค ลอนดอน หรือหลายๆ เมืองในยุโรป ที่นั่นจะมีกล้องพิเศษชนิดที่สามารถซูมระยะใกล้ได้ โดยยังคงความคมชัดไว้ เราไม่จำเป็นต้องติดทุกที่ แต่ในย่านสำคัญเราควรจะมีกล้องคุณภาพสูงเหล่านี้ไว้”
ดังเช่นในย่านราชประสงค์ ที่กลายเป็นเสมือนแลนด์มาร์กของการก่อการร้ายในทุกวันนี้ เมื่อมองถึงความเป็นศูนย์กลางธุรกิจ ย่านใจกลางเมืองหลวง ศูนย์รวมของเทวสถานศักดิ์สิทธิ์มากมาย และยังเป็นสถานที่ตั้งของห้างยักษ์ใหญ่มากมายทั้งเซ็นทรัลเวิร์ล อิเซตัน เกษรพลาซ่า ทั้งหมดนี้จึงทำให้ย่านราชประสงค์กลายเป็นย่านที่คนร้ายมุ่งหวังผลในการก่อการร้ายทั้งทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ความน่าเชื่อถือของรัฐบาล รวมถึงกลายเป็นพื้นที่สัญลักษณ์ทางการเมืองแทนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่หมดยุคสมัยไป และหากเรามองย้อนกลับไป ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สามที่เกิดเหตุในย่านนี้และเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุด การลงทุนติดตั้งกล้องวงจรปิดคุณภาพสูงในจุดเหล่านี้จึงคงเป็นสิ่งที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง
“อย่างมีคนถือถุงอะไรในมือ หากมีกล้องคุณภาพสูงจะสามารถซูมได้ว่าถุงนั้นเป็นอะไร แล้วเขาจะมีเจ้าหน้าที่คอยนั่งเฝ้ากล้องเลย ผลัดละ 10 คน ผลัดละ 8 ชั่วโมง 3 ผลัด ในย่านศูนย์การค้า ย่านธุรกิจ หน่วยงานราชการ อย่างย่านศาลท้าวมหาพรหมบ้านเรา ก็ควรจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตรา หากมีคนน่าสงสัยถือถุงอะไรมาก็เข้าไปตรวจสอบ เพราะตามหลักวิชาการแล้ว ถือว่าการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมีค่ามากกว่าการดำเนินการจับกุมภายหลัง”
เทคโนโลยีต้องมีมาตรฐานสากล
เรื่องของเทคโนโลยีที่ทันสมัยตามมาตรฐานสากลก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังเช่นในเมืองใหญ่ๆ ของโลกจะมีการลงทุนในเรื่องเทคโนโลยีในการป้องกันการเกิดเหตุร้ายที่สูงกว่าในไทยมาก “ในต่างประเทศหรือตามเมืองใหญ่ๆ เจ้าหน้าที่เขาจะมีเครื่องสแกนลายนิ้วมืออัตโนมัติ ลักษณะรูปร่างคล้ายๆ กับโทรศัพท์ เมื่อพบบุคคลต้องสงสัยเจ้าหน้าที่ก็สามารถเข้าไปขอตรวจสอบได้เลย แล้วพอสแกนลายนิ้วมือก็จะมีประวัติของบุคคลนั้นขึ้นมาเลย หากคนคนนั้นเคยมีประวิติอาชญากรรม ประการต่อมาเรื่องของรถตำรวจสายตรวจ ก็จะมีเครื่องสแกนอัตโนมัติ โดยจะรู้ทันทีเลยว่า รถคันไหนขาดต่อทะเบียน รถคันไหนผิดกฎหมาย หรือใช้ทะเบียนปลอม จะขึ้นมาโชว์ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ในรถทันทีโดยอัตโนมัติ”
“หรืออย่างโปรแกรมสแกนใบหน้าอัตโนมัติ ก็เช่นกันที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เราควรมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีให้มากขึ้นกว่านี้ กรณีหากเรามีฐานเชื่อมโยงข้อมูลกับตำรวจสากล หรือ FBI เช่นหากพบบุคคลต้องสงสัยเข้ามาภายในโรงแรม ก็จะแจ้งตำรวจได้แล้วว่ามีบุคคลนี้เข้ามา อย่างไรก็ตามแค่หน่วยงานตำรวจอย่างเดียวก็คงทำไม่ได้เพราะงบประมาณไม่พอ รัฐบาลต้องเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน รวมถึงเอกชนก็ควรจะลงทุนในย่านธุรกิจของตนเองด้วยเช่นกัน ทุกคนควรจะร่วมมือกันให้มากกว่านี้ เพราะเมื่อเกิดการสูญเสียมันไม่คุ้มกับสิ่งที่เกิดแน่นอน” ผศ.พ.ต.ท.ดร. กฤษณพงค์ พูตระกูล กล่าวทิ้งท้าย
ทุกๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมาล้วนให้บทเรียน หากเราควรจะทำอย่างไรให้เหตุการณ์ระเบิดครั้งนี้ทำให้ทุกคนตื่นตัวและร่วมกันรับมือป้องกันมากขึ้น แน่นอนว่าการสวดมนต์ภาวนาเป็นสิ่งดี แต่คงจะดีกว่าถ้าเราเตรียมพร้อมป้องกันให้ดีที่สุดก่อนจะเกิดความสูญเสียครั้งต่อไป?
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการLive
มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...
Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754