xs
xsm
sm
md
lg

9 สิทธิที่คุณควรรู้ เมื่อถูกครอบครัวใช้ความรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก www.mindstationblog.com
เป็นคลิปที่สร้างความสะเทือนใจไปทั่วโลกออนไลน์ สำหรับคลิปพ่อโหด ทำร้ายลูกชายด้วยการใช้เท้าเตะหน้าถึง 12 ครั้ง ก่อนที่จะตบ และจับยกขึ้นบีบคอแล้วทิ้งลงกับพื้นระหว่างที่ตรวจการบ้านลูกชาย แต่ลูกไม่สามารถตอบคำถามวิชาเลขได้ กลายเป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

แม้จะถูกรวบตัว และสารภาพที่ทำลงไปเพราะโมโห ประกอบกับความเครียด และมึนเมา แต่ก็สะท้อนถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้เป็นอย่างดี ซึ่งไม่เพียงแต่กรณีนี้ ปัญหาการใช้ความรุนแรงยังคงมีอยู่ทั่วไปในทุกซอกมุมของสังคมไทย และยังคงเป็นปัญหาที่ใครหลายคนไม่อยากเข้าไปยุ่ง


ต่อไปนี้คือ 9 สิทธิควรรู้เมื่อถูกครอบครัวใช้ความรุนแรง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550


1. สิทธิในการได้รับการบริการตรวจรักษา และให้คำปรึกษา


2. สิทธิในการร้องทุกข์ดำเนินคดีเพื่อดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด ฐานกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว


3. สิทธิในการร้องขอรับการคุ้มครองสวัสดิภาพ


4. สิทธิในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว


5. สิทธิในการมีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่ตนร้องขอร่วมอยู่ด้วยในการสอบปากคำเพื่อให้คำปรึกษา


6. สิทธิในการขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์เบื้องต้นเป็นการชั่วคราวให้ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว


7. สิทธิในการยอมความ


8. สิทธิได้รับความคุ้มครองไม่ให้ผู้ใดลงพิมพ์โฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วยวิธีใดๆ (ข้อนี้สำคัญมาก เพราะเรามักพบว่า สื่อบางกลุ่มมักจะไม่ให้ความสำคัญในจุดนี้ โดยมีการเปิดเผยชื่อนามสกุลของผู้เสียหาย และผู้กระทำความผิดอย่างโจ๋งครึ่ม ซึ่งตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวได้ระบุไว้เป็นข้อห้ามอย่างชัดเจน ดังนั้น หากครอบครัวใดมีปัญหาถูกกระทำด้วยความรุนแรง และพบว่าสื่อมีการเปิดเผยชื่อของบุคคลในครอบครัว ทั้งผู้กระทำ หรือผู้ถูกกระทำ ทางครอบครัวสามารถฟ้องร้องเอาผิดกับสื่อนั้นๆ ได้นั่นเอง)


9. สิทธิในการยื่นอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือศาลให้ทบทวนคำสั่ง กำหนดมาตรการ หรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ทั้งหมด หรือแต่บางส่วน


ด้านการแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้ความรุนแรงในสังคมอย่างยั่งยืน นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ชื่อดัง ได้ให้แนวทางเอาไว้ตอนหนึ่งในบทความ "เข้มแข็ง...แต่ไม่แข็งกร้าว" ว่า ต้องเริ่มตั้งแต่ยังเป็นวัยเด็ก เริ่มจำความได้ หรือเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ โดยเน้นเรื่องการสั่งสอน การฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเอง การฝึกวินัยลูก รวมถึงการฝึกให้ลูกรู้จักผิดชอบชั่วดี นั่นคือเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี


ส่วนการแก้ไขอีกหนึ่งวิธีก็คือ การร่วมมือป้องกัน หมายถึง ร่วมมือกันของคนในสังคม เช่น การไม่ยอมรับในพฤติกรรมการใช้ความก้าวร้าวรุนแรงไม่ว่าจะผ่านทางด้านใด ร่วมมือทั้งภาครัฐ-เอกชนในการต่อต้านหรือควบคุมสารเสพติดต่างๆ ที่เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดการใช้ความรุนแรงได้ รวมถึงสื่อซึ่งมีอิทธิพลนำไปสู่การเลียนแบบและใช้ความรุนแรงได้เช่นเดียวกัน


ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live




รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น