เพียงชั่วข้ามคืนหลังภาพและคลิปเสี้ยววินาทีชีวิตของ “แตงโม - ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์” ถูกเผยแพร่ผ่าน IG ของเพื่อนสนิท จากปมเหตุความรักกับนักร้อง - นักแสดงหนุ่ม “โตโน่ ภาคิน” สู่โศกนาฏกรรมที่เกือบจะพรากเอาชีวิตของดาราสาว ส่งแรงกระทบกระเทือนต่อสังคมวงกว้าง กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งแต่ภาวะซึมเศร้าของดาราสาว การวางตัวต่อการเลิกราของคนทั้งสอง จนถึงจริยธรรมในการนำเสนอข่าวบันเทิง สังคมได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้บ้าง
คนบันเทิง...ข่าวบันเทิง
ในฐานะดาราแน่นอนว่าแตงโม - ภัทรธิดา ย่อมเป็นที่จับจ้องสนใจของสังคม เหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นถือเป็นข่าวใหญ่ที่สื่อบันเทิงย่อมต้องรายงาน ยิ่งเมื่อข่าวดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านมาทางสื่อออนไลน์ กระแสยิ่งไปไวจนยากจะมองข้ามที่จะหลีกเลี่ยงไม่นำเสนอ
แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ข่าวบันเทิงธรรมดา หากแต่มีรายละเอียดที่อ่อนไหวทั้งภาพและคลิปจาก IG ที่ดาราไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมจะให้เก็บภาพ ด้วยภาวะโรคซึมเศร้าที่ดาราสาวเผชิญอยู่นั้น การนำเสนอข่าวจะซ้ำร้ายเป็นการตอกย้ำทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่ลงไปอีก ทั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะสื่อบันเทิง หากแต่สื่อออนไลน์ของคนทั่วไปก็มีการแชร์และแสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวมากมาย แน่นอนว่ากระแสที่รุนแรงย่อมมีทั้งด้านบวกและลบ มีทั้งฝ่ายที่ให้กำลังใจและฝ่ายที่ถึงขั้นตั้งข้อสงสัยว่ามีการจัดฉาก
ในด้านของผู้สื่อข่าวนั้น บรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้โพสต์ข้อผ่าน เพจ จริยธรรมวารสารศาสตร์ โดยตั้งหัวข้อว่า “ชีวิตอีกด้านของดาราที่ถูกสื่อซ้ำเติม” โดยมีใจความระบุว่า การเผยแพร่ภาพของดาราสาวจากเพื่อนคนสนิทนั้นอาจเป็นการทำร้ายตัวดาราสาวโดยไม่ตั้งใจ แต่ในส่วนของสื่อมวลชนที่หยิบเรื่องราวดังกล่าวทั้งหมดมานำเสนอนั้นถือเป็นการซ้ำเติม โดยมองว่าสื่อมีจริยธรรมวิชาชีพกำกับไว้จึงไม่ควรทำร้ายคนหรือสังคม
“แม้ด้านหนึ่ง ‘แตงโม’ เป็นนักแสดงผู้สร้างความบันเทิงให้สังคม เธอจึงเป็น ‘บุคคลสาธารณะ’ (public figure) ซึ่งถึงอย่างไรเสียก็ต้องเป็นข่าว แต่ในสภาพเช่นนี้ ผู้มีสามัญสำนึกโดยทั่วไปก็คงจะรู้สึกได้ว่านี่คือการซ้ำเติมความทุกข์โศกของเธอหรือไม่ ผู้อื่นไม่กระไร แต่เรามีจริยธรรมวิชาชีพกำกับไว้ เราจึงไม่ใช่ผู้ทำร้ายคนและสังคม โปรดพิจารณา”
แต่ในมุมของจิตแพทย์ชื่อดัง นายแพทย์กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล มองว่า การที่เพื่อนดารานำภาพและคลิปมาโพสต์เผยแพร่ถือเป็นการกระทำที่ไม่สมควรด้วยประการทั้งปวง พร้อมตั้งคำถามถึงสถานพยาบาลว่าปล่อยให้เกิดการบันทึกภาพได้อย่างไร โดยข้อความบางส่วนระบุดังต่อไปนี้
“...ใช้โลกโซเชี่ยลอย่างพอดีและพอเพียงดีกว่ามั้ย จะรักใคร สงสารใคร ควรจะดูความเหมาะสมด้วยนะครับ...แม้เจ้าตัวอาจจะไม่เอาเรื่องเมื่อตื่นขึ้นมา...แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยว่า นี่เป็นวิธีการประคับประคองจิตใจที่ดี...สำหรับสถานพยาบาล...อันนี้ก็เหนื่อยใจครับ....มันคือชีวิตของผู้ป่วยครับ มิใช่ชีวิตในละคร....อย่าสับสน? #ขอเป็นกำลังใจให้ผ่านมรสุมชีวิตไปให้ได้ครับ #ดูแลสุขภาพจิตสุขภาพใจของตนเอง เป็นการแสดงความรักความเมตตาต่อตัวเองที่ดีที่สุดครับ #ฟ้าหลังฝนอาจจะสดใสอีกครั้งก็ได้...ถ้ายังไม่หมดกำลังใจ #ช่วยกันระมัดระวัง เรื่องการละเมิดสิทธิผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ป่วย”
อย่างไรก็ตาม การโพสต์ภาพผู้ป่วยนั้นถือว่าผิดกฎหมาย นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เผยว่า การโพสต์ข้อมูลการรักษาพยาบาล หรือข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยอาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิ และยังผิดหลักมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550
“ปัญหาคือ การเผยแพร่ข้อมูลของผู้ป่วย ทั้งอาการเจ็บป่วย รูปภาพผู้ป่วยผ่านโลกอินเทอร์เน็ต อาจมาจากความไม่รู้ ซึ่งอาจหลุดมาจากประชาชนเอง หรือจากบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งเจตนาและไม่เจตนา บ้างก็มีเจตนาดีต้องการช่วยเหลือผู้ป่วย อย่างกรณีการขอรับบริจาคเลือดหายาก แต่ทั้งหมดต้องพึงระวังในการโพสต์ข้อมูลเหล่านี้โดยที่ผู้ป่วยหรือญาติไม่อนุญาต เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และขัดต่อพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ตามมาตรา 7 ที่ระบุว่าข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยและอาจทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นโดยตรงและไม่ว่าในกรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพของบุคคลไม่ได้”
ในโลก(โรค)ซึมเศร้า
จากกรณีของแตงโมนั้น เพื่อนคนสนิทก็มีการออกมาเปิดเผยด้วยว่า เธอเป็นโรคซึมเศร้าและเป็นโรคแพนิค แม้หลายคนจะมองว่าโรคดังกล่าวเป็นเรื่องไกลตัว แต่แท้จริงแล้วโรคซึมเศร้ากลับเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่ทุกคนคิด จากผลงานวิชาการหัวข้อ “โรคซึมเศร้า...ความสูญเสียอันยิ่งใหญ่แห่งมวลมนุษยชาติ : การแก้ไขปัญหาความสูญเสียอันเนื่องมาจากโรคซึมเศร้าและผลการดำเนินงานในระบบการแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้าของไทย” ในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติครั้งที่ 14 ประจำปี 2558 โดย นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ เผยว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคเรื้อรังและพบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย ประมาณ 350 ล้านคนทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) มีการคาดการณ์ว่าในปี 2563 โรคซึมเศร้าจะก่อให้เกิดความสูญเสียด้านสุขภาพเป็นอันดับ 2 ขณะที่ประเทศไทยโรคซึมเศร้าก่อให้กิดความสูญเสียด้านสุขภาพเป็นอันดับที่ 3 ในผู้หญิง และเป็นอันดับ 8 ในผู้ชาย
นพ.ธรณินทร์ พบว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้าถึงบริการมากขึ้น จาก ร้อยละ 34 ในปี 2557 เป็น ร้อยละ 38 ในครึ่งปี 2558 โดย ในปี 2557 ได้มีการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงถึง 12 ล้านคน พบมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 6 ล้านคน มีอาการ 1.5 ล้านคน มีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย 6 แสนคน ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า 5 แสนคน และมีอาการกลับเป็นซ้ำ 800 คน
นอกจากกรมสุขภาพจิตยังเคยออกมาเปิดเผยในปี 2557 ว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยกว่า 1.1 ล้านคนที่ยังเข้าไม่ถึงการรักษา แม้ว่าตัวเลขการเข้าถึงการรักษาจะมากขึ้นเรื่อยๆ
รายละเอียดของโรคดังกล่าวนั้นอาการแพนิกเกิดจากฮอร์โมนลดกะทันหัน ทำให้สารสื่อในสมองผิดปกติ คล้ายกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ส่งผลให้ประสาทอัตโนมัติทำงานผิดพลาด ทำให้สมองหลั่งสารตื่นตระหนกออกมาเอง โดยผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนคนกำลังจะควบคุมตัวไม่ได้ วูบ เป็นลม แขนขาไม่มีแรง
ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ ใช้ชีวิตเร่งรีบเกินไป ตื่นสาย รีบกินอาหารไวเกินไป อยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ไม่กินข้าวเช้า นอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ จริงจังกับชีวิต อยู่ในสภาวะกดดันเป็นประจำ ไม่ออกกำลังกาย มีนิสัยเป็นคนคิดมาก ชอบคิดทำอะไรหลายๆ อย่างในช่วงเวลาเดียวกัน
และเคยมีอดีตที่ฝังใจ เคยอกหัก เคยสูญเสีย เคยมีผลกระทบกับจิตใจมาก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกรรมพันธุ์ คือมีประวัติญาติหรือคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้มาก่อน
ในส่วนของความอันตรายนั้น โรคแพนิกเองนั้นไม่มีอันตราย ไม่ทำให้ผู้ป่วยตายเพียงแต่อาการของโรคจะทำให้เกิดความไม่สบายใจเท่านั้น ยิ่งผู้ป่วยกังวลมาก อาการต่างๆ จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น วิธีการรักษาผู้ป่วยจำเป็นต้องหยุดพฤติกรรมที่ทำร้ายสมองและหันมาดูแลตัวเองทั้งการกินอาหารเช้า ออกกำลังกาย และหยุดเล่นเกมจากมือถือที่อาจสร้างความเครียดสะสมได้ พร้อมทานยาควบคู่กับการรักษาช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง
รักแลกด้วยรัก ไม่ใช่แลกด้วยชีวิต
คู่รักแตงโม - โตโน่นั้นแต่แรกเริ่มเดิมทีถูกจับตาในฐานะที่แตกต่างไปจากคู่รักดาราอื่นๆ ทั่วไป มีกระแสในเชิงลบมากมายที่ทั้งคู่ต้องฝ่าฟัน จนวันหนึ่งที่ความสัมพันธ์เริ่มสุกงอมและทั้งคู่ตัดสินใจหมั้นหมายกัน และได้ให้คำมั่นสัญญาต่อกันและกันไว้
"พี่รู้ไหมคะว่าเวลาหนูแอบมองพี่ มองหน้าพี่ มองตา มองจมูก มองปาก มองมือ และเวลาที่พี่ยิ้ม หนูมีความสุขมาก พี่ทำให้หนูรู้สึกมีค่า หนูจะดื้อ หนูจะแย่แค่ไหนกลับกลายเป็นพี่เอ็นดูหนูและยิ้มให้หนูทุกครั้ง พี่ต้องอยู่กับหนูไปตลอดชีวิตแล้วนะคะ" คำสัญญาในวันหมั้นจาก แตงโม
"เมื่อไหร่ที่คนคนหนึ่งรู้สึกว่า มีคนคนหนึ่งอยู่ในหัวใจ อยู่ในทุกๆ ลมหายใจ รักและคิดถึงเขาอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราอยากจะรักคนคนนั้นไปจนวันตาย อยากกอด อยากดูแลเขาไปจนแก่จนเฒ่า โดยที่เราไม่สนใจเลยว่า คนคนนั้นต้องเด่นต้องดังมาจากไหน ต้องสวยต้องรวยกว่าใคร สิ่งเหล่านั้นไม่มีค่าเลยถ้าผู้หญิงคนนั้นไม่ใช่โม ภาคินจะรักภัทรธิดาที่สุดในชีวิต ภาคินจะรักภัทรธิดาคนเดียว ภาคินจะรักภัทรธิดาตลอดไป" คำสัญญาในวันหมั้นจาก โตโน่
แต่แล้วเรื่องราวหลายอย่างที่อยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ก็ทำให้ความสัมพันธ์มาถึงจุดที่รักแปรเปลี่ยน หลังเหตุการณ์ทั้งหมด มีหลายความคิดเห็นที่มองถึงความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น มีอยู่ และเปลี่ยนแปลงไปในหลายมุมมอง
“ตอนหมั้นกัน ก็บอกว่าจะรักกันจนวันสุดท้าย ดูตอนนี้ออกมาพูดไม่คิดถึงใจคนที่ตัวเองบอกว่ารักนักรักหนาเลยผู้ชายหนอผู้ชาย ถึงพูดเล่นก็ไม่น่าเอามาขนาดนี้” duck ocorner กล่าวถึงโตโน่ที่ออกมาพูดว่าตัวเองโสดบนเวทีคอนเสิร์ต
ขณะที่ผู้ใช้ชื่อ Lookkaew Chan มองจากมุมของคนที่เป็นโรคซึมเศร้าว่า “จากประสบการณ์ส่วนตัวนะคะ เราเป็นโรคซึมเศร้าบางทีมันก็เข้มแข็ง บางทีอารมณ์มันดิ่งเหวค่ะ มันควบคุมไม่ได้ มันขึ้นๆลงๆ ตลอด มันรู้สึกไปหมดว่าไม่มีใครเลย ไม่ว่าจะพ่อแม่พี่น้องเพื่อนแฟนที่ต้องการเราแม้สักคนเลย แล้วพอมาเจอเรื่องเสียใจเรื่องความรัก มันทวีคูณเลยค่ะ แล้วคำพูดให้กำลังใจแบบ เฮ้ย! อย่าคิดมาก สู้ๆ คิดถึงพ่อแม่ไว้ มันไม่ช่วยจริงๆ แล้วเราจะเป็นซ้ำซากวนเวียน คนก็จะไม่เข้าใจ บางคนพยายามจะเข้าใจ แต่พอเราเป็นบ่อยๆ เขาก็จะเริ่มไม่เข้าใจจนได้ ไม่อยากจะบอกว่ารอดมาทุกครั้งเพราะหมากับแมวมาปลอบ”
นอกจากนี้ยังมีกำลังใจจากผู้คนมากมายที่ให้ข้อคิดจากกรณีความรักของคนทั้งคู่ โดย “อีเจี๊ยบ เลียบด่วน” มองว่า คำสัญญารักนั้นเป็นสิ่งที่เชื่อถือไม่ได้ อาจเป็นจริงเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น พร้อมแนะนำให้มองกันไปนานๆ ควรมีภูมิต้านทานและมีจรรยาบรรณกับความรักกันบ้าง
“จำไว้เลย ความรักถ้าไม่ใช่ของพ่อไม่ใช่ของแม่ มันหมดได้เสมอ...แนะนำคือ คุณต้องสร้างภูมิป้องกันคำตอแหล ไว้เยอะๆ อย่าไปเชื่อมาก คำพร่ำบอกรักของใครก็ตาม ที่ไม่ใช่พ่อใช่แม่...อย่าไปอินมาก ความรักแม้จะไม่สมหวังแต่ถ้าทุกคนมีภูมิต้านทาน และมีจรรยาบรรณกันบ้าง มันก็จะไม่เกิดเรื่องเศร้าอะไรมากมายหรอก จำไว้ว่าตอนที่ทำร้ายตัวเองเพื่อเรียกร้องให้คนที่ไม่รักแล้ว คุณกำลังทำร้าย พ่อแม่คนที่รักมึงที่สุด รักคุณตลอดเวลา รักแบบไม่มีข้อแม้ รักกว่าชีวิตของพวกเขาเอง เขาเจ็บกว่าคุณหลายร้อยเท่า”
ทางด้านของ “พี่อ้อย - นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล”นักจัดรายการวิทยุ Club Friday ที่ให้คำปรึกษาด้านความรัก ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีนี้ว่า “รักแลกด้วยรัก ไม่ได้แลกด้วยชีวิต หลายครั้งเราทำร้ายตัวเอง เพื่อคนที่เค้าหมดรัก เพื่อมาทำร้ายหัวใจคนที่รักเราเท่าชีวิต ...ยังดีที่น้องปลอดภัย ขอให้หัวใจเข้มแข็งขึ้นในเร็ววันจ๊ะ”
อย่างไรก็ตาม ภายหลังเหตุการณ์ผ่านพ้นไปทั้งหมด แตงโมได้ออกมาแถลงการณ์และได้ฝากข้อคิดถึงสิ่งที่ตัวเองทำไว้ว่า
“อย่าทำแบบหนูเลยค่ะ มันเป็นสิ่งที่บาปมาก บาปที่สุด คนหลายคนมีให้เราเป็นตัวอย่าง ถ้าฟื้นแล้วสติไม่ได้กลับมา อาจจะเสียคนไปเลยก็ได้ มันเป็นความคิดที่โง่มาก ห้ามทำนะคะ ไม่ใช่แค่ฆ่าตัวเรา แต่มันยังฆ่าคนรอบข้าง ฆ่าตัวตายเขาไม่รัก ก็ไม่กลับมาค่ะ”
…
กรณีความรักที่เกิดขึ้นและจบลงของคนสองคนนั้น เมื่อเกิดขึ้นกับดาราสังคมก็มักจะให้ความสนใจ หากมองในมุมของความบันเทิงสิ่งที่เกิดก็เป็นเพียงกระแสที่ผ่านเลยไปเพียงข้ามวัน แต่หากมองให้รอบด้านบทเรียนจากกรณีของดาราสาวคนนี้อาจกลายเป็นสิ่งสอนใจใครหลายคนในสังคมได้
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754