xs
xsm
sm
md
lg

จาก ศาลาคนเศร้า ถึง Club Friday : เมื่อความรักเป็นปัญหาระดับชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


(1)

ในบรรดาความบันเทิงของชาวออฟฟิศ นอกจากละครหลังข่าว ซีรีส์ และภาพยนตร์ที่ยังคงได้รับความนิยมตามการแข่งขันของทีวีดิจิตอลแล้ว รายการวิทยุหากเป็นคลื่นที่ได้รับความนิยม ก็ยังเป็นที่ติดหูคนฟังอยู่เสมอต้นเสมอปลาย แม้ช่องทางรับฟังจะหันมาพึ่งพาอินเตอร์เน็ตตามยุคสมัย ทั้งผ่านเว็บไซต์ และผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน

บรรดารายการวิทยุที่มีอยู่มากมายตามแต่ละแนวเพลงและกลุ่มผู้ฟัง คงไม่มีใครไม่รู้จัก “คลับไฟร์เดย์” (Club Friday) รายการคืนวันศุกร์ที่เปิดโอกาสให้ผู้ฟังทางบ้านที่มีปัญหาทุกข์ใจ โดยเฉพาะเรื่องความรัก โฟนอินเข้ามาปรึกษาพูดคุย หรือแบ่งปันประสบการณ์ พร้อมกับเสนอมุมมองที่เป็นประโยชน์ให้ผู้ฟังทางบ้านอื่นๆ ไว้ใช้ในการแก้ปัญหาชีวิต

“พี่อ้อยพี่ฉอด” เป็นชื่อที่ตั้งแต่วัยเรียนยันวัยกลางคนไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเป็นชื่อของ “พี่ฉอด” สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา และ “พี่อ้อย” นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล สองนักจัดรายการมืออาชีพที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์เวลามีปัญหาขุ่นข้องหมองใจ จะมาพร้อมกับประเด็นสนทนาแบบชนิดที่ว่า ฟังหัวข้อบางวันแล้ว เราเองก็ยังรู้สึกเจ็บอยู่ลึกๆ

ไม่ว่าจะเป็น ผิดที่รักคนผิด, ยิ่งอยู่ใกล้ยิ่งไร้ตัวตน, รักแท้หรือแค่หลอกใช้, เราหมดใจหรือเขาไม่ใช่จริงๆ, เหตุเกิดจากแฟนเก่า, เทศกาลทำร้ายใจ, รักกับความพยายาม, สู้ต่อหรือพอได้แล้ว ฯลฯ และโดยเฉพาะตอน “108 ปัญหาหัวใจ” จะเป็นช่วงตอบคำถามความรักกับผู้ฟังทางบ้านที่ส่งคำถามเข้ามาชนิดที่ว่า คืนเดียวยังตอบคำถามไม่หมด

ไม่ใช่แค่ “พี่อ้อยพี่ฉอด” ที่ตอบปัญหาหัวใจแต่เพียงฝ่ายเดียว ในยุคที่โซเชียลมีเดียเป็นใหญ่ ก็มักจะมีการวิจารณ์เรื่องราวที่ออกอากาศ เวลาเข้าทวิตเตอร์แล้วอ่านแท็ก #ClubFriday จะมีผู้ฟังทวีตความเห็นหรือคำคมที่ได้ยินจากเนื้อหาซีรีส์หรือรายการวิทยุ เช่นเดียวกับเว็บไซต์พันทิป ยังคงมีกระทู้ตามแท็ก “Club Friday” วิพากษ์วิจารณ์เช่นเดียวกัน

ทุกวันนี้เรื่องราวของคลับไฟร์เดย์น่าจะมีเป็นพันเรื่องราว พี่อ้อยพี่ฉอดนำไปต่อยอดทั้งพ็อกเก็ตบุ๊ค เพลง คอนเสิร์ต มาถึงละครซีรีส์ที่สร้างจากเรื่องเล่าบนหน้าปัดวิทยุ บางเรื่องมีการอนุญาตนำเจ้าของเรื่องมาสร้างเป็นหนัง แล้วเชิญมาร่วมรายการเพื่อบอกเล่าความคืบหน้าหลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว

อย่างเช่น กรณีของ “บอส” นักศึกษาวิศวเครื่องกล ที่เคยคบหากับ “วิน” สจ๊วตสายการบิน ก่อนที่จะถอยห่างเมื่อความรักจืดจาง ล่าสุดเขากลับมาออกรายการอีกครั้ง เล่าให้ฟังว่าเพิ่งกลับมาคุบกับวินได้ไม่นาน หลังทราบข่าวจากเพื่อนสนิทว่าเป็นเนื้องอกในสมอง ต้องลาออกมารักษาตัว ก็ได้ปรับความเข้าใจกันในสถานะคนที่เคยคบกัน

หรือจะเป็นกรณี “ครูอร” ที่คบหากับ “ที” นักเรียน ม.6 กลายเป็นความรู้สึกผิด ภายหลังลาออกจากโรงเรียนเพื่อให้รู้สึกดีขึ้น เมื่อทีพาครูอรกลับไปเจอเพื่อนก็ยังสวัสดีคุณครู สุดท้ายไม่พ้นความรู้สึกนี้ แต่ถึงกระนั้นทียังคงรู้สึกรักครูอรอยู่ แม้จะอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยยังคงมีผู้หญิงที่คบกันไปแล้วก็เลิกกันไปก็ตาม

เบื้องหลังของคลับไฟร์เดย์เท่าที่ทราบ จะมีระบบของการรับสาย และคัดเลือกสายมาออกอากาศ โดยทีมงานเบื้องหลังจำนวนมากที่เรียกว่า “โค-โปรแกรม” แม้จะยืนยันไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเป็นเรื่องจริง แต่ประสบการณ์การทำงานในการรับสายผู้ฟังมายาวนานจะรู้ว่า คนที่โทรเข้ามาแล้วตั้งใจสร้างเรื่องจะมีลักษณะอย่างไร ที่สำคัญจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ สุดท้ายก็จะต้องเป็นเรื่อง ที่ให้ประโยชน์มุมมองวิธีคิด หรือเป็นบทเรียนในเรื่องของความรักให้กับผู้ฟัง

ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการจากสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ เคยกล่าวถึงปรากฎการณ์คลับไฟร์เดย์ไว้อย่างน่าสนใจว่า คลับไฟร์เดย์เป็นตัวอย่างที่ดีของรายการแบบ “ผู้ฟังเป็นผู้ผลิตเนื้อหา” หรือ ผู้ใช้เป็นผู้ผลิตเนื้อหาด้วยตัวเองได้ดีที่สุด กลายมาเป็น “ชุมชนเสมือนจริง” ที่ผู้คนเข้ามาแบ่งปันประสบการณ์ความรักจากชีวิตจริง



(2)

ย้อนกลับไปก่อนที่จะมาเป็น “คลับไฟร์เดย์” คนรุ่นใหม่คงไม่ทราบว่าเมื่อ 51 ปีก่อน มีนิตยสารพ็อกเก็ตบุ๊คที่ชื่อว่า “ศาลาคนเศร้า” ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2507 โดยฝีมือของ “เล็ก วงศ์สว่าง” นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง เจ้าของค่ายหนังสือ “I.S. Song Hits The Guitar” ที่เราคุ้นเคยกันดีหากต้องการคอร์ดกีตาร์สำหรับเล่นเพลงสักหนึ่งเพลง

ที่มาที่ไปของศาลาคนเศร้า มาจากตอนที่ เล็ก วงศ์สว่าง จัดรายการเพลงที่สถานีวิทยุเสียงสามยอดเมื่อปี 2503 ได้รับความนิยมจากผู้ฟัง ที่เดิมเขียนจดหมายบรรยายเพลงสากลส่งมาร่วมสนุก ส่วนมากเป็นเพลงอกหัก ผิดหวัง ต่อมาพัฒนากลายมาเป็นเขียนเรื่องส่วนตัว และเมื่อมีจดหมายเข้ามานับร้อยฉบับจึงแยกเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คอีกเล่มต่างหาก

เล็ก วงศ์สว่าง เคยกล่าวว่า “ผมคิดว่าศาลาคนเศร้าเป็นสนามให้เขาลองภูมิปัญญา เพราะคนที่เขียนมาไม่ใช่นักประพันธ์ ฉะนั้นเขียนไปลงนิตยสารอื่นก็ไม่ได้ลง เพราะเขาเขียนเป็นภาษาชาวบ้าน ไม่ได้มีสำบัดสำนวน นางแบบคนแรกที่ขึ้นปกนิตยสารก็ไม่ใช่คนอื่นไกล แต่เป็นสาวสวยใกล้โรงพิมพ์นี่เอง ไม่ใช่เพชรา เชาวราษฎร์ และไม่เอาพิสมัย วิไลศักดิ์”

ที่ผ่านมา ศาลาคนเศร้าตีพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊กรายเดือน ความหนา 200 หน้าเศษ ประกอบด้วยคอลัมน์แนะนำเพื่อนใหม่ “ศาลาบริการ” และ “ศาลาสีรุ้ง” สำหรับคนที่มีรสนิยมรักเพศเดียวกัน แต่ที่ได้รับความนิยมคงจะเป็นคอลัมน์ “เรื่องเศร้าจากชีวิตจริง” ที่เป็นการตีพิมพ์จดหมายบรรยายความรักที่ไม่สมหวังจากผู้อ่านทางบ้าน

สิ่งสำคัญที่ศาลาคนเศร้ายังคงเป็นที่พูดถึงก็คือ เป็นพื้นที่สำหรับแนะนำเพื่อนใหม่ให้เขียนจดหมายหากัน และสานสัมพันธ์เป็นคนที่รู้ใจ มีอยู่คนหนึ่งผิดหวังจากความรัก ไปซื้อศาลาคนเศร้า ตัดสินใจเขียนจดหมายไปหาทหารพรานนายหนึ่งตามที่อยู่ในหนังสือ คุยไปคุยมาสุดท้ายคบหาแล้วได้แต่งงานกัน มีลูกด้วยกันคนหนึ่ง ทุกวันนี้ชีวิตมีความสุขดี

ไม่น่าเชื่อว่า แม้คนรุ่นใหม่จะมองว่าชื่อของศาลาคนเศร้าจะดูโบราณไปสักนิด แต่ความนิยมในหมู่ผู้อ่านยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งผู้ต้องขังในเรือนจำ ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด มักจะส่งจดหมายเข้ามาบรรยายความรักที่ไม่สมหวังเพราะถูกแฟนทิ้งระหว่างต้องขัง กลายเป็นคอลัมน์ที่ชื่อว่า “เสียงจากคนข้างใน” ที่น่าอ่านอย่างยิ่ง

ผมเคยซื้อศาลาคนเศร้ามาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ก ถูกเพื่อนร่วมงานแซวอย่างขำขันว่า “เอ็งอกหักเหรอถึงได้ซื้อมาอ่าน” โดยส่วนตัวเห็นว่าเรื่องพวกนี้สนุกกว่าดูละคร เพราะล้วนเป็นเรื่องจริง แม้อย่างที่บอกก็คือเรื่องบางเรื่องจะยืนยันไม่ได้ว่าเป็นเรื่องจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าอ่านไปนานๆ จะดูออกว่าอันไหนคือการบอกเล่า อันไหนคือการรำพึงรำพัน

เมื่อปีที่แล้วศาลาคนเศร้าขายเล่มละ 40 บาท หาซื้อไม่ยากแต่จะอยู่ตามร้านหนังสือ และแผงหนังสือตามชุมชนต่างๆ แต่หนังสือมักจะออกประมาณกลางเดือน คนขายกะไม่ถูก บอกไม่ได้ว่าหนังสือจะเข้าร้านตอนไหน กระทั่งเดือนกันยายน 2557 ศาลาคนเศร้าได้ตีพิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊คเป็นครั้งสุดท้าย ฉบับที่ 510 ก่อนหยุดพิมพ์ไป 6 เดือน

เดือนมีนาคม 2558 ศาลาคนเศร้ากลับมาในรูปแบบนิตยสารรายเดือน ความหนา 116 หน้า เย็บมุงหลังคาแทนไสกาว พร้อมขึ้นราคาเป็น 45 บาท โดยมีทายาทอย่าง “ปิยะวัลย์ วงศ์สว่าง” เป็นบรรณาธิการบริหาร และเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายตามร้านเซเว่นอีเลฟแว่นที่มีสัญลักษณ์ Book Smile เพื่อให้การวางแผงครอบคลุมและทั่วถึง

นอกจากคอลัมน์เดิมที่กลับมาเกือบครบแล้ว เนื้อหาภายในถูกปรับปรุงโดยเน้นสกู๊ปเรื่องราวความรักของดาราดัง บทสัมภาษณ์ดารานักแสดงที่ผ่านเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจ ผ่านไปแล้วสองฉบับก็มี แตงโม-ภัทรธิดา กับ สุดา ชื่นบาน ตอบปัญหาความรักและเซ็กซ์, ธรรมะ, เรื่องลี้ลับ, การดูแลสุขภาพ, แนะนำวิธีการทำอาหาร และทำนายดวงชะตา

โดยส่วนตัวเท่าที่สัมผัสเนื้อหาศาลาคนเศร้ารูปโฉมใหม่มาสองฉบับ มีความรู้สึกว่าคอลัมน์พวกสัมภาษณ์ดารา สอนทำอาหาร สุขภาพความงาม ปกิณกะบันเทิง ของพวกนี้หาอ่านได้ตามแมกกาซีนทั่วไปที่วางขายกันกลาดเกลื่อน ไม่สอดคล้องกับชื่อของ “ศาลาคนเศร้า” ซึ่งเป็นชื่อที่ผู้อ่านต้องคาดหมายว่าจะต้องมีเรื่องเศร้าเป็นเอกลักษณ์แน่ๆ

ที่น่าใจหายก็คือ เซ็กชั่น “เรื่องเศร้าจากชีวิตจริง” อ่านแล้วมีความรู้สึกว่าเนื้อหากลับน้อยลงจนน่าใจหาย ไม่รู้ว่าจำนวนเรื่องยังเหมือนเดิมหรือความรู้สึกเปลี่ยนไป แถมเซ็กชั่น “เสียงจากคนข้างใน” ที่เป็นการตีพิมพ์จดหมายบรรยายความผิดหวังเรื่องความรักจากนักโทษและผู้ต้องขัง ก็ถูกยุบรวมกันเหลือไม่ถึงเรื่อง-สองเรื่อง

ทีแรกไม่รู้ว่าทีมงานศาลาคนเศร้ากำลังหลงทางหรือเปล่า เพราะแม้จะกล่าวได้ว่าต้องปรับตัวไปตามยุคสมัย แต่เอกลักษณ์ที่มีอยู่เดิมไม่น่าจะลดบทบาทลงไปด้วย แต่พอดูความนัยระหว่างบรรทัดจากบทบรรณาธิการ ก็พอเดาออกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี คือคนดราม่าผ่านเฟซบุ๊ก ผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น แต่การเขียนจดหมายกลับน้อยลง

ปิยะวัลย์กล่าวในบทบรรณาธิการ ฉบับเดือนมีนาคม 2558 ที่กลายเป็นนิตยสารเล่มใหญ่ ว่า “เรารณรงค์เรื่องการเขียน อยากให้ผู้คนหันมาหยิบปากกาเขียนลงกระดาษแทนแป้นพิมพ์หรือโทรศัพท์มือถือ เพราะคุณค่าของตัวอักษรที่ถูกบันทึกลงผ่านกระดาษด้วยลายมือนั้นมีค่าและมีความหมายกว่าเป็นไหนๆ”

ศาลาคนเศร้าในยุคสังคมโซเชียลที่คืบคลานตัวตนของมนุษย์ขึ้นเรื่อยๆ ต้องพบกับอุปสรรคของสื่อใหม่ที่มีดราม่าเกิดขึ้นบนโลกอินเตอร์เน็ตทุกวัน อีกทั้งการเขียนจดหมายด้วยลายมือในอดีตถูกแทนที่ด้วยการพิมพ์งานจากคอมพิวเตอร์ นอกจากผู้อ่านหนังสือรูปเล่มแต่ดั้งเดิมแล้ว คงต้องลุ้นกันว่าจะก้าวผ่านถึงผู้อ่านในยุคเจนเนอเรชั่นใหม่ไปได้หรือไม่



หมายเหตุ : ภาพจากตัวอย่างซีรีส์ Club Friday The Series 5 ตอน ความลับของห้อง ม.6/3 ในยูทิวบ์ GMMChannel

(3)

จากยุคศาลาคนเศร้าในอดีต มาถึงรายการคลับไฟร์เดย์ในยุคนี้ สารพันปัญหาเรื่องความรักที่เราได้เห็นผ่านหูผ่านตา ทำให้ผมกลับคิดไปไกลว่า ปัญหาความรักเป็น “ปัญหาระดับชาติ” ที่น่าจะมีใครลงมาแก้ปัญหา ไม่ต่างจากปัญหาปากท้องของประชาชน เพราะความรักเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยของการใช้ชีวิต

แต่พอเอาเข้าจริง แม้ในยุคที่สังคมโซเชียลเป็นใหญ่อาจจะทำให้หลายคนกลายเป็นนักวิจารณ์ หรือเป็นคนที่สอดรู้สอดเห็นชาวบ้านไปโดยปริยายก็ตาม แต่ในชีวิตจริงคงไม่มีใครอยากจะเข้าไปยุ่งกับปัญหาความรัก หรือปัญหาชีวิตของใครหรอก เพราะเป็นเรื่องธุระไม่ใช่ แถมกลายเป็นเผือกร้อนที่ยิ่งเข้าใกล้ ก็ยิ่งเป็นแผลพุพอง ปวดแสบปวดร้อนเข้าไปอีก

ในยุคสมัยที่ผู้คนคิดถึงแต่ตัวเอง ไม่มีใครอยากรับรู้ความทุกข์ของคนอื่น หรือเข้าใจความรู้สึกคนอื่นหรอก ต่อให้เราบอกเล่าความรู้สึกสักล้านแปดประโยค มันเหมือนกับมีความรู้สึกว่า ขนาดตัวเราเองประคับประคองชีวิตให้ราบรื่นแต่ละวัน จะทำวันนี้ให้ดีที่สุด ก็แทบจะเอาตัวเองไม่รอด ทำไมต้องมารับรู้เรื่องของคนอื่น เหมือนกับการหาเหาใส่หัวอีก

อีกด้านหนึ่ง แม้จะมีผู้คนจำนวนมากที่ยอมเป็นที่ปรึกษา พยายามหาทางออกในเรื่องความรัก ต่อให้เราให้คำแนะนำที่ดีที่สุดอย่างไร แต่เราก็ไม่อาจจะรับรู้ปัญหาที่แท้จริงได้ หากมาจากคำบอกเล่าแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือหากอีกฝ่ายยังรู้สึกว่าตัดใจกับปัญหาไม่ลง ต่อให้เราอธิบายอย่างไรหากไม่ฟัง หรือฟังเพียงผ่านๆ ก็ไม่มีความหมาย

เชื่อเถอะ การที่เพื่อนบอกเล่าปัญหาความรัก หากไม่ใช่ปัญหาแบบคอขาดบาดตายจริงๆ ส่วนมากเขาคงไม่อยากที่จะมานั่งฟังวิธีการหาทางออก เหมือนกับมานั่งฟังอาจารย์ติววิชายากๆ แบบตัวต่อตัวหรอก เขาเพียงแค่ต้องการเพื่อนที่ทำให้รู้สึกดี ในเวลาที่รู้ตัวเองว่ามีปัญหา หรือเวลาที่ไม่มีใครเคียงข้างก็ต้องการกำลังใจซึ่งกันและกันบ้าง

ปัญหาความรักเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะตัว ไม่มีใครแก้ปัญหาได้ดีที่สุดนอกจากตัวเราเอง สิ่งสำคัญที่ทำให้เรายังยืนหยัดที่จะเป็นตัวเราอยู่ทุกวันนี้ก็คือ การที่เราอดทนกับปัญหาที่เกิดขึ้น และใช้สติอยู่กับตัวเอง รักตัวเองให้มากขึ้น เพราะปัญหาผ่านมาเดี๋ยวมันก็ผ่านไป กาลเวลาจะช่วยเยียวยาให้เรารู้สึกเหมือนได้กลับมาเป็นคนเดิม

การที่เราได้อ่านจดหมายบรรยายความผิดหวังเรื่องความรักในศาลาคนเศร้า หรือฟังเรื่องเล่าจากทางบ้านในคลับไฟร์เดย์ มันทำให้เรามีความรู้สึกว่า เราไม่ได้มีความทุกข์แบบนี้อยู่เพียงคนเดียว แต่ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่มีปัญหาความรักเหมือนกัน แต่สลับซับซ้อนตามโครงสร้างของสถานะแต่ละคน เช่น ผ่านการแต่งงานมาก่อน หรือคบแล้วก็เลิกกัน

เวลาที่คนเราโทรศัพท์ไปพูดคุยกับพี่อ้อยพี่ฉอดจำนวนมาก ทำให้เรารู้ว่า มีเพียงไม่กี่คนบนโลกใบนี้ที่เราจะยอมแบ่งปันความเจ็บปวดให้เขาช่วยแก้ปัญหา หาทางออก หรือเรายอมบอกเล่าเพื่อเป็นบทเรียนแก่คนอื่นได้อย่างสนิทใจ ซึ่งกว่าจะกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ยกให้เป็นกูรูด้านความรักย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

หากนึกถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความรัก หรือปัญหาชีวิต ในบ้านเรามีสายด่วนสุขภาพจิตครับ เป็นของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ก่อตั้งมาได้ 17 ปีแล้ว โทรไปแล้วจะมีนักจิตวิทยารับสาย แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่ามักจะมองข้ามไป เพราะมองว่าเป็นเพียงแค่เปิดสายให้เข้ามาระบายหรือปรับทุกข์มากกว่าแบ่งปันประสบการณ์

การที่ปัญหาความรักหรือปัญหาชีวิตนำมาแบ่งปันผ่านพื้นที่อย่างศาลาคนเศร้าหรือคลับไฟร์เดย์ เปรียบเสมือนพื้นที่กลางที่ทำให้ทุกคนมองเห็นว่าปัญหาความรักเรื่องนี้สำคัญ แม้จะต้องยอมรับกับปฏิกิริยากับสังคมและเสียงวิจารณ์ที่ตามมา แต่คนที่ทำหน้าที่ดูแลคงมีวิจารณญาณที่จะไม่ซ้ำเติมหรือตอกย้ำให้เราเจ็บปวดไปมากกว่านี้

คิดว่าการสื่อสารแบบศาลาคนเศร้าหรือคลับไฟร์เดย์ สิ่งที่พยายามตระหนักมากที่สุดก็คือ “อุทาหรณ์” ที่จะสอนใจกับผู้อ่านหรือผู้ฟังได้ว่า จะไม่มีรายต่อไปที่ประสบปัญหาเป็นแบบนั้นอีก ท่ามกลางอิทธิพลของสื่อที่มักจะเสนอแต่เหตุมากกว่าทางออก เช่น ข่าวฆ่าตัวตาย พอคนหนึ่งเป็นข่าว ก็มีอีกคนหนึ่งเป็นตกเป็นข่าว เกิดความสูญเสียติดต่อกัน

เราต้องถอดอุทาหรณ์แบบนั้น เป็นบทเรียนที่ไม่ต้องทำให้คนอื่นที่ประสบปัญหาแบบเดียวกัน หรือคล้ายคลึงกันต้องเจ็บปวดซ้ำซ้อนกันไปอีก ไม่ใช่หยุดอยู่เพียงแค่เรื่องราวที่มีตอนจบของเรื่องในช่วงเวลาหนึ่ง เพราะชีวิตไม่มีวันหยุดนิ่งตราบสิ้นลมหายใจ เรายังต้องเจอเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาอีกมากมาย หลังเรื่องราวถูกตีพิมพ์หรือออกอากาศไปแล้ว

อีกประการหนึ่งที่ผมนึกถึงก็คือ เราน่าจะหาพื้นที่กลางที่ทำให้คนที่ผิดหวังกับความรัก หรือสิ้นหวังกับชีวิตได้ละลายพฤติกรรม ละลายตัวตน จากคนที่ไม่รู้จักกันกลายเป็นความสนิทสนม ผมกลับนึกถึงกิจกรรมจิตอาสา ทุกวันนี้มีน้อยครั้งมากที่คนแปลกหน้าจะได้มาทำประโยชน์ร่วมกัน และพัฒนาความสัมพันธ์กลายเป็นเพื่อนกัน

ลองคิดดูเล่นๆ ในเมื่อปัญหาความรักเป็นปัญหาระดับชาติ หลายคนตัดสินใจไปบวชพระ ไปปฏิบัติธรรมเข้าหาความสงบ หลีกหนีจากความผิดหวัง ผมกลับนึกถึงนายกรัฐมนตรีที่มาจากทหาร แล้วนึกถึงค่ายทหาร น่าจะมีหลักสูตรการฝึกเพื่อละลายพฤติกรรม ใครอกหักอยากฝึกตัวเองก็ให้มาฝึกแบบนี้ เพราะคนที่ไม่ได้ผ่านประสบการณ์ได้ใบแดงก็เยอะ

นึกถึงคนหนึ่ง จบการศึกษาปริญญาโท เพิ่งเลิกกับแฟน ตัดสินใจสมัครเป็นทหารเกณฑ์ ผ่านประสบการณ์เยอะมาก แล้วยังแอบชอบครูฝึก ทุกวันนี้มีเพื่อนรักเป็นครูฝึก และทหารร่วมผลัดที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน เข้าคุกทหารด้วยกัน กลายเป็นกระทู้ดังในพันทิปที่มีคนนึกถึง แม้เจ้าตัวจะผันตัวเองไปเป็นนักกฎหมายไปแล้วก็ตาม

ก็อย่างที่บอก แม้ปัญหาความรักเป็นปัญหาระดับชาติที่เราพบเห็นอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็เป็นปัญหาที่ไม่มีใครแก้ได้นอกจากคนที่พบเจอปัญหา แต่ในเมื่อโลกนี้ไม่ได้มีเราอยู่คนเดียว กำลังใจจากคนรอบข้างคือสิ่งสำคัญที่สุด หากพบเพื่อนที่กำลังทุกข์ใจกับเรื่องแบบนี้ ถ้าไม่ลำบากใจก็ลองพาเขาไปเปิดหูเปิดตา หรือหาพื้นที่ให้เขาได้ระบายความในใจออกมา

อย่างน้อยๆ เราช่วยอะไรไม่ได้ แค่รับฟังในสิ่งที่เขาระบาย และหาทางออกที่ดีที่สุดให้เขารู้สึกสบายใจได้ก็พอแล้วสำหรับคนธรรมดาๆ ที่ไม่ได้เก่งหรือเชี่ยวชาญเรื่องความรักอะไรอย่างเราแบบนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น