เป็นเรื่อง! เมื่อแฟนเพจ “club my love airr” ปรากฏบนโลกออนไลน์ อ้างตัวว่าคือ “แอร์ Club Friday” ผู้หญิงที่โทร.มาเล่าชีวิตรักสุดรันทดผ่านรายการวิทยุ “Club Friday” ของพี่อ้อย-พี่ฉอด ได้อัปโหลดรูปเปิดเผยหน้าตาของตัวเองในฐานะเจ้าของเรื่องเป็นครั้งแรก จนกลายมาเป็นประเด็นร้อนเพราะเจ้าของรูปตัวจริงออกมาเผยว่า เธอชื่อแอร์จริง แต่ไม่ใช่แอร์ในเรื่องเล่าสุดฮอตที่ถูกเอาไปสร้างเป็นซีรีส์ และไม่ได้มีชีวิตสุดรันทดที่ถูกแม่แท้ๆ แอบคบชู้กับสามี จนตัวเองต้องระเห็จออกจากบ้านไปพร้อมกับลูกในท้องแบบนั้น
งานนี้นักสืบออนไลน์จึงช่วยกันค้นหาความจริง พร้อมตั้งคำถามกับคำว่า “เรื่องจริง” ในรายการ “Club Friday” ว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน? ร้อนถึงพี่อ้อย-พี่ฉอด ให้ออกมาชี้แจงแสดงความบริสุทธิ์ใจกันอย่างเป็นทางการเอาไว้แบบยาวเหยียด
จากใจถึงใจ “พี่อ้อย-พี่ฉอด”
(พี่อ้อย-พี่ฉอด ออกแถลงการณ์เอง)
“สวัสดีค่ะ พี่น้องแฟนรายการ Club Friday และคุณผู้ชม คุณผู้ฟังของเราทุกคน จากการที่มีประเด็นต่างๆ พูดกันถึงเรื่องราวของคุณแอร์ ที่กลายมาเป็น Club Friday The Series 4 ตอน “หรือรักแท้จะแพ้ความต้องการ” ที่เพิ่งออกอากาศจบไป เพื่อไขข้อข้องใจของทุกคน ในส่วนของรายการพี่ฉอด พี่อ้อย ขออนุญาตเล่าให้ฟังดังนี้นะคะ
ประเด็นที่ 1 : เราทำรายการนี้มาเกือบสิบปี ทางรายการ มีระบบของการรับสาย และคัดเลือกสาย มาออกอากาศ โดยทีมงานเบื้องหลังจำนวนมากที่เรียกว่า Co-program การคัดเลือกที่ว่าอาจยืนยันไม่ได้ 100% ว่าเรื่องราวทั้งหมดจะเป็นเรื่องจริง แต่ประสบการณ์การทำงานในการรับสายผู้ฟังมายาวนาน ทำให้เราพอจะรู้ว่า คนที่โทร.เข้ามาแล้วตั้งใจสร้างเรื่องจะมีลักษณะอย่างไร และที่สำคัญจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ สุดท้ายก็จะต้องเป็นเรื่อง ที่ให้ประโยชน์มุมมองวิธีคิด หรือเป็นบทเรียนในเรื่องของความรักให้กับผู้ฟัง
ประเด็นที่ 2 : การที่เราเลือกเรื่องของคุณแอร์มาออกอากาศ จนถึงนำมาสร้างเป็นละคร Club Friday The Series ถึงแม้เรื่องราวของคุณแอร์จะทำให้มีการพูดถึง และวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้เราตัดสินใจเลือกเรื่องนี้ก็คือ ความสู้ชีวิตของคุณแอร์ ที่เราตั้งใจจะบอกกับทุกคนว่า คนที่เจออะไรมาหนักหนาอย่างคุณแอร์ยังไม่ยอมแพ้ ไม่ทำแท้ง ไม่ฆ่าตัวตาย แล้วก็ยังสามารถกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติได้ ซึ่งน่าจะเป็นกำลังใจให้กับคนที่กำลังประสบปัญหาทุกคน ว่าทุกคนสามารถก้าวข้ามผ่านสิ่งที่หนักหนาในชีวิตได้ และความตั้งใจของเราก็น่าจะประสบความสำเร็จ เพราะหลังจากเรื่องของคุณแอร์ออกอากาศไป มีผู้ชม ผู้ฟังมากมายที่บอกกับพี่ฉอดพี่อ้อยว่า ได้ประโยชน์ในข้อนี้
ประเด็นที่ 3: หลังจากเรื่องราวทั้งหมดได้ออกอากาศไป การที่คุณแม่ คุณแอร์ติดต่อเข้ามาในรายการจริงๆ แล้วคุณแม่ไม่ได้ต้องการพูดออกอากาศ แต่จะมาขอที่อยู่ของคุณแอร์เพื่อตามหาลูก แต่โดยมารยาททางรายการ ไม่สามารถจะให้ได้ เราจึงเปิดให้คุณแม่ ได้พูดกับลูกผ่านรายการของเรา ซึ่งทางรายการก็มีการตรวจสอบเบื้องต้น เช่น เช็กหมายเลขโทรศัพท์ที่คุณแม่บอกว่ายังใช้เบอร์เดิมกับคุณแอร์ ซึ่งก็เป็นหมายเลขเดียวกัน เป็นต้น
ประเด็นที่ 4 : ถ้าหากมีใครคิดได้ว่า ทางรายการของเรา ทีมงานทั้งหมดรวมทั้งพี่ฉอดพี่อ้อย ช่วยกันสร้างเรื่องทั้งหมดขึ้น ตั้งแต่คุณแอร์โทรเข้ามา จนถึงนำไปทำละคร ตลอดจนคุณแม่คุณแอร์โทร.เข้ามา ซึ่งอาจจะหมายถึงเรื่องอื่นๆ ที่ออกอากาศไปอีกมากมาย พวกเรารู้สึกว่า ถ้าเราวางแผนทำได้ขนาดนั้น เราคงเป็นพวก 18 มงกุฎไปแล้ว คงไม่น่าจะใช่ทีมงาน Club Friday
ประเด็นที่ 5 : สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการที่มีใครไปเปิดเพจในชื่อของคุณแอร์ก็ดี เอารูปของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ คุณแอร์ตัวจริงไปใส่ก็ดี หรือเรื่องใดๆ ที่พูดกันอยู่นอกเหนือจากที่เล่ามาทั้งหมดนี้ บอกตรงๆว่าพี่ฉอดกับพี่อ้อย และทีมงานทุกคนก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นใคร คืออะไร และเพื่ออะไร ดังนั้น ถ้ามีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นจากนี้และก่อให้เกิดความเสียหาย เราก็คงต้องหาวิธีจัดการไปตามกฎกติกาหรือกฎหมายต่างๆ
พี่ฉอดกับพี่อ้อยคิดว่า สิ่งที่ได้เล่าให้ฟังมานี้คงจะช่วยไขข้อข้องใจหรือทำให้ทุกคนสบายใจขึ้นนะคะ สุดท้ายขอย้ำว่าทุกสิ่ง อยู่ที่เจตนา และความตั้งใจของพวกเราทีมงาน Club Friday และ Club Friday The Series ทุกคน ขอยืนยันในเจตนาดีที่อยากจะทำงานดีๆ ที่เป็นประโยชน์กับคนดู คนฟังของเราทุกคนค่ะ”
ทั้งหมดนี้คือความจริงจากฝั่งของทีมงาน “อ้อย-นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล” และ “ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา” ซึ่งออกมาแถลงการณ์เอาไว้ในแฟนเพจ “Greenwave fanpage” ลงชื่อเอาไว้อย่างชัดเองว่าคือ “ดีเจพี่ฉอด และ ดีเจพี่อ้อย แห่งClub Friday (Green wave 106.5 FM)”
ตามรอยเรื่องเล่า ยิ่งสืบยิ่งสงสัย!
เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นซีรีส์ “Based on True Story” สร้างมาจากชีวิตจริงของคนที่โทรศัพท์มาเล่าให้ดีเจฟังทางรายการ Club Friday ยิ่งทำให้ผู้คนสนใจ ส่งให้ “Club Friday The Series” ฮิตฮอตติดลมบน โดยเฉพาะตอนที่ชื่อ “หรือรักแท้จะแพ้ความต้องการ” ซึ่งสร้างมาจากชีวิตจริงของ “แอร์” ที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งมีชีวิตตามกรอบที่คุณแม่วางไว้ให้มาตลอด แม้กระทั่งเรื่องความรัก เธอยังตามใจแต่งงานกับผู้ชายที่แม่เลือกมาให้ โดยไม่รู้เลยว่าจะเจอกับชีวิตหลังแต่งงานที่สุดแสนรัดทด!
ใครจะคาดคิดว่าแม่แท้ๆ ของตัวเองจะแอบเป็นชู้กับสามีของลูก หรือจะพูดให้ถูกกว่านั้นคือ จริงๆ แล้วแม่ของแอร์แอบคบกันอย่างลับๆ กับสามีของลูกสาว ก่อนที่จะแนะนำมาให้แต่งงานกับลูกของตัวเองเสียอีก เมื่อแอร์ได้รู้ความจริงจากการใช้กุญแจสำรองไขเข้าไปในห้องคุณแม่ แล้วพบทั้งคู่อยู่เคล้าคลอเคลียกัน เธอจึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านพร้อมอุ้มลูกในท้องไปด้วย แวบแรกเธอคิดจะกระโดดน้ำฆ่าตัวตายแต่ก็ไม่ได้ทำ และพยายามเลี้ยงลูกตามลำพัง
ต่อสู้กับโรคซึมเศร้าที่เกาะกินหัวใจมาหลายปี เรื่องราวของเธอจึงทำให้หลายต่อหลายคนเชิดชูเจ้าของเรื่องในฐานะ “ผู้หญิงแกร่ง” และทำให้คนจำนวนไม่น้อยกดไลค์แฟนเพจ “club my love airr” เพราะคิดว่า “แอร์ Club Friday” คือเจ้าของเพจอย่างที่กล่าวอ้างเอาไว้ แต่ยิ่งตามสังเกตการโพสต์และการลงรูปนานเท่าไร กลับยิ่งพบว่าน่าสงสัยมากขึ้นๆ เรื่อยๆ จนมีมือดีคนหนึ่งตั้งกระทู้ในเว็บบอร์ดยอดนิยมอย่าง “พันทิป” ตั้งข้อสันนิษฐานเอาไว้
ทั้งการโพสต์รูปโชว์หน้าของตัวเองลงในไปแฟนเพจที่อาจทำให้ใครๆ ตามสืบค้นหาตัว “คุณแม่ที่แย่งสามีลูกสาว” ได้ไม่ยาก ซึ่งขัดกับคำให้การของคุณแม่ที่โทร.มาในรายการเพื่อตามหาตัวลูกสาวผ่านวิทยุ ที่บอกเอาไว้ว่า “ขอบคุณที่ลูกไม่ได้เล่าเรื่องทั้งหมด ยังดีที่ไว้หน้าแม่บ้าง” ไหนจะข้อมูลจากผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อ “Aiir Apirati” ที่ออกมาโวยวายในฐานะคนที่ถูกนำรูปมาแอบอ้างในแฟนเพจ สวมรอยว่าเป็น “แอร์ Club Friday”
“นี่น้องแอร์ลูกแม่อ้อยค่ะ ไม่ใช่คนเดียวกับ น้องแอร์ Club Friday!!! ครอบครัวเรารักกันดีค่ะ พ่อแม่ลูกๆพร้อมหน้า กรุณาอย่าเอารูปเราไปทำให้คนอื่นเข้าใจผิดค่ะ ลบรูปซะขอความกรุณาค่ะ”
("แอร์" อีกคนที่ถูกอ้างในแฟนเพจปลอม ออกมาโวยวาย)
นอกจากนี้ ลองย้อนกลับไปดูโพสต์เก่าๆ ยังมีคนในแฟนเพจหลงสงสารจนถึงขั้นโอนเงินสนับสนุนให้ “แอร์ Club Friday” ตัวปลอมมาแล้วนักต่อนัก ขณะนี้คงเหลือหลักฐานให้จับผิดไม่มากนัก เพราะแฟนเพจดังกล่าวได้ปิดตัวหนีปัญหาไปแล้ว เหลือเพียงภาพบางส่วนที่นักสืบพันทิปได้ Capture เอาไว้
จากกรณีนี้ คนจำนวนไม่น้อยอาจยังไม่แน่ใจว่าจะเชื่อใครดี แรกเริ่มที่ทราบว่ามี “แอร์ Club Friday” ตัวปลอมนั้น ส่วนใหญ่ตั้งคำถามเอาไว้ 3 กรณีคือ 1.เรื่องเล่าจากรายการคือเรื่องจริง แต่มีคนทำแฟนเพจปลอมแปลงขึ้นมา 2.เรื่องเล่าจาก “แอร์ Club Friday” เป็นเรื่องลวงผ่านสายโทรศัพท์ และ 3.เรื่องเล่าทั้งหมดคือการจัดฉากของทีมงาน
ซึ่งจากข้อสันนิษฐานกรณีสุดท้ายนั้น ทางทีมงานก็ได้ออกมาโต้แย้งแสดงเหตุผลเอาไว้เรียบร้อยแล้ว บวกกับหลักฐานก้อนใหญ่ มี “คุณแม่ของแอร์” โทร.มาหาทางรายการเพื่อแกะรอยลูกสาวหลังไมค์ แต่ทางรายการไม่สามารถบอกข้อมูลได้ จึงทำได้เพียงให้คุณแม่กล่าวขอโทษผ่านรายการเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
(คลิปเสียง "แม่แอร์ Club Friday" ขอคุยกับลูกผ่านรายการ)
สนับสนุนรายการ แต่เตือนดรามาคนดู!
ลองมองจากสายตาคนนอกดูบ้าง ในฐานะจิตแพทย์ที่อยู่กับเรื่องเล่าของคนไข้มาเยอะอย่าง นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล เจอมาแล้วทั้งเรื่องจริงและเรื่องลวงเกี่ยวกับปัญหาชีวิต มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของทางทีมงาน แต่เป็นกลุ่มมิจฉาชีพปลอมแฟนเพจที่ต้องการฉวยโอกาสมากกว่า
“คนส่วนใหญ่กลัวการมาปรึกษาจิตแพทย์เพราะมีทัศนคติที่ไม่ดี การที่เขาได้สามารถโทร.เข้าไปในรายการวิทยุแบบนี้ อย่างน้อยก็ทำให้เขาได้รู้สึกว่ามีที่พึ่ง และจากที่หมอเคยฟังรายการของดีเจทั้งสองท่าน ทั้งพี่อ้อย-พี่ฉอด ก็มีทักษะในการให้คำปรึกษาที่ดีพอสมควร ให้คนได้มีที่พึ่ง ที่ปรึกษา ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็แนะนำว่าถ้าเกิดปัญหามันหนักมาก ไม่ไหวจริงๆ ก็มาหาแพทย์เถอะครับ
คือพี่อ้อย-พี่ฉอด ไม่สามารถรับแก้ปัญหาได้หมดทุกเรื่องหรอก เพราะหมอเคยฟัง บางท่านถึงขั้นต้องกินยาด้วย หรือมีปัญหาโรคซึมเศร้าที่รุนแรง จะแค่ขอคำปรึกษาอย่างเดียวก็อาจช่วยไม่ได้ทั้งหมด อันนี้ก็แนะนำให้มาพบนักจิตวิทยาที่จะให้คำปรึกษาและให้การรักษาอย่างอื่นควบคู่กันไปด้วย แต่กับเรื่องนี้ หมอคิดว่าการให้คำปรึกษาเบื้องต้นเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้วครับ และปัจจุบันหมอก็มีน้อย การที่มีรายการซึ่งมีคนที่มีทักษะมาช่วยแบบนี้ หมอก็สนับสนุนครับ
ส่วนจะมีคนที่โทร.เข้ามาแกล้งในรายการ มาสร้างเรื่องอะไรมั้ย? ก็อาจจะมีครับ แต่คงเป็นพวกนิสัยไม่ดี เป็นพวกเรียกร้องความสนใจ เป็นปัญหาทางด้านบุคลิกภาพของคนเหล่านี้น่ะครับ แต่ไม่ใช่โรคจิตหรอกครับ และกับเรื่องนี้ ไม่ว่าสุดท้ายเรื่องราวที่เอาไปสร้างเป็นซีรีส์จะมาจากเรื่องเล่าที่เป็นจริงหรือเปล่า หมอก็ไม่โทษรายการนะครับ เพราะเขาก็ทำหน้าที่ของเขาอย่างดีที่สุด
แต่อาจจะต้องระวังนิดหนึ่ง ถ้าจะเอาไปต่อยอดเป็นซีรีส์ ควรจะขออนุญาตคนที่โทร.มาขอคำปรึกษากับทางรายการก่อน ถึงแม้เขาจะไม่ได้เปิดเผยตัวก็ตาม เพราะเวลาเอามาทำเป็นละคร อาจจะมีการแต่งเติม และทุกอย่างก็เป็นดาบสองคมได้ครับ บางทีเรื่องราวที่คนเล่ามาดูน่ารันทดใจมาก มีดรามาปนมาเยอะ ก็ทำให้มีกลุ่มคนที่จ้องจะเข้ามาฉกฉวยโอกาสจากดรามาตรงนี้เพราะรู้ว่ามีคนสนใจเยอะ
อย่างที่เกิดเรื่องแฟนเพจปลอมครั้งนี้ขึ้น ก็เป็นผลมาจากดาบสองคมเหมือนกัน คือการเอามาทำเป็นละคร มาตีแผ่ให้คนเห็นว่าชีวิตมีปัญหาและแก้ไขยังไง ตรงนี้ดีนะครับ แต่พอมีกลุ่มคนเห็นช่องโหว่ สร้างเป็นเพจและหยิบยกเรื่องราวมาอ้าง ทำให้คนอื่นเสียหาย ตรงนี้ก็เริ่มจะไม่โอเคแล้ว อาจจะต้องระวังนิดหนึ่ง
(น้องแอร์ ที่ถูกแอบอ้าง เตรียมแจ้งความ)
เหมือนกับบางที หมอตรวจคนไข้อยู่ แล้วถ้าหมอเอาเรื่องราวไปเล่า เขียนเป็นหนังสือออกมา แล้วมีคนเอาข้อมูลไปทายว่าน่าจะเป็นเรื่องของคนนี้ๆ นะ แบบนี้ก็ทำให้ชีวิตคนไข้มีความเสี่ยงแล้ว เพราะฉะนั้น เวลาหมอจะเอามาเล่า หมอจะเปลี่ยนชื่อคนไข้และดัดแปลงข้อมูลนิดๆ หน่อยๆ เพื่อไม่ให้ใครเดาถูกว่าเป็นเรื่องราวของคนไข้คนไหน
เพราะเวลาหมอให้คำปรึกษาคนไข้ เรื่องราวมันจะอยู่แค่ในห้องตรวจ น้อยมากที่จะเอาไปเล่าต่อ แต่พอเป็นรายการวิทยุปุ๊บ มันก็มีความเสี่ยงเพราะมีการออกอากาศ ถึงคนที่โทร.เข้ามาในรายการจะรู้อยู่แล้วว่าคนอีกเยอะกำลังฟังอยู่ก็ตาม มันเลยเป็นดาบสองคมไงครับ เพราะการให้คำปรึกษาที่ดีที่สุดมันควรจะเป็นแบบส่วนตัว พอมาพูดคุยกันออกสื่อสาธารณะแบบนี้ มันก็เลยเสี่ยง”
ลองให้คุณหมอพูดถึงวิธีการเสพสังคมที่อุดมไปด้วยดรามาอย่างทุกวันนี้ว่าควรรับมืออย่างไรดี ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจึงตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงเย็นๆ
“ถ้าจะดูจะฟังก็ให้ฟังด้วยเหตุผลครับ อย่าใช้อารมณ์เข้าไปปนเยอะเกิน เพราะในชีวิตจริงมันไม่ควรจะต้องดรามาแบบนั้น แต่คนไทยชอบอะไรที่เป็นดรามาไงครับ ชีวิตจะรันทดหรือไม่รันทด มันอยู่ที่มุมมองหรืออารมณ์ของเรามากกว่า ถ้าอินมากไปมันก็จะรู้สึกรันทด หรือกับบางเรื่องเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้ว เป็นเรื่องอดีต ถ้าเราปล่อยวางมันบ้าง ให้อภัยมันบ้าง มันก็จะไม่รุนแรง
สังคมนี้มีคนหลายประเภทครับ ในขณะที่มีแง่ดี แต่ก็จะมีมุมมืดๆ มีกลุ่มคนที่คอยจะใช้ช่องโหว่มาสวมรอย หมอสนับสนุนให้ทำอะไรด้วยความระมัดระวังและไม่ฉาบฉวย การเอาเรื่องจริงมาบอกเล่าแบบนี้ อาจจะช่วยให้คนหันมาสนใจเรื่องราวชีวิตมากขึ้น ได้แชร์ความรู้สึกร่วมกัน คนดูอาจจะรู้สึกว่าชีวิตเขาไม่ได้แย่อยู่คนเดียว ยังมีคนเข้าใจความรู้สึกของเรา แต่ถ้ามีปัญหาชีวิตหนักมากถึงขั้นคิดคนเดียวไม่ไหว บางทีมาพบแพทย์น่าจะยั่งยืนและเสี่ยงน้อยกว่าครับ”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
(เรื่องจริง ที่ถูกเอามาสร้างเป็นซีรีส์ตอน "หรือรักแท้จะแพ้ความต้องการ")
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754