อนาถใจ... คุณป้าวัยเกษียณ 2 ราย กับคุณพ่อวัย 97 ซึ่งมีโรคประจำตัว ต้องถูกขังอยู่ในบ้านของตัวเอง ถูกปิดทางเข้าออกด้วยรั้วสังกะสีที่เจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ประจำชุมชน “เพชรเกษมซอย 15 แยก 5” สร้างขึ้นมา อ้างเดินผ่านเท่ากับรุกล้ำอาณาเขต ใช้ข้อกฎหมายผลักภาระให้คนในบ้านหาทางออกตรงสวนหลังบ้านที่ใช้ไม่ได้จริง
หลายฝ่ายสันนิษฐาน เป็นการจงใจบีบให้อยู่ไม่ได้ เมื่อผู้สูงอายุทั้ง 3 รายไม่อาจทานอำนาจแฝง ผืนดิน “4 ไร่ 57 ตารางวา” แห่งนี้ก็จะตกมาอยู่ในกำมือนายหน้าค้าที่ ทำเลทองใกล้สถานีบีทีเอส “ตลาดพลู” และไม่ห่างจากเส้นรถไฟฟ้าใต้ดินสายจรัญฯ แบบนี้ แหล่งข่าววงในชี้ นี่คือกลยุทธ์กว้านซื้อที่อย่างโหดเหี้ยม โดยมีโครงการบ้านจัดสรรรายใหญ่เป็นอำนาจมืดบงการอยู่เบื้องหลัง!
กั้นสังกะสีปิดตาย อยากผ่านได้ให้ไปฟ้องศาลเอา!
(กั้นรั้วปิดตาย เดินเข้าออกไปซื้อของไม่ได้ ต้องใช้วิธีนี้ประทังชีวิต)
“ตั้งแต่ 30 เม.ย. เขามาปิดสังกะสีกัน ทำงานถึงร่วมๆ 4 ทุ่ม ปิดจนแม้แต่สุนัขยังลอดไม่ได้ แถมล้ำที่สาธารณะด้วย ล้ำคลองเข้ามาด้วย ให้รู้เลยว่าเขาใจร้ายแค่ไหน เหตุผลที่ต้องล้อมรั้วสังกะสี เขาอ้างว่ามันเป็นที่ของเจ้าของที่ เดิมเขามีโครงการจะทำอพาร์ตเมนต์ แต่พอมีปัญหา เขาจะเปลี่ยนมาทำที่จอดรถ แต่ก็ไม่ค่อยมีคนมาจอด แล้วตอนนี้ก็ดึงลูกค้าคนอื่นให้เข้ามาทำพื้นที่ตรงนี้ด้วย เขาไม่ใช่คนที่นี่ค่ะ เป็นเศรษฐีใหม่ที่ไม่รู้เป็นเงาของใครหรือเปล่า อาจเป็นหมู่บ้านใหญ่เป็นแบ็กฯ เขาอยู่
เขาได้ที่ฝั่งข้างหน้าไปหมดแล้ว ถ้าได้ที่ข้างในนี้อีกก็สบายเลย จะได้หมู่บ้านใหญ่มาก ตอนนี้เหลือบ้านครูบ้านเดียวที่ไม่ได้ขายให้ แต่ก็มีคนเตือนๆ มาว่าให้ระวังเขาจะมาบีบซื้อที่ถูกๆ แต่ครูก็ตอบไปว่าเขาไม่ทำหรอก เขามีที่ตั้งเยอะแล้ว และตอนแรกเราก็ไม่คิดว่าเขาจะปิดสังกะสีกั้นเราด้วย เพราะเราคิดว่าเขารวยพอแล้ว พอเขามาปิดเราก็ถามว่าทำไมคุณมาปิด เราเดินมาตั้งแต่บรรพชนเราแล้ว ตั้งแต่สมัยคุณตาเดินแล้ว เขาบอก ทำไมเขาต้องซื้อที่แพงๆ มาให้เราเดิน บอกอยากเดินเหมือนเดิมให้ไปฟ้องศาลเอา”
(ครูกุลธร เล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือบางช่วง)
คุณป้ากุลธร พิเชษฐกิจ ข้าราชการครูวัยเกษียณ อายุ 65 ปี เปิดใจให้ข้อมูลกับทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือในบางช่วง พูดได้อย่างเต็มปากว่าไม่เคยต้องการให้เรื่องราวบานปลายถึงโรงถึงศาล หรือถึงขั้นมีสื่อมวลชนมาลงพื้นที่สัมภาษณ์กันขนาดนี้ แต่ด้วยความปรารถนาดีของลูกศิษย์รายหนึ่งซึ่งชื่อว่า “นพภาณุ ชุติมาเมธี” ได้มารับรู้เรื่องราวโดยบังเอิญในวันที่มาเยี่ยมเยียนคุณครู รับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นไม่ได้ จึงนำเรื่องราวทั้งหมดไปโพสต์ลงเฟซบุ๊ก วอนให้ช่วยกันแชร์ให้ถึงสื่อให้ได้มากที่สุด กระทั่งกลายเป็นประเด็นที่คนสนใจและเห็นใจมากที่สุดในช่วงเวลานี้
“พอดีลูกศิษย์มาเยี่ยม เขาเห็นสะพานไม้อันเก่าที่อาจารย์ทำไว้ มันจะหักแล้ว ลูกศิษย์เขาก็เลยมาทำสะพานให้ ตอนมาทำ คนฝั่งนั้นเขาก็เอาคนมาถ่ายรูป ลูกศิษย์ก็เลยถามว่าอาจารย์มีปัญหาอะไรกันเหรอ ทำไมเขาต้องมาถ่ายรูป จากที่เราไม่เคยเล่าอะไรให้ฟังเลย เราก็เลยบอกเขาไปว่ามันมีเหตุมาจากเรื่องการปิดทางกันตั้งแต่ตอนนั้น ลูกศิษย์เขาก็เลยมองว่ามันรุกล้ำสิทธิกันเกินไปไหม ครูก็บอกเขาไปว่าเราฟ้องศาลไปแล้ว แต่เราแพ้ ล่าสุด เขาก็ฟ้องอาญาครูมา และกำลังจะขึ้นศาลกันอีก ลูกศิษย์ก็เลยเอาเรื่องไปลงเฟซบุ๊ก วอนสื่อให้ช่วย จนกลายมาเป็นเรื่องทั้งหมดนี้แหละค่ะ”
("นพภาณุ" ลูกศิษย์คนนี้ที่มาช่วยทำทางข้ามหน้าบ้าน และแชร์เรื่องราวจนกลายเป็นประเด็นเดือด)
ปกติแล้ว ทางลาดหน้าบ้านซึ่งคนในบ้านได้เทพื้นปูนซีเมนต์ข้ามคลองวัดประดู่เอาไว้ เพื่อให้รถเข็นคุณพ่อ (คุณตาจือ แซ่ซิ้ม) เข้าออกและเดินทางไปรับยาได้ รวมถึงให้เป็นทางรถเข็นผักเพื่อเอาไปขาย เอาเงินมาประทัง 3 ชีวิตในบ้านหลังนี้ แต่หลังจากวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา เส้นทางนี้กลับถูกปิดตาย สะพานไม้ทำหน้าที่ของมันไม่ได้อีกต่อไป เพราะผลการตัดสินข้อพิพาทในชั้นศาลระหว่างเจ้าของที่และบ้านหลังนี้ออกมาว่า เป็นสิทธิของเจ้าของที่ข้างๆ ที่จะสร้างรั้วสังกะสีปิดกั้นพื้นที่ของตน บ้านท้ายซอยหลังนี้ของคุณตาและคุณครูจึงแพ้คดีรวดทั้งศาลชั้นต้น, อุทธรณ์ และฎีกา เมื่อครั้งที่ผ่านมา จนเกิดรั้วสังกะสีสูงกว่า 2 เมตรปิดตายทางเข้าออกและรอบบริเวณอย่างที่เห็น
(สภาพก่อนหน้า-สภาพปัจจุบัน)
ที่น่าเศร้าใจมากคือในระหว่างการก่อสร้าง การปักเสาของช่างในครั้งนั้น คล้ายจงใจกลั่นแกล้งเพราะได้รับคำสั่งมาจากใคร โดยปักเสาที่จะใช้ยึดสังกะสีเอาไว้แทบกึ่งกลางสะพานเชื่อมสู่ประตูทางออกหน้าบ้าน แถมยังทุบผืนซีเมนต์ในพื้นที่ของบ้านตายายออกโดยไม่จำเป็น เพื่อตั้งเสายึดสังกะสีอีกต้นหนึ่งที่อยู่ห่างออกไปเป็นวา ทำให้กีดขวางทางรถเข็นที่เคยเข้าออกได้ แม้ช่วงแรกจะยังไม่ได้ปิดสังกะสีโดยสมบูรณ์ แต่รถเข็นก็เข็นออกไปไม่ได้อยู่ดี ส่งให้พืชผักผลไม้ที่เตรียมเอาไว้ว่าจะไปขายที่ตลาดเสียหายทั้งหมด
(เหตุการณ์วันกั้นรั้ว ทุบซีเมนต์ทิ้ง คล้ายกลั่นแกล้ง)
(ปักเสาค้ำไว้กลางทางข้าม จนรถเข็นไม่สามารถผ่านได้ และปิดตายไปในที่สุด)
ที่หนักกว่านั้นคือผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้านทั้ง 3 ท่านไม่สามารถเดินเข้าออกไปไหนได้ เพราะไม่มีทางออกอื่นให้เดินแล้ว และหากเดินผ่านทางหน้าบ้านไปสู่ต้นซอยตามปกติ ก็จะถือว่าเป็นการบุกรุกพื้นที่ตามกฎหมาย คุณตาและคุณป้าจึงต้องเก็บผลหมากรากไม้ในสวนกินประทังชีวิตเป็นเวลาถึง 16 วันเต็มๆ (20 เม.ย.-6 พ.ค.)
โชคยังดีที่มีคนรู้จักกันจากข้างนอกเข้ามาส่งเสบียงให้ โดยใช้วิธีผูกเชือกเข้ากับหูหิ้วของตะกร้า แล้วโรยข้ามฟากให้อีกฝั่งส่งเสบียงข้ามคลองเข้ามาให้ตามแบบฉบับวิถีลูกเสือ ส่วนคนที่เรียกว่า “เพื่อนบ้าน” ละแวกนี้ ไม่มีแม้เพียงสักคนที่กล้าเข้ามาหยิบยื่นเอาอาหารใดๆ มาช่วยเหลือ ไม่แม้แต่จะมีใครเดินเข้ามาถามสารทุกข์สุกดิบ เหตุเพราะชาวบ้านทุกหลังคาเรือนในชุมชนนี้ต้องเช่าบ้านพักอาศัยและทำมาหากินอยู่บนผืนดินของเจ้าของที่ ซึ่งกลายมาเป็นคู่กรณีกับบ้านสวนหลังนี้ พื้นที่บ้านและสวนรวมจำนวน 4 ไร่ 57 ตารางวาแห่งนี้ จึงเป็นเหมือน “แกะดำ” เป็นผืนดินผืนเดียวที่ยังไม่ถูกครอบครองโดยเจ้าของที่รายใหญ่ประจำเพชรเกษมซอย 15 แยก 5
(อยู่รอดได้ 16 วันในบ้านปิดตายด้วยน้ำใจจากคนนอกชุมชน)
ปัจจุบันนี้ ที่เห็นว่าหน้าบ้านของคุณตาคุณยายเปิดโล่ง ไม่มีสังกะสีมากั้นอิสรภาพนั้น เป็นเพราะศาลมีคำสั่ง “คุ้มครองชั่วคราว” ให้เปิดทางกั้นให้ได้หายใจหายคอ เมื่อวันที่หมายมาถึง เจ้าหน้าที่ส่งหมายศาลมาให้ แต่ไม่สามารถเซ็นรับส่งเอกสารกันได้ จึงโทร.ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ท่าพระ มาช่วยเปิดช่องเล็กๆ ของสังกะสีให้ ขณะที่ทนายของทางคู่กรณีมาถ่ายรูปเก็บเป็นหลักฐานเอาไว้ และนำมาใช้แจ้งข้อกล่าวหาบุกรุกและทำลายข้าวของให้เสียหายในศาลอาญา ซึ่งจะขึ้นศาลเริ่มสืบพยานกันวันที่ 20 ก.ค.นี้
(ขอหมายศาลคุ้มครอง เอาสังกะสีออกเพื่อให้ติดต่อกับคนภายนอกได้บ้าง)
(เจ้าของสังกะสีรื้อถอน หลังบ้านหลังนี้ได้รับ "หมายศาลคุ้มครองชั่วคราว")
ย้อนกลับไปในช่วงวิกฤต ผู้สูงอายุ 3 คนต้องถูกจำกัดอิสรภาพ ออกไปไหนไม่ได้เป็นเวลา 16 วันเต็มๆ ยารักษาโรคประจำตัวของคุณตาก็หมด เรียกได้ว่าถ้าไม่มีหมายคุ้มครองชั่วคราวจากศาลและเรื่องราวยังไม่เดินทางมาถึงสื่อมวลชน ป่านนี้ชีวิตของคนตัวเล็กๆ บนพื้นที่แห่งนี้จนเป็นตายร้ายดีอย่างไรบ้างก็ไม่อาจรู้ได้เลย
(สภาพหน้าบ้าน ณ ขณะนี้)
“ปกติก็จะมี กล้วย มะม่วง ชมพู่ ตำลึง กะเพรา หัวปลี ใส่รถเข็นจากในสวนไปขาย แต่ช่วงที่ถูกปิดตายก็ได้ใช้พวกเขาแหละค่ะมาเป็นอาหารอย่างดีที่สุด (น้ำตาคลอ) ทั้งหมดนี้แหละค่ะที่ใช้เลี้ยง 3 ชีวิตในบ้านนี้จนรอดมาได้”
พื้นที่สีเทาใน “เพชรเกษม ซ.15”
(สภาพเส้นทางหลังสวนที่สัญจรไม่ได้อีกต่อไป)
ทางทนายคู่กรณีกล่าวอ้างว่าบ้านหลังนี้ไม่ใช่ “ที่ตาบอด” ที่มีทางเข้าออกเพียงทางเดียว แต่ยังมีทางออกอีกทางบริเวณสวนหลังบ้าน สามารถสัญจรเข้าออกได้แทนทางเข้าออกหน้าบ้านได้ เพื่อความเป็นกลาง ทางทีมข่าวจึงลงพื้นที่เดินสำรวจเส้นทางดังกล่าวว่ามีสภาพตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ จนได้พบกับทางเดินที่ลำบากยากเข็ญ เต็มไปด้วยรากไม้น้อยใหญ่ สิ่งกีดขวางนานาพันธุ์ แถมยังมีลำน้ำเล็กๆ แบ่งคั่นระหว่างทางให้ต้องหาแผ่นไม้ละแวกนั้นมาเป็นสะพานข้ามชั่วคราว ให้ข้ามไปได้อย่างกระท่อนกระแท่น เมื่อข้ามไปก็จะพบกับบ้านร้างหลังหนึ่งที่ชาวบ้านอ้างกันว่ากลัวเป็นแหล่งมั่วสุมของคนแปลกหน้า
(ทีมข่าวสำรวจพื้นที่ทางออก เต็มไปด้วยทางกันดาร)
(ต้องห้ามลำน้ำ ไม่ง่ายแน่ๆ สำหรับผู้สูงอายุทั้ง 3)
จากข้อมูลที่ฝั่งคู่กรณีอ้างว่าเส้นทางนี้คือ “ทางสัญจรสาธารณะ” ตามข้อกฎหมาย สามารถเข้าออกได้โดยทางเรือนั้น ไม่เป็นจริงในภาคปฏิบัติแม้แต่นิดเดียว เพราะมันได้กลายเป็นแหล่งน้ำเน่าส่งกลิ่นโชย เป็นทางระบายน้ำเสียของ กทม.ไปเรียบร้อยแล้ว ไม่สามารถสัญจรทางน้ำได้ หรือแม้แต่จะสัญจรด้วยทางเดินยังเต็มไปด้วยความยากลำบาก แม้กระทั่งทีมข่าวที่ยังเป็นวัยทำงาน มีสุขภาพและกำลังกายที่ดี ยังหัวหกก้นขวิดกับเส้นทางกันอยู่พอสมควร ไม่ต้องพูดถึงผู้สูงอายุอีก 3 ราย อีกคนมีปัญหาเรื่องขา อีกคนคือคุณตาที่เดินไม่ไหว ไม่มีทางจะเข็นรถเข็นผ่านไปในเส้นทางนี้ได้อย่างแน่นอน
(ทางแคบ แถมเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวาง ไม่มีทางสำหรับรถเข็น)
บวกกับพื้นที่รกร้างติดทางออกเป็นของเจ้าของที่ ซึ่งรู้กันว่าใครเดินผ่านเป็นต้องสุ่มเสี่ยงต่อข้อหาบุกรุกสถานที่ เส้นทางนี้จึงไม่มีใครใช้เข้าออกได้มานานแล้ว แถมล่าสุด ลูกบ้านซึ่งอยู่อาศัยแถวนั้นก็ล็อกกุญแจทางออกด้านหลังนี้เอาไว้เสียแล้ว บ้างก็วิจารณ์กันว่าเป็นเพราะการบุกสำรวจของทีมสื่อมวลชน จึงทำให้ลูกบ้านซึ่งเช่าพื้นที่เจ้าของที่อยู่ ออกมาช่วยเป็นหูเป็นตา
“เข้ามาทำอะไรกันน่ะ” เสียงเข้มๆ ของหญิงวัยกลางคนลอยส่งตรงมาถึงทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ขณะเดินสำรวจพื้นที่ เมื่อได้ทราบข้อมูลว่าเป็นการลงพื้นที่สำรวจความจริงของผู้สื่อข่าว พร้อมมีกล้องตัวเล็กๆ ติดตัวมาถ่ายภาพเคลื่อนไหวด้วย เจ้าของเสียงเข้มคนเดิมจึงมีมีท่าทีอ่อนลงและยอมให้ข้อมูลกับทีมข่าว โดยเฉพาะข้อมูลสำคัญที่ว่า เหตุใดทางออกทางนี้จึงไม่สามารถเข้าออกได้ เพราะเธอเป็นผู้ปิดล็อกประตูเอาไว้เอง! และนี่คือข้อมูลจาก วาสนา บุญมีรอด คนคุมกุญแจทางออกด้านคลองประปา เพื่อนบ้านเรือนเคียงซึ่งอยู่ที่นี่มากว่า 30 ปี
("วาสนา" เพื่อนบ้านละแวกนั้น ผู้กุมกุญแจทางออกด้านหลัง)
“เวลามีคนเข้ามา เราก็จะตะโกนถามแบบนี้แหละว่าเข้ามาทำอะไรกัน เราก็อาศัยวิธีคอยระวังเอา ถ้าได้ยินอะไรก็คอยออกมาดู ที่ผ่านมาก็มีกลุ่มคนเมามาป้วนเปี้ยนแถวนี้ มีมาปีนเข้าหลังบ้านห้องแถวก็มี เราจะทำอะไรก็วิตกกังวล จะนั่งจะนอนดูทีวี เราก็ไม่เป็นอันนั่งอันนอน ก็เลยเป็นคนปิดล็อกไว้เอง และจริงๆ กะจะปิดล็อกตั้งนานแล้วแหละ แต่ยังหาช่างไม่ได้ พอดีเมื่อ 2-3 วันก่อนช่างเขาว่าง เขาก็เลยมาทำให้
บ้านนั้นก็เป็นคนมักคุ้นในซอยเดียวกัน เราก็เห็นใจลึกๆ แล้ว แต่โดยรวมเราก็ช่วยเหลืออะไรเขาไม่ค่อยได้ แต่ถ้าที่หน้าบ้านเขาออกไม่ได้ แล้วให้เขามาออกทางนี้ (ลัดสวนด้านหลัง ข้ามลำน้ำ ทะลุมาออกทางกันดาร ประตูคลองประปา) มันก็ผ่านที่คนอื่นเหมือนกัน และตามหลักแล้วมันก็ออกไม่ได้ นอกจากว่าถ้าทางเขตจะมาทำทางให้ ทางคู่กรณีของบ้านนั้นที่บอกจะให้เขามาออกทางริมคลองตรงนี้ มันก็ไม่มีทางให้ออกหรอก อันนี้ตามความคิดเห็นของเรานะคะ แต่ถ้ามากกว่านี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะยังไง
(ล็อกกุญแจด้านหลัง กลายเป็นทางปิดตายอีกแห่ง ใครฝืน เตรียมรับข้อหาบุกรุก)
นี่ถ้าเดินเลาะมาจากสวนหลังบ้านเขา เลาะมาออกทางนี้ คงรู้แล้วว่าเดินลำบาก อยู่มา 30 ปีแล้ว น้ำในคลองก็เป็นสภาพนี้แหละ (ไม่สามารถสัญจรเข้าออกเป็นทางสาธารณะได้) เราก็เห็นใจเขาแหละ แต่เราอยู่อย่างนี้ เราก็ไปวิ่งเต้น ช่วยอะไรเขาไม่ได้ แต่ก็มีคนมาถามเป็นระยะๆ นะ บ้านไหนก็ต้องมีทางออกที่เป็นอิสระเป็นของตัวเอง ถ้าจะให้ผ่านที่คนอื่นประจำมันก็คงไม่ได้ ที่ปิดล็อกประตูไว้เพราะถ้าเกิดใครเข้ามาบริเวณนี้ เราก็สามารถขับไล่ บอกว่าบุกรุกได้ เป็นการบุกรุกพื้นที่เจ้าของที่เขา ซึ่งเราก็ไม่รู้จักชื่อเขา”
(ทางออกเล็กๆ ซึ่งสรุปได้ว่าไม่สามารถใช้เป็นเส้นทางเดินเท้าที่เหมาะสมได้จริง)
เมื่อทางทีมข่าวลองเข้าไปติดต่อที่ “สุนทรี อพาร์ทเม้นท์” ซึ่งชาวบ้านพูดเป็นเสียงเดียวว่าเป็นเจ้าของที่ ก็พบเพียงผู้ดูแลอพาร์ทเมนท์ที่บอกให้ไปติดต่อขอข้อมูลสัมภาษณ์กับทางฝ่ายเนติซึ่งอยู่ละแวกเดียวกัน แต่เมื่อเข้าไปติดต่อในเวลาเกือบ 18.00 น. ในวันทำการ กลับพบว่าสำนักงานปิดไปแล้ว
(ทีมข่าวเข้าสอบถาม "สุนทรี อพาร์ทเม้นท์" ผู้ถูกเรียกว่า "เจ้าของที่" ทั้งหมดในย่านนี้)
เมื่อเดินกลับมายังอพาร์ทเมนท์อีกทีภายในระยะเวลาไม่นาน ปรากฏว่าผู้แนะนำคนเดิมพร้อมอยู่บนรถที่สตาร์ทเครื่อง กำลังจะกลับบ้านแล้ว ทีมข่าวจึงขอเบอร์ติดต่อทางฝ่ายเนติเพื่อสอบถามถึงเจ้าของและคนรับผิดชอบที่จะให้ข้อมูลได้ ผลปรากฏว่าคำตอบที่ได้คือต้องติดต่อทางเนติเท่านั้น และปกติแล้วเนติจะปิดทำการเวลา 17.00 น. ก่อให้เกิดความสงสัยแก่ทีมงานเป็นอย่างมากว่า ในเมื่อช่วงเวลาที่ทางทีมข่าวไปสอบถาม คือช่วงเวลาที่เลยเวลาทำการมาเกือบชั่วโมงแล้ว เหตุใดเจ้าหน้าที่คนนี้จึงไม่บอกเวลาปิดทำการเสียตั้งแต่แรก คล้ายมีลักษณะส่อพิรุจน์บางอย่าง
(สำนัก เนติฯ ที่สามารถให้ข้อมูลได้ ปิดทำการ)
สุดท้าย เจ้าหน้าที่คนเดิมจึงยอมเปิดปากพูดว่า “พี่พูดตรงๆ นะ พี่ไม่รู้เรื่อง พี่มีหน้าที่คอยดูแลอพาร์ตเมนต์ตรงนี้เท่านั้นเอง” ด้วยท่าทีที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่อยากยุ่งเกี่ยวเรื่องนี้มากนักเพราะเกรงว่าจะเดือดร้อนในภายหลัง ไม่ต่างไปจากชาวบ้านละแวกนั้นซึ่งเช่าอาศัยตึกของเจ้าของที่อยู่ ที่ไม่ค่อยอยากเปิดปากให้ความคิดเห็นอะไรเท่าใดนัก และนี่คือข้อมูลจาก วีระพล ภูครองทุ่ง เจ้าของร้านอาหารตามสั่งวัย 60 ปี ซึ่งค้าขายอยู่ในพื้นที่มากว่า 20 ปีแล้ว
(ปากคำเพื่อนบ้าน "วีระพล" ร้านอาหารตามสั่ง)
“เขามีเรื่องอะไรกันเราก็ไม่รู้ มารู้ข่าวอีกทีก็ตอนที่เขาฟ้องร้องกันเรียบร้อยแล้ว และตอนนี้เราก็รู้แค่ผิวเผินนะว่าเขามีเรื่องกับเจ้าของที่ดินแถวนี้ เป็นเจ้าของที่ สุนทรี อพาร์ทเม้นท์ เเละเป็นเจ้าของที่ของที่นี่ บ้านแถวนี้เป็นของเขาหมด
ส่วนตัวในความรู้สึกเราก็ไม่เข้าข้างใครนะ เพราะเราก็ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางว่าเขาเคยมีปัญหาอะไรกันมาก่อนหรือเปล่า ส่วนที่เขามีคนสูงอายุ 3 คนอยู่ในนั้น อันนี้เราก็ไม่รู้มาก่อน เพราะเขาก็ไม่ได้มาคลุกคลีกับคนข้างนอก จะมีบ้างก็นานมาแล้วที่ออกมาซื้อของกินร้านผม แล้วที่เขาเข็นรถเข็นมาขายของผมก็ไม่เห็นนานแล้ว กับเรื่องที่เขามาปิดรั้วสังกะสีอันนี้เราก็ไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย อันนี้เราไม่ค่อยรู้”
เบื้องหลังรั้วปิดตาย “บ้านจัดสรร” ทุนหนารอทุ่มซื้อ!!?
(วงกลมสีแดง คือบ้านคุณครูและคุณตา ซึ่งกลายเป็นทำเลทองที่ถูกเพ่งเล็ง เตรียมทำเป็นคอนโด-บ้านจัดสรร)
แหล่งข่าววงในผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม ให้ข้อมูลกับทีมข่าวเอาไว้ว่า นายทุนผู้กว้านซื้อที่ครั้งนี้คือยี่ปั๊วขายลอตเตอรี่รายใหญ่บริเวณวงเวียนใหญ่ใกล้กับเมอรีคิง มีถึงขั้นหลุดปากออกมาว่าผู้อยู่เบื้องหลังรายใหญ่สุดคือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ขึ้นต้นชื่อด้วยตัวอักษรย่อ “ส”
“โครงการนี้ก็คงไม่หนีคอนโด เพราะตรงนั้น รถไฟฟ้าใต้ดินกับบนดินมันจะประสานกัน และตรงนั้นมันก็มีคอนโดอยู่แล้วด้วย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ติดกับสวนของป้าแก”
เมื่อทราบว่าศึกครั้งนี้อาจกำลังสู้อยู่กับอำนาจเงิน-อำนาจทุนระดับบิ๊กเบิ้มอยู่ รณรงค์ ไชยยันบูรณ์ ผู้รับเหมางานสื่อสารวัย 40 ปี หนึ่งในลูกศิษย์คุณครูจึงขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า
“สิ่งที่ผมอยากฝากถึงนายทุนเลยก็คือ ก่อนที่คุณจะกว้านพื้นที่ไปทำอะไรคุณต้องมองในส่วนของคนที่เขาอยู่มาก่อน ต้องถามความสมัครใจเขา และยื่นไมตรีให้กันด้วยความเข้าใจกัน เพราะคนข้างหลังเขาอาจมอบอะไรให้คุณได้เยอะ ไม่อยากให้คุณคิดว่าคุณมีเงินแล้วจะทำอะไรกับใครเขาก็ได้หมด และผมในฐานะที่เคยไปรับเหมางานมาหลายๆอย่าง ตามบ้านจัดสรร ส่วนมากลูกบ้านหรือคนที่จะมาซื้อที่ก็จะแฮบปี้นะว่าข้างหลังเป็นสวน มีบ้านไม้ บ้านเก่า มีอะไรให้อุ่นตาอุ่นใจ ไม่ใช่มีแต่ปูน ซึ่งผมกล้าท้าได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แทบจะทุกหลัง คนจะชอบมาก
("รณรงค์" ศิษย์วัย 40 หนึ่งในผู้มาเยี่ยมอาจารย์)
ถ้าหาที่ แล้วเจอที่ที่ติดริมสวน อย่างเช่น หมู่บ้านกลางเมืองเส้นราชพฤกษ์ ตอนเขาจะก่อสร้าง เขาทำทางประตูเปิดให้ชุมชนหรือบ้านหลังนี้หลังเดียวเป็นทางเหมือนภาวะจำยอมเลยนะ เขาก็ยังทำให้ ไม่เห็นจะต้องขึ้นศาลอะไรกันมากมายเลย และผมว่าหมู่บ้านดีๆ เขาก็มีเยอะนะ หรือบางทีนายทุนเขาจะสร้างห้างฯ เขายังคิดเลยว่า ตัวเองจะไปสร้างตัดชุมชนของคนที่อยู่มาก่อนไหม ถ้าตัดเขาก็ยอมให้คนในชุมชนผ่านในตัวห้างเพื่อเขาถึงชุมชนก็มี ผมมองว่าคนเราบางทีต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกันนะครับ
ผมกับเพื่อนๆ กำลังจะรวมตัวกันช่วยอาจารย์ กำลังจะรวบรวมเสียงกัน แล้วรอดูว่าทางศาลจะทำยังไงต่อไป ถ้าสมมติว่าชนะคดี ผมคงดีใจกับอาจารย์ด้วยว่าสังคมนี้ยังมีความยุติธรรม แต่ถ้าแพ้ก็นับว่าสังคมเรามันเลวร้ายมาก เพราะเราจะไม่สามารถพึ่งพาอาศัยกับใครได้อีกต่อไป ยังไงเราก็เป็นคนไทย ยังต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แล้วยิ่งมาเป็นอาจารย์ที่สอนเรา ยังไงเราก็ยิ่งต้องตอบแทนพระคุณท่านครับ”
("ฉัตรชัย ศิษย์อาจารย์อีกคน ขอร่วมแสดงความคิดเห็น)
“ที่เกิดเรื่องแบบนี้เพราะนายทุนคงจะลืมนึกถึงศีลธรรมและหลักมนุษยธรรมว่าเมืองไทยคือเมืองพุทธ แล้วเรื่องพวกนี้เวรกรรมมันมีจริงนะ ถ้าเกิดว่าเป็นคนในครอบครัวของเขาโดนแบบนี้ล่ะ เขาจะทำยังไง จะรู้สึกยังไง แล้วผมมองว่า ถ้าจะเอาที่ดินตรงนี้สร้างเป็นอะไร อยากให้มาคุยกันดีๆ มาเจรจากันดีๆ อาจจะตกลงว่า ถ้าซื้อตรงนี้แล้วทำบ้านให้ท่านอยู่ หรือจะแบ่งส่วนไว้ส่วนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเอาทั้งหมด ตรงนี้ผมว่าน่าจะหาทางอยู่ร่วมกันได้ แต่นี่มันไม่มีการเจรจากันเลย แล้วถ้าตกลงกันแล้วอาจารย์บอกว่าจะไม่ขาย อันนี้ก็ต้องให้สิทธิ์แกก่อน
อาจารย์ท่านก็อยู่ตรงนี้มาตั้งแต่เด็ก หลายสิบปีแล้วที่ท่านเดินทางนี้ตลอด แล้วอยู่ๆ มาเจอแบบนี้ มันหดหู่ใจนะ ทำไมเมืองไทยมีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ แต่นี่เป็นคนแท้ๆ ทำไมถึงไม่มีอะไรที่จะคุ้มครองเขาบ้าง สังคมไทยมันควรจะมีอะไรออกมาให้เป็นมาตรฐานมากกว่านี้” ฉัตรชัย คงเกษม ลูกศิษย์อาจารย์วัย 40 ปี ร่วมแสดงความคิดเห็น
ลือว่ามีอิทธิพลไม่น้อย แม้แต่เรื่องราวที่ถูกนำไปแชร์ตามเว็บไซต์และเว็บบอร์ดต่างๆ ยังหายไปชั่วพริบตา สำนักข่าวบางแห่งที่มาลงพื้นที่ถ่ายทำ สัญญาเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะทำรายการตีแผ่ช่วยเหลือความจริง สุดท้ายก็ยังต้องถูกระงับเทปไป ไม่ทราบว่าเป็นเพราะคำสั่งจากผู้มีอิทธิพลฝั่งไหนหรือไม่ เหลือเพียงสำนักข่าวไม่กี่รายเท่านั้นที่ยังคงกล้านำเสนอความจริงต่อไป และนี่แหละคือความหวังสุดท้ายแล้วจากปากครูสุนีย์และครูกุลธร สองพี่น้องตระกูลพิเชษฐกิจ
(ครูสุนีย์-ครูกุลธร อดีตครูวัยเกษียณ วอนขอความเป็นธรรม)
“จริงๆ แล้วเราไม่ได้อยากให้เรื่องถึงขั้นขึ้นศาล ออกสื่อแบบนี้เลย จริงๆ แล้วก็แค่อยากให้เขาเปิดทางให้เราเดินออกได้ แล้วก็จบเรื่องไป เราไม่เคยคิดจะทะเลาะกับใคร เราอยู่อย่างสงบ อยู่อย่างสันติมาตลอด ชีวิตเราค่อนข้างจะเรียบร้อย รักสงบ เป็นมิตรกับทุกคน ไม่เคยคิดร้ายกับใคร และอีกคนหนึ่งก็ขาไม่ดี (ชี้ไปทางครูกุลธร ซึ่งเป็นน้องสาว) ถ้าจะต้องให้ไปปีนป่าย มันคงเป็นไปไม่ได้ ในเมื่อตรงนี้เดินกันมาตั้งแต่เกิด จนทางมันดี เป็นทางคอนกรีต แค่อนุเคราะห์ให้เราออกไปได้ เขาน่าจะเมตตาหรือให้เราได้โดยที่เขาไม่ได้เสียอะไรเลย เพราะมันเป็นทางเดินประจำอยู่แล้ว เราไม่ได้ไปเบียดเบียนเขาทำมาหากิน หรือไม่ได้ขอร้องให้เขาไปลงทุนสร้างทางใหม่ให้เรา เปล่าเลย...
ใครอาจจะคิดว่าเงินคือสิ่งที่จะพัฒนาชีวิตและคน จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ คุณธรรมต่างหาก จริยธรรมของคนที่รัฐบาลเรียกร้องกันนัก คนที่มีคุณสมบัติ 12 ประการที่ท่านนายกฯ ต้องการ ถ้าอยากได้ต้องสร้างแล้วค่ะ ถามว่ากลัวไหม...กลัว กลัวว่าเราจะยืนอยู่บนผืนแผ่นดินเล็กๆ นี้ไม่ได้อย่างสงบสุข กลัวว่าคนที่มีอำนาจเงินจะเข้ามามีอิทธิพลเหนือทุกอย่าง ทั้งสังคม วัฒนธรรม ศีลธรรม สร้างความแตกแยกในสังคมจากจุดเล็กไปจุดใหญ่ มันจะกลายเป็นรากฐานของความร้าวฉานของสังคม มันจะไม่มีความเจริญแน่ๆ
(ลูกศิษย์แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนไม่ขาดสายหลังทราบข่าว)
เหตุการณ์น่ากลัวๆ ก็เคยมีเหมือนกันค่ะ ช่วงกลางคืนมีเสียงเหมือนคนเอาลูกอิฐมาโยน-มายิงใส่สังกะสีบ้าน หมามันก็เห่า บางทีขว้างบ้านเราก่อน แล้วขว้างหมาต่อก็มี ตอนแรกๆ ก็กลัวมา คิดว่ามันเกิดอะไรกับบ้านเราเหรอ ใครจะมาทำร้ายเราเหรอ เพราะบ้านเรามีแต่คนแก่ รั้วสุดท้ายมีแต่บ้านเรา ถ้ารั้วมันปิดหมดแล้ว เกิดอะไรขึ้นมาไม่มีใครรู้เลยนะ
ตอนนี้ละแวกบ้านแถวนี้เขาก็ไม่อยากจะยิ้มกับเรา เพราะพวกเขาเช่าบ้านของเจ้าของที่อยู่ แถมบางคนยังทำหน้าที่เป็นสายลับให้ด้วย ถ่ายรูปให้ตลอด คนที่มาช่วยทั้งหมด ที่เอาเสบียงมาให้ตอนปิดตายก็อยู่ซอยตรงข้ามหมดเลยค่ะ ไม่ได้อยู่ในอาณัตินี้ เพราะคนในพื้นที่แถวนี้ไม่กล้ามาสุงสิงกับเรา ทั้งๆ ที่เป็นคนที่เคยให้เราเซ็นค้ำประกันรถก็เคย เซ็นกู้เงินให้ลูกเรียนให้เขาก็มี
สุดท้าย ในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะทนายความหรือจำเลย ขอให้มีความเป็นจริง พูดกันอย่างตรงไปตรงมา อย่าใช้ข้อมูลที่บิดพริ้วเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เท่ากับเป็นการจรรโลงระบบกระบวนการยุติธรรมให้มั่นคงแข็งแรง ขอให้ใช้ทั้ง “นิติศาสตร์” และ “นิติธรรม” อย่าตัดสินแค่จากตัวบทกฎหมายด้วยค่ะ
ความหวังของเราคือเราน่าจะได้รับความเมตตาจากศาลเท่านั้นเองค่ะ ถ้าเราชนะคดี เราก็จะเดินได้ตามปกติ เขาก็ไม่ได้เสียหายอะไร แต่ถ้าเขาชนะ บรรยากาศมันจะน่ากลัวกว่าเดิมเพราะอำนาจเขาจะสูงขึ้น ประมาณว่าแม้แต่สื่อมาแล้วก็ยังทำอะไรฉันไม่ได้ ทำอะไรในศาลไม่ได้ อำนาจแฝงก็อาจจะเพิ่มขึ้นด้วยในพื้นที่ละแวกนี้”
(คุณพ่อ "จือ แซ่ซิ้ม" วัย 97 ปี)
(กระดานเตือนใจ ในบ้านของ 2 ป้า 1 ตา หลังนี้)
คลิป ลงพื้นที่ พิสูจน์อำนาจเงิน!
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
ภาพและคลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
นักข่าว-พิธีกรภาคสนาม: ปิยะนันท์ ขุนทอง, ธิติ ปลีทอง
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754