"อย่ารังแกธรรมชาติ เพราะธรรมชาติจะโกรธและลงโทษในที่สุด" พระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเตือนพสกนิกร คล้ายกังวานอยู่ในใจของเจ้าหน้าที่ทุกคนในมูลนิธิชัยพัฒนาเสมอ
ภาพของบึงน้ำขนาดใหญ่กว้างสุดสายตา ใครบางคนกำลังนั่งเอนกายพักผ่อนใต้ร่มไม้ริมน้ำ ไกลออกไปใครบางคนกำลังปั่นจักรยานไปตามทาง โดยมีกังหันลมขนาดใหญ่และสระน้ำกว้างเป็นฉากหลัง ที่นี่คือ “สระเก็บน้ำพระราม 9” หนึ่งในโครงการพระราชดำริ ของมูลนิธิชัยพัฒนา ที่วันนี้กลับมาได้รับการพูดถึงในวงกว้างอีกครั้งหลังจากที่สมเด็จพระเทพรัตรราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาฯ พระราชทานให้นำน้ำไปใช้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ชาวปทุมธานี และหากเมื่อมองไปถึงอดีตที่ผ่านมา “สระน้ำ หรือ แก้มลิง” แห่งนี้ ล้วนมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับวิกฤตน้ำในหลายๆ ครั้งมาโดยตลอดเช่นกัน
ภาพพื้นที่ลุ่มรกร้างปกคลุมไปด้วยวัชพืช เป็นสิ่งที่ผู้คนในละแวกนี้คุ้นเคยกันเมื่อราว 20 กว่าปีก่อน เดิมที่ดินบริเวณโครงการสระเก็บน้ำพระราม9เป็นพื้นที่สงวนไว้ใช้ในราชการของสามหน่วยงานรัฐ ได้แก่กรมประชาสงเคราะห์ กรมแรงงาน และกรมการศึกษานอกโรงเรียน ตั้งอยู่ระหว่างคลองระบายน้ำรังสิต 5 และคลองระบายน้ำรังสิต 6 ที่อำเภอคลองหลวง และอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานีมีสภาพเป็นที่ลุ่มและใช้ทำนา พื้นที่โดยรอบกินบริเวณกว้างและมีบ้านเรือนราษฎรปลูกอาศัยอยู่ตามแนวริมคลองด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของพื้นที่ โดยในช่วงฤดูแล้งพื้นที่นี้จะประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตรและการอุปโภคบริโภคในทุกปี
ต่อมากระทรวงการคลังได้ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายที่ดินดังกล่าวในนามมูลนิธิชัยพัฒนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีพระราชดำริให้ก่อสร้างสระเก็บน้ำพระราม 9 ขึ้นบนพื้นที่แห่งนี้
ทั้งนี้ หลายคนมักสับสนระหว่างบึงพระราม 9 กับสระเก็บน้ำพระราม 9 ซึ่งความจริงแล้วเป็นคนละโครงการกัน บึงพระราม 9 มีจุดประสงค์เพื่อบำบัดน้ำเสียในคลองลาดพร้าว ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบกับทางกรุงเทพมหานคร ส่วนสระเก็บน้ำพระราม 9 ที่ตั้งอยู่ระหว่างคลองระบายน้ำรังสิต 5 และรังสิต 6 อำเภอคลองหลวง และอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี แห่งนี้ มีจุดประสงค์หลักคือใช้ในการกักเก็บน้ำอย่างไรก็ตาม แม้ทั้งสองโครงการนี้จะเป็นคนละส่วนกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ล้วนเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยกันทั้งสิ้น
“สำหรับจุดประสงค์หลักของโครงการสระเก็บน้ำพระราม 9 นั้นก็เพื่อใช้เป็นแก้มลิงขนาดใหญ่ คือ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ในยามที่มีภัยพิบัติ และไม่มีภัยพิบัติ ด้วยการจัดเตรียมพื้นที่กักน้ำไว้ โดยในยามที่มีน้ำมาก ก็เก็บกักไว้ ไม่ให้น้ำไปท่วมในพื้นที่อื่นๆ ปล่อยน้ำส่วนเกินไหลลงทะเลไป ส่วนในยามแล้ว เราก็จะปล่อยน้ำหลักออกไปแจกจ่าย นี่เองเราจึงเรียกว่าแก้มลิง เพราะจะคล้ายกับพฤติกรรมของลิง เมื่อได้อาหารมามาก ก็จะเก็บอาหารไว้ในกระพุ้งแก้ม หลังจากนั้นค่อยนำอาหารออกมากินในตอนหลัง" นายลลิต ถนอมสิงห์ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา อธิบาย หลังจากถามถึงภารกิจหลักของสระเก็บน้ำแห่งนี้
ทั้งนี้ สระเก็บน้ำพระราม 9 ถือเป็นแก้มลิงขนาดใหญ่ โดยแก้มลิงจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามขนาด ได้แก่
1. แก้มลิงขนาดใหญ่ คือ สระน้ำหรือบึงขนาดใหญ่ ที่คอยเก็บกักน้ำฝนจากพื้นที่บริเวณนั้นๆ เป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะระบายลงสู่ลำน้ำ เพื่อเป็นพื้นที่ชะลอน้ำหรือพักน้ำ ไว้ใช้ในยามแล้ง หรือใช้เป็นพื้นที่รับน้ำในยามอุทกภัย
2. แก้มลิงขนาดกลาง เป็นพื้นที่ชะลอน้ำที่มีขนาดเล็กกว่าแก้มลิงขนาดใหญ่ ซึ่งได้มีการก่อสร้างในระดับลุ่มน้ำ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ธรรมชาติ เช่น หนอง บึง คลอง เป็นต้น
3. แก้มลิงขนาดเล็ก คือ แก้มลิงที่มีขนาดเล็ก อาจเป็นพื้นที่สาธารณะ อย่าง สนามเด็กเล่น ลานจอดรถหรือสนามในบ้าน ซึ่งต่อเข้ากับระบบระบายน้ำหรือคลอง
ปัจจุบันหลังมูลนิธิชัยพัฒนาได้ส่งคืนพื้นที่บางส่วนคืนให้กรมธนารักษ์เนื่องจากมีราษฎรอาศัยอยู่ในพื้นที่ ทำให้สระเก็บน้ำพระราม 9มีเนื้อที่คงเหลืออยู่ราว2,593 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา เมื่อมองโดยรอบมีลักษณะของโครงการเป็นสระเก็บน้ำขนาดใหญ่ แบ่งออกเป็น 2 สระด้วยกัน คือ
สระเก็บน้ำที่ 1 มีพื้นที่ประมาณ 790 ไร่ ความจุประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม. ใช้รับน้ำจากคลองระบายน้ำรังสิต 6
สระเก็บน้ำที่ 2 มีพื้นที่ประมาณ 1790 ไร่ ความจุประมาณ 11.1 ล้าน ลบ.ม. ใช้รองรับน้ำจากคลองรังสิต 5 นอกจากนี้พื้นที่โดยรอบสระเก็บน้ำยังถูกตกแต่งไว้อย่างร่มรื่นสวยงาม จึงไม่น่าแปลกใจที่จะกลายเป็นที่พักผ่อนของประชาชนในบริเวณใกล้เคียงด้วยเช่นกัน
"ในยามปกติ เราจะพร่องน้ำลง แต่หากเป็นฤดูฝน ที่มีน้ำเหนือไหลบ่าลงมา และมีน้ำทะเลหนุน เราก็จะเก็บน้ำไว้ในสระเก็บน้ำพระราม 9 โดยสามารถเก็บน้ำได้เกือบ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างเมื่อน้ำท่วมปี 54สระเก็บน้ำพระราม 9 มีบทบาทสำคัญ ในการเปิดประตูรับน้ำเข้าสู่โครงการเพื่อลดระดับน้ำที่เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ในเขตอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่ราษฎรที่กำลังประสบอุทกภัย”
และล่าสุดสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระราชทานน้ำดิบจากสระเก็บน้ำพระราม 9 อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของมูลนิธิชัยพัฒนา ช่วยเหลือราษฎรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยมีรับสั่งให้มูลนิธิชัยพัฒนา ให้ความช่วยเหลือราษฎรในเขตอำเภอธัญบุรี หนองเสือ และอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค กว่า 50,000 ครัวเรือน เนื่องจากน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาในคลองรพีพัฒน์ลดลง จนไม่สามารถผลิตน้ำประปาได้
“ในเบื้องต้นจะได้พระราชทานน้ำดื่ม ของมูลนิธิชัยพัฒนานำไปช่วยเหลือราษฎรที่ขาดแคลนน้ำ โดยมูลนิธิชัยพัฒนาได้หารือ ร่วมกับกรมชลประทาน และการประปาส่วนภูมิภาค สนองพระราชดำริ นำน้ำดิบจากสระพระราม 9 จำนวน 216,000 ลูกบาศก์เมตร ส่งให้การประปาส่วนภูมิภาคเพื่อเป็นน้ำดิบผลิตน้ำประปาเป็นเวลา 30 วัน หรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย” ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนากล่าว
นอกจากวัตถุประสงค์เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามแล้ง หรือการระบายน้ำ ลดความรุนแรงของปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่โดยรอบแล้ว เมื่อมองอย่างลึกซึ้ง แนวพระราชดำริแก้มลิง ดังเช่นโครงการสระเก็บน้ำพระราม 9 นี้ ยังผสานแนวคิดในการอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย คือ เมื่อน้ำที่ถูกเก็บกักไว้ถูกส่งเข้าไปในคลองต่างๆ ก็จะเข้าไปเจือจางบำบัดน้ำเน่าเสียในคลองเหล่านี้ให้จางลง แล้วในที่สุดก็จะผลักน้ำเสียที่เจือจางแล้วลงสู่ทะเล หรือแหล่งน้ำธรรมชาติต่อไปเช่นกัน
และนี่คืออีกหนึ่งโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงคิดค้น หากไม่ว่าจะเป็นโครงการใดของท่านก็ตาม ย่อมล้วนมีจุดประสงค์อย่างเดียวกัน
นั่นก็คือเพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ยากให้แก่ประชาชนคนไทยทุกคน...
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754