อ่างทอง/ปทุมธานี - อบต.ราชสถิตย์ อำเภอไชโย พร้อมชาวนาติดตั้งเครื่องสูบน้ำเจ้าพระยาช่วยภัยแล้งชาวนากว่า 2,000 ไร่ ด้านชลประทานแนะนำการผันน้ำสู่พื้นที่นาข้าว ส่วนปทุมธานีประชาชนสามารถใช้น้ำประปาได้แล้ว หลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ขณะที่ ปภ.ปทุมธานี เผยพื้นถนนยังทรุดตัวต่อเนื่อง
วันนี้ (14 ก.ค.) นายจิรทีปต์ ทวีสุข นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) ราชสถิตย์ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง พร้อมชาวนาได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 3 เครื่อง เพื่อช่วยเหลือภัยแล้งชาวนากว่า 2,000 ไร่ ที่ต้นข้าวกำลังแห่งเหี่ยว โดยได้ประชาสัมพันธ์ให้ชาวนาในหมู่บ้านแบ่งปันน้ำกันเพื่อป้องกันปัญหาแย่งน้ำ
นายจีรทีปต์ เปิดเผยว่า หลัง อบต.ติดตั้งเครื่องสูบน้ำแล้ว ได้เชิญทางเจ้าหน้าที่ชลประทานที่มีความชำนาญมาร่วมหารือกับชาวบ้านพร้อมให้ขอเสนอแนะความรู้ และหลักการในการจ่ายน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรหลังเกิดภัยแล้ง โดยชาวบ้านพึงพอใจจึงได้ทำการสูบน้ำเจ้าพระยาเพื่อแจกจ่ายชาวนา
นายสมภพ สมประสงค์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายางมณี เปิดเผยว่า ในขณะนี้ทางสถานการณ์ภัยแล้งขยายวงกว้าง ทำให้น้ำต้นทุนเหลือน้อย และการจ่ายน้ำเข้าคลองชลประทานนั้นมีจำนวนจำกัด ต้องผลัดเวรกัน ส่วนชาวนาใน อบต.ราชสถิตย์ ที่อยู่ปลายคลองชลประทาน ได้รับผลกระทบจากน้ำมาน้อย และไม่เพียงพอในการทำนา ทาง อบต.ราชสถิตย์ นั้นมีความคิดริเริ่มที่ดีในแนวทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน พร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำเพื่อให้ผ่านวิกฤตภัยแล้งไปด้วยดีต่อไป
ส่วนที่ จ.ปทุมธานี หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางจังหวัดได้มีการประกาศพื้นที่ 3 อำเภอของ จ.ปทุมธานี เป็นพื้นที่ภัยพิบัติภาวะภัยแล้ง เนื่องจากระดับน้ำในคลองระบายน้ำแห้งลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะคลองระพีพัฒน์ หรือคลองระบายน้ำที่ 13 ทำให้สถานีสูบน้ำไม่สามารถผลิตน้ำประปาได้ ประชาชน 60,000 ครัวเรือน ไม่มีน้ำประปาใช้
ล่าสุด น้ำดิบที่ผันมาจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้มาถึงสถานีสูบน้ำคลอง 13 แล้ว ก่อนที่สถานีสูบน้ำธัญบุรี สามารถที่จะทำการเริ่มแจกจ่ายน้ำให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้แล้วตั้งแต่ช่วงบ่ายเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่แรงดันน้ำที่แจกจ่ายออกไปยังไม่เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยวันนี้เจ้าหน้าที่คาดว่าระบบการแจกจ่ายจะเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ทางการประปาส่วนภูมิภาคธัญบุรี ได้เตรียมแผนสำรองเอาไว้หากเกิดปัญหาการจ่ายน้ำ แต่มั่นใจว่าจะมีน้ำเพียงพอ
นอกจากนี้ ในส่วนของคุณภาพของน้ำที่ผลิตใหม่นั้น ส่วนแรกคือ น้ำดิบที่ทำการสูบมานั้นมีความสมบูรณ์ ส่วนที่ 2 คือ น้ำที่ผลิตและจ่ายออกไปก็ยืนยันว่า เป็นไปตามคุณภาพ ผ่านการตรวจสอบตามหลักสากล ซึ่งมีความปลอดภัยต่อประชาชนผู้ที่ใช้น้ำอย่างแน่นอน
ด้าน นายประทีป บริบูรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธรณภัยจังหวัด (ปภ.) ปทุมธานี ได้สรุปรายงานเหตุถนนทรุดเนื่องจากน้ำในคลองแห้งขอดจากภาวะภัยแล้งว่า ในพื้นที่ อ.หนองเสือ และ อ.คลองหลวง ถนนทรุดตัวมากที่สุด เนื่องจากเป็นถนนเลียบคลองระบายน้ำตั้งแต่คลอง 1-14 หลายแห่ง และมีรอยแตกร้าวจำนวนมาก