จบไปหมาดๆ สำหรับการประกาศรางวัลสยามดารา สตาร์ อวอร์ดส์ ที่ได้ “ณเดชน์ คูกิมิยะ” และ “ใหม่-ดาวิกา” คว้านักแสดงนำชาย-หญิงยอดเยี่ยม ทว่า เมื่อสิ้นเสียงประกาศรางวัลลงกลับมีเสียงวิพากษ์ว่าเพราะเหตุใดถึงให้รางวัลกับนักแสดงคนเดิมๆ ซ้ำๆ อยู่ร่ำไป
คล้ายกับการประกาศรางวัลนาฏราชประจำปี 2558 สุ้มเสี่ยงหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์การแจกรางวัลดังกล่าวอย่างรุนแรง สับแหลกถึงขั้นว่า แจกรางวัลผิดประเภท จุดชนวนถึงเวทีการแจกรางวัลในวงการบันเทิงมากมายของประเทศไทยที่นับวันจะยิ่งมีมากขึ้น แต่ฮือฮาหรือยอมรับกลับลดน้อยถอยลง เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
2 แง่มุมของรางวัล
กลายเป็นข้อครหาใหญ่ในโลกออนไลน์เมื่อ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล โพสต์บันทึกแสดงความเห็นถึงการแจกรางวัลนาฏราชประจำปี 2558 ที่มีความเหมาะสมจากประเภทของรางวัลในส่วนของรายการข่าวที่มอบให้แก่รายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ของสรยุทธ สุทัศนะจินดาซึ่งในทัศนะของดร.สมเกียรติมองว่า สรยุทธ์เป็นผู้ดำเนินรายการเชิงข่าวสารและสาระบันเทิงมากกว่า “นักข่าว” รายการเรื่องเล่าเช้านี้จึงเป็นรายการเชิงข่าวสารและสาระบันเทิงมากกว่าจะเป็นรายการข่าวด้วยลักษณะการนำเสนอ ตามหลักวิชาแล้วจึงถือว่าเป็นการแจกรางวัลผิดประเภท นอกจากนี้ ในส่วนรางวัลเกียรติยศนาฏราชด้านวิทยุที่มอบให้แก่ ชาย เมืองสิงห์ซึ่งเป็นนักร้องชื่อดังมากกว่าจะเป็นนักจัดรายการวิทยุ
โดยวงการโทรทัศน์ในยุคปัจจุบันนั้นมีการขยายตัวมากขึ้นจากการเปิดทีวีดิจิตอล สื่อหลักสื่อรองสื่อท้องถิ่นกลายเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค แต่รางวัลใหญ่ๆ ก็ยังอยู่ในมือของสื่อหลักๆ ทั้งสิ้น ด้านหนึ่งก็ถือเป็นกำลังใจในการทำงานด้วยคุณภาพที่สื่อหลักย่อมอยู่ในฐานะผู้นำของวงการ แต่อีกด้านการให้รางวัลก็เป็นเครื่องมือในการทำการตลาดของสื่อไปด้วยเช่นกัน
ในมุมของ ฉัตรชัย ตะวันธรงค์ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ไทยรัฐทีวีที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงยุคเปลี่ยนสู่ทีวีดิจิตอลที่ผ่านมา มองว่ารางวัลด้านนั้นถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจทั้งยังเป็นเครื่องมือชี้วัดพิสูจน์คุณภาพแทนสายตาคนดูได้
“มันเป็นส่วนหนึ่งที่บอกว่าวงการนี้มีพัฒนาการอย่างไร สื่อตอบสนองต่อความต้องการใหม่ๆ หรือนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้กับคนดู ถือเป็นเรื่องดีที่มีการแจกรางวัล เป็นกิจการปกติของทุกประเทศที่มีสื่อโทรทัศน์แพร่หลาย”
ทว่า การที่ปัจจุบันนี้สื่อโทรทัศน์มีจำนวนมากขึ้นทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นก็บีบให้ทุกสื่อต้องอาศัยทุกเครื่องมือในการสร้างความได้เปรียบ
“ฉะนั้น รางวัลด้านหนึ่งคือขวัญและกำลังใจ แต่บางรางวัลก็กลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดไปในตัวด้วย ผมมองว่ากิจกรรมการแจกรางวัลมันก็เหมือนรายการโทรทัศน์ที่สามารถวิวัฒน์ได้ สามารถปรับแต่งมาตรฐานให้ดีขึ้นๆ ได้ ส่วนตัวแล้วผมให้การสนับสนุนทุกรางวัล เพราะมันคือความพยายามของคนในวงการที่จะทำให้เกิดสิ่งดีๆ แต่ความพยายามนั้นบางทีมันก็มีข้อบกพร่องบ้างก็พยายามปรับแก้กันไป ก็ค่อยๆ ปรับแต่งแก้ไขกันไป”
อย่างไรก็ตาม รสนิยมการรับชมของคนดูในยุคปัจจุบันนั้นอาจไม่ได้คล้อยตามการแจกรางวัลอีกต่อไปแล้ว
“คนดูสมัยนี้ฉลาดพอที่จะประเมินด้วยตัวเองได้ระดับหนึ่ง เขาแยกแยะถูกว่าคุณค่าของกิจกรรมนั้นๆ มีมากน้อยแค่ไหน ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก”
คุณค่าในเนื้อแท้ของงาน
แม้การก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลจะมีส่วนกระตุ้นให้ตลาดในวงการบันเทิงเติบโต แต่ภาวะเศรษฐกิจขาลงก็ส่งผลชัดเจนจนบางช่องดิจิตอลต้องปิดตัว หากมองไปยังวงการหนังไทย
ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังเจ้าของรางวัลสุพรรณหงส์มองว่า รางวัลเป็นสัญลักษณ์ของมาตรฐานบางอย่างในแต่ละช่วงเวลาของรสนิยมในแต่ละยุคสมัย หากรางวัลมีมาตรฐานสูง มีความเป็นศักดิ์สิทธิ์ สาขาวิชาชีพนั้นก็จะมีคุณภาพมากขึ้น ในฐานะคนทำงานจึงมองว่า รางวัลต่างๆ มีความสำคัญในแง่ของการกำหนดคุณภาพคร่าวๆ ของชิ้นงาน
โดยเวทีที่มีมากมายในปัจจุบันนั้น เขามองว่า หากเทียบกับประสบการณ์ที่ได้รับรู้ถึงเทศกาลการแจกรางวัลต่างๆ ทั่วโลก เขาพบว่ามีการแจกรางวัลที่หลากหลายแยกย่อยมากมาย อาทิ รางวัลเฉพาะหนังผี รางวัลเฉพาะหนังรัก และเทศกาลต่างๆ ยังมีความหลากหลายโดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป บางเวทีจัดเพื่อโปรโมตการท่องเที่ยว แต่ก็ซีเรียสกับการคัดเลือกหนังเข้าร่วม
“ผมว่าความหลากหลายไม่ได้เป็นปัญหา ผมว่าในความหลากหลายถ้าจะมีปัญหามันมาจากการไม่มีเอกลักษณ์มากกว่า คุณภาพของรางวัลเองมันไม่ได้ถูกเอาตัวงานเป็นที่ตั้ง มันถูกกดดันจากสิ่งอื่นเช่น ความนิยม ยุคสมัย การโฆษณา หรือว่าจุดประสงค์อื่นมันก็ทำให้เนื้อของผลงานไม่ได้ถูกชูให้เป็นที่หนึ่ง”
เขายกตัวอย่างเทศกาลหนังเมืองคานส์ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก มันกลายเป็นงานที่มีชื่อเสียงและผู้คนอยากมาเดินพรมแดง เขาเผยว่า คุณค่าของงานที่แท้จริงนั้นก็คือความศักดิ์สิทธิ์ที่มาจากเนื้องานจริงๆ
“บางปีเราจะเห็นว่าถ้าไม่มีงานชิ้นไหนสมควรจะได้ เขาก็ประกาศว่าไม่มีผลงานเรื่องไหนสมควรแก่รางวัล มันจะไม่ได้ช่วยๆ กันไป แบ่งๆ กันไป วิธีคิดแบบนี้อาจจะทำให้รางวัลลดทอนความศักดิ์สิทธิ์”
แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดในมุมมองของเขาก็คือ ความโด่งดังเป็นกระแสของการแจกรางวัลในปัจจุบันนั้นไม่เป็นที่สนใจเหมือนแต่ก่อน
“ผมเชื่อว่าในภาพวงกว้างยังมีผล แต่มีไม่เหมือนสมัยก่อนที่ เฮ่ย! ตุ๊กตาทองนะ เฮ่ย! หนังเรื่องนี้ได้รางวัล หนังเรื่องนี้ได้สุพรรณหงส์นะ มันถดถอยลงด้วยสถานการณ์หลายอย่าง เวลามันไปมันไปพร้อมๆ กันหมด เราจะสังเกตเห็นได้ว่าในยุคเฟื่องฟูมันก็เฟื่องฟูหมด
“มันเป็นธรรมชาติของงานศิลปะ งานศิลปะมันจะงอกงามเมื่อบ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ ถ้าผู้คนมีอันจะกิน แฮปปี้ อุดมสมบูรณ์ ศิลปะมันก็งอกงาม ทุกยุคทุกสมัย รางวัลมันก็จะศักดิ์สิทธิ์ จะมีงานดีๆ มาให้คนเห็น งานมันก็จะส่งผลทั้งหมด ทั้งคนดูคนทำ แต่ในยุคที่เศรษฐกิจบ้านเมืองมันลำบากยากเย็น ศิลปะมันก็ไม่เบ่งบาน ไม่มีใครดูหนังไทย ทำไปก็ซบเซา”
ความแข็งแรงของอุตสาหกรรมบันเทิงจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยหลักให้กับการพัฒนาทั้งหมดของวงการ ประเทศไทยถือว่ายังตามหลัง เขามองว่าในประเทศที่อุตสาหกรรมบังเทิงแข็งแรงอย่างฮอลลีวูด การแจกรางวัลสามารถเปลี่ยนเป็นหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งการทำการตลาด งานอีเวนท์ต์ งานรวมใจ ก่อให้เกิดความหมายต่างๆ ขึ้น
“แต่พอมันไม่แข็งแรงรางวัลมันก็จัดไปอย่างที่เราทราบกัน หนังดีจริง แต่แจกไปคนดูถามหนังอะไรไม่เห็นรู้จักเลย ถ้าเมืองไทยตั้งเป้าบางอย่างของการให้รางวัลไว้ว่า มันมีคุณภาพบางอย่างถ้าไม่ผ่านมันก็ไม่ได้นะ มันก็อาจจะเป็นเส้นบรรทัด หมุดหมายได้ว่างานของคุณต่ำลงไปหรือดีขึ้น หรือมันเกิดอะไรขึ้น ถ้ารางวัลมันทำหน้าที่นั้นได้มันก็มีคุณค่า
“แต่ถ้ารางวัลมันจัดเพราะต้องจัด เป็นงานประจำปี ผมว่ามันก็เหมือนงานวัดประจำปีทุกที่ที่บอกว่าปีหน้าจะมีอะไรเกิดขึ้น มันไม่มีพลังในการขับเคลื่อน”
วงการสื่อไทยยังต้องพัฒนา
รางวัลย่อมมาพร้อมกับการเชิดชูในคุณค่าของการทำงาน ดร.ปรวัน แพทยานนท์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลันศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะที่ทำงานวิจัยด้านการแจกรางวัลต่างๆ มองว่า ยังคงเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาวงการ แต่การแจกรางวัลก็ไม่ได้สะท้อนทิศทางการพัฒนาของวงการได้ทั้งหมด
“เนื่องจากทีมงานและคณะกรรมการผู้ตัดสินทั้งหมดมิได้เป็นผู้ที่อยู่ในวงการ 100 เปอร์เซ็นต์มันสะท้อนได้แค่บางส่วน แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะมาตัดสิน สุนทรียะในการมองเรื่องรางวัลที่ว่าใครเหมาะสมจะได้รับรางวัลไหนก็อาจเปลี่ยนแปลงไปในทุกยุคทุกสมัย ดังนั้น การวัดว่าจะขาวหรือจะดำเป็นความคิดที่ล้าสมัยแล้ว สิ่งที่ดีเป็น the best one ก็แค่เป็นสิ่งที่พอดีเท่านั้น”
การที่รางวัลมีมากมายหลายกหลายขึ้นในปัจจุบันโดยภาพรวมแล้ว เธอเห็นว่าเป็นการรองรับค่านิยมที่หลากหลายมากขึ้นในสังคมไทย โดยในมุมของเธอแล้วยังเห็นการแจกรางวัลในปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มากพอด้วยซ้ำ
“มองว่าไม่เยอะในฐานะที่เป็นนักวิชาการ และมันก็เป็นเรื่องที่ดีที่มีหลายหน่วยงานช่วยกันจัดมอบรางวัล การมองหลายๆ มุม หลายๆ หน่วยงาน มีความเหมาะสมกับโลกยุค Postmodern ในปัจจุบัน ที่มีความเชื่อเรื่องความหลากหลายอยู่แล้ว เพราะการให้รางวัลนั้นมีปัจจัยขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่จัด คณะกรรมการที่ตัดสิน สานสัมพันธ์ดารา รวมไปถึงเรตติ้งก็มีความสำคัญ”
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด เธอมองว่า วงการสื่อไทยโดยภาพรวมแล้วยังรอการพัฒนาโดยการแจกรางวัลนั้นก็ถือว่าตัวชี้วัดอย่างหนึ่ง
“แต่หากมาตรวัดไม่ดี รางวัลที่มอบไปก็ไม่มีความเหมาะสม มันจะเด้งกระทบไปถึงทัศนคติของตัววงการและรางวัลจากหน่วยผู้มอบนั้นๆ เอง เจเนอเรชันเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกกรรมการ ถ้ายังคงยึดติดกับกรรมการอาวุโสโดยหลงลืมคนรุ่นใหม่ รางวัลต่อๆ ไปก็ยังคงมีทิศทางเช่นเดิม”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ขอบคุณภาพบางส่วน: ละครออนไลน์
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754