xs
xsm
sm
md
lg

แม่พระของคนไข้ “เอื้อมพร รุ่งนภา” พยาบาลทางใจของทุกๆ คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กลิ่นโรงพยาบาลที่ว่าชวนโศกเศร้า ยังต้องแผ่ว
เสียงร้องโอดครวญจากการเจ็บป่วยไข้ยังต้องเบา
เมื่อได้ยินเสียงเพลงไพเพราะเสนาะหูที่คล้ายเสียงทิพย์ปลอมประโลมให้ลืมทุกข์ คลายความเจ็บปวดจากความป่วยไข้ และเจ้าของเสียงขับร้องที่ว่านั้น ก็ดูมีความสุขกับสิ่งที่ทำ ซึ่งทำมาตลอดระยะเวลากว่าสิบปี

เธอเหมือนแม่พระของคนที่ป่วยไข้
และเหมือนพยาบาลทางใจของใครที่กำลังท้อ
“เอื้อมพร รุ่งนภา” หรือ "ป้าเอื้อม-ณพัชรสรางค์ จริยโสภณสกุล" หญิงสูงวัยอายุ 67 ปี อดีตนักร้องลูกทุ่งวงดนตรีชื่อดัง “ผ่องศรี วรนุช” ที่จากความรักความชอบ และชีวิตที่พลิกผัน ส่งต่อเป็นแรงบันดาลใจที่ขยับขยายมาสู่การเป็นจิตอาสา ร้องเพลงขับกล่อมผู้คนในโรงพยาบาลบางใหญ่...

ปฐมบทอดีตดาวรุ่ง “เอื้อมพร รุ่งนภา”
สู่ป้าเอื้อมหญิงชราผู้ร้องเพลงแห่งความสุข

"คือป้าชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็กๆ ร้องเพลงเป็นตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียนเชิดเจิมศิลป์ตอนอายุ 7 ขวบเสียอีก จำได้ว่าตอนนั้นจะได้ยินเสียงเพลงของอาจารย์ก้าน แก้วสุพรรณ กับอาจารย์ชาย เมืองสิงห์ จากวิทยุ เราก็จะฝึกร้องทุกวัน จนเรียน ป.2 อาจารย์ประจำชั้น ท่านก็เห็นว่าชอบร้องเพลงนัก (ยิ้ม) ก็เลยจับไปหน้าชั้นแล้วให้ร้องเพลง เพลงแรกๆ ที่ร้องเป็นมีอยู่ 2 เพลง คือเพลงรอยไถแปรกับเพลงแม่แตงร่มใบ"

หญิงสูงวัยใกล้เจ็ดสิบ เริ่มต้นเล่าย้อนเรื่องราวอันเป็นต้นทางเสียงแห่งเพลงแห่งความสุข ณ โรงพยาบาลบางใหญ่ ที่ตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ใครหลายคนที่เคยไปใช้บริการต่างชื่นชมเป็นเสียงเดียวกัน

"หลังจากนั้น พอเรียนหนังสือได้สักประมาณชั้น ป.7 อายุราวๆ 11 ขวบ ก็ออกจากโรงเรียน ย้ายมาอยู่แถววัดดอน ยานนาวา มาช่วยแม่กับพ่อขายของ แล้วก็ไปเป็นลูกจ้างรับจ้างทั่วไป ขายก๋วยเตี๋ยวบ้าง แบกข้าวสารก็เคย เพราะที่บ้านยากจนและมีน้องๆ ที่ต้องเลี้ยงด้วย ก็ช่วยกันมา จนกระทั่งได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสตรีศรีสุริยาไทย เพราะเขาเปิดให้เรียนฟรี

"แต่แรกๆ ก็หนีแม่มาเรียน เพราะแม่ไม่อยากให้เรามาเรียนร้องเพลง จนหลังๆ ท่านคงรู้สึกว่าดีกว่าเราไปทำอย่างอื่น ก็เลยปล่อยให้เราได้เรียน"

ป้าเอื้อมกล่าวด้วยรอยยิ้มเต็มดวงหน้า เพราะนอกจากได้ทำในสิ่งที่รักคือการร้องเพลง ได้รับการฝึกสอนจากอาจารย์มากฝีมืออย่างอาจารย์ศรีโพธิ์ ทศนุต และ อาจารย์อาทร จุลโลบล การไปเรียนในครั้งนั้นยังทำให้ได้เป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนรุ่นเดียวกับ “หน่อย-จิตติมา เจือใจ” เจ้าบทเพลง "เหวหิน" รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานในปี พ.ศ. 2522

"ก็เรียนควบคู่กับช่วยงานแม่ได้เพียง 2-3 ปี ตอนนั้นก็น่าจะอายุ 18 ประมาณปี พ.ศ. 2509 เขามีการจัดประกวดร้องเพลงที่ช่อง 3 หนองแขม เลียนแบบเสียง 'ผ่องศรี วรนุช' เราก็เลยเข้าไปประกวดด้วยเพลงฝากดิน ปรากฏว่าจากผู้เข้าร่วม 2,000 กว่าคน เราก็ได้คัดเลือก 6 คน ได้รางวัลชมเชยที่ 3 ก็เลยได้เข้าไปเป็นลูกศิษย์แม่ผ่องศรีตั้งแต่นั้น เป็นรุ่น 1 ก่อนสายัญห์ สัญญา (ยิ้ม) ท่านก็ตั้งชื่อให้เราว่า >“เอื้อมพร รุ่งนภา” ได้เดินสายทั่วภาคอีสาน ก็ไปกับแม่ผ่องอยู่หลายปี จนกระทั่งมีแฟน เราก็เลยต้องออกมาจากแม่ผ่อง"

"ออกมาก็ไปร้องเพลงอยู่ที่ ชาร์ลีการ์เด้น ตรงสี่แยกปิ่นเกล้า มาร้องอยู่ที่นั่นกับพี่อรสา อิศรางกูร พี่โฉมฉาย อรุณฉาน ได้รู้จักกับพี่จงรัก จันทร์คณา ตอนไปร้องเพลงและเรียนร้องเพลงลูกกรุงกับอาจารย์นคร ถนอมทรัพย์ ที่บาร์สุรวงค์ สมัยนั้นเขาเรียกกันว่า 'นัมเบอร์วัน' เพราะว่าเพื่อนที่ทำงานที่โรงพยาบาลเลิดสินเขาเป็นลูกศิษย์เขาฝากให้ เราก็เลยมีโอกาสได้ลองร้องเพลง กฎแห่งกรรม เป็นคนแรก (ยิ้ม) แต่ไม่ได้อัดแผ่น คุณพิทยา บุญญรัตนพันธ์ ได้บันทึกเสียง เพราะเสียงเราแข็ง ไม่นิ่ม แต่เราก็ภูมิใจในตอนนั้น ก็ร้องอยู่จนกระทั่งปี พ.ศ. 2527 ก็ถูกรถชน แขน ขา หัก เลยต้องพักไปปีกว่าๆ แต่ทีนี้ตอนเรากลับไปร้องใหม่ แขกเขาก็ตำหนิกันว่าเป็นนักร้องขาเป๋ ไม่รู้เอามาร้องทำไม ขาเป๋ เราน้อยใจ เลยตัดสินใจเลิกร้องเพลงตั้งแต่นั้นมาเลย"

เมื่อเรียนรู้การ >“เสีย”
จึงก่อกำเนิดการ >“ให้”

นอกจากจะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตนักร้อง มิหนำซ้ำจากอุบัติเหตุครั้งนั้นยังทำให้ชื่อ >“เอื้อมพร รุ่งนภา” ต้องลาร้างห่างหายไปจากเวทีการร้องเพลง ช่วงชีวิตต่อมายังต้องประสบกับการล้มละลายด้วยพิษเศรษฐกิจยุค >“ไอเอ็มเอฟ” เป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัด แต่นั่นเองที่ทำให้เธอรู้จักคุณค่าของการให้และธารน้ำใจเพื่อนร่วมโลก

"เราก็แทบบ้า อยู่ในบ้านได้ยินเสียงนั่นนี่ เสียงหมาเห่าก็ร้องไห้ สั่น กลัวเขาจะมาทวงเงิน กลัวไปหมด" ป้าเอื้อมพรรณนาความรู้สึกที่ตัวเลขหนี้สินหลัก 10 ล้านรัดรึงจนต้องหันไปพึ่งธรรมะ เยียวยาจิตใจ

"คือจริงๆ เราไหว้พระมาตั้งแต่เด็กๆ แต่เรายังไม่ถึงกับเข้าไปลึกขนาดนั่งสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ ทีนี้พอเป็นหนี้เขา 10 ล้าน เราก็แทบจะบ้าเลย จริงๆ (เสียงสูง) จนกระทั่งแม่บุญธรรมชวนไปเข้าวัด พาไปวัดที่ท่านสร้างที่เชียงราย เราก็เลยรู้จักธรรมะ เราก็รู้ว่าชีวิตคนเรา ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ แล้วเราจะเครียดทำไม ก็เลยเอาของทั้งหมด เครื่องโม้ วัสดุอุปกรณ์ถวายวัดร่วมสร้าง จากนั้นได้ไปกราบหลวงพ่อพุทธทาส ตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ได้อ่านหนังสือธรรมะของหลวงปู่ดุลย์ อตุโล วัดบูรพาราม หลวงปู่ชา สุภัทโท ฝึกนั่งสมาธิกับหลวงปู่ดู่ พฺรหฺมปัญโญ เราก็ซึมซับ เราก็ค่อยๆ สงบมากขึ้น ปลงสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น"

"ก็อย่างที่ท่านสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี หรือพระองค์ไหนๆ ท่านก็มักจะบอกว่า ยิ่งทำยิ่งได้ ยิ่งให้ยิ่งมา แต่การที่ไปวัดทำบุญ เราไม่ได้หวังว่าเงินทองความร่ำรวย แต่เราก็มีเพื่อนมากขึ้น มีความรักมากขึ้น ไปที่ไหนก็มีแต่เพื่อน"

หลังจากเข้าวัดทำบุญศึกษาธรรมะเพื่อเยียวยา ชีวิตก็ดีขึ้นตามลำดับ อีกด้านหนึ่ง ในช่วงเวลานั้นเองก็ทำให้จิตใจของความเป็น >“อาสา” ค่อยๆ ก่อเกิดกำเนิดขึ้นด้วย โดยเริ่มจากรับทำหน้าที่เป็นโฆษกประชาสัมพันธ์งานบุญงานกุศล ช่วยเรียกลูกค้าให้กับพ่อค้าแม่ค้าร้านขายของในย่านบริเวณวัด กระทั่งเป็นนักจัดรายการวิทยุเกี่ยวกับธรรมะเลื่องชื่อของจังหวัดนนทบุรีเพื่อหวังเป็นกระบอกเสียงช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยากเช่นเดียวกับตัวเองเมื่อครั้งอดีต
"ที่มาการจัดรายการวิทยุ ตอนนั้นช่วงเริ่มแรกเลยจัดที่ชุมชนคนเมืองนนท์ เพราะบังเอิญเขามีจัดรายการวิทยุอยู่ที่ท่าน้ำนนท์ ของคุณน้องนุช โคราช ตอนนั้นป้าก็รู้จักกัน เนื่องจากเป็นหนึ่งชมรมผู้สูงอายุที่เฉลิมพระเกียรติด้วยกัน เราก็ไปปรึกษาว่าอยากจะจัดรายการวิทยุบ้าง แต่เป็นรายการธรรมะ พูดให้กำลังใจ พูดเรื่องบาปบุญคุณโทษ พูดประชาสัมพันธ์งานบุญต่างๆ คือวัดในจังหวัดนนทบุรี วัดไหนมีอะไร เราก็จะประกาศบอกบุญ ก็ได้จัด ใช้ชื่อว่า 'พุทธธรรมนำใจ'

"แต่ตอนหลังเขาเลิก เราก็คิดว่าเราจะไปจัดที่ไหนต่อดี ระหว่างนั้นก็เลยไปร้องเพลงช่วยเรียกลูกค้าให้กับพ่อค้าแม่ค้า ไปเป็นโฆษกงานบุญ ประชาสัมพันธ์ต่างๆ ให้ที่วัดตะเคียนพลางๆ จนไปได้อีกที่ที่อำเภอบางใหญ่ แต่ต้องมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 3,000 บาท เราก็ไม่มีเงิน ก็เลยไปหาหลวงพี่ที่วัดตะเคียน เพราะเราเป็นลูกศิษย์หลวงปู่แย้ม ท่านก็ช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย"

"คือเราอยากช่วยเหลือ อยากให้กำลังใจด้วยธรรมะ เราอยากให้คนที่เจอช่วงเวลาอย่างที่เราเคยผ่านมาปล่อยวาง เพราะว่าบางคนที่เขามีทุกข์ คนที่ผูกคอตาย ฆ่าตัวตาย ยิงตัวตาย กระโดดตึกตาย เราก็สงสารเขา แสดงว่าเขาไม่มีคนให้กำลังใจ ไม่มีคนไปพูดให้เขามีความหวัง ก็พยายามเตือนสติให้ไม่คิดมาก

"มองเห็นทุกข์ก็คือทุกข์ มองเห็นสุขก็คือสุข ก็จะบอกเขาประมาณว่ารู้ไหมว่าคนเราตายไป เสื้อตัวที่เราชอบที่สุด ตอนตายไปเราใส่เสื้อตัวนั้นไปไหม แหวน นาฬิกา ตายไปเราก็เอาไปไม่ได้ ฉะนั้น ทำใจให้สบายๆ ทำใจให้มีความสุข แล้วก็อย่าไปโลภมาก ความโลภทำให้คนหายนะมาเยอะแล้ว อะไรที่มันจะได้ อะไรที่มันจะเป็นของเรา ถึงเวลามันมาเอง เหมือนกับเราว่ายน้ำไม่เป็นแล้วเราตกน้ำ ถ้าเรายิ่งดิ้น เราก็ยิ่งจม"

นักจิตอาสาร้องเพลง
ผู้นำสาร "กำลังใจ"

แม้ว่าตอนนี้สถานีรายการ 'พุทธธรรมนำใจ' จะต้องยุติงดออกอากาศ แต่ป้าเอื้อมก็ยังคงใช้เสียงที่ทรงเสน่ห์ซึ่งมีติดตัวตั้งแต่เด็ก ช่วยเหลือผู้คนอย่างไม่หยุดหย่อน ส่วนหนึ่งซึ่งสำคัญมากๆ นั้น ก็เพราะการได้เห็นแบบอย่างการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

"ป้าคิดเสมอว่ามีทุกวันนี้ได้เพราะใคร ก็เพราะพระองค์ท่าน ท่านทรงงานตลอดระยะเวลา แม้กระทั่งตอนประชวร ถ้าไม่มีในหลวง ถามหน่อยสิ เราจะเอาเงินที่ไหนซื้อยา ข้าว ก็ในหลวงทั้งนั้น ในกระเป๋าเรามีในหลวงไหม แล้วเราไม่คิดได้ไง นี่แหละเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้คิดว่า เราก็ยังแข็งแรง ถึงจะแก่แล้ว ทำไมเราไม่ทำความดี ถวายเป็นพระราชกุศล"
ป้าเอื้อมเผย ก่อนจะเล่าย้อนถึงช่วงเวลาที่ประทับใจมิรู้ลืม เมื่อครั้งที่ร่วมถวายพระพร ขอให้พระองค์ท่านทรงหายจากอาการพระประชวรในปี พ.ศ. 2550

"คือพอเราได้ฟังข่าวก็ใจหาย ช่วงปี พ.ศ. 2550 ในหลวงท่านทรงพระประชวร เรามีความสามารถอย่างเดียวคือร้องเพลง เราก็เลยอยากไปร้องเพลงให้ในหลวง ตอนนั้นประธานชมรมผู้สูงอายุบางใหญ่ เขาแต่งเพลงไว้ 2 เพลง เพลง "แม่ฟ้าของแผ่นดิน" กับเพลง "เทิดพระเกรียติสมเด็จพ่อ" เราก็เลยถ่ายเอกสารไป 300 แผ่น กะว่าจะเอาไปแจก ตอนนั้นไม่มีรถ ก็แบกกระเป๋า ขาก็ยังเดินไม่ดี กะเผลกๆ แต่เราอยากไปร้องเพลงให้ในหลวง ก็ไปที่โรงพยาบาลศิริราช บังเอิญไปเจอชมรมผู้สูงอายุจังหวัดราชบุรี เขาบอกว่าป้าช่วยหนูร้องเพลง เพราะเขาร้องไม่เป็น ป้าก็เลยเข้าไปอยู่ในเต็นท์ ก็ถ่ายเอกสารแล้วก็ไปร้องเพลงในหลวง

"ปรากฏว่าก็มีคนอิสลาม รู้สึกจะชื่อ วันดี แก้วประดับ เขามาเข้าเฝ้าแล้ว เขาแต่งเพลง "พ่อจ๋า" มาแล้วเขาเห็นว่าเราร้องเพลงได้ เขาก็เลยเอามาให้ป้าร้อง ตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าจะร้องอย่างไรดี ใส่ทำนองอย่างไร เราก็เลยขับเสภา ปรากฏว่าในหลวงท่านทอดพระเนตรเห็นว่าคนทั้งเต็นท์ร้องไห้หมด ก็เลยให้องครักษ์ลงมาดู ทีวีก็มาถ่ายทำทุกช่องเลย เราก็รู้สึกปลื้มปีติดีใจที่ในหลวงท่านทอดพระเนตร เพลงพ่อจ๋าก็เลยได้ใส่กรอบทองทูลเกล้าถวายในหลวงไป"

"หลังจากนั้นป้าไม่สบาย ป้าไปที่โรงพยาบาลบางใหญ่ ก็บังเอิญไปได้ยินคนไข้เขาพูดจาไม่ดีกับหมอและพยาบาล เราได้ฟังก็ไม่สบายใจ เพราะคนป่วยจำนวนเยอะกว่าหมอ เราก็เลยตัดสินใจ ขอร้องผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางใหญ่ร้องเพลง เพื่อคลายเครียดผู้ป่วยและญาติที่มาเข้าคิวรอพบแพทย์ ท่านก็ให้ ป้าก็เลยเริ่มตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันนี้"

เกิดเป็นภาพชินตาและรอยยิ้มชินใจของผู้ที่มาใช้บริการในทุกๆ เช้าจนถึงเที่ยงวันโดยที่ไม่คาดคิด

"ก็ไม่ได้คิดว่าเสียงเพลงของเราจะมาถึงขนาดนี้ คือเพราะว่าแรกๆ ก็มีคนว่าเราว่าบ้า คือเขาว่าเราบ้าร้องเพลง เดินไล่หลังว่าเลยนะ แล้วก็เคยยืนๆ ร้องอยู่ ยังมีคนมาตบตู้ลำโพงที่ร้อง บอกเมื่อไหร่จะเลิกร้อง แต่เราก็ไม่โกรธ เพราะคนต่างจิตต่างใจ มือยังไม่เท่ากันเลย จะให้คนเขารักเราทุกคน มันเป็นไปไม่ได้ เขาจะว่าอะไรก็ช่าง ปล่อยเขาไป เท่านั้นเอง

"แล้วอีกอย่างก็เพราะว่าคนส่วนใหญ่เขาไม่ได้เป็นอย่างนั้น จะมีก็แค่คนสองคน เดี๋ยวนี้มีแต่คนชอบ รถเข็นผู้ป่วยเยอะเต็มข้างหน้าเลย คือแทนที่ต้องไปรอนั่งในห้องเรียกชื่อ เขาก็ให้ลูกหลานเข็นมานั่งฟังเพลง แล้วก็ให้ลูกๆ หลานๆ ไปฟังว่าถึงคิวชื่อตัวเองหรือยังแทน เห็นอย่างนี้มันก็มีความสุข มีคนขอเพลง ให้เราร้องเพลงนั้นเพลงนี้ มาร่วมร้องเพลงกับเรา คือเขายังบอกอยู่เลยว่าให้เรามาร้องทุกวัน แต่เราก็ไม่ไหว ก็ต้องมีเวลาพักผ่อนบ้าง"

แต่ถึงกระนั้นหากว่างเว้น และไร้ซึ่งไข้หวัด รวมไปถึงโรคประจำตัวอย่างหอบหืด อาการหายใจไม่ออก ป้าเอื้อมก็ไม่เคยละทิ้งภารกิจจิตอาสาเลยสักครั้งเดียว ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากเวลาที่ไม่ได้ร้องเพลงที่โรงพยาบาลในช่วงบ่ายของทุกวัน ป้าเอื้อมก็ยังเปิดสอนร้องเพลงให้ฟรีๆ สำหรับผู้ที่สนใจ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ สอนการผลิตวัสดุเหลือใช้เป็นงานประดิษฐ์ที่สร้างมูลค่า ที่ร้าน "ฟลอร์เฟื่องฟ้า" ร้านขายต้นไม้ของป้าเอื้อม ที่ตั้งอยู่ที่ซอยช้าง (บางรักน้อย 11) ถนนรัตนาธิเบศร์

"คือชีวิตคนเรา มันจะตายตอนไหนก็ไม่รู้ 24 ชั่วโมงทำให้ดีที่สุด ไม่ต้องไปคิดถึงวันพรุ่งนี้ ไม่ต้องไปคิดถึงอดีตว่าเคยลำบากมาขนาดไหน ทุกข์ทรมานมาจากไหน แล้วก็ไม่ต้องคิดว่าวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้จะรวย จะมีไหม วันนี้ 24 ชั่วโมง คิดว่าเราจะทำอะไรแล้วมีความสุข แล้วไม่เดือดร้อนคนอื่น ไม่เดือดร้อนตัวเอง ก็ทำเถอะ ทำเพื่อให้คนอื่นเขาได้สุขกับเราด้วย คิดแค่นี้ก็มีความสุข ไม่ต้องไปมองตรงไหน ไม่ต้องไปมองว่าฉันมีแหวนเพชร ฉันมีสตางค์ มีรถเก๋ง รถเบนซ์ แล้วถึงจะมีความสุข ไม่ใช่นะ คนพวกนั้นบางทีเขาทุกข์อยู่ข้างใน เราไม่รู้ แต่ความสุขคือไม่จำเป็นต้องมีอะไรก็ได้ แต่ไม่ใช่ไม่มีกินนะ มันต้องมีกินแต่พอประมาณ ไม่ต้องไปดีเลิศอย่างคนอื่นเขา เราก็สุขได้ ทุกอย่างอยู่ที่ใจ ถ้าใจเรามีความสุขแล้วมองอะไรมันก็มีความสุขหมด"

"ทุกวันนี้ ก็มีแต่กำลังใจว่าอยากจะมาร้องเพลง หลังจากใส่บาตรเสร็จ กินข้าว 7-8 โมง ก็มาร้องเพลงที่โรงพยาบาล มาแล้วเห็นรอยยิ้มของแต่ละคน ทุกคนมาสวัสดีป้าเอื้อมๆ มันมีความรู้สึกว่าเขารักเรา ถ้าเขาไม่รักเรา เขาคงไม่คิดถึงเรา คิดอย่างนี้เลย คิดอย่างนี้ทำให้เรามีกำลังใจ แล้วทุกคนก็สนับสนุน ก็จะมีแต่ลูกที่เป็นห่วง ให้รักษาสุขภาพเท่านั้น แล้วทุกคนก็ดีใจว่าแม่ได้มาทำความดี ทำความดีแล้วมันก็ส่งไปถึงลูกด้วย เราคิดอย่างนี้ ถ้าเราสวดมนต์ไหว้พระ จิตเป็นกุศล แผ่เมตตา ทุกอย่างก็จะคุ้มครองครอบครัวเราหมด ป้าเป็นคนถือว่า ถ้าเรามีอะไรที่เป็นความสามารถตัวเองที่คิดว่าทำไปแล้วให้คนอื่นเขามีความสุข แล้วตัวเองมีความสุข ก็ทำไป

"เราก็อยากจะทำแค่นี้ เพราะป้าอายุตอนนี้ก็ 67 แล้วไม่รู้จะตายตอนไหน ฉะนั้น ในเมื่อตอนนี้ยังมีกำลังไหว ก็จะทำ ทำจนกว่าจะทำไม่ไหว ทำจนตายคาไมค์ เพราะชีวิตคนเราอยู่ได้ไม่นานก็ตายแล้ว ดังนั้น เรามีอะไรที่พอจะทำได้ ช่วยเหลือให้คนอื่นเขามีความสุขได้ เราก็มีความสุข ป้าคิดอย่างนี้

“เราได้เห็นรอยยิ้ม ได้เห็นเขาหัวเราะ เราก็มีความสุข เรามองไปเห็นแต่รอยยิ้ม เรามีความสุข คือเราเดินออกไป ขอให้ใจเรามีสุข เมื่อใจเรามีสุข แล้วมันก็สุขไปหมดแล้ว"




เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

กำลังโหลดความคิดเห็น